วันสงกรานต์ : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

“สงกรานต์” เป็นคำสันสกฤต หมายถึง ก้าวขึ้น การเคลื่อนย้ายของการก้าวสู่ราศีใหม่ หรือการเคลื่อนขึ้นของปีใหม่ ในความเชื่อของไทยและบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันกำหนดวันเวลาอยู่ในช่วง วันที่ 13, 14 และ 15 เมษายนของทุกปี โดยวันที่ 13 เมษายน เรียกว่า “วันมหาสงกรานต์” ส่วนวันที่ 14 เป็นวันเนา และวันที่ 15 เป็นวันเถลิงศก

สงกรานต์ในประเทศไทย : ประเพณีสงกรานต์มีการสืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณคู่กับตรุษ จึงเรียกรวมกันว่า “ประเพณีตรุษสงกรานต์” หมายถึง การส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ซึ่งเป็นวันที่เริ่มใช้ปฏิทินของไทยจนถึง พ.ศ.2431 จากนั้นวันที่ 1 เมษายน ให้ยึดเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวไทยและใช้มาจนถึง พ.ศ.2483 โดยเปลี่ยนวันปีใหม่ของไทยเป็นวันที่ 1 มกราคม แทน ส่วนวันสงกรานต์ถูกประกาศให้ใช้เป็นวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี ซึ่งประเพณีสงกรานต์มีพิธีสรงน้ำพระ และพิธีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่เพื่อเป็นการแสดงความเคารพและ “ความกตัญญู” และเสริมความเป็นสิริมงคลและเป็นประเพณีที่ทำสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน

ประวัติวันสงกรานต์ : ในเดือนเมษายนซึ่งตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนห้า (5) ซึ่งเป็นวันและเวลาตั้งต้นสู่ปีใหม่ ตามการคำนวณโหราศาสตร์เพราะในสมัยโบราณเรานับถือเดือนเมษายนเป็นเดือนแรกของปี ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ.2432 ได้กำหนดให้ใช้วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ซึ่งตรงกับวันที่ 1 เมษายน เป็น “วันขึ้นปีใหม่” และสอดคล้องกับธรรมเนียมซึ่งก็คือ… “วันสงกรานต์” นั่นเอง และได้มีการใช้วันที่ 1 เมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยแต่นั้นมาโดยตลอด…และเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2483 คณะรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ประกาศให้ใช้วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2484 เป็น “วันขึ้นปีใหม่” เพื่อให้สอดคล้องกับประเทศอื่นๆ เป็นสากลทั่วโลกและใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน “วันสงกรานต์” ซึ่งชาวไทยได้ยกให้เป็นประเพณีไทยและยังถือว่าวันปีใหม่ของไทย โดยในวันสงกรานต์จะมีการรดน้ำ วันรื่นเริง การรดน้ำดำหัวในชนบทหลายแห่ง และมีการเล่นพื้นเมืองต่างๆ กัน นอกจากจะมีการรดน้ำดำหัวแล้วอาจจะนำน้ำหอม เสื้อผ้าอาภรณ์ไปรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ญาติ พี่น้องที่เคารพนับถือ

ส่วนทางศาสนาก็จัดให้มีการบายศรีพระสงฆ์ สมภาร เจ้าอาวาสและสรงน้ำพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ตามวัดต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกัน

Advertisement

เทศกาลสงกรานต์ในต่างประเทศก็มีการเล่นเช่นเดียวกัน ไม่เพียงมีแต่ประเทศไทยเท่านั้น หากแต่วันสงกรานต์ยังเป็นประเพณีของประเทศลาว กัมพูชา พม่า ชาวไตหรือชาวไทในสิบสองปันนา โดยเฉพาะเมืองจิ่งหง หรือเมืองเชียงรุ่ง และชนกลุ่มน้อยในแถบเวียดนามและมณฑลยูนนานของจีน ศรีลังกา รวมถึงภาคตะวันออกของอินเดีย ส่วนในต่างประเทศจะจัดงานสาดน้ำสงกรานต์ในวันที่ 13-15 เมษายน เช่นกัน

วันที่ใช้จัดงานวันสงกรานต์ประเพณีไทยที่มักจัดขึ้นจะถูกจัดตั้งแต่วันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี และวันที่ 15 เมษายน 2561 นับเป็นวันเถลิงศก ซึ่งจัดเป็นสำคัญวันหนึ่งของผู้เขียนเองเรียกว่า…เป็นวันครอบครัว เป็นวันผู้สูงอายุ…เป็นวันที่เทิดทูลสำหรับครอบครัวและผู้มีวุฒิภาวะ คือ “ผู้สูงอายุ” เป็นบุคคลที่ทรงคุณค่าควรแก่การเคารพนับถือกราบไหว้…นับเป็นวัฒนธรรมไทยและที่ยังใช้สืบเนื่องกันมา การรับฟังคำสั่งสอน คำตักเตือนต่างๆ โดยเฉพาะคำว่า “ข้อคิด. คติธรรม คำกลอนสอนใจ”

ซึ่งผู้เขียนได้ประมวลหลากหลายเพื่อเป็นทิศทางเพื่อการเรียนรู้ของ “ชีวิต” ความเป็น “คน” ความเป็น “มนุษย์”ความเป็น “คนดี” กล่าวคือ “คนดีต้องมีกตัญญู”

Advertisement

ล่วงเข้าวันที่ 15 เมษายน 2561 ผ่านวันสงกรานต์มาได้ 2 วัน ผู้เขียนจึงอยากจะสื่อ “ข้อคิด-คติธรรม-คำกลอนสอนใจ” ให้กับเพื่อนสมาชิกมติชนได้รับรู้ เมื่ออ่านบทความนี้ ขอให้ตั้งใจมีสมาธิ อ่านช้าๆ ทีละประโยค ทีละบรรทัด คิดพิจารณาตามไปด้วย จะเกิดความรู้ความเข้าใจ เห็นข้อเท็จจริงแห่งข้อความนั้น ไล่เรียงทั้ง 10 หัวข้อ ดังนี้

1.วิธีทางแห่งชีวิต “ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ.” สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา เราเกิดมาจากไหนใครไม่รู้ จะไปสู่แห่งไหนใครไม่เห็น จะตายเช้าหรือสายบ่ายหรือเย็น ไม่มีเว้นทุกคนจนปัญญา ชีวิตของคนเราจะเดินไปทางไหนนั้น แล้วแต่กรรมลิขิตคือ แล้วแต่กรรมที่เราทำไว้จะเขียนหรือขีดเส้นทางให้เราเดิน หนทางสำหรับเดินนั้นมีอยู่ 7 สายด้วยกันคือ : 1.ไปนรก ส่วนมากไปเพราะโทสะความโกรธพยาบาท 2.ไปเป็นเปรตอสุรกาย ไปเพราะโลภะความโลภ ทุจริต คดโกง 3.ไปเป็นสัตว์เดรัจฉาน ไปเพราะโมหะ ความหลง ห่วงหวงสมบัติ สามีภรรยาลูกหลาน 4.ไปเป็นมนุษย์ ไปเพราะศีล 5 กุศลกรรมบถ 10 5.ไปสวรรค์ ไปเพราะมหากุศลจิต 8 ดวง ที่มีหิริและโอตตัปปะเป็นอธิบดี เช่นการให้ทานรักษาศีล ฟังธรรม เรียนธรรม สอนธรรม สร้างโบสถ์ วิหาร ศาลา หรือสิ่งอันเป็นสาธารณประโยชน์ทั้งหลาย 6.ไปพรหมโลก 20 ชั้น ได้แก่การเจริญสมถะ มีกรรมฐาน 40 อย่างๆ ใดอย่างหนึ่งเป็นอารมณ์ จนได้ฌานมีปฐมฌาน เป็นต้น 7.ไปนิพพาน ได้แก่การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน กำหนดรูปนามขันธ์ 5 เป็นอารมณ์ ถ้าปล่อยก็ว่าง ถ้าวางก็เบา ถ้าเอาก็หนัก โลภมากนักมักจะเกิดกำเนิดเปรต รักหวงมากก็เป็นเหตุเปรตวิสัย ห่วงเมียลูกผูกสมัครรักอาลัย ของเครื่องใช้หากยึดหน่วงเหมือนบ่วงมาร รักโลภนี้ชี้ภพหน้าคราดับจิต เหมือนอมิตรผลักส่งลงสถาน น่าสมเพชเปรตวิสัยไม่สำราญ ขอเชิญท่านจงคลายเหตุเป็นเปรตเทอญ

2.กฎแห่งกรรม : “กมฺมุนา วตฺตตี โลโก.” สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม สว่างอื่นอันใดในอากาศ ไม่โอภาสเท่าดวงตะวันฉาย แรงสิ่งอื่นเข้าแข็งที่แรงร้าย ก็แพ้พ่ายแรงกรรมที่ทำมา สร้างกรรมไว้อย่างไรในอดีต กรรมจักติดตามไปในภายหน้า เหมือนพืชพันธุ์หว่านไว้ในเนื้อหา ผลย่อมปรากฏเป็นเช่นเผ่าพันธุ์ จงควรทำกรรมดีที่ไร้โทษ โลภหลงโกรธอดใจกษัยสรรพ์ จะสบสุขสดชื่นทุกคืนวัน เพราะบุญบันดาลดลพ้นทุกข์เอย
ใครจะชั่วมัวเมาช่างเขาเถิด เราอย่าเกิดเห็นงามไปตามเขา วัวใครเข้าคอกใครใช่คอกเรา ควรจะเอาใจตรวจสำรวจตน สูบบุหรี่อันตรายตายผ่อนส่ง ควันมีพิษสงฉุดลงอบาย

3.ผลของกรรมดีและกรรมชั่วที่ทำให้มนุษย์มีชีวิตแตกต่างกัน : “กรรมชั่ว” : ฆ่าสัตว์ คนอายุสั้น เบียดเบียนสัตว์ ขี้โรค โกรธและพยาบาท ผิวพรรณหยาบ ริษยาคนอื่น ไม่มีเดชานุภาพ ตระหนี่ขี้เหนียว มีความยากจน หยิ่ง จองหอง เกิดในตระกูลต่ำ ดื่มสุราเมรัย มีปัญญาทราม “กรรมดี” : ไม่ฆ่าสัตว์ คนอายุยืน ไม่เบียดเบียนสัตว์ สุขภาพดี อดทนไม่โกรธตอบ ผิวพรรณดี ไม่ริษยาคนอื่น มีเดชานุภาพมาก บริจาคทาน มีสมบัติมาก อ่อนน้อม มีตระกูลสูงศักดิ์ คบแต่บัณฑิต มีปัญญามาก
รักษาตัวกลัวกรรมอย่างทำชั่ว จะหมองมัวหม่นไหม้ไปเมืองผี จงเลือกทำแต่กรรมที่ดีๆ จะได้มีความสุขพ้นทุกข์ภัย

4.คนหรือมนุษย์ : คนเป็นสัตว์โลกชนิดหนึ่ง ซึ่งมีความเป็นอยู่เหมือนสัตว์ทั้งหลาย คือมี การกิน การนอน การกลัว การสืบพันธุ์ ส่วนมนุษย์นั้นสูงกว่าคนเพราะมีธรรมของมนุษย์ คือ เบญจศีล เบญจธรรม มนุษย์มีความหมาย 2 อย่าง คือ 1.ผู้มีใจสูง (มโน อุสฺโส อัสฺสาติ. มนุสโส) 2.ผู้รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ และไม่เป็นประโยชน์ (หิตาหิตํ มนติ
ชานาติ. มนุสฺโส) ถ้าแม้นคนไร้ธรรมประจำจิต ดวงชีวิตย่อมจักหมดศักดิ์ศรี มีค่าเทียบเท่าสัตว์ในปัฐพี ชีวิตนี้ไร้ค่าน่าเสียดาย
เกิดมาตัวเปล่า ตายไปตัวเปล่า มีบุญกับบาป ที่ติดตัวไปได้เท่านั้น แม้ทองเลี่ยมฟันก็เอาไปไม่ได้

5.เป็นมนุษย์หรือเป็นคน? : เป็นมนุษย์เป็นได้เพราะใจสูง เหมือนหนึ่งยูงมีดีที่แววขน ถ้าใจต่ำเป็นได้แต่เพียงคน ย่อมเสียทีที่ตนได้เกิดมา ใจสะอาดใจสว่างใจสงบ ถ้ามีครบควรเรียกมนุสสา เพราะทำถูกพูดถูกทุกเวลา เปรมปรีดาคืนวันสุขสันต์จริง ใจสกปรกมืดมัวและร้อนเร่า ใครมีเข้าควรเรียกว่าผีสิง เพราะพูดผิดทำผิดจิตประวิง แต่ในสิ่งนำตัวกลั้วอบาย คิดดูเถิดถ้าใครไม่อยากตก จงรีบยกใจตนรีบขวนขวาย ให้ใจสูงเสียได้ก่อนตัวตาย ก็สมหมายที่เกิดมาอย่าเชือนเอยฯ
สิ่งสำคัญยิ่งใหญ่ในชีวิต คือทำจิตของตนให้ผ่องใส ไม่โลภโกรธหลงมัวเมาเอาสิ่งใด รักษาใจได้สุขสันต์นิรันดร

6.อย่าจองเวร : “อเวรน จ สมฺมน์ติ” เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร “น หิ เวเรน เวรานิ สมฺมนฺตีธ ภุทาจนํ” ในกาลไหนๆ เวรในโลกนี้ย่อมระงับด้วยเวรไม่มีเลย เวรคือการเป็นศัตรูคู่อาฆาต เวรนี้อาจทำให้ไร้ความสุข เวรอาจพาคนเราให้เข้าคุก เวรก่อทุกข์อย่างยิ่งทั้งหญิงชาย เวรไม่ดีไหนไปให้ไกลสุด เวรเมื่อหยุดผลดีมีมากหลาย เวรระงับดับสนิทจิตสบาย เวรจะหายก็ต้องไม่จองเวร บุญคุณต้องทดแทน แค้นให้อภัย… ถ้าผูกใจเจ็บ จะเจ็บใจเรา ถ้าเมตตาเขา ใจเราสบาย
ฆ่าดีมีสุข “โกธํ ฆตฺวา สุขํ เสติ.” ฆ่าความโกรธเสียได้ย่อมอยู่เป็นสุข “ชยํ เวรํ ปสวติ.” ผู้ชนะย่อมก่อเวร “อกฺโกเธน ชิเน โกธํ” พึงชนะคนโกรธด้วยความไม่โกรธ ความโมโหโกรธาพากลัดกลุ้ม ดุจเพลิงสุมดวงจิตพิษร้ายหลาย มักก่อเรื่องเคืองขุ่นให้วุ่นวาย บ่อนทำลายซึ่งความสามัคคี โกรธแล้วสร้างศัตรูคู่อาฆาต เกิดวิวาทฆ่าฟันกันป่นปี้ ไฟโกรธดับลำบากยากเต็มที นอกจากมีขันติธรรมประจำใจ โกรธเขาเราก็รู้อยู่ว่าร้อน จะนั่งจะนอนก็เป็นทุกข์ไม่สุกใส แล้วยังดื้อด้านโกรธเขาไปทำไม น่าแค้นใจจริงหนาไม่น่าชม ฆ่าสัตว์ได้โทษ ฆ่าความโกรธได้บุญ “ธรรมะนี้ไม่มีมาก มีรักมีโกรธเท่านั้น ถ้ารักโกรธดับเสียแล้ว ญาณทัสสนวิสุทธิจะเกิดขึ้น ความฉลาดจะเกิดขึ้นตอนไม่ดับมันก็ขวางหน้าขวางหลัง ทำให้ปัญญาเกิดไม่ได้” เขาจะว่าอะไรเรา เขาสบายใจก็ให้เขาว่าไปเถอะ เราก็ไม่ยึดถือให้เขาว่าให้พออย่างนี้ แล้วกิเลสเราก็หมดสิ้นไป หากเราไปต่อว่าเขาเดี๋ยวมันไม่สบายใจ ให้อภัยอย่างนี้บุญมาก
ศัตรูที่แท้จริงของคนเราคือ โลภ โกรธ หลง ต้องแก้ด้วยมี ศีล สมาธิ ปัญญา

7.เพื่อนนั้นสำคัญไฉน : ถ้าท่านมีทาสอยู่คนเดียวและให้บุตรของท่านหมกมุ่นอยู่กับทาสตลอดเวลาแล้วในไม่ช้าท่านก็จะมีทาสสองคน ถ้าท่านอยู่ในหมู่สุนัขไปนานๆ ลงท้ายท่านก็จอหอนเป็น ยํ เว เสวติ ตาทิโส. คบคนเช่นใดมักเป็นคนเช่นนั้น คบคนพาลพานพาไปหาผิด คบบัณฑิตบัณฑิตพาไปหาผล คบคนชั่วพาตัวให้ยากจน จะคบคนต้องพินิจเพ่งพิศดู คบเพื่อนดีมีหนึ่งถึงจะน้อย ดีกว่าร้อยเพื่อนคิดริษยา เหมือนมีน้ำจืดนิดหน่อยด้วยราคา ยังดีกว่าน้ำเค็มเต็มทะเล

8.ตายแน่ๆ : “สพฺพํ เภทยนฺตํ เอวํ มจฺจานํ ชีวิตํ” ชีวิตของสัตว์เหมือนภาชนะดิน ซึ่งล้วนมีความสลายเป็นที่สุด จะซ่อนในกลีบเมฆกลางเวหา ซ่อนกายากลางสมุทรสุดวิสัย จะซ่อนตัวกลางเขาลำเนาไพร ณ ถิ่นใดพ้นตายนั้นไม่มี ถึงมีฤทธิศักดิ์สามารถยกปราสาทเวชยันต์ก็หวั่นไหว ทั้งดำดินบินฟ้านภาลัย รู้เท่าไรก็ไม่รอดคงวอดวาย อย่าขึ้งเครียดเกลียดกันเลย ไม่ช้าเกินเลยก็จะเกยซึ่งเชิงตะกอน อันความตายชายนารีหนีไม่พ้น จะมีจนก็ต้องตายวายเป็นผี ถึงแสนรักก็ต้องร้างห่างทันที ไม่วันนี้ก็วันหน้าจริงหนาเรา
โอ้ร่างกายของเรามันเน่าแน่ ไม่มีแปรเปลี่ยนผันหันไหน ต้องรู้ตัวอยู่เสมออย่าเผลอใจ สิ่งใดดีควรทำรีบจ้ำเลยฯ
บัดนี้ท่านกำลังทำอะไรอยู่ : “กาโล ฆสติ ภูตานิ สพฺพเนว สตฺตนา.”

กาลเวลาย่อมกลืนกินสัตว์ทั้งหลายพร้อมกับกินตัวมันเอง อันกาลเวลาวารีที่ล่วงแล้ว ไม่ผ่านแผ้ววกวับกลับมาหา ควรรีบทำความเพียรเวียนเวลา ในวันนี้แหละหนาอย่าลามือ เร็วเข้าเถิดเพื่อนเอ๋ยอย่ารอช้า เร่งรีบคว้าพระธรรมประจำจิต ทุกนาทีผ่านไปใยไม่คิด ว่าชีวิตจะตายใกล้แล้วเอย

9.บุญ-ทาน การกุศล : “สุโข ปุญญสฺส อุจฺจโย.” การสั่งสมบุญนำสุขมาให้ คำว่า “บุญ” 1.แปลว่า ชำระ (ชำระใจ) 2.แปลว่าเต็ม (เต็มใจ) 3.แปลว่า กรอง (กรองกิเลสทิ้ง) 4.แปลว่าความสุข ประโยชน์ของบุญ 1.ใครจะมาแย่งไปไม่ได้ 2.ติดตามตนไปทุกฝีก้าว 3.ละร่างนี้ไปแล้วยังสามารถติดตามไปในที่ๆ ตนเกิดได้ 4.ไม่ทั่วไปแก่คนอื่น ใครทำใครได้ 5.โจรลักไปไม่ได้ การทำบุญเหมือนนำน้ำสะอาด มาล้างราดชำระอกุศล จิตสกาวขาวผ่องไม่หมองหม่น เป็นบุญล้นควรทำเช้าค่ำเลย จะทำดีแต่ละทีนี้แสนยาก ต้องลำบากขืนเข็ญเช่นขึ้นเขา แต่ทางผิดกิจชั่วชอบมัวเมา เหมือนลงเขาชะโงกง้ำคะมำเอง “สุขสฺส ทาตา เมธาวี สุขํ โส อธิคจฺฉติ. ผู้มีปัญญาให้ความสุข ย่อมได้รับความสุข “มนาปทายี ลภเต มนาปิ.” ผู้ให้สิ่งที่ชอบใจ ย่อมได้สิ่งที่ชอบใจ

การทำบุญให้ทานจะมีผลมาก มีอานิสงส์ไพศาล ถ้าประกอบด้วยองค์ 6 ประการ คือ 1.ก่อนให้ก็มีใจผ่องใสชื่นบาน 2.เมื่อกำลังให้จิตใจก็ผ่องใส 3.เมื่อให้แล้วก็มีความยินดีไม่เสียดาย 4.ผู้รับเป็นผู้ปราศจากราคะ หรือกำลังปฏิบัติเพื่อละราคะ 5.ผู้รับเป็นผู้ปราศจากโทสะ หรือกำลังปฏิบัติเพื่อละโทสะ 6.ผู้รับเป็นผู้ปราศจากโมหะ หรือกำลังปฏิบัติเพื่อละโมหะ

10.คนดีต้องมีกตัญญู : “นิมิตฺตํ สาธุรูปานํ กตญฺญูกตเวทิตา.” ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายแห่งคนดี กตัญญูรู้คุณท่านสำคัญนัก นี้เป็นหลักคนดีมีครบถ้วน ตอบแทนท่านให้งามตามสมควร คนดีล้วนใจมั่นกตัญญู โอ้ผู้ใดใครเล่าจะเท่าแม่ พระคุณแน่เหนือใครไปทุกสิ่ง ลูกนึกเทียบเปรียบสิ่งใดไม่ได้จริง ช่างใหญ่ยิ่งยากแสนจะแทนคุณ ด้วยชนกชนนีมีพระเดช ได้ปกเกศเกศามาจนใหญ่ อุ้มอุทรป้อนข้าวเป็นเท่าไร หมายจะได้พึ่งพาธิดาดวง ถ้าเราดีมีจิตคิดอุปถัมภ์ กุศลล้ำเลิศเท่าภูเขาหลวง จะปรากฏยศยิ่งสิ่งทั้งปวง กว่าจะล่วงลุถึงซึ่งนิพพาน เมื่อแก่เฒ่าหมายเจ้าเฝ้ารับใช้ เมื่อยามไข้หมายเจ้าเฝ้ารักษา เมื่อยามถึงวันตายวายชีวา หวังลูกช่วยปิดตาเมื่อสิ้นใจ ไม้เท้าของคนเฒ่า ดีกว่าลูกเต้าอกตัญญู แม่หวังเพียงลูกน้อยทำดี แม่หวังเพื่อลูกมีทรัพย์ไว้ แม่หวังลูกสุขีเพราะก่อกุศลนา ลูกแม่จดจำไว้อย่าให้ผิดหวัง ลูกขอบวชแทนพระคุณคุณแม่แล้ว ร่มโพธิ์แก้วโพธิ์ทองของลูกเอ๋ย ขออุทิศกุศลผลบุญที่คุ้นเคย ขอชดเชยให้แม่พลันกตัญญู

ท้ายสุดนี้ผู้เขียนเองและหลายท่านคงเห็นพ้องเชื่อแรงบุญและอานิสงส์แห่ง “กตัญญูกตเวทิตา” ยิ่งใหญ่มากที่สุดในชีวิตของความเป็น “มนุษย์” และเชื่อมั่นว่าวันนี้คนใดเป็น “ลูกที่ดี” กตัญญูกตเวทีต่อ “พ่อแม่” หรือ “บิดามารดา” จะเป็นอะไรก็ได้อนาคตก็เป็น “คนดี” เสมอที่น่าเคารพนับถือ หากท่านยังเป็น “ลูกที่ดีไม่ได้” (ลูกเนรคุณ) อย่าหวังเลยว่าจะเป็น “คนดีได้” ทั้งในปัจจุบันและอนาคต นะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image