สุจิตต์ วงษ์เทศ : พนมรุ้ง แปลว่า ภูเขาใหญ่

ปราสาทพนมรุ้ง ตั้งอยู่บนภูเขาไฟดับแล้ว มีประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง ระหว่าง 1-3 เมษายน พ.ศ. 2559

พนมรุ้ง แปลว่า ภูเขาใหญ่ เป็นคำมาจากภาษาเขมร มีในศิลาจารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง ว่า ภฺนุํรุง กับ วฺนํรุง

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระนิพนธ์ในวิทยานิพนธ์ฯ อธิบายว่า

“คำว่าพนมรุ้งนั้นควรจะแปลว่า ‘ภูเขาใหญ่’ ทั้งนี้ โดยศึกษาเปรียบเทียบชื่อของภูเขานี้ที่ปรากฏในจารึกเขมร และที่ปรากฏในจารึกสันสกฤต” (จารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาตะวันออก ภาควิชาภาษาตะวันออก บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. 2521)

ปราสาทพนมรุ้ง (จ. บุรีรัมย์) สร้างโดยพระราชาทรงพระนามว่า หิรัณยวรรมัน แห่งรัฐมหิธรปุระ [มีเมืองพิมาย (จ. นครราชสีมา) เป็นศูนย์กลาง อยู่ลุ่มน้ำมูลตอนบน] มีมเหสีพระนาม หิรัณยลักษมี
มีโอรส 2 พระองค์ ที่ได้เสวยราชย์เป็นกษัตริย์กัมพูชา ได้แก่ (1.) พระเจ้าชัยวรรมันที่ 6 (พระเชษฐา) เสวยราชย์ พ.ศ. 1633-1651 (2.) พระเจ้าธรณีนทรวรรมันที่ 1 (พระอนุชา) เสวยราชย์ พ.ศ. 1651-1655
มีนัดดา (หลาน) องค์หนึ่งพระนามกษิตีนทราทิตย์ (สมรสกับธิดาของพระราชาหิรัณยวรรมัน) ได้โอรสพระนาม พระเจ้าสุริยวรรมันที่ 2 เสวยราชย์กัมพูชา พ.ศ. 1655- 1695 โปรดให้สร้าง ปราสาทนครวัด
[เท่ากับพระราชาหิรัณยวรรมัน แห่งปราสาทพนมรุ้ง มีปนัดดา (เหลน) พระนาม พระเจ้าสุริยวรรมันที่ 2 แห่งปราสาทนครวัด]
เครือญาติอีก 2 พระองค์ที่ครองกัมพูชา ได้แก่ (1.) พระเจ้าธรณีนทรวรรมันที่ 2 เสวยราชย์ พ.ศ. 1695-1724 (2.) พระเจ้าชัยวรรมันที่ 7 เสวยราชย์ พ.ศ. 1724-1744 โปรดให้สร้างปราสาทบายน เมืองนครธม

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image