คอลัมน์จิตวิวัฒน์ สมดุลชีวิตสนิทกับครอบครัว : เมื่อชีวิตออกแบบได้เสมอ โดย : ธัญลักษณ์ ศรีสง่า

เมื่อถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่เป็นช่วงวันหยุดยาว ภาพที่หลายคนคุ้นเคย หรือเป็นส่วนหนึ่งของภาพนั้นด้วย คือผู้คนที่เดินทางกลับบ้านในต่างจังหวัด และเดินทางท่องเที่ยวร่วมกับสมาชิกในครอบครัว ความหมายของเทศกาลสงกรานต์ เมื่อมองผ่านมุมมองของครอบครัวจึงเป็นช่วงเวลาหยุดพักผ่อนที่สมาชิกในครอบครัวมีโอกาสมาใช้เวลาร่วมกัน

แต่ประเด็นคำถามที่น่าสนใจ คือ เราสามารถสร้างสมดุลระหว่างชีวิตครอบครัว ชีวิตการทำงานและชีวิตทางสังคมในชีวิตประจำวันได้หรือไม่ ซึ่งคำถามนี้เป็นคำถามหลักของโครงการ “สมดุลชีวิตสนิทกับครอบครัว” ที่ดำเนินการโดยศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ทีมศูนย์คุณธรรมได้สืบค้นข้อมูลและพบว่า คนช่วงวัยแรงงานส่วนมากใช้ชีวิตโดยขาดการวางแผนชีวิตในหลายมิติ ทั้งในเรื่องการวางแผนการใช้เงิน การดูแลสุขภาพ การสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว ซึ่งชีวิตที่ขาดการวางแผนก็เหมือนการเดินทางที่ไร้ทิศทาง ส่งผลให้เกิดปัญหาหลายด้านตามมา ทั้งปัญหาในปัจจุบัน เช่น ปัญหาหนี้สิน ปัญหาสุขภาพ ปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว รวมไปถึงปัญหาที่รออยู่ในอนาคต เช่น การขาดเงินออมยามสูงวัย

จากสถานการณ์เหล่านี้นำไปสู่การออกแบบกระบวนการทำงาน ตั้งแต่การกำหนดกลุ่มผู้เข้าร่วมโครงการว่าเน้นไปที่ช่วงวัยแรงงาน และวิธีการดำเนินงานที่ให้ความสำคัญกับการสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เกิดความสมดุลทั้งในชีวิตครอบครัว การทำงาน และการทำงานเพื่อสังคม

Advertisement

การพัฒนาเนื้อหาและกระบวนการเรียนรู้ของโครงการเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ทีมวิทยากร คือ คุณอิทธิพร วันดี และคุณภาคย์สมร เข็มทิศ และผู้แทนจากสมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเลคทรอนิคส์ยานยนต์ และโลหะแห่งประเทศไทย (TEAM) นำมาสู่หลักสูตรอบรมสมดุลชีวิตสนิทกับครอบครัว ซึ่งเป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับคนในช่วงวัยแรงงาน ระยะเวลาจัดกระบวนการต่อรุ่น 2 วัน ดำเนินการมาแล้ว 3 รุ่น โดยรุ่นที่ 1-2 เน้นผู้เข้าร่วมที่เป็นสมาชิกสมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเลคทรอนิคส์ยานยนต์ และโลหะแห่งประเทศไทย (TEAM) ภาคกลางและภาคตะวันออก และรุ่นที่ 3 เปิดให้บุคคลทั่วไปที่อยู่ในวัยแรงงานเข้าร่วมกระบวนการด้วย

กระบวนการเรียนรู้เน้นการสร้างความสมดุลในชีวิต 5 มิติ คือ เวลา การเงิน สุขภาพ ครอบครัว สังคม เมื่อแปลงแนวคิดออกมาเป็นกิจกรรมประกอบไปด้วย 6 กิจกรรม ดังนี้ กิจกรรมที่ 1 ร่วมสร้างสังคมสดใส กิจกรรมเน้นการทำงานเป็นทีม ซึ่งต้องอาศัยความยืดหยุ่น การปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ที่ไม่มีแบบแผนตายตัว ซึ่งต้องการการรับฟังซึ่งกันและกัน โดยแนวคิดเหล่านี้มีความสำคัญในการทำงานเพื่อสังคม

กิจกรรมที่ 2 เงินทองของมีค่า เป็นกิจกรรมที่ทำให้ผู้เข้าร่วมทดลองเล่นเกมกับผู้เข้าร่วมด้วยกัน โดยกำหนดกติกาของเกมกันเอง ซึ่งเกมจะทำให้ผู้เข้าร่วมได้ทบทวนวิธีใช้จ่าย และการวางแผนทางการเงินของตนเอง พร้อมกระตุ้นให้ตระหนักถึง “หลุมพรางของมนุษย์เงินเดือน” จากการใช้จ่ายเกินตัว หรือขาดการวางแผนทางการเงิน

Advertisement

กิจกรรมที่ 3 สร้างวัฒนธรรมครอบครัวอบอุ่น ผู้เข้าร่วมโครงการรับชมสารคดีดอกไม้บานสื่อสารความดี เรื่องครอบครัวสุขสันต์ ผูกพันสายใยของโรงเรียนกันตังรัษฎา ซึ่งสะท้อนถึงบทบาทของสถาบันการศึกษาที่ดูแลเด็กนักเรียนเหมือนสมาชิกในครอบครัว และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นการสร้างครอบครัวคุณธรรม ซึ่งหน่วยของความเป็นครอบครัวอาจขยายออกมามากกว่าเครือญาติ แต่ยังรวมถึงสถาบันทางสังคมรูปแบบต่างๆ เช่น สถาบันการศึกษา องค์กร ชุมชน

กิจกรรมที่ 4 สุขภาวะดีทั้งกายและใจ ผู้เข้าร่วมโครงการรับชมภาพยนตร์ที่ชวนให้คิดถึงภาวะการนำที่เกิดขึ้นได้จากการเห็นคุณค่าภายในตนเอง คุณค่าในผู้อื่น และคุณค่าในงานที่ทำ ซึ่งการตระหนักถึงคุณค่าเหล่านี้นำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตได้อย่างเป็นองค์รวม

กิจกรรมที่ 5 เวลาคือความต้องการ เริ่มจากให้ผู้เข้าร่วมทบทวนประวัติชีวิตตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบัน และเขียนเหตุการณ์สำคัญในชีวิตออกมาในรูปแบบของเส้นเวลา (Timeline) หลังจากนั้นรวมกลุ่มแลกเปลี่ยนประวัติชีวิตด้วยหลักของสุนทรียสนทนา (Dialogue) คือ ฟังอย่างตั้งใจ แขวนการตัดสินหรือวิพากษ์วิจารณ์ ให้เกียรติสมาชิกในกลุ่มที่เล่าเรื่อง ซึ่งการเล่าเรื่องและรับฟังเรื่องเล่าร่วมกัน ทำให้ผู้เข้าร่วมเข้าใจถึงพลังของผู้คนแต่ละคนที่เผชิญโจทย์ท้าทาย ก้าวข้ามอุปสรรคแต่ละช่วงชีวิต และมุ่งมั่นสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งกับตนเอง ครอบครัว องค์กร ชุมชน และสังคม

หลังจากผู้เข้าร่วมทบทวนชีวิตตนเองในมิติต่างๆ เมื่อมาถึงกิจกรรมที่ 6 ครอบครัวเข้มแข็งด้วยแผนชีวิตนำทาง วิทยากรให้ผู้เข้าร่วมออกแบบอนาคตของตนเองด้วยการวางแผนชีวิต ใน 5 มิติ คือ เวลา การเงิน สุขภาพ ครอบครัว สังคม โดยกำหนดเป้าหมายรูปธรรม ว่าจะทำอะไร เพื่อให้เกิดอะไร ในระยะเวลา 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี ซึ่งความตั้งใจมีตั้งแต่การดูแลสุขภาพตนเอง การวางแผนการออมเงิน การแบ่งเวลาทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัว การทำงานอาสาสมัครกับองค์กร และชุมชน บทบาทของแผนชีวิตที่ผู้เข้าร่วมโครงการแต่ละคนเขียนขึ้นจึงเป็นการแปรเปลี่ยนความตั้งใจให้ปรากฏเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นเครื่องเตือนใจของผู้เข้าร่วมโครงการหลังจากจบการอบรม

กิจกรรมทั้ง 6 กิจกรรมของโครงการสมดุลชีวิตสนิทกับครอบครัว เป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้มีโอกาสทบทวนตนเองในเรื่องการสร้างสมดุลชีวิตในมิติต่างๆ ซึ่งโดยตัวกระบวนการแล้วไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับผู้เข้าร่วมได้โดยตรง แต่เป็นการสร้าง “แรงบันดาลใจ” ให้ผู้เข้าร่วมอยากเปลี่ยนแปลงชีวิตตนเอง

หลังจากการจัดกระบวนการเรียนรู้ ทีมศูนย์คุณธรรมได้สร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนของผู้เข้าร่วมโครงการแต่ละรุ่นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการ วิทยากร และทีมศูนย์คุณธรรมได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้กิจกรรมที่ผู้เข้าร่วมแต่ละคนดำเนินการตามแผนชีวิตที่ออกแบบไว้ โดยเป็นที่น่าสังเกตว่าการสร้างความสมดุลใน 5 มิตินั้นมีความเชื่อมโยงกันไปมา ดังนี้ มิติเวลาเชื่อมโยงกับมิติครอบครัว และมิติสุขภาพ เช่น การใช้เวลาพักผ่อนกับครอบครัว การทำอาหารรับประทานร่วมกันในครอบครัว การออกกำลังกายร่วมกับสมาชิกในครอบครัว มิติการเงิน เช่น การสร้างอาชีพเสริมด้วยการค้าขาย ขับรถแท็กซี่ ทำการเกษตร มิติสุขภาพเชื่อมโยงกับมิติครอบครัว และมิติสังคม เช่น การออกกำลังกายร่วมกับสมาชิกในครอบครัว การเล่นกีฬาร่วมกันในกลุ่มสหภาพแรงงาน มิติสังคมมีความเชื่อมโยงกับบทบาทการเป็นผู้นำหรือสมาชิกของสมาพันธ์แรงงานหรือสหภาพแรงงาน เช่น เข้าร่วมการประชุมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์การทำงานด้านแรงงานทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ การแสวงหาความรู้ใหม่ในการทำงานๆ เช่น การเข้ารับการอบรมเทคนิคการตัดต่อ การรวมกลุ่มทำกิจกรรมจิตอาสาช่วยพัฒนาโรงเรียน

นอกจาก “พื้นที่เสมือน” ในสื่อสังคมออนไลน์ที่ผู้เข้าร่วมโครงการแต่ละรุ่นได้แลกเปลี่ยนถึงกิจกรรมที่กลับไปทดลองทำตามแผนชีวิตแล้ว ทางทีมศูนย์คุณธรรมและวิทยากรวางแผนไว้ว่าจะมีการสร้างสิ่งแวดล้อมที่หล่อเลี้ยงแรงบันดาลใจเหล่านี้ ผ่านการจัดเวทีแลกเปลี่ยนกับกลุ่มผู้เข้าร่วมโครงการทั้ง 3 รุ่น โดยเป้าหมายของการจัดเวทีนี้ คือ พื้นที่กลางร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และสร้างความรู้ที่ว่าด้วยการสร้างสมดุลชีวิตของคนวัยแรงงาน ซึ่งเป็นความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติจริง

ความรู้ชุดนี้ไม่ได้มีประโยชน์เฉพาะผู้เข้าอบรมทั้ง 3 รุ่นที่ผ่านมาแล้วเท่านั้น แต่ทีมงานตั้งใจพัฒนากระบวนการเรียนรู้นี้ให้เป็นเครื่องมือสำหรับวัยแรงงานในการออกแบบชีวิต ทั้งการเตรียมความพร้อมให้กับชีวิตในปัจจุบัน วางแผนชีวิตในอนาคตเมื่อสังคมไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย และที่สำคัญความรู้ชุดนี้ทำให้เห็นว่าเราทุกคนสามารถเลือกออกแบบชีวิตให้เกิดความสมดุลทั้งด้านครอบครัว หน้าที่การงาน และการทำงานเพื่อสังคมได้ตลอดเวลา โดยไม่ต้องเฝ้ารอช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือช่วงเทศกาลใดเทศกาลหนึ่งเท่านั้น

ธัญลักษณ์ ศรีสง่า
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image