ก้าวแรกสันติภาพเกาหลี : เลือก(สถาน)ที่ผิด? : โดยปรีชาญาณ วงศ์อรุณ

ก้าวแรกสันติภาพเกาหลี : เลือก(สถาน)ที่ผิด?

ในที่สุดการพบปะระหว่างผู้นำเกาหลีเหนือและผู้นำเกาหลีใต้ครั้งที่ 3 ในประวัติศาสตร์สองเกาหลี และเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี ก็ได้ฤกษ์กำหนดจะมีขึ้นในวันศุกร์ที่ 27 เมษายนนี้ ณ Peace House ในเขตของประเทศเกาหลีใต้

ขั้นตอนสำคัญแรกสุดสำหรับการพบปะในครั้งนี้ก็คือการกำหนดหาสถานที่พบปะ แล้วจึงกำหนดวันเวลาที่แน่นอนเป็นลำดับถัดมา ถือเป็นหลักปฏิบัติเดียวสำหรับการพบปะครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างผู้นำเกาหลีเหนือและผู้นำสหรัฐที่กำหนดจะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้

ในจดหมายเชิญที่คิม โย จอง น้องสาวร่วมสายโลหิตของคิม จอง อึน (ผู้นำเกาหลีเหนือ) นำไปมอบให้แก่ประธานาธิบดีมูน แจ อิน แห่งเกาหลีใต้ด้วยตัวเองระหว่างมาร่วมพิธีเปิดโอลิมปิกฤดูหนาวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ระบุให้ผู้นำเกาหลีใต้ไปเยือนกรุงเปียงยางโดยเร็ววันที่สุด นั่นคือ กรุงเปียงยางเมืองหลวงของเกาหลีเหนือควรจะเป็นสถานที่พบปะครั้งแรกสุดระหว่างสองผู้นำแห่งคาบสมุทรเกาหลี

Advertisement

เมื่อเดินทางไปเยือนเกาหลีเหนือในเดือนถัด คณะผู้แทนของเกาหลีใต้ได้เสนอสามตัวเลือกให้ผู้นำเกาหลีเหนือเป็นผู้ตัดสินใจ นั่นคือ กรุงเปียงยาง กรุงโซล (เมืองหลวงเกาหลีใต้) และเรือนสันติภาพ (Peace House) ซึ่งตั้งอยู่ในเขตปลอดทหารตามแนวพรมแดนสองประเทศในฝั่งของเกาหลีใต้ บ่งบอกว่า ฝ่ายเกาหลีใต้เหมือนจะไม่ปรารถนากรุงเปียงยางให้เป็นสถานที่จัดประชุม

ทำไมจึงต้องเป็น Peace House?

เหตุผลแรกสุด เนื่องจากการประชุมสุดยอดในปี 2000 และ 2007 มีขึ้น ณ กรุงเปียงยาง ดังนั้น อาจเป็นได้ว่าคิม จอง อึน ซึ่งเป็นผู้นำคนแรกที่ผ่านการศึกษาจากประเทศตะวันตกต้องการเปิดศักราชใหม่สำหรับเกาหลีเหนือ และปรารถนาจะสร้างประวัติศาสตร์เป็นผู้นำเกาหลีเหนือคนแรกที่ข้ามพรมแดนไปยังดินแดนฝั่งเกาหลีใต้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพพจน์มากกว่ายืนหยัดจัดประชุมในกรุงเปียงยางที่ไม่ประสบความสำเร็จในสองครั้งที่ผ่านมา

Advertisement

เหตุผลที่สอง อย่างน้อยที่สุด การพบปะกันที่ Peace House ภายในหมู่บ้านปันมุนจอมซึ่งตั้งอยู่ในเขตปลอดทหารตามแนวพรมแดนสองประเทศ สร้างความรู้สึกที่น่าประทับใจว่า เป็นการพบกันครึ่งทาง เพราะถือเป็นจุดที่เรียกว่า “ตรงกลาง” ที่สุดในทางภูมิศาสตร์ระหว่างกรุงโซลและกรุงเปียงยาง และตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความเป็นกลางที่สุดในทางการเมืองระหว่างสองเกาหลี
ทั้งนี้ ในยามที่เกิดภาวะตึงเครียด ปันมุนจอมถือเป็นเขตที่มีความอ่อนไหวทางทหารมากที่สุด แต่น้อยครั้งมากๆ ในช่วง 60 กว่าปีที่ผ่านมาที่ผู้นำเกาหลีเหนือจะเดินทางมาที่ปันมุนจอม โดยผู้นำหนุ่มคนปัจจุบันเคยไปครั้งแรกและครั้งเดียวเมื่อต้นปี 2012

เหตุผลที่สาม การที่ผู้นำคิม จอง อึน เห็นดีเห็นงามเลือก Peace House อย่างชนิดที่สื่อทางการของเกาหลีเหนือถึงกับใช้คำว่าเป็นการตัดสินใจที่ “อาจหาญชาญชัย” (เพราะมีความเสี่ยงสูง) ก็อาจเป็นผลเนื่องมาจากความสำเร็จสดๆ ร้อนๆ ของคณะผู้แทนเกาหลีเหนือในการประชุมร่วมกับฝ่ายเกาหลีใต้ในช่วงต้นเดือนมกราคม จนสามารถบรรลุข้อตกลงเปิดทางให้เกาหลีเหนือส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในเดือนกุมภาพันธ์ และความสำเร็จอย่างงดงามของคิม โย จอง (น้องสาวของท่านผู้นำ) ในการเดินทางไปร่วมพิธีเปิดจนเป็นภาพที่อบอุ่นน่าประทับใจเป็นอย่างยิ่ง

Peace House เป็นอาคารที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่ในปี 1989 นอกจากชื่อที่เป็นมงคลและสะท้อนให้เห็นถึงความหมายของสันติภาพที่ทั้งสองเกาหลีกำลังแสวงหาอยู่ ณ เวลานี้แล้ว Peace House ยังทำหน้าที่เป็นสถานที่จัดประชุมระดับต่างๆ เพื่อส่งเสริมสันติภาพระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ตลอดระยะเวลากว่าสามทศวรรษที่ผ่านมา

มองในมุมนี้ Peace House จึงดูเหมาะสมสำหรับการพบปะเป็นครั้งแรกระหว่างผู้นำของสองเกาหลีในปลายเดือนนี้

แต่ข้อดีกลับกลายเป็นข้อด้อย เพราะปรากฏว่า Peace House ถูกใช้สำหรับการประชุมเจรจาเพื่อสันติภาพเป็นประจำๆ บ่อยครั้งที่สุด (เมื่อเทียบกับสถานที่อื่นๆ) และในเกือบทุกระดับ จนดูเหมือนชื่อจะ “ช้ำ” มากเกินไป ไม่ได้หนุนเสริมทำให้การพบปะครั้งประวัติศาสตร์มีความพิเศษอย่างที่สุด

การพบปะกันเป็นครั้งแรกระหว่างผู้นำฝรั่งเศสและผู้นำเยอรมนีตะวันตกเมื่อ 60 ปีที่แล้วเป็นตัวอย่างที่มีคุณค่าแก่การนำพิจารณาเปรียบเทียบกับกรณีของสองผู้นำเกาหลีในปัจจุบัน

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งเยอรมนีและฝรั่งเศสเสียหายอย่างหนักมากกว่า

ชาติใดๆ ในยุโรป ซ้ำร้ายทั้งสองชนชาติทั้งเกลียดทั้งแค้นระหว่างกันมากยิ่งกว่าครั้งใดๆ ดังนั้น ภารกิจที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้นำก็คือ การสร้างความสมานฉันท์เพื่อเป็นหลักประกันว่าทั้งสองชาติสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติและไม่เกิดความขัดแย้งจนนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3

ก้าวแรกๆ ในความพยายามสร้างความสมานฉันท์เริ่มต้นขึ้นโดยนายกรัฐมนตรีคอนราด อเดเนาเออร์ แห่งเยอรมนีตะวันตก เดินทางไปเยือนฝรั่งเศสในปี 1958

เนื่องจากเป็นการเปิดประตูต้อนรับผู้นำเยอรมนีเป็นครั้งแรกหลังสงครามโลกยุติลง ดังนั้น นายพลชาร์ลส์ เดอโกลล์ วีรบุรุษสงครามและนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส ณ ขณะนั้น จึงให้ความสำคัญเป็นพิเศษในการพิจารณาเลือกสถานที่สำหรับการพบปะเป็นครั้งแรก เพราะเกรงว่าหากเริ่มต้นไม่ดีตั้งแต่แรก ผลลัพธ์ที่ตาม มาก็ย่อมไม่ดีด้วย อย่างที่สุภาษิตเก่าแก่ของชาวฝรั่งเศสแนะนำไว้
ดังนั้น แทนที่จะเป็นพระราชวังแวร์ซายส์หรือพระราชวังอิเลเซ่ ผู้นำฝรั่งเศสกลับเลือกบ้านพักส่วนตัวในเมืองชนบทเล็กๆ ชื่อโคลอมเบย์ ด้วยเหตุผลสำคัญ 2 ประการ

หนึ่ง เมืองโคลอมเบย์ตั้งอยู่ตรงกึ่งกลางระหว่างกรุงปารีสและพรมแดนเยอรมนี ดังนั้น ในทางจิตวิทยาจึงให้ความรู้สึกว่าเป็นการพบกันคนละครึ่ง

สอง บ้านพักส่วนตัวของผู้นำฝรั่งเศสมีคุณค่าทางสัญลักษณ์ที่จำเป็นสำหรับการเริ่มต้นสร้างความสมานฉันท์ เพราะเคยได้รับความเสียหายอย่างหนักโดยกองทัพนาซีเยอรมัน ดังนั้น “แผล” ของบ้านหลังนี้ที่ยังคงหลงเหลืออยู่จะช่วยย้ำเตือนผู้นำเยอรมนีด้วยความหวังว่า “แผล” ที่เกิดจากความแค้นเคืองและเกลียดชัง อย่างฝังรากลึกจะมีโอกาสเยียวยาให้หายได้เช่นกัน
ด้วยเจตนาเพื่อทำให้การพบปะเป็นส่วนตัวที่สุดจนแทบจะไม่มีพิธีรีตองใดๆ ให้ยุ่งยาก ทำให้เกิดบรรยากาศดีๆ ของความเป็นกันเองและความเท่าเทียมมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องฝืนทนกับความรู้สึกเดิมๆ ที่ยึดถือมาตลอดว่า ฝรั่งเศสเป็นผู้ชนะสงครามและเยอรมนีคือผู้แพ้ จนกระทั่งผู้นำทั้งสองเริ่มตระหนักว่าถึงเวลาต้องปรับเปลี่ยนนโยบายและทัศนคติใหม่ที่มีต่อกัน

การเลือกสถานที่ที่อบอวลด้วยความหมายทางสัญลักษณ์ส่งผลทางจิตวิทยาทำให้เกิดความประทับใจซึ่งกันและกันตั้งแต่ก้าวแรก จนในที่สุดนำไปสู่การสมานฉันท์ที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืนจนถึงปัจจุบันนี้

ในกรณีของสองชาติบนคาบสมุทรเกาหลี อย่างน้อยที่สุดมีสามตัวเลือกที่น่าจะเหมาะสมยิ่งกว่า Peace House แต่ถูกมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย

ตัวเลือกแรกก็คือพิพิธภัณฑ์สันติภาพ (Peace Museum) ซึ่งตั้งอยู่ในเขตปันมุนจอมฝั่งเกาหลีเหนือ มีความเหมาะสมยิ่งกว่า Peace House ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์และในเชิงสัญลักษณ์ เพราะพิพิธภัณฑ์สันติภาพแห่งนี้คืออาคารเดิมๆ ที่ถูกสร้างขึ้นในปี 1953 เพื่อใช้เป็นสถานที่ลงนามข้อตกลงหยุดยิงในสงครามเกาหลีเป็นการเฉพาะ

หากผู้นำสองเกาหลีนั่งร่วมสนทนาบนโต๊ะและเก้าอี้ตัวเดิมๆ ที่เคยใช้สำหรับการลงนามเมื่อ 65 ปีที่แล้ว ซึ่งยังคงเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี ณ พิพิธภัณฑ์สันติภาพแห่งนี้ ก็น่าเชื่อว่าจะเป็นภาพที่สวยงามน่าประทับใจและมีความหมายอย่างยิ่ง

ตัวเลือกต่อมาก็คือพย็องชัง สถานที่จัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
พย็องชัง หรือ Pyeongchang ในภาษาอังกฤษซึ่งบังเอิญสะกดใกล้เคียงกับชื่อเมืองหลวง Pyongyang ของเกาหลีเหนือจนชาวต่างชาติเคยเข้าใจผิดคิดว่าเมืองเดียวกัน อยู่ห่างจากพรมแดนเพียง 80 กิโลเมตร ใช้เวลาบินจากกรุงเปียงยางไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง
กล่าวได้ว่า พย็องชังคือสถานที่แรกสุดที่มีการหว่านเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งมิตรภาพระหว่างสองเกาหลียุคปัจจุบัน ความสำเร็จอย่างงดงามของคิม โย จอง น้องสาวท่านผู้นำระหว่างเดินทางมาร่วมในพิธีเปิดโอลิมปิกฤดูหนาว มากเพียงพอที่จะทำให้ชื่อ “พย็องชัง” มีพลังและความเหมาะสมสำหรับการพบปะระหว่างผู้นำสูงสุดของทั้งสองประเทศมากกว่าตัวเลือกอื่นๆ

ฮังนัม (Hungnam) คือชื่อสุดท้ายที่ถูกมองข้าม ทั้งๆ ที่น่าจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการเริ่มต้นพบปะเป็นครั้งแรกของผู้นำสองเกาหลีในรอบทศวรรษ

ฮังนัมเป็นเมืองใหญ่อันดับสามของเกาหลีเหนือ เป็นชื่อที่ประธานาธิบดีมูน แจ อิน แห่งเกาหลีใต้สามารถจดจำได้ตลอดทั้งชีวิต เพราะนี่คือบ้านเกิดเมืองนอนของพ่อแม่ที่ต้องอพยพหนีสงครามมาเกาหลีใต้เมื่อปี 1950

ดังนั้น ด้วยที่มาและความสำคัญดังกล่าว ทำให้ฮังนัมมีคุณค่าและความเหมาะสมที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากรัฐบาลเกาหลีเหนือสามารถบูรณะบ้านหลังเก่าหลังเดิม (หรือสร้างขึ้นมาใหม่บนพื้นที่เดิม) ที่พ่อแม่ของท่านผู้นำเกาหลีใต้เคยอยู่อาศัย แล้วปรับใช้เป็นสถานที่พบปะในปีนี้ เชื่อได้ว่าจะสร้างความประทับใจให้กับผู้นำเกาหลีใต้จนอาจจะหลั่งน้ำตาได้ เป็นความประทับใจเหมือนที่ผู้นำเยอรมนีเคยได้รับในโอกาสพบปะกับผู้นำฝรั่งเศสเป็นครั้งแรกเมื่อ 60 ปีที่แล้ว เปิดทางทำให้การสมานฉันท์ระหว่างสองชาติพัฒนาและยั่งยืนมาจนถึงทุกวันนี้

ถึงแม้จะเป็นความน่าเสียดายอย่างที่สุดที่ตัวเลือกเหล่านี้ถูกลืมถูกมองข้ามไป แต่เชื่อได้ว่าทั้งสามตัวเลือก (รวมทั้งกรุงโซล) น่าจะมีส่วนมีบทบาทสำคัญในวันข้างหน้าตลอด 4 ปีอย่างแน่นอน เพราะประธานาธิบดีมูน แจ อิน ยังมีเวลาอยู่ในตำแหน่งจนถึงปลายปี 2022 มากพอที่จะทำให้สันติภาพและการสมานฉันท์ระหว่างสองเกาหลีเป็นรูปธรรมที่สุด

ปรีชาญาณ วงศ์อรุณ
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image