อำนาจทุนกับอำนาจรัฐประหาร : นิธิ เอียวศรีวงศ์

เคยมีคนที่สนิทสนมกับเจ้าสัวคนหนึ่งในกลุ่มประชารัฐบอกผมว่า ความจริงแล้วเจ้าสัวประกาศตนเป็นเสื้อแดง

ผมเชื่อเขา แม้ผมไม่มีวันจะรู้ได้ว่าเจ้าสัวประกาศด้วยความจริงใจหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ผมแน่ใจว่า ไม่ว่าคุณทักษิณจะกลับมาอีก หรือคุณประยุทธ์จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่อไป อำนาจของเจ้าสัวในการต่อรองเชิงนโยบายก็หาได้ลดลงตรงไหน

แม้แต่สมมุติให้ กกต.ยอมทำตามกฎหมาย คือรับจดทะเบียนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และ พคท.เกิดได้จัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง อำนาจของเจ้าสัวก็คงไม่ลดลงไปสักกี่มากน้อย รัฐบาลคอมมิวนิสต์คงไม่กล้าวางนโยบายอะไรที่เจ้าสัวรับไม่ได้อย่างแน่นอน ดังเช่นรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในปัจจุบันทั่วโลก ต่างยอมรับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของเอกชนอย่างไม่มีข้อแม้กันถ้วนหน้า

อำนาจทางการเมืองของเจ้าสัวหรือนายทุนระดับใหญ่อยู่ที่ไหนกันแน่ ผมได้รับความเข้าใจจาก Jeffrey A. Winters ผู้เขียน Power in Motion ซึ่งศึกษาเรื่องนี้โดยอาศัยอินโดนีเซียภายใต้ซูฮาร์โตเป็นกรณีศึกษา

Advertisement

ในสังคมซึ่งคนส่วนใหญ่มิได้ผลิตเพื่อยังชีพอีกแล้ว (ซึ่งก็คือสังคมในโลกปัจจุบันเกือบทั้งหมด) เศรษฐกิจของสังคมหนึ่งๆ ย่อมดำรงอยู่ได้หรืองอกงามขึ้นได้ ก็เพราะการลงทุนของนายทุน โดยเฉพาะนายทุนระดับใหญ่ หยุดหรือชะลอการลงทุนเมื่อไร คนส่วนใหญ่ของสังคมย่อมขาดรายได้เพราะตกงาน หรือถึงยังมีงานอยู่ก็มองอนาคตข้างหน้าไม่เห็น เพราะรู้ว่ารายได้ของตนจะคงที่ไปเรื่อยๆ หรืออาจลดลงด้วย

สภาวะเช่นนี้ย่อมก่อให้เกิดความไม่พอใจรัฐบาล อาจสะสมมากขึ้นจนต้องล้มรัฐบาล ผ่านหีบบัตรเลือกตั้งหากรัฐนั้นใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือการส่งผ่านอำนาจ หรือผ่านการจลาจลในรัฐที่เผด็จการยึดอำนาจไว้เด็ดขาด

การลงทุนคือฐานที่มาของอำนาจทางการเมืองของนายทุน เพราะรัฐไม่มีอำนาจไปบังคับให้ใครลงทุนหรือไม่ลงทุนได้ (ตราบเท่าที่รัฐนั้นยังดำเนินเศรษฐกิจในแบบทุนนิยมหรือกึ่งทุนนิยม) เพราะเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลของเขา แต่การตัดสินใจส่วนตัวของนายทุนที่จะลงหรือไม่ลงทุน กลับมีผลกระทบต่อสังคมทั้งหมดอย่างมาก โดยผู้ตัดสินใจก็ไม่ต้องรับผิดชอบต่อผลที่ตามมากับใครทั้งสิ้น มากที่สุดที่รัฐจะทำได้ก็คือ สร้างเงื่อนไขที่เอื้อให้แก่การลงทุน ฟังดูเหมือนเป็นกลางๆ แต่ที่จริงแล้วเงื่อนไขเหล่านี้คือช่องทางที่สะดวกในการทำกำไรของผู้ลงทุนนั่นเอง เช่น อัตราภาษีที่ต่ำหรือเปิดช่องว่างให้หักลดหย่อนได้มาก โครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้ราคาค่าขนส่งและพลังงานไม่แพงเกินไป ตลาดที่เปิดให้ผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าและบริการได้อย่างอิสระ และมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น (เช่น มีระบบสินเชื่อที่สะดวกรวดเร็วและปลอดภัย) กฎหมายที่เปิดให้เข้าถึงทรัพยากรได้ในอัตราค่า “เช่า” ที่พอรับได้ (สัมปทานต้องไม่สูงจนยากที่จะคุ้มทุน ค่าต๋งก็ต้องไม่สูงเกินไปเหมือนกัน) อุดมด้วยแรงงานที่มีคุณภาพและไม่กระด้างกระเดื่อง ฯลฯ

Advertisement

เงื่อนไขทางการเมืองที่สำคัญก็คือ รัฐบาลต้องสามารถรักษาความสงบเรียบร้อยได้ในระดับที่นายทุนพอจะวางใจได้ว่า เมื่อเอาทรัพย์สินของตนวางไว้ข้างถนน จะไม่มีใครมาปล้นสะดมหรือเผาทิ้งเสีย การบริหารงานของรัฐบาลต้องมีความสม่ำเสมอ (regularity) ที่นายทุนสามารถคาดเดาได้ว่าจะไม่ผันผวนไปตามอารมณ์ที่ไม่อยู่ในร่องในรอยของผู้นำ หรือแปรผันไปง่ายๆ ตามเสียงของผู้ต่อรองกับรัฐซึ่งต้องมีหลากหลายกลุ่มเป็นธรรมดา (เช่น เพราะไม่อยากเสียพันธมิตรทางการเมือง จึงกลับใจ? เปลี่ยนนโยบายจากหน้ามือเป็นหลังมือ) หรือรู้แน่ชัดว่าระบอบที่ปกครองอยู่เป็นระบอบชั่วคราวอย่างแน่นอน โดยมองไม่ออกว่าระบอบที่จะตามมาคืออะไรกันแน่

สรุปก็คือ เงื่อนไขทางการเมืองที่นักลงทุนต้องการคือรัฐต้องรักษาระเบียบ (Order) และรัฐต้องมีความสม่ำเสมอ (Regularity) ด้านการนโยบายและการปฏิบัติ

ส่วนรัฐนั้นจะปกครองภายใต้ระบอบอะไร ไม่มีผลกระทบต่อผลประโยชน์ของนายทุนระดับสูง เพราะไม่ว่ารัฐประเภทใด ก็ไม่สามารถกำกับควบคุมการตัดสินใจอิสระของนายทุนในเรื่องการลงทุนได้ทั้งนั้น นายทุนบางคนอาจอ้างว่าตนศรัทธาระบอบประชาธิปไตย ซึ่งต้องถือว่าเป็นความนิยมส่วนตัวของเขาเหมือนชอบหนังไทยมากกว่าหนังฝรั่ง ชอบแกงโฮะมากกว่าจับฉ่าย ไม่เกี่ยวอะไรกับการตัดสินใจลงทุนหรือไม่ลงทุนของเขา

ในประเทศไทย ช่วงทศวรรษ 1970 และตอนต้นของ 1980 อำนาจที่เกิดจากการลงทุนของนายทุนระดับใหญ่ยังไม่เด็ดขาด ด้วยเหตุสองประการ

1/การลงทุนภาครัฐยังมีสัดส่วนที่สูง ยิ่งในยามเศรษฐกิจตกต่ำเพราะนายทุนไม่ยอมลงทุน รัฐยิ่งต้องเบ่งกำลังในการลงทุนทดแทนให้มาก รัฐไทยมีประวัติเป็นลูกหนี้ชั้นดีมาตลอด ฉะนั้นจึงสามารถกู้ยืมได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ไม่สูงเกินไป แต่หลังจากนั้น การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวขึ้นมากเสียจนกระทั่ง การลงทุนภาครัฐเป็นสัดส่วนที่เล็กลงไปเรื่อยๆ และทำให้อำนาจต่อรองของรัฐกับนายทุนลดลงตามไปด้วย

เศรษฐกิจที่มีแต่การลงทุนภาครัฐเป็นอย่างไร ก็ลองหันดูรอบตัวเวลานี้เอาเองเถิดครับ

ขอให้สังเกตการยึดอำนาจของกองทัพ นับตั้งแต่ รสช.ใน 1991 เป็นต้นมา ทหารจะแหยๆ กับนายทุนสืบมาจนทุกวันนี้

2/อย่าลืมด้วยว่า การตัดสินใจไม่ลงทุนของนายทุนนั้น ทำร้ายเจ้าของทุนอยู่ด้วย เพราะทุนที่นอนเฉยๆ ไม่ทำอะไร ตัวมันจะลีบลง แม้ว่าการเคลื่อนย้ายทุนข้ามประเทศเริ่มแพร่หลายในโลกตะวันตกมาตั้งแต่กลางทศวรรษ 1970 แต่มิตินี้ของโลกาภิวัตน์ยังไม่แพร่หลายในเมืองไทยจนปลายทศวรรษ 1980 ฉะนั้นก่อนหน้าที่จะมีการเคลื่อนย้ายทุนไปต่างประเทศของนายทุนไทย พวกเขาย่อมมีอำนาจต่อรองกับรัฐน้อยลง (ทุนต่างประเทศจำนวนมากย้ายออกไปก่อนและในวิกฤตเศรษฐกิจใน 1997)

ผมอยากเสริมข้อนี้ด้วยว่า ในทศวรรษ 1980 โลกาภิวัตน์ด้านทุนอาจขยายตัวเต็มที่ในเมืองไทยแล้ว แต่โลกาภิวัตน์ด้านชีวิตของนายทุนยังไม่ขยายตัวเท่าไรนัก ผมหมายความว่าเจ้าสัว “ไทย” ยังอยากอยู่เมืองไทย ไม่อยากย้ายไปอยู่สิงคโปร์, ฮ่องกง หรือไต้หวัน เพราะญาติมิตรจำนวนมากที่มีความหมายต่อชีวิตของเขาล้วนอยู่เมืองไทย ให้อั๊วะต้องไปอยู่ข้างนอกก็เค้าแป๋สิครับ (แต่ปัจจุบันไม่ใช่อย่างนั้นแล้ว เพราะการคมนาคมทุกประเภทสะดวกรวดเร็วง่ายดายจนกระทั่ง ฮ่องกงก็อยู่ถัดบางลำพูไปนิดเดียวเอง)

โลกปัจจุบันคือโลกที่ทุนหลุดจากชาติอย่างแท้จริง ไม่เหลือแม้แต่ความรู้สึกเสียด้วยซ้ำ ไม่พักต้องพูดถึงความปลอดภัยและโอกาสทางเศรษฐกิจ ที่นายทุนสามารถเลือกทำเลที่ดีได้อย่างไม่มีข้อจำกัด

หลายคนพูดว่า นายทุนระดับสูงจำนวนหนึ่งคงลงขันสนับสนุนการยึดอำนาจของกองทัพ และพยายามเก็บเกี่ยวผลประโยชน์คืนในหลายรูปแบบ ผมไม่ทราบว่าจริงหรือไม่ แต่เชื่อว่าถึงไม่ลงขันเลยสักแดงเดียว คณะรัฐประหารก็ต้อง “ประเคน” ผลประโยชน์ให้นายทุนระดับใหญ่อยู่ดี ด้วยความหวังว่า หากสร้างเงื่อนไขการลงทุนที่ล่อใจมากๆ แล้ว นายทุนก็จะหันกลับมาลงทุนจนกระทั่งเศรษฐกิจฟื้นตัว (และขยายตัว) ได้ในที่สุด

นั่นคือที่มาของโครงการระเบียงเศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งผ่อนปรนกฎหมายให้แก่การลงทุนมากมาย

แม้กระนั้น สัญญาณการกลับมาลงทุนนอกคำโฆษณาก็ดูจะไม่เห็นชัดนัก ในขณะที่มีการเคลื่อนย้ายทุนไปต่างประเทศมากขึ้น

สิ่งที่น่าถามก็คือ เงื่อนไขการลงทุนอะไรที่ขาดไป จึงทำให้ไม่เกิดการลงทุนขนานใหญ่อย่างที่คณะรัฐประหารคาดหวัง ทั้งๆ ที่ได้ออกกฎหมายและใช้ ม.44 จนหากพูดหยาบๆ ก็คือแบหงายขนาดนี้แล้ว

ผมคิดว่าเงื่อนไขที่ขาดหายคือเงื่อนไขทางการเมืองครับ

ใครจะเชื่ออย่างสนิทใจได้ว่า คณะรัฐประหารจะสามารถรักษา “ระเบียบ” (Order) ในสังคมไทยไว้ได้อย่างแน่นอนมั่นคง ทั้งก่อนเลือกตั้ง (หากจะมีการเลือกตั้ง) หรือหลังเลือกตั้ง

และหากคณะรัฐประหารทำไม่ได้ ไม่ว่าจะถูกล้มไปด้วยคณะทหารชุดใหม่ หรือการลุกฮือของประชาชน ไม่มีใครคาดเดาได้ถูกเลยว่า จะเกิด “ระเบียบ” ใหม่อะไร หลังจากนั้น “ระเบียบ” การลงทุนที่คณะรัฐประหารชุดนี้วางไว้ จะมั่นคงอยู่ต่อไป หรือจะถูกยกเลิก ก็ไม่มีใครคาดเดาได้ถูก ถึงรีบคว้าโอกาสการลงทุนที่ดูปลอดโปร่งเบาสบายดีไว้ในตอนนี้ ก็เพื่อจับจองโอกาสเท่านั้น ไม่มีใครอยากเอาทรัพย์สินของตนไปวางไว้ในอนาคตที่หาความแน่นอนไม่ได้

เมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่ออกมา ทุกคนก็รู้ว่าคณะรัฐประหารต้องยุติลงในอนาคตอันไม่ไกลนัก อย่างน้อยก็ต้องยุติอย่างเป็นทางการ การเมืองที่ปราศจากอำนาจรัฐประหารค้ำจุนและกำกับจะเปลี่ยนไปอย่างไร ก็ถือเป็นความเสี่ยงที่สูงเกินกว่าจะลงทุนจริงจัง ส่วนที่พยายามจะรักษาอำนาจรัฐประหารไว้ในรูปอื่นตามรัฐธรรมนูญ จะราบรื่นได้อย่างไร ในเมื่อแม้อยู่ในรูปเดิมก็ต้องเที่ยวจับกุมปราบปรามผู้คนอยู่ตลอดเวลาเช่นนี้ ถ้าสักวันหนึ่งคณะรัฐประหารพังลงมา อะไรจะพังตามลงมาด้วยบ้าง จะเที่ยวเอาทรัพย์สินของตนไปวางไว้ในที่อันอาจเกิดพายุใหญ่ได้อย่างไร

ความต้องการสืบทอดอำนาจ และความต้องการประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจ เป็นความต้องการที่ขัดแย้งกันเอง นายทุนระดับสูงไม่รังเกียจที่ คสช.จะสืบทอดอำนาจ แต่ คสช.ต้องทำให้เกิดบรรยากาศของ “ระเบียบ” และ “ความสม่ำเสมอ” ซึ่งทำให้สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ ตราบเท่าที่ คสช.ยังทำไม่ได้ นายทุนย่อมไม่ลงทุนในประเทศไทยอยู่ตราบนั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image