หม่อนไหม ในพระราชวังดุสิต : โดย บัณฑิต จุลาสัย รัชดา โชติพานิช

โรงเรียนสอนทำไหมที่ปทุมวัน เปิดเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2447

เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า พระราชวังดุสิต หรือสวนดุสิต เป็นปฐมบทของไทยสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็น สถาปัตยกรรม ผังเมือง ภูมิสถาปัตยกรรม การตกแต่งภายใน รวมไปถึงวิศวกรรมชลประทาน โยธา ไฟฟ้า และสุขาภิบาล แต่คงนึกไม่ถึงว่าผ้าไหมไทย ที่ชื่นชอบและยอมรับกันทั่วโลกนั้น เริ่มต้นที่สวนดุสิตในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเช่นกัน

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม (พ.ศ.2425-2452) พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์สำเร็จการศึกษาด้านการเกษตรจากประเทศอังกฤษ ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมช่างไหมเป็นพระองค์แรก ทรงประพันธ์เพลงลาวดำเนินเกวียน (ลาวดวงเดือน) และสิ้นพระชนม์เมื่อปี 2452 พระชนมายุเพียง 28 ชันษา

สืบเนื่องจาก วิกฤตการณ์ ร.ศ.112 หลังจากฝรั่งเศสยึดเอาดินแดนทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงได้แล้ว ยังคงมีเป้าหมายจะขยายพื้นที่ครอบคลุมอีสานทั้งหมด จึงนำมาซึ่งพระราโชบายสำคัญในการป้องกันบ้านเมือง โดยเฉพาะภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างเช่น โครงการสร้างทางรถไฟ กรุงเทพฯ-โคราช ระยะทางยาว 265 กิโลเมตร ที่สร้างเสร็จในปี พ.ศ.2443เป็นต้น

ในเรื่องยกระดับความเป็นอยู่และการทำมากินของผู้คน เพื่อช่วยต้านการแผ่อิทธิพลของฝรั่งเศส ได้กำหนดกิจกรรมและพื้นที่ชัดเจนคือ ส่งเสริมการทอผ้าไหม ในโคราชและพื้นที่ใกล้เคียง เนื่องจากมีพื้นฐานการผลิตมาก่อน ตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่น ที่ได้ออกสำรวจการทอผ้าไหมในภาคอีสาน ในปี พ.ศ.2443 พบว่า ผ้าไหมพื้นถิ่น แม้จะสวยงาม แต่ยังมีความล้าหลังในการทอ และคุณภาพเส้นไหมยังไม่ดี จึงมีข้อเสนอแนะ ให้พัฒนาการเลี้ยงไหมและการทอผ้าไหม ให้มีคุณภาพสามารถเป็นสินค้าส่งออกต่างประเทศได้ เช่นเดียวกับผ้าไหมญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมทั่วโลก

รัฐบาลไทยจึงได้ว่าจ้าง ดร.โตยามา คาเมทาโร แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว มาสำรวจสภาพ ปัญหา และจัดทำข้อเสนอแนะ เสนอต่อ เจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์ เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ ประกอบด้วย โครงการสถานีทดลองทางการเกษตรต้นหม่อน การเลี้ยงไหม และการทอผ้า

Advertisement

ในช่วงเวลาเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกำลังพัฒนาพื้นที่บริเวณสวนดุสิต สำหรับเป็นที่ประทับส่วนพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งมีอาณาเขตกว้างใหญ่ ยังมีพื้นที่ว่างอยู่มาก จึงทรงมีพระราชประสงค์ให้ ดร.โตยามามาตรวจพื้นที่ในสวนดุสิต พร้อมกับประมาณการค่าใช้จ่าย และความเป็นไปได้ในการปลูกต้นหม่อนเพื่อเลี้ยงไหม

เสมือนเป็นโครงการนำร่อง ดังนี้

มีพระราชประสงค์ที่จะทำสวนหม่อนแลเลี้ยงไหมที่สวนดุสิต,

Advertisement

๑ โปรดเกล้า, ให้มิสเตอร์โตยามามาตรวจที่นาทุ่งแลสวนหว่างถนนซิ่ว (ปัจจุบันคือถนนสวรรคโลก) แลลก (ปัจจุบันคือถนนพระรามที่ 5) หว่างดวงตวัน (ปัจจุบันคือถนนศรีอยุธยา) แลซังฮี้ (ปัจจุบันคือถนนราชวิถี) กะแผนที่ขุดร่อง แลทำงบประมาณการขุดร่องตามแปลนจะเปนราคาเท่าใด

ศาสตราจารย์โตยามา คาเมทาโร ผู้เชี่ยวชาญการเลี้ยงไหมแห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว

๒ ประมาณการปลูกหม่อนจะเต็มที่จะเปนราคาเท่าใด
๓ ทำเอสติเมตการรักษาสวนหม่อนในบริเวณที่ทั้งหมด จะเปนค่าจ้างเดือนละเท่าใด
๔ การเลี้ยงโรงเลี้ยงไหมตามหม่อนที่มีอยู่ประมาณจะใช้โรงกว้างยาวยังไรราคาก่อสร้างเท่าใด
๕ การเลี้ยงจะใช้คนกี่คน
๖ ถ้าที่ดินจำนวนเท่านี้จะได้โดดุน (ทรงหมายถึงตัวด้วงไหม) ปีละเท่าใด กี่หาบ
๗ ถ้าจะขายโดดุนราคาหาบละเท่าใด
๘ ให้มาดูที่ในกำแพงวังหลังโรงดับเพลิงเหนือแต่กำแพงถึงคลอง ลำนากเปนสุดข้างใต้ ตะวันตกแต่กำแพงมาตกถนนพุดตาน (ปัจจุบันคือถนนพิชัย) จะทำเปนโรง เลี้ยงจะพอหรือไม่ ถ้าพอกะแปลนปลูกยังไร

อีกทั้งได้พระราชทานพื้นที่ สวนทอง พระราชวังดุสิต บริเวณนอกคลองเปรมประชากร ไปจนถึงทางรถไฟสามเสน และระหว่างถนนดวงตวัน (ถนนศรีอยุธยา) และถนนคอเสื้อ (ถนนพิษณุโลก)

ปัจจุบันคือ ราชตฤณมัยสมาคม และโรงเรียนราชวินิตมัธยม เป็นพื้นที่โครงการนำร่อง ปลูกต้นหม่อนเพื่อเลี้ยงไหม

บริเวณสวนทองแต่เดิมนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกไม้ผลต่างๆ ไว้ ได้แก่ พุทรา กล้วย ขนุน ดังในพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์ตอนหนึ่งว่า

…มาคิดได้อย่างหนึ่งว่าในการที่จะปลูกต้นหม่อนนั้นจะลงมือได้ในพรุ่งนี้ โดยไม่ต้องเสียเงินเลย ถ้าหากว่ามิสเตอร์โตยามาจะส่งต้นหม่อนขนาดที่พอจะปลูกได้มาให้ คือสวนทองที่ได้สั่งให้พาเขาไปดูนั้นเอง ในส่วนพื้นที่ซึ่งแฉลบริมถนนลงพุดทราไว้ยังเล็กนักเล็กหนาตอนหนึ่ง ส่วนข้างในที่ลงขนุนกับกล้วย กล้วยสวนดุสิตขายได้แต่ผล ใบขายไม่ได้ จะลงต้นหม่อนแทนกล้วยคงขนุนไว้ ก็ไม่เสียหายอันใด

เพราะฉนั้น ขอให้หารือเขาดูด้วย ว่าร่องตามที่ทำไว้นั้นจะใช้ได้ฤายัง โดยว่าจะยังไม่ถูกแบบแผนดี ไว้แก้ไขเอาตอนแปลงใหญ่ แปลงนี้ใช้ปลูกไปพลาง เขาจะส่งต้นหม่อนให้ขั้นแรกได้สักเท่าใด เดือนต่อๆ ไปจะส่งได้เดือนละ สักเท่าใด ถ้าได้ดังนี้ ราวเดือน ๑๒ ก็ได้ลองเลี้ยงไหมกันเท่านั้น

ส่วนเรื่องการปลูกต้นหม่อนเพื่อเลี้ยงไหม ทรงให้ปลูกทดลองดู สำหรับลองเลี้ยงตัวไหม ซึ่งเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ กราบบังคมทูลว่า

…เมื่อเวลาเช้าวันนี้ ข้าพระพุทธเจ้าได้พามิสเตอร์โตยามาไปพร้อมด้วยพระสุริยภักดีไปดูที่สวนทอง ได้ตรวจดูร่องตอนที่ปลูกพุดทราไว้เต็มที่ จะแลเห็นได้ว่า ต้นพุดทรามีอยู่ที่ตรงไหน ลงใช้คำพูดกันว่า เปนที่ยกร่อง ไว้เปล่าๆ มิสเตอร์โตยามาได้ตรวจดูเห็นด้วยเกล้า, ว่าปลูกได้ดีทีเดียว แต่จะต้องถางหญ้าบนหลังร่อง แลหญ้าในท้องร่องให้ขึ้นหมดลอกเอาเลนขึ้นถมหลังร่องอีกสักนิดหน่อย แล้วจะปลูกได้ทันที ไม่มีการขัดข้องอันใด ต้นหม่อนที่ชำไว้จะทูลเกล้า, ถวายได้ใน ๓-๔ วัน ๒,๐๐๐ ต้น ประมาณดูว่าพอที่จะปลูกในที่ว่าง ที่ต่อเข้าไปที่ลงต้นขนุนต้นกล้วยไว้ …การที่จะปลูกนั้น มิสเตอร์โตยามากับพวกยี่ปุ่นจะมาชี้แจง ให้ปลูก แลใครจะเปนหัวน่าจัดการปลูก ต้นหม่อนในที่นั้น ข้าพระพุทธเจ้าจะได้มอบมิศเตอร์โทยามะให้รู้จักกับผู้นั้น เพื่อจะได้ทำการร่วมน่าที่กันต่อไป…

นักเรียนที่เป็นสตรีในราชสำนักที่เข้ารับการอบรมวิธีการเลี้ยงไหมในพระราชวังดุสิต เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2446 รุ่นแรก 16 คน
ที่มา หนังสือความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น 600 ปี

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชกระแสถึงจมื่นจงภักดีองค์ขวา เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ร.ศ.122 (พ.ศ.2446) ทรงกำชับให้เรียนรู้วิธีการปลูกและเลี้ยงต้นหม่อนจากคนญี่ปุ่น มีความตอนหนึ่งว่า

…ต่อไปจะต้องให้เข้าใจวิธีเก็บใบหม่อนแลรักษาต้นหม่อน
น่าจะต้องถึงให้ไปเรียนดูวิธีที่ยี่ปุ่นเขาทำให้เข้าใจชัดเจนด้วย
จะทำการครั้งนี้อย่าให้เป็นที่ขายหน้ายี่ปุ่นได้…

นอกจากการปลูกต้นหม่อนในสวนดุสิตแล้วนั้น พระองค์ยังมีพระราชประสงค์ให้ตั้งโรงเรียนเพื่อฝึกสอนการเก็บใบหม่อนเพื่อเลี้ยงตัวไหม การเลี้ยงตัวอ่อน การกรอเส้นไหม ไปจนถึงการทอผ้าไหม ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขา วันที่ 25 มิถุนายน ร.ศ.122 (พ.ศ.2446) ถึงเจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วัฒน์ ความว่า

…คนเลี้ยงตัวไหมนั้นหาได้แล้ว ทั้งลูกปลัดทูลฉลองก็สมัคร การฝึกสอนจะลงมือได้เมื่อไร ขอให้บอกให้ทราบ…

เจ้าพระยาเทเวศร์ฯ จึงได้มีหนังสือกราบบังคมทูล ตามข้อเสนอของ ดร.โตยามา ที่ว่า

…ด้วยว่าไหมที่ออฟฟิศข้าพเจ้าในเวลานี้ ก็ได้ออกไข่หมดแล้ว คือออกตั้งแต่วันที่ 22 เดือนมิถุนายน แลไข่นั้นข้าพเจ้าจะต้องฟักในวันที่ 1 เดือนกรกฎาคม การนี้ก็เปนการสมควรที่จะสอนนักเรียน เพื่อจะได้เรียนแลรู้การทุกสิ่งทุกอย่างว่าแต่ต้น. ตัวไหมนั้น ได้เปนมาอย่างไรได้ถี่ถ้วนถ้าเด็กนักเรียนมาในเวลา เมื่อไหมออกจากไข่เปนตัวแล้ว หรือมาเนิ่นช้าไปเปนการลำบาก ที่จะชี้แจงให้เข้าใจตลอดถึงการที่เปนมาให้ตลอดได้ เพราะฉะนั้นขอเจ้าคุณมีความกรุณากราบบังคมทูลให้ทรงทราบ เพื่อจะได้นักเรียนมาฝึกหัดโดยเร็ว…

…วิชาที่สอนนั้น ได้แก่ วิชาว่าด้วยต้นหม่อน ฟองไหมและวิธีรักษาฟองไหม เลี้ยงตัวไหม รังไหมและการรักษารังไหม และชักเส้นไหม กำหนดเวลาเรียนครึ่งปี เข้าเรียนตั้งแต่เวลา 3 โมงเช้า จนถึง 4 ทุ่ม แบ่งการเรียนภาคทฤษฎีวิชาการในช่วงครึ่งวันเช้า และช่วงบ่ายจนถึงเย็นเป็นภาคปฏิบัติ โดยมี ดร.โตยามาเป็นผู้สอนวิชาในช่วงต้น มิสเตอร์โฮโซยะสอนในช่วงปลาย และมิสซิสฮิราโนเป็นล่าม

ในเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ.2446 โรงเรียนสอนการทำไหม ในสวนดุสิต จึงพร้อมเปิดอบรม ผู้ที่เข้ารับการอบรมรุ่นแรก เป็นสตรีในราชสำนัก และนักเรียนสตรีโรงเรียนวังหลัง จำนวน 16 คน ต่อมาในเดือนมกราคม พ.ศ.2448 มีการย้ายไปตั้งโรงเรียน ไปที่ตำบลศาลาแดง ปทุมวัน (ข้างสวน
ลุมพินี) พื้นที่ที่กระทรวงเกษตราธิการจัดซื้อ เพื่อสร้างสถานีทดลองการทำไหม และเพาะกล้าหม่อน รวมทั้งเป็นที่ทำการ กรมช่างไหม ที่จัดตั้งขึ้นในกระทรวงเกษตราธิการ ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น กรมเพาะปลูก

เมื่อรวมกองการผลิต และกองการเลี้ยงสัตว์เข้าด้วยกัน ด้วยเหตุที่โรงเรียนการทำไหม เปิดสอนทั้งภาคปฏิบัติและภาคทฤษฎี ที่เกี่ยวกับวิชาการเกษตร ได้แก่ พีชคณิต เรขาคณิต ตรีโกณมิติ ภูมิศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และภาษาเยอรมัน ทำให้โรงเรียนการทำไหม มีมาตรฐานการเรียนการสอนสูง

จึงเป็นเสมือนโรงเรียนกวดวิชา สำหรับคนไทยที่จะไปศึกษาต่อในต่างประเทศ

พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ ขณะทรงสังเกตการณ์โรงเรียนช่างไหมที่โคราช
ที่มา หนังสือความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น 600 ปี

ต่อมามีการขยายผล ไปก่อสร้างสถานทดลองทำไหมที่ปักธงชัย โคราช ประกอบด้วย สวนหม่อนจำนวน 170 ไร่ สำนักงานสถานที่เพาะเลี้ยงไหม คลังเก็บรังไหม ที่ทำเส้นไหม และหอพัก สำหรับผู้ฝึกอบรมรุ่นแรก เมื่อปี พ.ศ.2448 และที่บุรีรัมย์ มีพื้นที่ปลูกต้นหม่อน 100 ไร่ และรับผู้ฝึกอบรมรุ่นแรกเมื่อ พ.ศ.2449

เป็นที่น่าเสียดาย เมื่อพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ อธิบดีกรมช่างไหม ประชวร และสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ.2452 จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงในกรมช่างไหม สถานทดลองเลี้ยงไหม ย้ายไปอยู่ในความควบคุมดูแลของข้าหลวงเทศาภิบาล มีการเลิกจ้างชาวต่างประเทศ

กรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมส่วนภูมิภาค ย้ายเข้าสังกัดกระทรวงมหาดไทย ประจวบกับเกิดภาวะแห้งแล้ง อีกทั้งเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ จนต้องปิดสถานทดลองเลี้ยงไหมทุกสาขาในปี พ.ศ.2456 เป็นการสิ้นสุดของพัฒนาการไหมไทยในครั้งนั้น เหลือเพียงเค้าร่างที่ตกทอดผ่านการบอกเล่าของผู้ที่เกี่ยวเนื่องในกิจกรรมครั้งนั้น มาถึงคนรุ่นปัจจุบัน

แผนที่บริเวณสวนทอง ส่วนหนึ่งของพระราชวังดุสิต มุมซ้ายบนคือวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ถนนที่ตัดเฉียงลงมานั้นคือถนนคอเสื้อ (ถนนพิษณุโลก)
ที่มา แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ.2450 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในขณะที่การปรับปรุงคุณภาพของพันธุ์ไหมไทยในครั้งนั้น ดร.โตยามากลับได้ค้นพบว่า ตัวไหมที่เลี้ยงกันอยู่ในภูมิภาคอีสาน สามารถทำรังได้ปีละหลายครั้ง เพียงแต่เส้นไหมมีสีเหลืองและขาดง่าย เมื่อนำมาผสมพันธุ์กับตัวไหมจากญี่ปุ่น จะทำรังได้ถึง 8 ครั้งใน 1 ปี อีกทั้งเส้นไหมมีคุณภาพดีขึ้น

ดังนั้น เมื่อครบกำหนดสัญญาจ้าง 3 ปี ดร.โตยามาได้เดินทางกลับญี่ปุ่น และเขียนตำราทฤษฎีพันธุ์ไหม ที่ระบุถึงไหมพันธุ์ผสมที่ทดลองในเมืองไทยนั้น เป็นไหมพันธุ์ดี จนเป็นบุคคลสำคัญและมีผลงานมากมายในการพัฒนาพันธุ์ไหม ได้เป็นสมาชิกราชบัณฑิตยสถานของญี่ปุ่นในปี พ.ศ.2458 และได้รับพระราชทานรางวัลจากพระมหาจักรพรรดิในปี พ.ศ.2476

นอกจากนี้ ในปี พ.ศ.2470 ที่เมืองมัทสุโมโต จังหวัดนากาโน มีผู้นำผลการทดลองของ ดร.โตยามา ไปวิจัยต่อเนื่อง เกิดไหมพันธุ์ผสม ที่สามารถเพิ่มปริมาณไหมได้มากขึ้น จนแพร่หลายไปทั่วประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้อุตสาหกรรมไหมญี่ปุ่นเจริญก้าวหน้ามาจนทุกวันนี้

บัณฑิต จุลาสัย
รัชดา โชติพานิช
หน่วยวิจัยแผนที่และเอกสารประวัติศาสตร์ฯ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image