คอลัมน์คุณภาพคือความอยู่รอด จิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบ โดย : วิฑูรย์ สิมะโชคดี

ว่ากันว่า อุบัติเหตุอันตราย มักจะเกิดจากความบกพร่องทางการบริหารจัดการ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าของกิจการ หรือผู้บริหารระดับสูง ที่เรียกกันว่า CEO

เรื่องนี้ นักวิชาการชื่อดังด้าน “การบริหารจัดการความปลอดภัย” (Safety Management) คือ Dan Petersen ได้พูดถึงหลักการ หรือ “Safety Principles” อย่างชัดเจนว่า “การเกิดอุบัติเหตุอันตราย จนเป็นเหตุให้มีผู้คนบาดเจ็บ พิการ หรือตาย ก็คือ อาการที่แสดงออกถึง ‘ความพกพร่องทางการบริหารจัดการ’ ของผู้บริหารและผู้ที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในเรื่องความปลอดภัย”

ในยุคแรกๆ ของการป้องกันอุบัติเหตุนั้น เราเชื่อกันตามนักวิชาการชื่อ Heinrich ว่า การเกิดอุบัติเหตุจะเกิดจาก 2 สาเหตุหลัก คือ (1) การกระทำที่ไม่ปลอดภัย (Unsafe Acts) ซึ่งเกิดจากผู้ปฏิบัติงานทำงานอย่างไม่ปลอดภัยด้วยตัวพนักงานเอง และ (2) สภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย (Unsafe Conclusions) ซึ่งเกิดจากสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบตัวพนักงานไม่ปลอดภัย เช่น เครื่องจักร เสียงดัง ฝุ่นละออง เขม่าควัน อากาศร้อน หนาวและแสงสว่าง เป็นต้น

สาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ จึงเป็นเรื่องของการกระทำที่ไม่ปลอดภัยมากถึง 85% ส่วนสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัยมีเพียง 15% เท่านั้น

Advertisement

แต่การวิจัยของบริษัท Du Pont ได้ท้าทายความเชื่อเดิมๆ ด้วยการสรุปอย่างหนักแน่นว่า “อุบัติเหตุเกิดจากการกระทำที่ไม่ปลอดภัยเท่านั้น” เพราะสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัยจะไม่มีเด็ดขาด ถ้าผู้บริหารหรือผู้ควบคุมดูแลไม่ปล่อยปละละเลย เรื่องของอุบัติเหตุจึงเกิดจากการกระทำที่ไม่ปลอดภัย (รวมถึงความประมาท) ของผู้บริหารระดับต่างๆ เป็นหลักตั้งแต่หัวหน้างาน ผู้จัดการโรงงาน ขึ้นไปจนถึงผู้บริหารระดับสูง โดยเฉพาะความรับผิดชอบของเจ้าของกิจการ อาทิ การปล่อยให้พื้นลื่น การปล่อยให้ใช้สายไฟเปลือย การปล่อยให้ใช้เครื่องจักรที่ไม่มีฝาครอบป้องกันอันตราย การปล่อยให้มีเสียงดังทำลายโสตประสาท การปล่อยให้มีฝุ่นฟุ้ง มีไอพิษในบรรยากาศ เป็นต้น ซึ่งสภาพไม่ปลอดภัยดังกล่าวนี้ล้วนแต่เกิดจากการปล่อยปละละเลยของผู้บริหารแทบทั้งสิ้น (จึงถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ปลอดภัยของผู้บริหาร)

คือ ถ้าเจ้าของกิจการ หรือผู้บริหาร “เอาจริง” โดยปฏิบัติตามกฎหมาย ทำตาม กฎระเบียบ หรือคู่มือแห่งความปลอดภัย และมีการกวดขันติดตามให้ “หัวหน้างาน” ขยันลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบและควบคุมดูแลมาตรการต่างๆ ด้านความปลอดภัยอย่างเข้มงวด อุบัติเหตุก็จะไม่เกิด

ทุกวันนี้ การปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายหรือมาตรฐานคู่มือความปลอดภัย ยังไม่เพียงพอที่จะป้องกันอุบัติเหตุอันตรายได้ แต่ต้องอาศัย “จิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบ” ของผู้บริหาร ผู้ประกอบกิจการ หรือเจ้าของกิจการ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่มีความห่วงหาอาทรต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

โศกนาฏกรรมต่างๆ จากการเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะกรณีที่มีคนบาดเจ็บล้มตาย จึงมักจะเกี่ยวข้องยึดโยงถึง “จิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบ” ของทุกคนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ครับผม !

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image