แก้ปัญหาอุบัติเหตุจราจร ด้วยการทำลายขวัญ : โดย วสิษฐ เดชกุญชร

ข่าวที่คงไม่ใหญ่และสำคัญนักนอกจากสำหรับผู้เกี่ยวข้องที่อยู่ในวงการตำรวจคือข่าวผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งเมื่อวันที่
19 เมษายนที่ผ่านไปนี้ ให้ผู้บังคับการตำรวจภูธร 4 จังหวัด ไปปฏิบัติหน้าที่ ณ ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.) ผู้บังคับการตำรวจที่ถูกย้ายคราวนี้คือ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดบึงกาฬ เพชรบูรณ์ อำนาจเจริญ และสระบุรี

หลังจากที่ได้ออกคำสั่งดังกล่าวแล้ว พล.ต.อ.
จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้แถลงว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านไป ตนได้ดูอยู่ตลอดว่าจังหวัดไหนมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นมาก แสดงว่าเจ้าหน้าที่ไม่สามารถดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินหรือป้องกันอุบัติเหตุให้ประชาชนได้ และพบว่ามีอยู่ 4 จังหวัดดังกล่าวข้างต้น ซึ่งอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นถึง 2-3 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2560
ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกล่าวด้วยว่า การช่วยราชการที่ ศปก.ตร.ไม่มีกำหนดและเป็นเรื่องปกติ ใครที่ควบคุมอุบัติเหตุหรือควบคุมคดีไม่ได้ จะถูกสั่งให้ไปช่วยราชการทั้งนั้น ไม่ละเว้น เพราะทุกคนเป็นตำรวจ แม้บางคนเป็นเพื่อนนักเรียนนายร้อยตำรวจร่วมรุ่น (รุ่นที่ 36) ก็ไม่ละเว้น เหนื่อยก็มาพัก มีตัวสำรองเยอะที่จะลงไปทำหน้าที่แทน ต่อจากนี้จะยังมี “ล็อต 2 ล็อต 3” อีก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งแล้วให้ทำทั้งปี ต่อไปจะพิจารณาเรื่องการป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนน ถ้าทำไม่ดีก็เอาผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดและผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค

ถ้าจะพิจารณาจากถ้อยคำของ พล.ต.อ.จักรทิพย์
แล้วก็จะเห็นว่ากร้าว และเฉียบขาด แต่ผมรู้สึกว่าการออกคำสั่งให้ผู้บังคับการตำรวจภูธรทั้ง 4 จังหวัดไป “ช่วยราชการ” ที่ ศปก.ตร.นั้น ไม่สมเหตุสมผล เพราะอุบัติเหตุจราจรที่เกิดสูงขึ้นนั้นไม่ได้เนื่องมาจากความบกพร่องหรือหย่อนยานในการปฏิบัติงานของตำรวจอย่างเดียว แต่ยังเนื่องมาจากปัจจัยอื่นที่นอกเหนืออำนาจและความรับผิดชอบของตำรวจด้วย ที่สำคัญก็คือ การขาดการฝึก อบรม และประมาทเลินเล่อของผู้ขับขี่ยานพาหนะ และการสร้างถนนที่ไม่เป็นไปตามหลักวิชา และการซ่อมแซมถนนแบบสุกเอาเผากินด้วย

ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือผู้ขับขี่ยานพาหนะไม่ได้รับการศึกษาอบรมเรื่องการใช้รถใช้ถนนที่ถูกต้องและเพียงพอ และเมื่อบวกความประมาทเลินเล่อ ดื่มเหล้าเมาแล้วขับรถ อุบัติเหตุก็ต้องเกิดขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้รับคำสั่งให้กวดขันเพียงใดอย่างใด แต่ก็เหลือวิสัยที่จะปฏิบัติให้ทั่วถึงได้ เพราะจำนวนเจ้าหน้าที่มีน้อย และการป้องกันอุบัติเหตุมิใช่หน้าที่อย่างเดียวของตำรวจ แต่ยังมีหน้าที่อื่นๆ อีกเป็นอันมาก เพียงแต่การป้องกันและปราบปรามโจรกรรมอย่างเดียวก็เหลือมือตำรวจอยู่แล้ว

Advertisement

การย้ายผู้บังคับการตำรวจภูธรทั้ง 4 คนไปประจำ ศปก.ตร.ที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติบอกว่าเป็นเรื่อง “ปกติ” นั้นจึงไม่ปกติอย่างยิ่งสำหรับผู้ถูกย้าย และถึงแม้ทุกคนจะยอมรับคำสั่งนั้นโดยดุษณี แต่ก็ไม่ต้องสงสัยว่าทุกคนจะต้องรู้สึกสะเทือนใจและเสียขวัญอย่างแน่นอน

การแก้ปัญหาอุบัติเหตุในการจราจรไม่ใช่ความรับผิดชอบของตำรวจแต่ฝ่ายเดียว แต่เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของอีกหลายฝ่าย กรมทางหลวงและหน่วยราชการที่มีหน้าที่ในการสร้างและซ่อมแซมถนนมีส่วนอันสำคัญอย่างยิ่ง เพราะทั้งรถยนต์และจักรยานยนต์จำนวนไม่น้อยประสบอุบัติเหตุเพราะถนนที่สร้างไม่ถูกแบบ หรือชำรุด หรือไม่มีเครื่องหมายเตือนให้รู้สภาพของถนนที่พอเพียง นอกจากนั้นเมืองไทยยังขาดหน่วยราชการหรือองค์กรที่ให้ความรู้ความเข้าใจในการใช้รถใช้ถนนแก่ผู้ขับขี่ยานพาหนะอีกด้วย

พล.ต.อ.จักรทิพย์กล่าวด้วยว่า พล.อ.ประวิตรได้สั่งให้ตำรวจคิดออกมาตรการดูแลกวดขันวินัยจราจรเพื่อป้องกันอุบัติเหตุอย่างต่อเนื่อง และให้ทำตลอดไม่เฉพาะแค่ช่วงเทศกาล เพราะรัฐบาลเห็นว่ามีการสูญเสียเป็นจำนวนมาก ต่อไปนี้จึงจะกวดขันกันมากขึ้น โดยจะเรียกหน่วยที่เกี่ยวข้องของตำรวจมาร่วมประชุมกันวางมาตรการ และจะคุยกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อร่วมกันวางมาตรการป้องกันเหตุ

Advertisement

ผมเห็นว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ควรจะเสนอให้ พล.อ.ประวิตรนั่นแหละ เรียกหน่วยที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนมาร่วมประชุมเพื่อวางมาตรการป้องกันและแก้ไข เพราะเป็นหน้าที่โดยตรงของรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และเพราะ พล.อ.ประวิตรมีทั้งบารมีและอำนาจเหนือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ในขณะเดียวกัน พล.ต.อ.จักรทิพย์ก็ควรจะเพลาการรักษาหน้าของตนด้วยการออกคำสั่งย้ายใครต่อใครไปประจำ ศปก.ตร. เพราะจะนอกจากจะไม่ได้ประโยชน์อะไรแล้ว ยังเป็นการทำลายขวัญกำลังใจของผู้ใต้บังคับบัญชาของตนด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image