ข้อเสนอแนะในการนำผล O-NET ไปใช้ เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติ : โดย ดร.ประวัติ สุทธิประภา

ข้อเสนอแนะในการนำผล O-NET ไปใช้
เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติ

ไม่ได้ผิดการคาดหมายอะไร สำหรับผลการทดสอบ O-NET ของปีการศึกษา 2560 คะแนนเฉลี่ยของทุกระดับชั้นยังคงไม่ถึงครึ่ง (50 คะแนน) เหมือนทุกๆ ปีที่ผ่านมา การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ ขั้นพื้นฐาน O-NET (Ordinary National Educational Test) เป็นการทดสอบเพื่อวัดความรู้และความคิดของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ประเมินตามมาตรฐานการเรียนรู้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 โดยมีวัตถุประสงค์ คือ

1.เพื่อทดสอบความรู้และความคิดของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 2.เพื่อนำผลการทดสอบไปใช้เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการจบการศึกษา 3.เพื่อนำผลการทดสอบไปใช้ในการปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียน 4.เพื่อนำผลการทดสอบไปใช้ในการประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียนระดับชาติ

และ 5.เพื่อนำผลการทดสอบไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่น ซึ่งหากดูคะแนนเฉลี่ย ย้อนหลัง 5 ปี ดังแสดงให้เห็นได้ดังกราฟต่อไปนี้

Advertisement

การทดสอบทางการศึกษา (O-NET) มีความสำคัญอย่างไร

หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน กำหนดให้มีการวัดผลการเรียนรู้ของผู้เรียนไว้ 3 ระดับ คือ ระดับชั้นเรียน ระดับสถานศึกษา และระดับชาติ ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้เกี่ยวข้อง ทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา เกี่ยวกับคุณภาพของผู้เรียน การวัดผลและประเมินผลระดับชั้นเรียนเป็นหน้าที่ของครูผู้สอนที่จะต้องหาคำตอบว่าผู้เรียนแต่ละคนมีความก้าวหน้าทั้งด้านความรู้ ทักษะ กระบวนการ สมรรถนะตามหลักสูตรและค่านิยมอันพึงประสงค์ระดับใด การประเมินผลระดับสถานศึกษา เป็นการประเมินผู้เรียน ทุกระดับชั้นตามหลักสูตรสถานศึกษา ทั้งด้านการเรียน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ คุณลักษณะอันพึงประสงค์ ตามหลักสูตร การอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียน กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนและสมรรถนะของผู้เรียน การประเมินผลระดับชาติจะประเมินเพื่อตรวจสอบความก้าวหน้าด้านการเรียนรู้ของผู้เรียนทุกคนที่จะจบชั้น ป.6 ม.3 และ ม.6 ทุกคน ทุกสังกัด
เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว

Advertisement

จากการศึกษาวัตถุประสงค์ ทั้ง 5 ข้อ พบว่า ข้อ 1 เพื่อทดสอบความรู้และความคิดของนักเรียน แสดงได้โดย สทศ. จะสะท้อนผลการประเมินทั้งแบบรายบุคคล รายโรงเรียน รายจังหวัด รายสังกัด และค่าเฉลี่ยระดับชาติ เพื่อให้นักเรียนและผู้ที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์ ข้อ 2 เพื่อนำผลการทดสอบไปใช้เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการจบการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดให้คิดคะแนน O-NET เป็นส่วนหนึ่งของการจบหลักสูตร คิดเป็นร้อยละ 30 นั่นคือ GPA ที่นักเรียนเรียนในโรงเรียน 3 ปี คิดเป็นร้อยละ 70 เมื่อรวมกับคะแนน O-NET ที่คิดค่า GPA ร้อยละ 30 จึงจะเป็น GPA เรียนรวมของนักเรียน ข้อ 3 เพื่อนำผลการทดสอบไปใช้ในการปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียน เป็นการสะท้อนข้อมูลให้โรงเรียนนำไปวิเคราะห์หาแนวทางในการปรับปรุง พัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา พัฒนาครูและเตรียมความพร้อมนักเรียนที่จะสอบ O-NET ในปีต่อไป ซึ่งเป็นการบริหารเชิงระบบ (System Approach) ที่โรงเรียนจะกำหนดรูปแบบในการพัฒนาตามความพร้อมและบริบทของตนเอง ข้อ 4 เพื่อนำผลการทดสอบไปใช้ในการประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียนระดับชาติ ซึ่งสอดคล้องกับข้อ 1 แต่สะท้อนผลการประเมินเป็นภาพรวม
ระดับชาติ

และในข้อ 5 เพื่อนำผลการทดสอบไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่น ดูเผินๆ เหมือนจะไม่ค่อยสำคัญมากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับมีอิทธิพลต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง คือ นักเรียน ครู ผู้บริหารและโรงเรียนมากทีเดียว การนำผลการทดสอบไปใช้ สรุปได้ดังนี้ (ภาพที่ 1)

ความเป็นจริงในทางปฏิบัติ นักเรียนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการสอบ O-NET ค่อนข้างน้อย เพราะจะประกาศผลเมื่อนักเรียนสอบปลายปีเรียบร้อยแล้ว แรงจูงใจที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ข้อ 2 จึงมีน้อย เพียงนักเรียนไม่มีผลการเรียน 0, ร, มส., มผ. ก็จบหลักสูตรอยู่แล้ว หรือแม้แต่ต่อให้นักเรียนไม่เข้าทดสอบ O-NET เลยก็ยังจบหลักสูตร ส่วนการเข้าศึกษาต่อ ม.1 นักเรียน ป.6 กลุ่มเก่งก็จะผ่านการคัดเลือกเข้าเรียนต่อ ม.1 ประเภทห้องเรียนพิเศษ เช่น English Program, Gifted Program หรือห้องเรียนพิเศษอื่นๆ ที่โรงเรียนแข่งขันสูงทุกโรงเรียนเปิดอยู่แล้ว ซึ่งไม่ต้องใช้คะแนน O-NET ประกอบการคัดเลือก และโรงเรียนมัธยมศึกษาที่รับนักเรียนไม่เต็มตามแผนการรับนักเรียน (ซึ่งเป็นโรงเรียนส่วนใหญ่) ก็จะรับนักเรียนทุกคน คะแนน O-NET ก็ไม่มีผลต่อการคัดเลือกเข้าเรียนต่อเลย

นักเรียนชั้น ม.3 จะเข้าเรียนต่อชั้น ม.4 แนวปฏิบัติการรับนักเรียนกำหนดให้รับนักเรียนประเภทห้องเรียนปกติ โดยให้รับนักเรียนจากโรงเรียนเดิม ร้อยละ 80 นั่นหมายความว่านักเรียนมีสิทธิเข้าเรียนเกือบครบแล้ว วิธีนี้ไม่ต้องใช้คะแนน O-NET ประกอบการคัดเลือก นักเรียนกลุ่มเก่งที่จะเข้าเรียนประเภทห้องเรียนพิเศษก็ไม่ได้ใช้คะแนน O-NET เช่นเดียวกันกับ ม.1 และโรงเรียนที่มีนักเรียนมาสมัครไม่เต็ม ตามแผนการรับนักเรียนก็จะรับเข้าเรียนทุกคน รวมทั้งนักเรียน ม.3
ที่จะเข้าศึกษาต่อระดับอาชีวศึกษาก็ไม่ได้ใช้คะแนน O-NET ประกอบการคัดเลือกเช่นกัน

นักเรียนชั้น ม.6 จะใช้คะแนน O-NET เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 จะใช้ระบบ TCAS (Thai university Central Admission System) ซึ่งมีการคัดเลือก 5 รอบ คือ รอบที่ 1 การรับด้วยแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) โดยไม่มีการสอบข้อเขียน ไม่ได้ใช้คะแนน O-NET รอบที่ 2 การรับแบบโควต้าที่มีการสอบปฏิบัติและข้อเขียนใช้คะแนน O-NET เพียงบางคณะ บางมหาวิทยาลัยเท่านั้น

รอบที่ 3 การรับตรงร่วมกัน ไม่ใช้คะแนน O-NET รอบที่ 4 การรับแบบ Admission ใช้คะแนน O-NET

รอบที่ 5 การรับตรงแบบอิสระ (รอบเก็บตก) ไม่ใช้คะแนน O-NET

คะแนนประเมินวิทยฐานะของครู ผู้บริหาร และการใช้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินประกอบการย้ายผู้บริหารโรงเรียน ส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะพัฒนารายการประเมินข้ออื่นให้ได้คะแนนมาชดเชย O-NET

เพราะการทำคะแนนให้สูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับชาติขึ้นไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับหลายๆ โรงเรียน

ข้อเสนอแนะในการนำผล O-NET ไปใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติ

ยกเลิกการสอบ O-NET เป็นแนวคิดที่มีผู้เสนอมาหลายครั้ง แต่หากยกเลิกแล้วจะไม่มีเครื่องมือกลางในการประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียนระดับชาติในแต่ละปีการศึกษาเลย แต่ควรปรับวิธีการ ดังนี้คือ

ประการแรก ควรยกเลิกการนำผลการทดสอบ ไปใช้เพื่อการจบหลักสูตร การศึกษาต่อของนักเรียน ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น วิธีการดังกล่าวไม่มีแรงจูงใจนักเรียนมากพอ ยกเว้นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่จะเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในระบบ Admission หรือแบบโควต้า บางคณะบางมหาวิทยาลัย ควรยกเลิกการนำผลการทดสอบ O-NET ไปใช้สำหรับการประเมิน ครู ผู้บริหารและโรงเรียน รวมทั้งอาจเป็นผลเสียมากกว่าหากผู้อยากใช้ประโยชน์ในการนี้ขาดจริยธรรม

ประการที่สอง ปรับวิธีการทดสอบ O-NET ที่นักเรียน ป.6 ม.3 และ ม.6 โดยไม่ต้องสอบทุกคน แต่ใช้หลักการการวิจัย โดยการสุ่มตัวอย่างให้ครอบคลุมทุกบริบท ทุกพื้นที่ ทุกขนาดโรงเรียน เพื่อประเมินศักยภาพของผู้เรียนตามหลักสูตร ทุกปีหรือเว้นปีการศึกษา ซึ่งวิธีนี้จะสะท้อนศักยภาพของผู้เรียนได้อย่างแท้จริง เพราะไม่มีการเตรียมการล่วงหน้า เพียงแต่ทุกโรงเรียนจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรสถานศึกษา ตามมาตรฐานการเรียนรู้ สาระการเรียนรู้และตัวชี้วัด ตามที่หลักสูตรกำหนด และหากโรงเรียนใดที่ไม่ถูกสุ่มแต่อยากประเมินคุณภาพผู้เรียน สามารถขอข้อสอบและดำเนินการสอบเองได้ ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือจะประหยัดงบประมาณในการดำเนินการได้มาก

ประการที่สาม สถาบันทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ ต้องสร้างความน่าเชื่อถือในการทดสอบ ทั้งข้อสอบ เฉลยแบบทดสอบ กระบวนการจัดสอบ และสะท้อนผลในเชิงเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตร รูปแบบและวิธีการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของชาติ ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเชื่อมั่นได้ว่าการทดสอบ O-NET จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนาการศึกษาของชาติอย่างแท้จริง

ดร.ประวัติ สุทธิประภา
ผู้อำนวยการโรงเรียนลาดปลาเค้าพิทยาคม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image