ปราบเสี้ยนหนามหมดสิ้น… แผ่นดินพระเพทราชา โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

ในตอนต้นรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ฯ พระเพทราชาถือได้ว่าเป็นพระญาติสนิท มีตำแหน่งเป็นจางวางกรมช้าง มีความชำนาญในการบังคับช้างและมีฝีมือในการสงคราม มีครั้งหนึ่งสมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ สมเด็จพระเพทราชาหรือจางวางกรมช้างในขณะนั้นได้ตามเสด็จไปทำศึกด้วย

กองทัพสมเด็จพระนารายณ์ฯตีเมืองเชียงใหม่แตก และสมเด็จพระนารายณ์ฯ ได้มีสัมพันธ์กับราชธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่องค์หนึ่งจนตั้งครรภ์ แต่ด้วยเหตุผลทางด้านเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ที่ยังไม่ยอมรับในความเท่าเทียม จึงทรงยกพระนางนั้นให้กับจางวางกรมช้าง คือพระเพทราชา

เมื่อเดินทัพกลับจากเมืองเชียงใหม่มาถึงเมืองพิษณุโลก บ้านโพธิ์ประทับช้าง เมืองพิจิตร พระนางจากเชียงใหม่ได้คลอดบุตรชายตั้งชื่อให้ว่ามะเดื่อ ซึ่งต่อมาก็คือหลวงสรศักดิ์ หรือพระเจ้าเสือ

ในปี พ.ศ.2231 เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชประทับ ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรค์ ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม พระอาการประชวรก็ทรุดลงอย่างหนักด้วยโรคไอหืด (asthmatic cough) เหตุการณ์ในอยุธยาและเมืองลพบุรีระส่ำไปด้วยข่าวลือเรื่องการสืบพระราชอำนาจ พระเพทราชา คือขุนนางที่ทรงอำนาจที่สุดในเวลานั้น

Advertisement

พระเพทราชาตัดสินใจลงมือชิงกระทำการรัฐประหาร ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2231 โดยมีหลวงสรศักดิ์หรือพระยาศรีสรศักดิ์ เป็นกำลังสำคัญ เสริมด้วยชาวบ้านในเขตเมืองและปริมณฑล ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินโดยมีบรรดาขุนนาง พระสงฆ์ แม่ทัพนายกองจำนวนหนึ่งเข้าร่วม

พระเพทราชาวางแผนการใช้พระสงฆ์ตามวัดต่างๆ ในเขตเมืองลพบุรีและปริมณฑลมาก่อนแล้ว ทั้งนี้ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากพระสังฆราชเมืองลพบุรี ณ วัดราชา พระสงฆ์ทั้งปวงเข้าร่วมการยึดอำนาจของพระเพทราชาก็เพราะไม่ชอบขี้หน้าพวกฝรั่งชาวคริสต์อยู่ด้วยเป็นทุน

หลังการยึดอำนาจ พระเพทราชาร่วมกับขุนหลวงสรศักดิ์ ประกาศตนเป็นผู้พิทักษ์ราชบัลลังก์ ต้องการปราบกบฏที่มีเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ (ฟอลคอน) และกองทหารฝรั่งเศสที่กำลังคิดก่อกบฏจากสมเด็จพระนารายณ์ฯ และจะยึดสยามเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส

Advertisement

พระเพทราชาวางแผนลวงพระอนุชาทั้ง 2 พระองค์ของสมเด็จพระนารายณ์ฯ คือเจ้าฟ้าน้อยและเจ้าฟ้าอภัยทศว่า มีรับสั่งให้ 2 พระองค์เข้าเฝ้า เมื่อทั้ง 2 พระองค์เสด็จถึงเมืองลพบุรี ก็ถูกหลวงสรศักดิ์จับไปสำเร็จโทษที่วัดซาก ซึ่งโดยประเพณีแล้ว ทั้ง 2 พระองค์มีสิทธิที่จะได้พระราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระนารายณ์ฯ

ส่วนพระปีย์ (พระนารายณ์ฯทรงเรียกว่าอ้ายเตี้ย) พระราชโอรสบุญธรรมถูกกำจัด โดยผลักตกจากพระที่นั่งสุทธาสวรรค์บาดเจ็บ แล้วกุมตัวไปสำเร็จโทษอีกราย

 

คิวสังหารต่อมา คือ เจ้าพระยาวิชาเยนทร์(คอนสแตนติน ฟอลคอน) ขุนนางชาวกรีกคนโปรดของสมเด็จพระนารายณ์ฯที่อยู่ในบัญชีดำ เพราะพระเพทราชาและขุนหลวงสรศักดิ์รอเวลา หาทางกำจัดขุนนางฟอลคอนมานานแล้ว มีการส่งข่าวให้เจ้าพระยาวิชาเยนทร์มาเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ฯ ที่ประชวร

นักประวัติศาสตร์มีความเห็นว่า เจ้าพระยาวิชาเยนทร์เองในสถานการณ์เวลานั้น ก็มีกองกำลังทหารของฝรั่งเศสที่สามารถต่อต้านการรัฐประหารของพระเพทราชาได้ แต่นายพลเดส์ฟาร์ฌ์ (Chevalier Desfarges) ผู้บังคับหน่วยทหารฝรั่งเศสที่มีอาวุธทันสมัย เกิดลังเลใจไม่ยอมยกกองทหารฝรั่งเศสขึ้นมาลพบุรีตามที่เคยตกลงกันไว้

เมื่อเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ สมุหนายกของแผ่นดินอยุธยา พร้อมทหารฝรั่งเศสอีก 2 นายเดินทางมาเข้าเฝ้าพระนารายณ์ฯ เมื่อถึงพระทวาร (ประตู) ก่อนเข้าพระตำหนักต้องปลดอาวุธ ทหารพระเพทราชาตีด้วยไม้จนตกจากเสลี่ยง นำตัวฟอลคอนไปคุมขัง ต่อมาถูกนำตัวไปประหารชีวิตที่วัดซาก ทางเหนือนอกกำแพงเมืองลพบุรี เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2231 เวลาราวบ่าย 4 โมงเย็น

การประหัตประหารบุคคลชั้นสูงดังกล่าวในลพบุรี ทำให้สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงพระพิโรธและเสียพระทัยยิ่งนัก ยังไม่สิ้นพระชนม์แต่ไร้พระราชอำนาจโดยสิ้นเชิง เพราะว่าพระราชอำนาจทั้งปวงตกอยู่ในมือของพระเพทราชาแล้ว

11 กรกฎาคม พ.ศ.2231 พระนารายณ์ฯ เสด็จสวรรคต

เมื่อจัดการกับเสี้ยนหนามทุกฝ่ายเบ็ดเสร็จ จึงเชิญพระบรมศพสมเด็จพระนารายณ์ฯไปประดิษฐานที่พระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์

สมเด็จพระเพทราชาปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ.2231 เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 28 ของราชอาณาจักรอยุธยา ขณะพระชนมายุ 56 พรรษา (บาง
ข้อมูลระบุ 61 พรรษา) ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระมหาบุรุษ วิสุทธิเดชอุดม บรมจักรพรรดิศร บรมนาถบพิตร สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว”

เมื่อขึ้นครองราชย์แล้ว พระองค์ได้ทรงแต่งตั้งกรมหลวงโยธาทิพพระภคินีของสมเด็จพระนารายณ์ฯให้เป็นพระมเหสีฝ่ายขวา ซึ่งต่อมาได้ให้กำเนิดพระโอรสพระองค์หนึ่งคือ เจ้าพระขวัญ และแต่งตั้งกรมหลวงโยธาเทพ พระธิดาองค์เดียวของสมเด็จพระนารายณ์ฯ เป็นพระมเหสีฝ่ายซ้าย ซึ่งต่อมาได้ให้กำเนิดพระโอรสพระองค์หนึ่งคือ ตรัสน้อย

กรมหลวงโยธาเทพ ทรงเป็นพระราชธิดาของสมเด็จพระนารายณ์ฯ ซึ่งพระราชธิดาทรงมีพระอำนาจและอิทธิพลสูงในราชสำนักตลอดรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ฯ

แต่เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ฯถูกยึดอำนาจโดยพระเพทราชาและได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ ชะตาชีวิตของกรมหลวงโยธาเทพต้องแสนจะคับแค้นพระทัย เมื่อพระเพทราชาสถาปนาให้พระนางฯ เป็นอัครมเหสีฝ่ายซ้ายในขณะที่พระองค์ยังทรงเศร้าโศกจากการจากไปของพระบิดา

ตั้งหลวงสรศักดิ์ฯ เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ตั้งหม่อมแก้วบุตรท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (แจ่ม) พระขนิษฐาของพระองค์เป็นกรมขุนเสนาบริรักษ์

สมเด็จพระเพทราชา แต่เดิมตอนเป็นสามัญชนชื่อว่า “ทองคำ” เป็นชาวพลูหลวง แขวงเมืองสุพรรณบุรี (ปัจจุบันคือบ้านพลูหลวงตั้งอยู่ในตำบลสนามชัย อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี) เป็นบุตรของพระนมเปรม และมีพระขนิษฐาคือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ พระสนมเอกในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ประสูติเมื่อ พ.ศ.2175 (บางแห่งว่า
พ.ศ.2170) ปีเดียวกับ สมเด็จพระนารายณ์ฯ เป็นพระสหายกับสมเด็จพระนารายณ์ฯ มาตั้งแต่เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ เนื่องจากพระมารดาของพระองค์เป็นพระนมโทในสมเด็จพระนารายณ์ฯ (พระนมเอกคือ เจ้าแม่วัดดุสิต มารดาของโกษาเหล็ก และโกษาปาน)

ก่อนได้ราชสมบัติ ครั้งยังเป็นพระเพทราชา จางวางกรมช้าง หรือเจ้ากรมช้างในฐานะรักษาการสมุหกลาโหม คุมกำลังทหารมากที่สุดในแผ่นดิน

พระราโชบายของพระเพทราชามีความชัดเจนมาเนิ่นนาน เรื่องไม่ต้องการติดต่อสัมพันธ์กับต่างชาติโดยเฉพาะฝรั่งเศส ไม่ต้องการให้มีชาวต่างชาติในราชสำนักและในระบบราชการ
พระเพทราชาเคยกล่าวเรื่องนี้ในที่ประชุมขุนนางต่อหน้าพระพักตร์สมเด็จพระนารายณ์ฯ ในประเด็นเรื่องการติดต่อสัมพันธ์กับชาวต่างชาติ ซึ่งในช่วงเวลานั้น สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงชื่นชอบพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และโปรดขุนนางฟอลคอนเป็นพิเศษ ทรงพิโรธการติงของพระเพทราชา แต่ก็ทรงระงับไว้ได้ เพราะพระเพทราชามีฐานะเป็นพระญาติสนิท

เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์แล้ว ก็ขับไล่กำลังทหารฝรั่งเศสที่ควบคุมโดยนายพลเดส์ฟาร์ฌ์ ให้ออกไปจากกรุงศรีอยุธยา สั่งการให้นำกำลังไปขับไล่ทหารฝรั่งเศสที่ป้อมบางกอก และที่ป้อมเมืองมะริด ในความควบคุมของนายพลดูบรูอัง เฉพาะที่ป้อมบางกอกต้องออกแรงรบกันยืดเยื้อยาวนาน มีการสูญเสียของทั้ง 2 ฝ่าย ต่อมามีการเจรจาต่อรองจัดให้มีการแลกตัวประกันเพื่อสงบศึก

ในที่สุดสงครามสยาม-ฝรั่งเศสก็ยุติลงโดยนายพลเดส์ฟาร์ฌต้องสูญเสียชีวิตบุตรชายที่เป็นตัวประกันเพราะขัดคำสั่งของพระเพทราชา ฝ่ายพระเพทราชาได้สมบัติฝรั่งเศส และได้กักกันนักบวชจำนวน 70 คน ไว้ระยะหนึ่งก่อนจะให้อิสรภาพ รวมทั้งท้าวทองกีบม้า (มารี กีมาร์) ภรรยาและบุตรของฟอลคอนอีกคนหนึ่ง

การเจรจาแบบจับตัวประกันแล้วฆ่าเด็กทิ้งจบลง ฝ่ายอยุธยายอมสูญเรือสินค้า 2 ลำ ที่ท่านนายพลฝรั่งเศสขอยืมไป คือเรือชื่อสยามและละโว้ กับเงินอีก 300 ชั่ง

 

พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงทราบเรื่องราวการเปลี่ยนรัชกาลและการขับไล่ทหารฝรั่งเศส จึงส่งตัวนักศึกษาจากอยุธยา 12 คน ที่ไปศึกษาในฝรั่งเศสกลับอยุธยา ผลการปฏิบัติดังกล่าวทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับฝรั่งเศส สิ้นสุดลงตั้งแต่นั้นมา

ส่วนภายในราชอาณาจักร ในรัชสมัยของสมเด็จพระเพทราชาได้เกิดกบฏขึ้นอีกหลายครั้ง เช่น ที่หัวเมืองนครราชสีมาและเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเจ้าเมืองทั้ง 2 ได้รับการ
สถาปนาจากสมเด็จพระนารายณ์ฯ เจ้าเมืองทั้ง 2 ไม่ยอมรับพระราชอำนาจของพระเพทราชา เนื่องจากเห็นว่าพระเพทราชาเป็นผู้แย่งชิงราชสมบัติจากสมเด็จพระนารายณ์ฯ

กบฏครั้งใหญ่ที่สุดในรัชกาลพระเพทราชา ตามที่ปรากฏในหลักฐานร่วมสมัยคือกบฏเมืองนครราชสีมาที่กินเวลาอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2242 ถึงเดือนเมษายน พ.ศ.2243 พงศาวดารระบุว่าผู้นำการก่อกบฏคือพระยายมราช (สังข์) ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ฯทรงแต่งตั้งให้ครองเมืองนครราชสีมา โดยมีการส่งกองทัพจากกรุงศรีอยุธยาขึ้นไปปราบที่นครราชสีมา แต่ก็ไม่สำเร็จ จนสมเด็จพระเพทราชาทรงมีพระราชโองการให้เรียกแม่ทัพนายกองกลับมาลงพระอาญาอย่างหนัก และยังมีความวุ่นวายจากเหตุการณ์ตึกดินปืนในพระนครระเบิดจนเกิดเพลิงไหม้ในพระนครอย่างหนักในวันที่ 9 มกราคม พ.ศ.2243

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเรียบเรียงความเป็นไปในเมืองอยุธยาขึ้นถวาย จอมพลสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษี
สว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช สรุปความว่า

มหาดเล็กชื่อ ธรรมเฐียร อ้างตัวเป็นเจ้าฟ้าอภัยทศ หลอกลวงคนส้องสุมรี้พลอยู่ที่สระบุรี จนรวมคนได้เป็นกองทัพ ยกเข้ามาตั้งติดพระนครศรีอยุธยาเพื่อโค่นล้มบัลลังก์พระเพทราชา แต่โดนปราบ ไพร่พลเสียชีวิตกลาดเกลื่อนพระนคร ในเวลานั้นพระเพทราชาต้องปราบปรามเสี้ยนศัตรูอยู่หลายปีจึงราบคาบ

ในรัชสมัยของพระเพทราชา มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครองใหม่ โดยกำหนดให้หัวเมืองฝ่ายเหนืออยู่ในความดูแลของสมุหนายก และหัวเมืองฝ่ายใต้อยู่ในความดูแลของสมุหพระกลาโหม โดยแบ่งครึ่งกัน ให้แต่ละฝ่ายรับผิดชอบดูแลกิจการทั้งด้านทหารและพลเรือนในภูมิภาคนั้นๆ

นอกจากนี้พระเพทราชายังได้เพิ่มกำลังทหารให้แก่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้า เพื่อเป็นกำลังป้องกันวังหลวง

 

ทรรศนะของนักประวัติศาสตร์ฝ่ายหนึ่ง เห็นว่า สมเด็จพระเพทราชา ได้ดิบได้ดีเพราะมีมารดาเป็นแม่นมสมเด็จพระนารายณ์ฯ พระเพทราชาบังอาจกระทำการรัฐประหาร เป็นกบฏชิงราชสมบัติ กับสังหารเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ตัวจักรสำคัญที่ดำเนินกุศโลบายด้านการต่างประเทศและเศรษฐกิจให้อยุธยารุ่งเรืองแบบไม่เคยปรากฏมาก่อน การมีปฏิสัมพันธ์กับฝรั่งเศสแบบแนบแน่น ระหว่างสมเด็จพระนารายณ์ฯกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศส ช่วยนำพาสยามให้พ้นภัยจากฮอลันดา อีกทั้งทำให้อยุธยาโดดเด่นรุ่งเรืองในทุกด้าน เมื่อเทียบกับบ้านใกล้เรือนเคียง

พระเพทราชาทรงมีมเหสี 4 พระองค์ คือ

1.กรมพระเทพามาตย์ (กัน) พระมเหสีเดิมในพระเพทราชาเป็นผู้อภิบาลพระเจ้าเสือตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ภายหลังได้ขึ้นเป็นที่กรมพระเทพามาตย์

2.กรมหลวงโยธาเทพ หรือมเหสีฝ่ายซ้าย-พระราชธิดาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีพระราชโอรสคือ เจ้าฟ้าตรัสน้อย ทรงสนใจทางด้านการศึกษาในหลายๆ แขนงวิชา ช่วงหลังย้ายตามพระราชมารดาไปอยู่ ณ พระตำหนักใกล้วัดพุทไธศวรรย์

3.กรมหลวงโยธาทิพ หรือมเหสีฝ่ายขวา เป็นพระขนิษฐาในสมเด็จพระนารายณ์ฯ มีพระราชโอรสคือ เจ้าพระขวัญ (อายุ 13 โดนสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์)

4.นางกุสาวดี มเหสีพระราชทานจากพระนารายณ์ฯ พระธิดาพญาแสนหลวง เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่

พระเพทราชาครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2231-2246 เสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ.2246 พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพนฯ ฉบับตัวเขียน ระบุว่าสวรรคต ณ พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ หลังครองราชย์ได้ 15 ปี สิริพระชนมายุได้ 71 พรรษา

เมื่อสิ้นรัชสมัยของพระเพทราชาแล้ว อดีตหลวงสรศักดิ์หรือกรมพระราชวังบวรฯ ก็ขึ้นครองราชย์ต่อมา และเป็นที่คุ้นเคยเรียกขานในพระนามว่า พระเจ้าเสือ

มีพระนามว่า สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 ที่ครองราชย์ต่อมาอีก 6 ปี

 

ขอแถมข้อมูลที่น่าสนใจให้ท่านผู้อ่านว่า พระเจ้าเสือ เคยไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่เมืองพิจิตร เพื่อเป็นการรำลึกถึงชาติภูมิของพระองค์ฯ พระเจ้าเสือได้โปรดให้สร้าง วัดโพธิ์ประทับช้าง ขึ้นที่เมืองพิจิตร โดยสร้างพระอุโบสถ พระวิหาร พระมหาเจดีย์ ศาลาการเปรียญ และกุฏิสงฆ์ มีอาณาบริเวณวัดกว้างขวางใหญ่โต ใช้เวลาสร้าง 2 ปี จึงสำเร็จ แล้วเสด็จพระราชดำเนินมาฉลองด้วยพระองค์เอง 3 วัน 3 คืน มีมหรสพครึกครื้น

ในตัวเมืองลพบุรี ปรากฏถนนเพทราชา เป็นถนนเล็กๆ แคบและสั้น ทอดยาวตลอดกำแพงวังด้านใต้ของพระนารายณ์ราชนิเวศน์ ความยาวของถนนประมาณ 180 เมตร

เรื่องราวในประวัติศาสตร์ที่ได้อ่าน ได้ชมทางละครโทรทัศน์แบบเจาะลึก ถึงพริกถึงขิงทั้งหมดนี้ เป็นบันทึก เป็นรายงานของชาวฝรั่งเศสและชาวต่างชาติเมื่อราว 400 ปีที่แล้วทั้งสิ้น ชาวต่างชาติเหล่านี้เข้ามาทำงานในสยาม สนใจความเป็นไปในบ้านเมืองสยามทุกซอกทุกมุม เอกสารบางชิ้น จดหมายบางฉบับยังมีตัวตน ถูกเก็บรักษาไว้ในฝรั่งเศสแบบน่าชื่นชมยิ่งนัก และต้องขอขอบคุณผู้รู้ทั้งหลายไปตามหา และแปลออกมา ซึ่งผู้เขียนเชื่อมั่นว่ายังมีเอกสารหลักฐานทางประวัติศาสตร์อีกมากที่ยังไม่มีใครพบ ซึ่งทางราชการควรจัดระบบการทำงานเพื่อสืบค้น ร่วมมือกับต่างประเทศอย่างจริงจัง

การศึกษาประวัติศาสตร์ คือการค้นหาข้อมูลมาพูดจา เล่าสู่กันเพื่อให้เกิดมุมมองที่แตกต่าง ซึ่งจะก่อเกิดความแตกฉานทางปัญญาอันไม่มีวันสิ้นสุด การศึกษาประวัติศาสตร์มิใช่การมานั่งตัดสินคดีความแบบศาล

โปรดติดตาม ความเมืองเรื่องของอยุธยาในตอนต่อไปครับ

ขอบคุณ ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ กรกฎาคม 2556 โดย ส.สีมา และภาพวาดจาก เพทราชากษัตริย์สยาม Pitera Rex Siam จาก fb คุณ Sudhisak Palpho

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image