นอกสาธารณรัฐไวมาร์ ใครจะมาจากการเลือกตั้ง โดย กล้า สมุทวณิช

 

ไม่ใช่เรื่องธรรมดา สำหรับหนังสือที่พิมพ์ออกมาวางจำหน่ายได้แค่สองสัปดาห์ ก็ต้องมีการสั่งพิมพ์เพิ่มยอด เพื่อให้มีพอที่จะวางจำหน่ายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติโดยที่เป็นหนังสือแนวที่ปกติจะไม่ค่อยขายได้แรงได้เร็ว เหมือนพวกตำราพารวยหรือนิยายวัยรุ่น เพราะเล่มนี้เป็นหนังสือสารคดีประวัติศาสตร์

หนังสือที่มี “ลูกค้า” ไปหมดหลายวงการ ทั้วรรณกรรม ศิลปะ สังคม นักวิชาการประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และกฎหมาย เรียกว่าคนในแวดวงนั้นใครยังไม่มีหนังสือเล่มนี้ ก็ถือเป็นอันตกกระแส

แค่นี้ก็คงรู้แล้วว่า หนังสือที่ก่อปรากฏการณ์ที่ว่านั้น คือ “ในสาธารณรัฐไวมาร์ ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง” โดย ภาณุ ตรัยเวช

Advertisement

ภาณุ ตรัยเวช เดียวกับที่เป็นนักเขียนหนุ่มรุ่นใหม่ ที่มีลีลาการใช้ภาษาและลูกเล่นทางวรรณกรรมที่พิเศษเป็นเอกลักษณ์ ผลงานของเขาเคยเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์มาแล้วถึงสองครั้ง ก่อนจะลองแนวทางใหม่ด้วย “สารคดี” ทางประวัติศาสตร์ ที่เขียนขึ้นจากข้อมูลมากมาย หนังสือนับร้อยเล่ม ด้วยความหมกมุ่นสนใจส่วนตัว ข้อมูลบางส่วนที่สกัดออกมาจากหนังสือเหล่านั้น มาเขียนให้ผู้คนได้ศึกษาอย่างอ่านง่ายได้เปล่าในเพจบนเฟซบุ๊ก ก่อนจะเรียบเรียงออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้

ด้วยทักษะทางภาษาของผู้เขียนที่เรียบเรียงเล่าเรื่องออกมาอย่างสนุกน่าติดตาม ด้วยลีลาไม่ผิดจากวรรณกรรมชั้นดี ประกอบกับข้อมูลมากมายที่น่าสนใจ อันเป็นข้อมูลประวัติศาสตร์ของยุโรปที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้ ความสละสลวยแต่สมบูรณ์ทั้งมิติทางข้อมูลและภาษานี้เอง

แม้แต่นักวิชาการที่สำเร็จจากประเทศเยอรมนีอย่าง ศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ก็ยังเขียนคำนิยมให้เป็นมาลัยประดับหนังสือเล่มนี้

Advertisement

ช่วงเวลาแห่งความวุ่นวายทางการเมือง สังคมการเมืองไทยตกอยู่ภายใต้มายาว่าด้วย “ปีศาจจากการเลือกตั้ง” ยิ่งมีนักวิชาการบางท่านบางคนสร้างวาทกรรมว่า “การเลือกตั้งไม่ใช่ประชาธิปไตย เพราะแม้แต่ฮิตเลอร์ก็มาจากการเลือกตั้ง” เสียจนคนส่วนใหญ่เชื่อกันมาอย่างนั้น ยิ่งถ้าผู้พูดอ่านตำรับตำราภาษาเยอรมันออกหรือสำเร็จการศึกษาจากประเทศนั้นด้วยยิ่งชวนให้เชื่อเข้าไปอีก และเมื่อเอาไปผสมกับความรู้เลาๆ จากวิชา สปช. ที่แอบซ่อนขาดวิ่นในความทรงจำว่า เยอรมนีในสมัยนั้นเป็นยุคสมัยอันอับเฉาตกต่ำ ประชาชนเศร้าสลดเคียดแค้นเพราะความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทำให้นักการเมืองชื่อฮิตเลอร์สามารถปลุกกระแสชาตินิยมจนชนะการเลือกตั้ง กลายเป็นผู้นำสูงสุด เปลี่ยนสาธารณรัฐไวมาร์เป็นอาณาจักรไรช์ที่สาม

ท่อนต่อจากนั้นก็คงเป็นเรื่องที่รู้และยอมรับตรงกันทุกสายทุกสำนัก ว่าการปกครองแบบเผด็จการนาซีของเขานำประเทศเยอรมนีเข้าสู่สงครามในฐานะผู้รุกราน ลุกลามไปทั่วภาคพื้นยุโรปและทั่วโลก เป็นโศกนาฏกรรมและบาดแผลของมนุษยชาติ ทั้งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การทารุณเชลยศึกในสงครามทางตะวันออกไกล จบลงด้วยอาวุธทำลายล้างที่ร้ายแรงที่สุดจนถึงทุกวันนี้

นั่นแหละ เราจึงถูกเขาทำให้เชื่อว่า เสียงข้างมากของ “ประชาชน” อาจสร้าง “นักการเมือง” ขึ้นมาเป็นปีศาจล้างโลกผ่านกระบวนการเลือกตั้งก็ได้ – ข้อความที่เขาอยากให้เราสรุปเอง คือ การเลือกตั้งนั้นเป็นดาบสองคม (ซึ่งไม่ว่าจะหันอย่างไรก็มีคมอยู่ดี) ดังนั้น การไม่เลือกตั้งก็ดี เลือกตั้งภายใต้ข้อจำกัดยุบยิบหยิมย่อยก็ตาม หรือกระบวนการลากถูผู้ดีผู้งามในนามของการ “เลือกตั้งทางอ้อม” ที่ค้อมไกลลงคลอง นั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อมิให้ระบบการเลือกตั้งสร้างปีศาจขึ้นมาอีก

หนังสือของภาณุเล่มนี้ มาทลายวาทกรรมเหล่านั้น ด้วยการนำเสนอภาพอันรุ่งโรจน์ของสาธารณรัฐไวมาร์ ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งประชาธิปไตยครั้งแรกของเยอรมนีที่มีความรุ่มรวยทั้งในทางศิลปวัฒนธรรม วิชาการ รวมถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศเยอรมนี และสำคัญยิ่งกว่านั้น คือ หนังสือเล่มนี้ให้ข้อมูลที่ทำลายมายาคติปีศาจเลือกตั้ง ด้วยการค่อยๆ เล่า ให้ผู้อ่านได้ตามทันว่าการเข้าสู่อำนาจของฮิตเลอร์นั้นเริ่มต้นมาอย่างไร การเลือกตั้งที่ว่าชนะนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งเราจะพบว่าเอาเข้าจริงๆ แล้วฮิตเลอร์แทบไม่เคยชนะการเลือกตั้งแบบเด็ดขาดเลย

การเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเขาก็มาจากกลเกมการต่อรองทางการเมือง หากจะมีการเลือกตั้งที่ตามมาหลังจากนั้น ก็เป็นการเลือกตั้งแบบที่ว่าแทบจะมัดมืออุ้มตัวพาไปคูหากาฮิตเลอร์กันเลยทีเดียว

การเลือกตั้งที่ เต็มไปด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ ใบปลิวทุกพรรคการเมืองที่ไม่ใช่พรรคนาซีถูกฉีกทิ้งหมด ทุกเมืองมีประกาศลำโพงติดไว้ตลอดเวลาว่าต้องเลือกฮิตเลอร์ และผู้ชนะการเลือกตั้งที่ไม่ใช่พรรคนาซีก็เป็นอันอยู่ในประเทศไม่ได้

ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติในปีนี้ สำนักพิมพ์มติชน ได้นำเสนอธีมว่า “ประวัติศาสตร์คืออนาคต” พร้อมชูหนังสือแนวประวัติศาสตร์เป็นจุดขาย นอกจากในสาธารณรัฐไวมาร์เล่มนี้ ก็ยังมี การเมืองในการทหารไทยสมัยรัชกาลที่ 6, ราชสำนักจีนหันซ้าย โลกหันขวา, ราษฎรสามัญ หลังวันปฏิวัติ 2475, มติชนบันทึกประเทศไทย ปี 2558 ที่เป็นเหมือนกับจดหมายเหตุร่วมสมัย และมุมมองอนาคตจากศาสตร์เก่าแก่ ศาสตร์แห่งโหร 2559

ในเมื่อประวัติศาสตร์คือการบันทึกพฤติกรรมของมนุษย์เอาไว้ เช่นนี้เมื่อเกิดเหตุการณ์หรือเงื่อนไขถึงพร้อม “พฤติกรรม” ในการตอบสนองของมนุษย์ก็น่าจะตอบสนองออกมาอย่างเดิม เช่นนี้เองกระมัง “ประวัติศาสตร์” จึง “คืออนาคต”

และดังที่ผู้เขียนหนังสือไวมาร์ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ประชาธิปไตยในยุคแห่งไวมาร์นั้นยังเป็นประชาธิปไตยทั่วไป เหมือนกับประชาธิปไตยที่ประสบความสำเร็จในปัจจุบัน คือมีทั้งจุดที่ดีและจุดที่แย่ ซึ่งมันไม่ใช่ประชาธิปไตยที่ล้มเหลว แต่เป็นประชาธิปไตยที่อยู่ต่อไปได้ ถ้าเกิดมีปัจจัยบางอย่างที่คนจะต่อสู้เพื่อให้มันอยู่ต่อจริงๆ… ไวมาร์ไม่ได้ต่างอะไรกับเยอรมนีในปัจจุบันหรือแม้แต่ประเทศไทย หรือสังคมประชาธิปไตยไหนๆ เลย

ซึ่งภาณุบอกว่า ต้นเหตุแห่งการลาดไหลลงสู่เผด็จการ ส่วนเสริมหนึ่งมาจาก “รัฐธรรมนูญ” ของไวมาร์ ที่สร้างรัฐสภาที่ไร้เสถียรภาพ ทั้งเปิดโอกาสให้นายกฯประกาศยึดครองอำนาจ เปลี่ยนประเทศเป็นเผด็จการชั่วคราว

อย่าลืมว่าอนาคตที่ใกล้เข้ามานิดหนึ่งของเรา คือการได้ “ออกเสียง” ทางการเมืองครั้งแรกในรอบสามปี เป็นการออกเสียงแบบเงียบ เบา ห้ามหืออือให้ผิดไปจากที่ท่านผู้จัดกำหนด อาจจะมีคุกตารางหรือการจับกุมคุมขังรออยู่ การเลือกตั้งที่ทางการท่านจัดให้มีคนไปเคาะประตูสาธยายข้อดีของ “ตัวเลือกที่ถูกที่ควร” และเป็นประโยชน์ต่อ “ประเทศชาติ”

อันเป็นบรรยากาศที่ดูแล้วคล้ายการเลือกตั้งอันเบ็ดเสร็จก่อนการสิ้นยุคแห่งไวมาร์ที่เราจะได้อ่านในหนังสือ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image