
ผู้เขียน | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
---|
โอฆบุรีกับสระหลวง มีในตำราเก่าบอกไว้นานแล้วว่า คือเมืองพิจิตร จึงเชื่อสืบต่อกันมาจนทุกวันนี้ว่าพระโหราธิบดี (พระมหาราชครู) ผู้นิพนธ์หนังสือจินดามณีเป็นชาวเมืองพิจิตร
แต่หลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดี สนับสนุนว่าโอฆบุรี กับ สรลวง (สระหลวง) หมายถึงเมืองพิษณุโลก ไม่ใช่พิจิตร
นี่ไม่ใช่ความเห็น หากเป็นไปตามหลักฐานจับต้องได้มีลายลักษณ์อักษรมานานแล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่ระบบการศึกษาไทยคับแคบ จึงไม่แบ่งปันให้เป็นที่รู้ทั่วถึงกัน
พิษณุโลก คือ โอฆบุรี, สรลวง
ขุนช้างขุนแผนตอนพลายงามอาสา ยกทัพอยุธยาตีเมืองเชียงใหม่ ขอเบิกขุนแผนจากคุกไปด้วย จึงพากันแวะเอาของสำคัญที่เคยฝากไว้ คือดาบฟ้าฟื้นที่เมืองลพบุรี กับม้าสีหมอกที่เมืองพิจิตร
จากนั้นยกทัพออกจากเมืองพิจิตรขึ้นไปเมืองพิษณุโลก มีกลอนเสภาบอกชัดเจนว่า “ถึงพาราพิษณุโลกโอฆบุรี” แสดงว่าคน (ต้นกรุงรัตนโกสินทร์) ยุคที่แต่งเสภาขุนช้างขุนแผน รู้ดีว่าเมืองโอฆบุรีคืออีกชื่อหนึ่งของเมืองพิษณุโลก
ถ้าจะมีผู้คัดค้าน ขอให้อ่านในขุนช้างขุนแผนเสียก่อน แล้วโต้แย้งกับคนแต่งตอนที่ว่าไว้นี้
“สรลวง” หมายถึง เมืองพิษณุโลก มีหลักฐานอยู่ในจารึกวัดศรีชุม (จารึกสุโขทัยหลักที่ 2) ว่า “สรลวงสองแคว” อ. ประเสริฐ ณ นคร อธิบายว่า เป็นเมืองเดียวกันอยู่ที่เดียวกัน คือเมืองพิษณุโลก
“สรลวง” เป็นโวหารวรรณศิลป์สรรเสริญเมืองสองแคว
เรื่องนี้ จิตร ภูมิศักดิ์ เคยอธิบายว่า สรลวง มาจากคำว่า สรวง แปลว่า สวรรค์ หรือ ฟ้า ตรงกับชื่อสมัยหลังว่า พิษณุโลก คือโลกของพระวิษณุ
แต่นักปราชญ์สมัยก่อนแปลงคำในจารึกว่า “สรลวง” เป็นคำปัจจุบันว่า “สระหลวง” แล้วโอนว่าหมายถึงเมืองพิจิตร โดยอ้างว่าพิจิตรเป็นที่ราบลุ่มอยู่ระหว่างแม่น้ำน่านกับแม่น้ำยม มีหนองบึงมาก
การใช้สามัญสำนึกจากประสบการณ์ส่วนตนที่เจือปนด้วยอคติ ทำให้ทุกอย่างคลาดเคลื่อนไปหมด