ที่เห็นและเป็นไป : สู่วงจร‘อีหรอบเดิม’ : โดยสุชาติ ศรีสุวรรณ

สู่วงจร‘อีหรอบเดิม’

ความชัดเจนทางการเมืองที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกว่าจะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายนที่จะถึง จนทำให้มีการคาดการณ์ไปต่างๆ นานา ว่า จะ “ชัดเจนในเรื่องอะไร”

ถึงวันนี้เกิดความเชื่อกันแล้วว่ามิใช่เรื่องกำหนดวันเลือกตั้งที่แน่นอน แต่เป็นความชัดเจนในเรื่อง “ก้าวต่อไปทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะ คสช.”

หลัง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปหลังเลือกตั้ง
จากนั้นมีข่าวคราวการดึงตัวนักการเมืองในท้องถิ่นต่างๆ มาร่วมทีม ทั้งที่สำเร็จแล้วโดยเป็นทางการอย่าง “ทีมคุณปลื้มจากชลบุรี” และที่ยังเป็นข่าวกระซิบกันถึงการยื่นข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้ในหลายพื้นที่ หรือการออกข่าวของคนบางคน บางกลุ่มในทางว่าได้รับการทาบทาม ซึ่งมีทั้งยังกั๊กไว้ก่อน บางคนแนวโน้มไปในทางยอมถูกดูด บางคนยังขอรอดูข้อมูลอีกระยะ และบางคนชัดเจนว่าไม่ไปด้วย

Advertisement

ตามด้วยเรื่องราวของทุนในแง่มุมต่างๆ

ทำให้เกิดความเชื่อว่า “ความชัดเจน” ที่ “พล.อ.ประยุทธ์” บอกว่าจะเกิดขึ้นในเดือน “มิถุนายน” นั้นน่าจะเป็น “โครงสร้างของพรรคการเมืองใหม่ขนาดใหญ่ในระดับสามารถส่ง พล.อ.ประยุทธ์ขึ้นเป็นคู่ชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอย่างเปิดเผยได้” ว่าประกอบด้วย “นักการเมืองกลุ่มไหนบ้าง”

ว่าไปถึงวันนี้มีข่าวกระซิบกระซาบกันแล้วว่า “หัวหน้าพรรคที่ไม่ใช่รองสมคิดนั้นเป็นใคร-เลขาธิการพรรค-กลุ่มการเมืองที่จะเข้าร่วม”
เป็นอันว่าหากไม่มีเรื่องใหญ่ที่ทำให้ “พรรคการเมืองตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับการเข้ามามีอำนาจต่อไปของ คสช.” เชื่อกันว่าจะเห็นรูปร่างอย่างเป็นทางการในเดือน “มิถุนายน” นี้ และเพราะเป็นการขยับเพื่อตั้งพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่หวังผลในชัยชนะในการเลือกตั้ง ทำให้แรงกระเพื่อมทางการเมืองเกิดขึ้นในระดับที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรับรู้ได้ถึงความสั่นสะเทือนนั้น

ท่าทีที่มีออกมาย่อมสะท้อนถึงความตื่นตัวที่จะต้องคิดว่าจะรับมืออย่างไรกับความเป็นไปที่เกิดขึ้น

และ “ท่าทีในการรับมือ” นี่เองที่เป็นเรื่องน่าสนใจยิ่ง เพราะจะส่งผลต่อความเป็นไปของประเทศในระยะยาว

การเมืองที่วนอยู่ในสภาวะที่เรียกว่า “วงจรอุบาทว์” คือ “เลือกตั้ง แล้วรัฐประหาร แล้วเลือกตั้ง แล้วรัฐประหาร” จนกลายเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองพิเศษเฉพาะของประเทศที่นานาชาติไม่มีวันเข้าใจได้

“รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน” วันหนึ่งที่ “กองทัพเข้ามายึดอำนาจ” ก็เดินลงเวทีอย่างสงบเสงี่ยม ยอมจำนน คนที่เหลือก็มารายงานตัวตามคำเรียก อย่างปกติ

การยึดอำนาจเป็นความชอบธรรมอย่างหนึ่ง การใช้กำลังและอาวุธเข้าบังคับ ที่คำสั่งของคณะบุคคคลที่ต้องถือเป็นกฎหมายอันศักดิ์สิทธิ์เสียยิ่งกว่ากฎหมายที่ออกจากสภาผู้แทนราษฎร พวกที่รอเสพวาสนาจากผลงานเอาอกเอาใจผู้มีอำนาจถูกยกขึ้นเป็นผู้ทรงเกียรติในสังคม กลายเป็นความปกติ

เป็นปกติของ “นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน” จะต้องค้อมหัวก้ม มือกุมเป้ากางเกง ยอมรับเมื่อถูกชี้ว่าเป็น “ประชาชนเผ่าพันธุ์ที่สร้างปัญหาให้กับประเทศชาติ”

ต้องอดทนรอเวลาที่จะถูกเรียกถูกจิกไปสนับสนุนพรรคการเมืองใหม่ที่ตั้งขึ้นมา โดยผู้มีอำนาจหวังว่าจะส่งให้อยู่ในอำนาจสืบไปได้
และหลังจากปล่อยให้ระเริงอำนาจไปสักพักหนึ่ง นักการเมืองที่มาจากผู้มีบารมีในท้องถิ่นก็พลิกตัวขึ้นมาคุมอำนาจแทน

วนเวียนอยู่อย่างนี้ เหมือนอำนาจของประเทศเป็นสมบัติผลัดกันชม

เป็นวัฒนธรรมประหลาดของโลกประชาธิปไตยที่นานาชาติยากที่จะเข้าใจ จนมีการเสนอวาทกรรมว่า “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” ขึ้นมาเพื่อให้นานาชาติได้รับรู้เป็นนิยามเฉพาะ

สภาพของระบบการเมืองเช่นนี้เป็นที่รับรู้กันว่าเป็นอุปสรรคหนักหนาสำหรับการพัฒนาประเทศ ทำให้ชาติไม่ก้าวหน้าไปสู่ความรุ่งเรือง ก่อปัญหาสำคัญคือการเมืองที่ไร้เสถียรภาพ ต้องทำมาหากิน ประกอบกิจการกันท่ามกลางความไม่แน่นอน

กดดันให้ผู้คน นักธุรกิจ นักลงทุนเห็นแก่ประโยชน์เฉพาะหน้า มากกว่าการสร้างความมั่นคงในระยะยาว

ทุกฝ่ายเห็นสมควรจะต้องช่วยกันหาทางเปลี่ยนแปลง

แต่เหมือนต้องคำสาป

ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นไม่ได้ในสำนึกที่ถูกกดดันให้เห็นประโยชน์เฉพาะหน้า

ไม่ว่าอยากเปลี่ยนแค่ไหน ทุกคนทุกฝ่ายก็ยังทำเหมือนเดิม

ซึ่งส่งให้ผลวนเวียนอยู่ในสภาพเดิมๆ

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image