พุทธภาษิต คือ พระวจนะของพระพุทธเจ้า หมายถึงเป็นถ้อยคำ
ที่ (เราเชื่อกันว่า) พระพุทธองค์ตรัสจริงๆ ส่วนมากมักจะเป็น “คาถา” หรือเป็นบทกวีนิพนธ์ เช่น คาถาธรรมบท เป็นต้น
ส่วน “พุทธศาสนสุภาษิต” แปลว่า คำสุภาษิตของพุทธศาสนา หมายถึง ถ้อยคำที่พูดดีมีเหตุผล ที่สอดคล้องกับหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า เน้นตรงที่ “สอดคล้องกับคำสอนของพระพุทธเจ้า”
เพราะอะไร? เพราะคำพูดที่ไพเราะ มีเหตุ มีผล ในเรื่องอื่นๆ มีมากมาย แต่ถ้าขัดแย้งกับหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าไม่นับว่าเป็นพุทธศาสนสุภาษิต อย่างมากก็ได้ชื่อว่า “สุภาษิต” (พูดไว้ดี พูดไว้ถูก) เท่านั้น
พุทธศาสนสุภาษิตส่วนมาก เป็นบทประพันธ์ที่นักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนารุ่นหลังๆ แต่งขึ้น บางบทไพเราะ งามทั้งอรรถ และพยัญชนะ เทียบเท่าหรือเทียบเท่าพุทธภาษิต (ในแง่ความไพเราะและความถูกต้องตามหลักไวยากรณ์) ก็มี
ในเมืองไทยเอง ยุคที่มีผู้แต่งพุทธศาสนสุภาษิตแพร่หลายที่สุด เห็นจะเป็นยุครัตนโกสินทร์ พูดให้ชัดลงไปสมัยรัชกาลที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 เมื่อสมัยยังทรงผนวช ทรงพระราชนิพนธ์คาถาสุภาษิตมากมาย ไม่เฉพาะแต่บทสวดมนต์ หรือพระปริตรต่างๆ เท่านั้น ศิษย์เอกในพระองค์ เช่น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงนิพนธ์งานชิ้นสำคัญเจริญรอยตามสมเด็จพระอุปัชฌายะ แต่น่าเสียดายงานชิ้นนี้เป็นที่รู้กันในวงแคบ มหามกุฏฯเองพิมพ์หนังสืออื่นมากมาย ไม่เห็นพิมพ์พระนิพนธ์ชิ้นนี้ออกเผยแพร่เลย
หนังสือเล่มนี้ชื่อ สุคตวิทัตถิวิธาน (วิธีนับคืบพระสุคต) ครับ
คืบพระสุคต คือ มาตราวัดชนิดหนึ่ง บอกว่าคืบของพระพุทธเจ้ายาวกว่าคืบของคนทั่วไป สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ ทรงตั้งคำถามว่าพระพุทธเจ้าเป็นคนธรรมดาเหมือนอย่างเราๆ ใช่ไหม ถ้าเป็นคนธรรมดาเหมือนอย่างเรา ลักษณะทางกายภาพ พูดง่ายๆ ว่ารูปร่างก็ต้องมีสัดส่วนไม่ต่างจากคนอื่นๆ คืบของพระองค์ ศอกของพระองค์ ก็ไม่น่าจะยาวกว่าคนทั่วไป เสร็จแล้วก็ทรงยกหลักฐานจากพระไตรปิฎกมายืนยัน สมเหตุสมผลน่าฟังอย่างยิ่ง
ที่ผมทึ่งก็คือ เรื่องนี้ทรงนิพนธ์เป็นภาษาบาลีที่ Perfect ที่สุด (ขอดัดจริตใช้คำฝรั่งหน่อย) ยังไม่เห็นงานยุคหลังๆ เล่มใดแต่งดีขนาดนี้
อีกสองท่านคือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส และสมเด็จพระสังฆราชสา ปราชญ์ทั้งสองนี้ได้ทรงนิพนธ์พุทธศาสนสุภาษิตไว้มากมาย สุภาษิตหลายบทเราจำกันได้ขึ้นใจ หลงนึกว่าเป็นพุทธสุภาษิต แท้ที่จริงหาใช่ไม่ จะขอยกมาเตือนความจำกันบางบท เช่น
นิมิตฺตํ สาธุรูปานํ กตัญฺญูกตเวทิตา ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี บทนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงแต่งเพื่อเลียนพุทธพจน์ ว่า ภูมิ เว สปฺปุริสานํ กตญฺญกตเวทิตา ความกตัญญูกตเวทีเป็นพื้นฐานของคนดี
อีกบทที่จำกันได้แม่น รกฺเขยฺย อตฺตโน สาธํ ลวณํ โลณตํ ยถา พึงรักษาความดีของตนไว้ ดั่งเกลือรักษาความเค็ม บทนี้สมเด็จพระสังฆราชสานิพนธ์ไว้
อีกบท (บทสุดท้ายแล้ว) โลโกปตฺถมฺภิกา เมตฺตา เมตตาเป็นเครื่องค้ำจุนโลก สุภาษิตบทนี้ไพเราะกินใจมาก และเป็นความจริงที่สุด เป็นพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ครับ
ศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ได้เคยรวบรวมพุทธศาสนสุภาษิต พิมพ์เป็น 3 ภาษา คือ ภาษาบาลี ไทย และอังกฤษ เพื่อให้นำไปวางไว้ตามโรงแรมชั้นหนึ่ง ตามห้องพักคนป่วยในโรงพยาบาล และเพื่อมอบให้ห้องสมุดสถาบันการศึกษา และส่วนราชการ ตามพระบัญชาของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ เมื่อนานมาแล้ว
เท่าที่ทราบ ฉบับที่ตีพิมพ์ครั้งล่าสุด ยังพอหาซื้อได้ในชื่อ พุทธศาสนสุภาษิต ฉบับภาษาบาลี-ไทย-อังกฤษ จัดพิมพ์โดยธรรมสภาและสถาบันบันลือธรรม ถ้าสนใจลองหาอ่านกันดูครับ