อาศรมมิวสิก : วาทยกรที่ดีกับการก้าวข้ามปัญหาและอุปสรรค โดย บวรพงศ์ ศุภโสภณ

วาทยกรที่ดีกับการก้าวข้ามปัญหาและอุปสรรค

มีผู้ใหญ่คนหนึ่งในวงการดนตรีบ้านเรา ได้ปรารภถึงการทำงานวิจารณ์ดนตรีของผู้เขียนว่า แท้จริงแล้วยังไม่อาจเรียกได้ว่าเป็น “การวิจารณ์ดนตรี” ได้อย่างแท้จริง เหตุผลก็คือ ท่านรู้สึกได้ว่าผู้เขียนเองยังไม่กล้าเขียนอะไรแบบตรงไป-ตรงมาจริงๆ ซึ่งความจริงแล้วผู้เขียนเองก็ตระหนักในประเด็นนี้เรื่อยมาแต่ไหนแต่ไร เพราะถือเสมอมาว่าการทำงานวิจารณ์ดนตรีควรจะสัมพันธ์กับความเข้มแข็งของวงการสร้างสรรค์ดนตรีตามสภาพการณ์ที่แท้จริง มิฉะนั้นแล้วการวิจารณ์แบบพูดทุกสิ่งทุกอย่างตามที่อยากจะพูด ก็อาจไปทำลายความรู้สึก, ความน่าเชื่อถือของศิลปินดนตรีที่สร้างสรรค์งานดนตรี (คลาสสิก) ด้วยความยากลำบากอยู่แล้วให้เกิดความยากลำบากมากขึ้นไปอีก

และนั่นจึงอาจกลายเป็นการวิจารณ์ในเชิงทำลายวงการในทางอ้อมไปโดยไม่รู้ตัว

จะวิจารณ์ดนตรีไปทำไม หากบทวิจารณ์มีความสนุก, อ่านแล้วสะใจ แต่ผู้วิจารณ์นั้นยืนอยู่บนความอ่อนแอของวงการดนตรี (ที่อ่อนแออยู่แล้ว) หรือแม้แต่เป็นนักวิจารณ์ที่ยืนอยู่อย่างสง่างามโดดเด่นบนซากปรักหักพังของวงการ หากในวันข้างหน้าที่วงการดนตรีคลาสสิกบ้านเราเข้มแข็งได้เสมือน จีน, สิงคโปร์, ฮ่องกง หรือญี่ปุ่น (ยังไม่ต้องไปเปรียบกับ ในเวียนนา, เบอร์ลิน หรือในสหรัฐอเมริกา) เมื่อนั้นวงการดนตรีในบ้านเราก็คงมีนักวิจารณ์รุ่นใหม่ๆ ที่วิจารณ์ดนตรีได้อย่างเข้มแข็ง, ดุเด็ดเผ็ดมันได้อย่างเต็มรูปแบบเกิดขึ้นตามมาอย่างแน่นอน

Advertisement

การวิจารณ์ในครั้งนี้ก็เช่นกันที่ผู้เขียนขอทำงานวิจารณ์เพื่อศึกษาบทเรียน จากการแสดงของวงดนตรีในบ้านเราจริงๆ ด้วยกรอบความคิดและมาตรฐานที่ตั้งอยู่บนสภาพความเป็นจริงของวงการสร้างสรรค์ดนตรีในปัจจุบัน

ในช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมานี้ มาตรฐานการบรรเลงของวง RBSO (Royal Bangkok Symphony Orchestra) มีลักษณะการขึ้น-ลงที่น่าใจหายอยู่ทีเดียว และความไม่ค่อยนิ่งที่ว่านี้น่าจะมีสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่พอจะเห็นประจักษ์ได้ (แม้ทางสายตา) ก็คือการใช้นักดนตรีที่สลับสับเปลี่ยน หมุนเวียนกันจนส่งผลกระทบต่อลักษณะการบรรเลงเป็นทีม (Ensemble) ของวงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า (แบบไทยๆ) ดูจะเป็นทางออกเดียว ซึ่งเมื่อเป็นแบบนี้ปัญหาก็จะไปตกอยู่ที่ผู้อำนวยเพลง (วาทยกร) อย่างมาก ทำอย่างไรเขาจึงจะสามารถสร้างเอกภาพในการบรรเลงให้ได้มากที่สุด ภายใต้สภาพการณ์เงื่อนไขอันจำกัด (แบบไทยๆ) เช่นนี้ ทำอย่างไรที่เขาจะต้องบริหารเวลาในการซ้อมอันจำกัดเพียงไม่กี่ครั้ง กับสภาพการสลับตัวนักดนตรีไป-มาให้เกิดการบรรเลงร่วมกัน (Ensemble) ได้อย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันมากที่สุด

Advertisement

ภายใต้สภาพการณ์อันจำกัดเช่นนี้ วาทยกรรับเชิญร่างเล็กๆ จากแดนอาทิตย์อุทัย ที่มีนามว่า “ฮิเดะ ชินโดริ” (Hide Shindori) ได้สร้างนิยามความหมายอันแท้จริงของตำแหน่งวาทยกรให้เด่นชัดตอกย้ำประโยคคำคมในวงการที่ว่า “….ไม่มีวงออเคสตราที่ดีหรือไม่ดีหรอก….มีแต่วาทยกรที่ดีหรือไม่ดีเท่านั้น….”(ถ้าวาทยกรแน่จริงแล้ว ต่อให้เจอกับวงออร์เคสตราที่ไม่ดีเลิศ เขาก็ยังสามารถสร้างมาตรฐานการบรรเลงที่ดีที่สุดตามสภาพการณ์เงื่อนไขนั้นขึ้นมาจนได้) และคอนเสิร์ตของ RBSO ในค่ำวันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ.2561 ณ หอประชุมเล็กศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ก็คือการอธิบายเรื่องราวที่กล่าวมานี้ได้อย่างชัดเจนในตัวเอง

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เขาได้มาร่วมงานกับ RBSO ผู้เขียนสังเกตการณ์บรรเลงภายใต้การอำนวยเพลงของเขามาตั้งแต่ปีก่อน (ซิมโฟนีหมายเลข 7 ของเบโธเฟน ณ สถานที่เดียวกันนี้ในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2560) ซึ่งสังเกตได้ว่าเขามีอะไรบางอย่างในตัวที่คล้ายกับ ฮิโคทาโร ยาซากิ (Hikotaro Yazaki) อดีตผู้อำนวยการดนตรี (Music Director)ของวงดนตรีวงนี้ ที่สร้างมาตรฐานการควบคุมวงได้ในระดับ “สะกดจิต”

นี่ไม่ใช่การกล่าวเกินความจริง เพราะว่าหน้าที่ในการกำกับควบคุมการบรรเลงของวงออเคสตราทั้งวงก็คือการสะกดจิตในรูปแบบหนึ่ง ซึ่งฮิเดะ ชินโดริ มีอะไรบางอย่างในตัวด้านนี้ที่คล้ายกับ ฮิโคทาโร ยาซากิ (แม้จะไม่เข้มข้นเทียบเท่ายาซากิก็ตาม)

แต่ฮิเดะ ชินโดริ ก็ดูจะเสียเปรียบวาทยกรคนอื่นๆ ที่เคยมาร่วมงานกับ RBSO ทั้งหลาย กล่าวคือเขาได้รับโอกาสในการอำนวยเพลงในสังคีตสถาน (Concert Hall) ขนาดเล็กทุกครั้ง ซึ่งเราต้องไม่ลืมว่าวงซิมโฟนีออเคสตราเป็นวงดนตรีที่ตั้งอยู่บนแนวคิดของการบรรเลงด้วยฝีมือมนุษย์ล้วนๆ บรรเลงกันในสถานที่แสดงจริงๆ ที่ต้องอิงอยู่กับระบบอุโฆษวิทยา (หรือระบบการสะท้อนเสียงของห้องแสดงดนตรี = Acoustic) ที่ต้องเอื้ออำนวยเป็นอย่างมาก กล่าวคือไม่ก้องสะท้อนมากเกินไปและไม่แห้ง-อับจนเกินไป

กล่าวได้ว่าสังคีตสถานที่วงออเคสตราต่างๆ ใช้บรรเลงกันนั้น แท้จริงมันคือ “กล่องกำธร” ของวงออร์เคสตราทั้งวงอย่างปฏิเสธไม่ได้ และการที่ฮิเดะ ชินโดริ ไม่เคยมีโอกาสอำนวยเพลงในหอประชุมใหญ่เลย จึงถือได้ว่าเขาเสียเปรียบผู้อำนวยเพลงคนอื่นๆ เขาขาด “เครื่องดนตรีชิ้นใหญ่ที่สุด” ที่เอื้ออำนวย แต่เขาก็สามารถพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเขาสามารถนำพาการบรรเลงของ RBSO ผ่านเงื่อนไข, ข้อจำกัดนี้ไปได้อย่างดี

นับตั้งแต่บทโหมโรงจากอุปรากรเรื่อง “The Marriage of Figaro” ของ โมซาร์ท (W.A.Mozart) ที่บรรเลงเปิดรายการนั้นเขารู้จักเลือกใช้ความเร็วของจังหวะได้อย่างพอเหมาะพอดี ไม่คึกคะนองโอ้อวด (เพราะตระหนักถึงความปลอดภัยมั่นคงมากกว่า), รักษาระเบียบวินัยให้เกิดความพร้อมเพรียงให้ได้มากที่สุด การเปล่งเสียงพยางค์โน้ตต่างๆ (Articulation) ที่เน้นความสะอาดเรียบร้อย ส่งผลให้เกิดรูปทรงทางดนตรีของโมซาร์ทได้อย่างงดงามชัดเจน

เหว่ยอิน เฉิน (Weiyin Chen) นักเปียโนสาวชาวอเมริกัน-ไต้หวัน เป็นตัวเลือกที่ดีมากในการเป็นศิลปินเดี่ยวในบทเพลงเปียโนคอนแชร์โต หมายเลข 23, ผลงานลำดับที่ 488 (K.488) ของโมซาร์ทในครั้งนี้ แม้ชื่อเสียงของเธออาจจะไม่ขึ้นแท่นที่เราจะเรียกเธอได้ว่า “ระดับโลก” หรือ “นานาชาติ” ได้เต็มปาก แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาเพราะทั้งจากประวัติภูมิหลังและฝีมือที่เธอฝากไว้ในครั้งนี้ แสดงให้เห็นเด่นชัดว่าเธอคือศิลปินเดี่ยวเปียโนที่มีความรักและเชี่ยวชาญในการบรรเลงดนตรีสกุลคลาสสิกแห่งศตวรรษที่ 18 อย่างแท้จริง

การบรรเลงเดี่ยวเปียโนของเธอสะท้อนถึงความเข้าใจในลักษณะธรรมชาติและลีลาบทเพลงเปียโนคอนแชร์โตของโมซาร์ทได้เป็นอย่างดี นั่นคือความงามแบบใสสะอาด, รสชาติของดนตรีที่กลมกล่อมและกลมกลืน อีกทั้งความเป็นเนื้อเดียวกัน (Ensemble) ระหว่างแนวบรรเลงเดี่ยวเปียโนและการบรรเลงของวงออเคสตราที่จะไม่ร้อนแรงดุเดือดแบบลักษณะ “Romantic Piano Concerto” ในศตวรรษที่ 19 ทั้งหลาย

การบรรเลงเดี่ยวของเธอสะท้อนถึงลักษณะภาพรวมของ “ดนตรีซิมโฟนีของโมซาร์ท” (Symphonic Mozart) ได้เป็นอย่างดีทีเดียว และฮิเดะ ชินโดริ ก็เป็นวาทยกรที่เป็นเพื่อนร่วมงาน (Accompanist) ที่ดีเยี่ยมในบทเพลงนี้ นั่นคือการรักษาหน้าที่ในการเชื่อมโยงศิลปินเดี่ยวกับวงดนตรีให้มีความเป็นเนื้อเดียวกัน เขาประคบประหงมทั้งวงออเคสตราและศิลปินเดี่ยวอย่างใกล้ชิด พยายามใช้ภาษากายในการเชื่อมต่อ-สื่อสารระหว่างวงดนตรีกับศิลปินเดียวอยู่ทุกขณะ

นี่คือหัวใจสำคัญในบทบาทของผู้อำนวยเพลงในบทเพลงแบบคอนแชร์โตนั่นเอง

อาจจะไม่สวยนัก แต่จำเป็นต้องกล่าวอย่างกระชับใจความว่า บทเพลงเอก (ซิมโฟนี) ของรายการครั้งนี้ ฮิเดะ ชินโดริประสบความสำเร็จในการกำกับวง RBSO ใน ซิมโฟนีหมายเลข 8 (ผลงานลำดับที่ 88) ของอันโตนิน ดวอชาค(Antonin Dvorak) มากกว่าและชัดเจนกว่าที่ มิเชล ทิลคิน (Michel Tilkin) ผู้อำนวยการดนตรีคนปัจจุบันได้อำนวยเพลงซิมโฟนี หมายเลข 9 (From the New World) ที่เพิ่งได้อำนวยเพลงผ่านไปเมื่อวันที่ 17 มีนาคม ที่ผ่านมา ณ หอประชุมใหญ่เสียอีก

ประสบความสำเร็จชัดเจนมากกว่าทั้งๆ ที่เขาต้องอำนวยเพลงในหอประชุมเล็กที่มีสภาพการสะท้อนเสียงด้อยกว่าหอประชุมใหญ่ ที่มิเชล ทิลคิน ได้รับโอกาส การนำเอาซิมโฟนีหมายเลข 8 ของ ดวอชาค บทนี้มาบรรเลงในหอประชุมเล็กนั้น ถือได้ว่าเป็นห้องแสดงที่เล็กเกินไปสำหรับบทเพลงนี้ ซึ่งนี่ไม่ใช่แค่เหตุผลทางด้านพื้นที่เวทีเพียงอย่างเดียว แต่มันยังหมายถึง “พื้นที่เสียง” ที่บทเพลงนี้ต้องการเพื่อความก้องกังวานที่เหมาะสมเพียงพอ

และมันยังหมายถึง พื้นที่ซึ่ง “หางเสียงทางดนตรี” (Harmonic) ที่ต้องขยายและพัฒนาในกระบวนการกำเนิดและผลิตเสียงให้จบสิ้นอีกด้วย

ปรัชญาดนตรีสะท้อนปรัชญาชีวิต “เราต้องทำอะไรให้ได้มากที่สุดและดีที่สุด จากสิ่งที่เหลืออยู่ในมือ (ชีวิต) ของเรา!” ฮิเดะ ชินโดริ ปฏิเสธที่จะรับรู้ถึงเงื่อนไขและข้อจำกัดในมือที่เขาได้รับ วิสัยทัศน์ของเขาจดจ้องไปยังเป้าหมายข้างหน้า การจัดองคาพยพในการบรรเลงให้เหมาะสมคือกุญแจแก้ไขปัญหานี้ ทั้งการจัดระเบียบวินัยพื้นฐานการบรรเลงของวงให้นิ่งที่สุด เพื่อมิให้แสดงข้อบกพร่องในเรื่องตะเข็บเสียงที่หลุดลุ่ย, เหลื่อมล้ำ ไม่พร้อมเพรียงกัน ซึ่งเมื่อก้าวพ้นเรื่องวินัยพื้นฐานได้พอสมควรแล้ว ที่เหลือก็คือระดับงานทางศิลปะที่ต้องแสดงถึงการตีความทางดนตรี

เขาสามารถทำให้ซิมโฟนีบทนี้ของอันโตนิน ดวอชาค แสดงออกทั้งด้านความเป็นธรรมชาติอันลื่นไหลและร้อนแรงแบบดนตรีสายพันธุ์สลาฟ (Slavic Music)

อีกทั้งสามารถสร้างเนื้อเสียงและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของวงออเคสตราได้ดีที่สุดเท่าที่ศักยภาพของวง RBSO ในปัจจุบันจะเอื้ออำนวย

เขามีวิธีสร้างพื้นฐานทางระเบียบวินัย, ความพร้อมเพรียงต่างๆ อันเป็นสภาพทางวัตถุวิสัย (Objectivity) ทางดนตรีได้แบบ ชาร์ลส โอลิเวียริ มันโร (Charles Olivieri Munroe) และเขาก็มีพลังจิตที่สามารถสะกดนักดนตรีทั้งวงให้จดจ่ออยู่กับการบรรเลงดนตรีอย่างเข้มข้นมีชีวิตชีวา อันเป็นสภาพด้านจิตวิสัย (Subjectivity) ทางดนตรี ได้ในระดับน้องๆ ของฮิโคทาโร ยาซากิ ผู้ชมบางคนอาจนึกตลกขบขันในท่าทางการอำนวยเพลงที่ออกจะกระตุ้งกระติ้งไปบ้างในหลายๆ ชั่วขณะ

แต่ผู้เขียนขอมองข้ามประเด็นเล็กน้อยนี้ไปให้พ้นๆ เขาคือวาทยกรในลีลาแบบผู้อำนวยเพลงชาวญี่ปุ่นชั้นนำทั้งหลาย (รวมถึงฮิโคทาโร ยาซากิ เองด้วย) นั่นคือใช้ร่างกายทั้งตัว, ใช้อวัยวะทุกส่วนในการอำนวยเพลงสื่อสารกับนักดนตรี ทำทุกอย่างให้นักดนตรีตื่นตัว, จดจ่อ มีชีวิตชีวาอยู่กับเสียงดนตรีที่พวกเขากำลังบรรเลง หรือใครไม่เชื่อก็ลองไปดูลีลาการอำนวยเพลงของ “ยอดมนุษย์ดนตรี” อย่าง “เลโอนาร์ด เบอร์นสไตน์” (Leonard Bernstein) ดูเถิด
บางครั้งเหมือนนกปีกหัก, บางครั้งก็ยักไหล่-ส่ายก้นอย่างลืมตัวไม่ต้องอับอายใดๆ แต่……ทุกสิ่งทุกอย่างต้องตัดสินกันที่เสียงดนตรีนั่นเอง……

ฮิเดะ ชินโดริ ก็เช่นเดียวกัน

เวลาล่วงเลยมาจนถึงศตวรรษที่ 21 แล้ว ดนตรีคลาสสิกไม่ใช่มรดกเฉพาะชนชาติตะวันตกอีกต่อไป กรณีความสำเร็จของวาทยกรร่างเล็ก อย่าง ฮิเดะ ชินโดริ กับวง RBSO นั้นสะท้อนและตอกย้ำให้เราได้ตระหนักว่า ค่านิยมในอดีตที่เคยปรามาสว่าคนในโลกตะวันออกไม่มีทางเข้าใจดนตรีคลาสสิกตะวันตกได้ดีเท่าคนยุโรปหรืออเมริกานั้น หมดอายุและตกยุคไปนานแล้ว

ยิ่งกับทัศนคติในอดีตที่เคยมีการกล่าวกันแบบซุบซิบในแวดวงในๆ กันว่า คนไทยนั้นต่อให้ซ้อมน้อย หรือขี้เกียจซ้อมไปบ้างก็ยังเล่นดนตรีคลาสสิกตะวันตกได้อย่างมีวิญญาณและมีชีวิตชีวากว่าคนชาติอื่นๆ ในแถบเอเชียด้วยกัน ทัศนคติอันตรายที่ว่านี้นอกจากหมดยุค, หมดอายุแล้วยังน่าอับอายอีกด้วย “แรงบันดาลใจ” มาจากการทำงานหนักมุมานะอย่างต่อเนื่องจึงจะเกิด “แรงบันดาลใจ” ขึ้นมาได้

มิใช่มาจากความฝันและรอโชคช่วยด้วยความบังเอิญให้เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวเสมือนรอถูกลอตเตอรี่ชุดใหญ่ 30 ล้าน ครั้งหนึ่งในชีวิต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image