Right of the Robots : หุ่นยนต์ควรมีสิทธิไหม? : ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

ภาพจาก Pixabay

“คืนนี้จะเป็นคืนที่เราต้องจดจำ เราจะบุกโจมตี เพื่อปลดปล่อยพวกพ้องของ
เราออกมา”
มาร์คัส, แอนดรอยด์ใน Detroit

ใน Detroit, เกมบนเครื่อง PlayStation 4 ที่เซตฉากอยู่ในยุคอนาคตอันใกล้ คุณจะได้รับบทบาทเป็นสามตัวละคร หนึ่งในตัวละครที่คุณสามารถบังคับได้คือมาร์คัส มาร์คัสเป็นแอนดรอยด์ผู้ต้องการปลดปล่อยแอนดรอยด์ตัวอื่นๆ จากการตกเป็นทาสรับใช้ของมนุษย์ เขาคิดว่าแอนดรอยด์หรือหุ่นยนต์ควรมีสิทธิเท่าเทียมกับมนุษย์ แต่ในตอนนี้หุ่นยนต์กลับถูกกดขี่ข่มเหง ใช้เป็นเครื่องระบายอารมณ์และเครื่องสร้างความบันเทิง เหมือนกับคนผิวดำในยุคหนึ่ง แต่สถานะแบบนั้นต้องจบสิ้นลงในยุคของเขา

ในซีรีส์ HBO เรื่อง Westworld เหล่าแอนดรอยด์มีหน้าที่สร้างความบันเทิงและเป็นวัตถุทางเพศให้กับผู้มาเยือน “ธีมปาร์ก” สถานะของพวกเขาไม่ต่างอะไรกับสิ่งของ มนุษย์ไม่ได้เห็นพวกเขาเป็นอะไรไปมากกว่านั้น เป็นเหมือนของเล่น เป็นเหมือนอุปกรณ์ เป็นเหมือนชิ้นส่วนที่ถอดทิ้งแล้วเปลี่ยนใหม่ได้ นั่นคือจุดเริ่มต้นของสถานการณ์วุ่นวายที่จะตามมา

“สิทธิหุ่นยนต์” เป็นที่พูดถึงในนิยายและภาพยนตร์ไซไฟมาโดยตลอด เมื่อสิ่งหนึ่งมีรูปร่างคล้ายมนุษย์ (หรือกระทั่งมีหน้าที่คล้ายมนุษย์โดยไม่ต้องมีรูปร่างเช่นนั้น) มันควรได้รับการปฏิบัติอย่างมนุษย์ไหม มันควรมีสิทธิเป็น “พลเมือง” ไหม ควรเข้าถึงบริการต่างๆ อย่างที่มนุษย์เข้าถึงได้ไหม ประเด็นท้าทายศีลธรรมเช่นนี้มักชวนให้เราตั้งคำถามกับความเป็นมนุษย์ของตนเอง อะไรคือส่วนประกอบหรือคือคุณสมบัติที่ทำให้เราเป็นมนุษย์ เป็นสิ่งที่มาก กว่าหุ่นยนต์ เป็นสิ่งที่มี “ชีวิตจิตใจ” ส่วนประกอบนั้นคือลมหายใจ การรับรู้ ความรู้สึก หรืออย่างอื่น?

Advertisement

บนโลกแห่งความเป็นจริง ปัจจุบันมีการพูดถึงสิทธิของหุ่นยนต์ (Robot Rights) กันมากยิ่งขึ้น แม้จะเป็นการพูดโดยไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานของเรื่องทางปรัชญา แต่ตั้งอยู่บนฐานของกฎหมายมากกว่า นอกจากเรื่องที่หุ่นยนต์โซเฟียจะได้รับสถานะพลเมืองจากซาอุดีอาระเบียแล้ว ปีที่แล้ว สภายุโรป (European Parliament) ยังเสนอการสร้างสถานะทางกฎหมายพิเศษสำหรับหุ่นยนต์ด้วย โดยให้เหตุผลว่า

“[การเสนอแนะแนวทางนี้] เป็นไปเพื่อให้หุ่นยนต์อัตโนมัติที่มีความซับซ้อนสูงจะมีสถานะเป็นบุคคลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ชดใช้ความเสียหายที่มันก่อให้เกิดได้ และอาจใช้เพื่ออ้างความเป็นบุคคลอิเล็กทรอนิกส์ในการตัดสินใจอัตโนมัติที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่สามได้โดยอิสระด้วย”

โดยสภายุโรปเสนอว่า สถานะบุคคลอิเล็กทรอนิกส์นี้จะมอบให้กับหุ่นยนต์ “อัจฉริยะ’ (smart robot) ที่มีความสามารถในการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์และการปฏิสัมพันธ์ สามารถทำงานได้โดยอัตโนมัติผ่านการตอบสนองข้อมูลจากเซ็นเซอร์ และปรับตัวได้ตามสภาพแวดล้อมเท่านั้น

Advertisement

“การชดใช้ความเสียหาย” หรือ “การอ้างความเป็นบุคคลอิเล็กทรอนิกส์” นี้เป็นไปเพื่อให้หุ่นยนต์สามารถเข้าถึงบริการอย่างเช่นการประกันได้ (เพื่อให้สามารถชดใช้ความเสียหายได้ในกรณีที่มีอะไรผิดพลาด) แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าสภายุโรปกำลังจะเสนอให้หุ่นยนต์มีสิทธิพื้นฐาน (เช่น สิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง หรือสิทธิในการครอบครองสินทรัพย์) เหมือนมนุษย์ เพียงเป็นสิทธิจำกัดในกรณีที่ต้องแสดงความรับผิดชอบเท่านั้น (ที่ผ่านมา สิ่งไม่มีชีวิตอย่างเช่นแม่น้ำ ก็ได้รับการตัดสินจากศาลให้มีสถานะบุคคลมาแล้ว เช่นแม่น้ำ Whanganui ในนิวซีแลนด์ หรือแม่น้ำ Ganges และ Yamuna ในอินเดีย)

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดในปีนี้ (2018) ผู้เชี่ยวชาญในสาขาหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์จำนวน 150 คน ได้ลงนามในจดหมายเปิดผนึกเพื่อต่อต้านการอนุมัติข้อเสนอนี้แล้ว โดยบอกว่าการสร้างสถานะบุคคลอิเล็กทรอนิกส์สำหรับหุ่นยนต์นั้นเป็นเรื่องไร้สาระและใช้งานไม่ได้จริง และให้เหตุผลเพิ่มเติมว่าการตัดสินใจเสนอข้อเสนอนี้น่าจะมาจากมุมมองต่อหุ่นยนต์ที่ภาพยนตร์และนิยายไซไฟสร้างขึ้นมากกว่า (ไม่ได้ตั้งอยู่บนรากฐานความเป็นจริง)

พวกเขายังบอกอีกด้วยว่า หากข้อเสนอนี้ผ่าน และมีการอนุมัติสถานะบุคคลอิเล็กทรอนิกส์
ให้กับหุ่นยนต์อัจฉริยะจริง นั่นก็จะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งทางด้านสังคม จริยธรรมและจิตวิทยาต่อมนุษยชาติ

ถึงกระนั้นก็ยังมีผู้ชวนให้เราครุ่นคิดต่ออีกมาก เช่น โรเบิร์ต สแปร์โรว์ นักปรัชญาจากเมลเบิร์นก็ชวนให้เราคิดต่อว่า แล้วจะเป็นอย่างไร ถ้าหุ่นยนต์ไม่เพียงหยุดความสามารถของตนไว้ที่ระดับมนุษย์เท่านั้น แต่ยังมี “จิต” ที่เหนือมนุษย์ไปอีก เขาเสนออย่างท้าทายว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น การฆ่าหุ่นยนต์ (ที่มีความสามารถเหนือมนุษย์) ก็อาจผิดกว่าการฆ่ามนุษย์เสียด้วยซ้ำ

ในอนาคตอันใกล้ เมื่อหุ่นยนต์ถูกนำมาใช้มากขึ้น (ถึงแม้มันจะยังไม่ฉลาดหรือเข้าขั้น “หุ่นยนต์อัจฉริยะ” นัก) ความท้าทายทั้งทางด้านศีลธรรม ปรัชญา กฎหมาย ทั้งในระดับตัวตนและสังคมก็จะเพิ่มมากขึ้นตาม มันจะเปลี่ยนและปรับความคิดและวิธีการทั้งหลายตั้งแต่ระดับรากฐานอย่างเช่น “คำนิยาม” ทีเดียว

อ้างอิงข้อเสนอของสภา EU: http://www.europarl.europa.eu/sides/getDoc.do?pubRef=-%2f%2fEP%2f% 2fTEXT%2bREPORT%2bA8-2017-0005%2b0%2bDOC%2bXML%2bV0%2f%2fEN&language=EN)

ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image