สถานีคิดเลขที่ 12 ตามรอยเกาหลี ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

ระหว่างที่สหรัฐอเมริกากำลังหาสถานที่นัดพบให้ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ กับ นายคิม จองอึน ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ ในเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายนนี้
ชื่อ “ไทยแลนด์” ก็โผล่ติดอันดับด้วย

อาจเป็นเพราะทำเลดี เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของสหรัฐในภูมิภาคเอเชีย แต่ก็มีภาพความเป็นกลางกว่าชาติมหาอำนาจเอเชียอื่นๆ เนื่องไม่ได้เป็นคู่กรณีกับเกาหลีเหนือ

ที่สำคัญคือแนบแน่นกับจีน ซึ่งเป็นพี่ใหญ่ของเกาหลีเหนือด้วย

ไม่ว่าจะเชื้อเชิญเกาหลีใต้ สหรัฐ ญี่ปุ่น จีน รัสเซีย หรือแม้แต่เกาหลีเหนือ มาเยือนก็เข้ากันได้ทั้งสิ้น

Advertisement

ถ้าไทยแลนด์ได้รับเลือกขึ้นมาจริงๆ จะเป็นโอกาสที่จะได้ร่วมสร้างประวัติศาสตร์สันติภาพของโลกไปด้วย แม้ว่าเมื่อเร็วๆ นี้จะเจอสหรัฐเปิดรายงานสรุปสถานการณ์สิทธิมนุษยชนยาวหลายหน้า สรุปได้ว่ายังมีปัญหาที่น่ากลัดกลุ้มอยู่ไม่น้อย

โดยเฉพาะเส้นทางจะเดินเข้าลู่เข้าทางประชาธิปไตย คดเคี้ยวเลี้ยวไปเลี้ยวมาไม่เข้าที่เสียที ทั้งสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอยู่ในภาวะคุ้มดีคุ้มร้าย

เรื่องที่น่าห่วงนอกเหนือไปจากรายงานชิ้นนี้ก็คือ ความคิดที่ว่าไทยแลนด์อาจจะเดินตามรอยเกาหลีใต้ในยุค 60-70 ก็ได้ เพราะตอนนั้นประชาคมโลกไม่ได้มีเงื่อนไขสิทธิมนุษยชนอะไร อีกทั้งยังเป็นยุคสร้างเสริมเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ให้เติบโตรวดเร็ว โดยอาศัยกิจการยักษ์ใหญ่ของตระกูลใหญ่ๆ หรือที่เรียกว่า แชโบล ช่วยกันขับเคลื่อน

Advertisement

แชโบลกลายเป็นกลุ่มที่มีบทบาทอย่างสูงในเกาหลีใต้ และได้รับการเอื้อประโยชน์จากอำนาจรัฐอย่างเต็มที่ ถึงแม้สมาชิกในครอบครัวใดทำผิดทุจริตไปบ้าง ผูกขาดการค้าไปบ้าง หนีภาษีไปบ้าง หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนไปบ้าง ก็มีแต่คนเกรงอกเกรงใจ มองผ่านๆ ไป

แต่มาถึงยุคนี้คงจะไม่ใช่เช่นนั้นแล้ว เพราะที่พูดๆ กันว่า “บ้าง” พอรวมๆ กันเข้าก็กลายเป็นความไม่เท่าเทียม ไม่มีธรรมาภิบาล และไม่เข้าท่าขนาดมหึมา

การที่ ปัก กึนเฮ ลูกสาว ปัก จุงฮี ผู้นำยุคเผด็จการถูกเล่นงานอย่างหนักหน่วงในคดีที่ปล่อยให้เพื่อนหญิงคนสนิทเอาความสนิทไปรีดไถผลประโยชน์จากพวกแชโบล กระทั่งถูกถอดจากตำแหน่งประธานาธิบดี ถูกศาลจำคุก 24 ปีนั้นเป็นสัญญาณความเปลี่ยนแปลงของสังคมเกาหลีใต้อย่างน่าจับตา

ยิ่งมาเกิดกรณีสองคุณหนูตระกูลโช ลูกสาวซีอีโอสายการบินโคเรียนแอร์ที่ก่อเหตุอื้อฉาวแสดงอารมณ์ร้ายใส่พนักงาน จนถูกกระแสสังคมกดดันอย่างหนัก สุดท้ายต้องลาออกจากบริษัทไปอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งที่คุณพ่อเคยอุ้มให้เติบโตมาสู่ตำแหน่งผู้บริหารแบบฟาสต์แทร็ก

หากรวมกับกรณี นายอี แจยอง แห่งเครือซัมซุง เจ้าของฉายา เจ้าชายซัมซุง ผู้ได้รับการวางตัวเป็นทายาททางธุรกิจของพ่อ ต้องเข้าไปอยู่ในคุก 2 ปีครึ่งจากคดีทุจริตแล้ว แสดงให้เห็นว่าความเกรงใจของผู้คนที่มีต่อลูกหลานตระกูลธุรกิจใหญ่ค่อยๆ ลดน้อยถอยลง

เป็นไปได้ว่าสังคมเกาหลีอาจค่อยๆ ปรับตัวไปสู่สังคมของการเคารพความเท่าเทียมแบบตะวันตกมากขึ้น

หากไทยแลนด์จะตั้งต้นใช้กลุ่มธุรกิจผลักดันการพัฒนาประเทศเหมือนที่แชโบลเคยเป็นเมื่อ 50-60 ปีก่อน อาจจะเป็นการตามรอยที่ชวนให้หลงทางก็ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image