‘ตรา อย.’ต้องศักดิ์สิทธิ์ โดย : สุพัด ทีปะลา

กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีบริษัท เมจิก สกิน จำกัด และเครือข่ายที่ผลิตอาหารเสริมยี่ห้อดังหลังบุกทลายโรงงานจนพบว่ามีการใช้เครื่องหมายการค้าอาหารและยา (อย.) ปลอม การติดเครื่องหมายการค้าผิดประเภท ผลิตอาหารเสริมไม่ได้คุณภาพ และแหล่งผลิตที่ไม่ได้จดทะเบียน

ถือเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวประชาชน เพราะหลายคนอาจเคยใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้

ในทางคดีล่าสุดวันที่ 27 เมษายน มีผู้ต้องหา 8 รายที่ศาลอนุมัติหมายจับ มีแนวโน้มที่จะออกหมายจับเพิ่มเติมอีก นอกจากนี้ยังมีดารา เน็ตไอดอล ที่รับจ้างรีวิวขายสินค้า 60 กว่ารายที่โดนหางเลขด้วย ทางตำรวจเรียกมาสอบสวนก่อนล็อตแรก 9 ราย
เช่น “ม้า” อรนภา กฤษฎี, เมย์ พิชญ์นาฏ สาขากร, ก้อย รัชวิน วงศ์วิริยะ, สายป่าน อภิญญา สกุลเจริญสุข

ขณะที่กลุ่มของดารา เน็ตไอดอล ที่รีวิวสินค้า พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. พูดชัดเจนว่า “หากมีเจตนา หรือพฤติกรรมเข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายจะถูกดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด” โดยเกี่ยวข้องกับกฎหมาย 3 ฉบับ พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ร.บ.อาหาร และ พ.ร.บ.คอมพ์ มีบทลงโทษทั้งการปรับและจำคุก เช่น หากผิด พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ม.40 ข้อหาโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

Advertisement

การบุกจับทลายโรงงานแหล่งผลิตอาหารเสริม ผลิตภัณฑ์ในลักษณะนี้ไม่ใช่ครั้งแรก จึงเกิดคำถามว่าหากไม่มีการแจ้งข้อมูลจากผู้เสียหาย หรือประชาชนแล้ว ระบบการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ “สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)” ว่ามีประสิทธิภาพมากแค่ไหน

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สะท้อนว่า ตอนนี้หมายเลข อย.ไม่ได้รับประกันความปลอดภัยว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้อง ต้องตรวจสอบ ผู้บริโภคต้องดูแลตัวเอง อยากเห็นตรา อย.ทำให้คนสบายใจได้ แต่ขณะนี้เป็นไปไม่ได้เลย แค่เมจิก สกิน 200 กว่ายี่ห้อต้องใช้คนมากแค่ไหน เราต้องยอมรับความจริง แต่ก็หวังให้มีกฎหมายที่เข้มแข็ง รวมทั้งกระบวนการตรวจสอบ พร้อมเสนอแนะให้มีการเลิกการจดแจ้งขอเลขทะเบียนออนไลน์ ควรไปจดแจ้งโดยตรงแทนเพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าใครเป็นผู้ผลิต และสถานที่ผลิตเป็นไปตามที่แจ้งไว้หรือไม่

ในขณะที่ ภก.สมชาย ปรีชาทวีกิจ รองเลขาธิการ อย. ยอมรับว่า “การตรวจสอบเพียงเลข อย.ไม่สามารถทราบได้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ปลอมหรือลักลอบผสมใส่สารอันตรายหรือไม่ เนื่องจากกลุ่มเครื่องสำอางเป็นเพียงการมาจดแจ้งว่าจะผลิตเครื่องสำอางอะไร มีส่วนประกอบอะไร หากไม่ผิดหลักเกณฑ์ของทาง อย.ก็จะได้รับเลขจดแจ้งจาก อย. โดย อย.จะดำเนินการสุ่มตรวจภายหลังว่าดำเนินการตามที่จดแจ้งไว้หรือไม่ นอกจากนี้ยังยอมรับว่า “อาจมีช่องโหว่ที่ทำให้ผลิตภัณฑ์เถื่อนออกสู่ตลาดแต่ก็เป็นจำนวนน้อย หลังจากนี้จะได้มีการทบทวนถึงมาตรการต่างๆ เพื่อให้การตรวจสอบมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”

Advertisement

จากข้อมูลของ นาคาญ์ ทวิชาวัฒน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พบว่า ตลาดเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีการเติบโตมาก โดยมีมูลค่าตลาดเกือบ 100,000 ล้านบาทต่อปี เพิ่มจากเดิมที่มีมูลค่า 10,000 ล้านบาทต่อปี

และน่ากังวลว่า ผลิตภัณฑ์ในตลาด 40% เป็นผลิตภัณฑ์ปลอม ที่มีการผลิตไม่ได้มาตรฐาน ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร มีโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐานกว่า 10,000 โรงงาน

กรณี “เมจิก สกิน” คงไม่ใช่กรณีสุดท้ายที่พบ เพราะจากข้อมูลของ ส.อ.ท.หากตรวจสอบน่าจะยังเจออีกเยอะ

เหล่านี้คือสิ่งที่ต้องประสานกำลังปราบปรามของหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงอย่างจริงจัง ประชาชนก็ต้องคอยเป็นหูเป็นตาอีกทาง

ในขณะที่ทางสำนักงาน อย.เองก็ต้องทบทวนมาตรการเพื่อสร้างความศักดิ์สิทธิ์ในตรา อย. เพื่อไม่ให้ประชาชนตกอยู่ในสภาพที่ต้องคอยลุ้นเอาเองว่า “ผลิตภัณฑ์ที่มีตรา อย.” แปะอยู่ จะเป็นของจริง หรือของปลอม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image