นิสัยใจคอและความคิดอ่านของผู้นำสหรัฐและไทยจะนำพาประเทศชาติไปสู่หนใด โดย สมหมาย ภาษี

หากเราท่านได้คิดตามการบริหารงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตั้งแต่ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาตั้งแต่เป็นประธานาธิบดีมาปีเศษ มักจะได้ยินการปลดย้ายเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลหรือของทำเนียบขาว
อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งในจำนวนนั้นคือการปลด นายเจมส์ โคมัย์ (James Comey) ผู้อำนวยการ FBI เป็นเรื่องน่าติดตามเป็นอย่างมาก

ตามเรื่องราวที่ได้อ่านและฟังมา เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะเกี่ยวกับการได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของทรัมป์ เป็นเรื่องที่น่าสนใจทั้งจากพรรคการเมืองใหญ่ของสหรัฐทั้งสองพรรค คือพรรครีพับลิกันและเดโมแครต และเกี่ยวโยงกับประเทศรัสเซีย ซึ่งเป็นประเทศยักษ์ใหญ่คู่รักคู่แค้นของสหรัฐ

แต่การปลดผู้อำนวยการ FBI อย่างนาย Comey ไม่ใช่เรื่องหมู เพราะนาย Comey เองเป็นข้าราชการที่เชี่ยวชาญทั้งด้านกฎหมาย การบริหาร และอีกหลายด้านนับตั้งแต่เป็นอัยการไต่เต้ามาจนเป็นผู้อำนวยการ FBI ย่อมรู้เรื่องกระบวนการของการใช้อำนาจของรัฐเป็นอย่างดี การถูกปลดครั้งนี้ก็ไม่ใช่ปลดออกแบบธรรมดา ยังมีการสอบสวนหาความผิดอีกด้วย ซึ่งมาถึงตอนนี้ก็ยังไม่จบ แต่นาย Comey ไม่ปล่อยให้ถูกกล่าวหาเฉยๆ ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมานี้ เขาได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องของเขาจนออกมาสู่สายตาประชาชนชาวอเมริกันในขณะนี้

หนังสือเล่มที่เพิ่งออกมาเร็วๆ นี้ชื่อว่า “A higher Loyalty” หรืออาจแปลง่ายๆ ว่า ความจงรักภักดีที่สูงกว่า ซึ่งเขาอาจตั้งตามความรู้สึกจากการได้ยินคำพูดของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่เชิญเขาทานอาหารค่ำในห้องสีเขียวที่ทำเนียบขาวคืนวันหนึ่งหลังมีเรื่องขัดแย้งและได้บอกเขาว่า “ผมต้องการความจงรักภักดี”

Advertisement

เมื่อไม่ถึงสองสัปดาห์นี้เองก็มีข่าวออกมาทางสื่อมากมาย หลังจากนาย Comey ออกมาเปิดตัวหนังสือของเขา โดยเขาได้ยืดอกกล่าวถึงประธานาธิบดีทรัมป์ว่า ประเทศนี้จะไม่สามารถอดทนต่อผู้นำที่ออกมาพูดชักนำในสิ่งที่ผิดๆ วันละหลายๆ ครั้ง พูดในเรื่องที่ไม่จริง และยังต้องการให้ประชาชนเชื่อในเรื่องที่โกหกนั้น นี่เป็นข้าราชการระดับสูงพูดใส่หน้าผู้นำในประเทศสหรัฐอเมริกานะครับ โปรดอย่าเข้าใจผิด

นาย Comey ได้เขียนไว้ชัดเจนในหนังสือ A higher Loyalty ที่ออกมาเพื่อเป็นการแนะนำผู้อำนวยการ FBI คนใหม่และคนต่อๆ ไปว่า จงอย่าพยายามปกครองโดยใช้ความกลัว จงยืนหยัดต่อต้านผู้บังคับบัญชา ถ้าถูกบังคับให้ทำในสิ่งที่ผิด และอย่าไปทานอาหารกับประธานาธิบดีตามลำพัง นี่แหละคือความกล้าหาญของเขาละ

นอกจากนี้ ในหนังสือของเขา เขาพยายามพูดให้ผู้นำและประชาชนที่จะเป็นผู้อ่านทั่วไปได้เข้าใจถึงกฎพื้นฐานของความถูกและความผิดไว้อย่างน่าฟังดังนี้ว่า

Advertisement

รัฐจะไม่อาจอยู่ได้ ถ้าความจริงถูกโต้แย้งและถูกตั้งข้อสงสัยจากประชาชน ถ้าการโกหกจากผู้นำกลายเป็นเรื่องปกติ ถ้าการขาดจริยธรรมของผู้นำ กลับไม่ได้รับความสนใจ หรือได้รับการยกโทษ หรือได้รับรางวัลตอบแทน สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนว่าเป็นลักษณะการบริหารที่ถือว่าถูกต้องของประธานาธิบดีทรัมป์ในปัจจุบัน

นี่เป็นตัวอย่างเพียงเรื่องเดียวที่ผู้นำของประเทศที่ยิ่งใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ที่ถูกผู้ใต้บังคับบัญชากล้าด่าทอในเรื่องความเป็นตัวตนที่ไม่อยู่ในสภาวะผู้นำหลายเรื่อง ไม่ว่าในเรื่องพูดไม่ค่อยจริง การไม่อยู่กับร่องกับรอย การไม่ยอมรับในเรื่องผิดหรือฝ่าฝืนหลักธรรมาภิบาล จนเกิดการขัดแย้งกับผู้ใต้บังคับบัญชามากมายภายในระยะเวลาเพียงปีเศษในการดำรงตำแหน่ง

แต่อย่างไรก็ตาม อเมริกันเป็นชาติที่เชื่อถือในระบอบประชาธิปไตยที่พวกเขาได้สร้างสมมาอย่างยาวนาน ถึงจะไม่พอใจผู้นำที่ได้รับเสียงส่วนใหญ่มาจากการเลือกตั้ง เขาก็ยอมอดทนตามระบอบประชาธิปไตย แต่หากอยู่ครบวาระและเลือกตั้งใหญ่อีกครั้ง อย่าได้คิดว่าคนส่วนใหญ่จะเลือกเขาเข้ามาอีก

ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะเขาไม่เหมือนคนไทย และประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายก็ไม่เหมือนคนไทย เพราะเขาไม่รู้จักกับการปฏิวัติและรัฐประหาร ครบสี่ปีเมื่อใดด้วยนิสัยใจคอและความคิดอ่านของทรัมป์ที่ได้แสดงออกมาให้ชาวอเมริกันและชาวโลกเห็นในขณะนี้ เห็นได้ชัดว่าได้ทำให้ประเทศสหรัฐอเมริกากำลังจะตกต่ำทั้งในแง่ความเชื่อถือศรัทธาของชาติอื่นๆ ทั่วโลก และความเป็นชาติมหาอำนาจอันดับหนึ่งในโลก

การที่ผู้นำคนหนึ่งทำให้หน้าตาและความน่าเชื่อถือของประเทศตนตกต่ำในเวลาอันรวดเร็วนั้น จะมีผลตามมาอีกมากมาย ยิ่งเป็นประเทศที่เป็นเจ้าโลกอย่างสหรัฐอเมริกาด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ประเทศมหาอำนาจอื่นๆ มีโอกาสเบ่งกล้ามใส่หน้าได้ง่ายขึ้น ไม่ใช่เฉพาะประเทศจีนเท่านั้น ที่กล้าลุกขึ้นมาท้าทายการสร้างสงครามการค้าโลกของทรัมป์แบบตาต่อตาฟันต่อฟัน ประเทศเล็กๆ อย่างเกาหลีเหนือ ผู้นำของเขายังแสดงบทบาทหนูหนุ่มเล่นเอาเถิดกับแมวแก่ให้คนทั้งโลกได้เห็นอย่างสนุกสนาน ผลที่เกิดจากการที่ผู้นำไม่อยู่กับร่องกับรอยเช่นนี้ เป็นสิ่งที่อเมริกันชนส่วนใหญ่รับไม่ได้แน่ แล้วชาวโลกก็จะได้เห็นการแสดงออกของเขาในอีกสองปีเศษข้างหน้า ทั้งนี้ เพราะชาวอเมริกันเขาไม่ใช่คนลืมง่ายแบบชาวไทย

เมื่อหันมามองดูผู้นำบ้านเราเองในขณะนี้ ความรู้สึกนึกคิดของคนชั้นกลางขึ้นไปรวมทั้งระดับนิสิต นักศึกษา ส่วนใหญ่ก็ไม่ต่างกับชาวอเมริกันเท่าใดนัก ช่วงเกือบสี่ปีที่ผ่านมาหลังจากประเทศถูกปกครองด้วยอำนาจของ คสช.คนไทยจำนวนไม่น้อยที่ได้รู้สึกเบื่อหน่ายไข้ขึ้นอะไรทำนองนั้นกับผู้นำของเรา และหลังจากประเทศสหรัฐอเมริกาได้ผู้นำใหม่มาปีเศษยิ่งได้เห็นนิสัยใจคอ และความคิดอ่านของประธานาธิบดีทรัมป์ด้วยแล้ว ทำให้รู้สึกผ่อนคลายไปได้บ้าง เพราะได้เห็นว่าผู้นำของประเทศมหาอำนาจก็ไม่ค่อยต่างจากผู้นำของเราเท่าใดนัก บางคนอาจชื่นชมเสียอีกว่าผู้นำไทยของเรานั้นเก่งกว่าเขาเสียอีก เพราะพูดเก่งและพูดได้มากกว่า

มาถึงวันนี้นับได้ 4 ปีแล้วที่ คสช.ได้ใช้อำนาจการปฏิวัติปกครองประเทศ อาจกล่าวได้ว่านานที่สุดเมื่อเทียบกับรัฐบาลปฏิวัติอื่นๆ ในอดีต ตอนเข้ามาใหม่ๆ ก็กำหนดโรดแมป (Road Map) ไว้ไม่เกิน 2 ปี มีการตั้งคณะกรรมการต่างๆ อย่างแข็งขัน ตั้งแต่ให้ทำงานแล้วกลับคว่ำเขาเสียเฉยๆ ทั้งชุดก็มี เช่น คณะกรรมการปฏิรูปประเทศหรือแม่น้ำสายที่ห้าที่มีผู้รู้ของประเทศมาชุมนุมแล้วทำงานกันด้วยความภาคภูมิใจ แต่เวลาจะคว่ำเขา ตัวประธานคณะกรรมการชุดนี้ยังไม่รู้ตัวล่วงหน้าเลยสักนิด เป็นต้น

ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็ลากยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญ มีการยกโน่นยกนี้มาพูดทำให้เสียเวลา โดยไม่ได้สำเหนียกกันบ้างเลย ว่าคนทั่วโลกเขากำลังดู และทำให้เขาได้รู้เห็นรากเหง้าของความไม่เอาไหน ความไร้ทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผลของบุคลากรชั้นปกครองของไทย ทั้งคณะรัฐมนตรีและ คสช.มีอะไรบ้างไหมครับ ที่ท่านจะสามารถยืดอกไปพูดกับประเทศอื่นเขาได้

ดูกันในเรื่องผลของคณะรัฐบาล ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลัก 4 ปีที่ผ่านมา ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันกันบ้าง ลองเขียนผลงาน 4 ปีมาให้ชาวไทยและชาวโลกเขาได้อ่านก็จะดี เริ่มจากด้านสังคมแทนที่จะพัฒนาให้ดีขึ้น ไม่ว่าในเรื่องคนจน คนยากไร้ ในเรื่องของพระสงฆ์องค์ เจ้าในเรื่องของคนใช้แรงงาน ยุคนี้มีแต่เรื่องชั่วช้าน่าละอายเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ โดยเฉพาะเรื่องคอร์รัปชั่นออกมาให้เห็นอย่างต่อเนื่อง บางเรื่องไม่น่าจะเกิดก็เกิดให้ชาวประชาได้เห็นเหมือนฟ้าดินไม่เป็นใจ ช่างน่าสงสารเสียเหลือเกิน

เรื่องเศรษฐกิจพูดแต่ตัวเลขว่าดีขึ้น การส่งออกดีขึ้น รายได้ประชาชาติดีขึ้น แต่คนระดับล่างและรากหญ้าต่างก็ส่ายหัวไปทั่ว ผลที่เกิดตามมาให้เห็นก็คือ ภาวะสังคมเสื่อมโทรมลงอย่างยากที่จะเยียวยา ยิ่งรัฐพยายามแก้ไขโดยจัดงบช่วยคนจนโดยผ่านหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้อง กลับยิ่งมีเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นโผล่ออกมาให้เห็นในแทบทุกหน่วยที่รับงานช่วยคนจนไปทำ สรุปแล้วรัฐให้เงินช่วยคนจนไปเท่าไหร่ ก็ถูกข้าราชการและผู้เกี่ยวข้องงาบไปเสียครึ่งหนึ่งแทบทุกโครงการ

ตัวเลขเศรษฐกิจในช่วง 2 ปีหลังนี้ดีขึ้นบ้างเป็นเรื่องจริง แต่ชาวบ้านเขาไม่ได้มีความรู้สึก คนที่รู้คือ ครม.และหน่วยงานวิชาการที่ทำเกี่ยวกับตัวเลขเหล่านี้ ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ เพราะจริงๆ แล้วผลผลิตหรือรายได้ประชาชาติที่เพิ่มขึ้นนี้ไปตกอยู่แต่กับพวกคนที่ร่ำรวยซึ่งมีอยู่หยิบมือเดียว ทั้งนักลงทุน พ่อค้า นักอุตสาหกรรม เสี่ยทั้งหลาย และพวกขี้โกงที่มีอยู่มากมาย

ตอนนี้ความแตกต่างด้านรายได้ระหว่างชนชั้นเปิดกว้างขึ้นทุกขณะ ไม่มีนักวิชาการรายไหนลองหาตัวเลขมาให้ดูกันบ้าง ชาวบ้านและคนหาเช้ากินค่ำเขารู้ดีว่าเขาทั้งหลายจนกันแค่ไหน เขาทั้งหลายถูกบริษัทใหญ่ๆ ที่ทำธุรกิจค้าปลีกทั้งหลายเข้ามาแย่งอาชีพมากขึ้นๆ ทุกขณะ ตั้งแต่การขายข้าวแกง อาหารจานเดียวหรือแม้กระทั่งการทำปลาร้า นี่แหละประเทศไทยในสมัยนี้

ต่อไปคือ เรื่องการปฏิรูปประเทศ เรื่องที่ชาว กปปส.พ่นน้ำลายเป็นสายน้ำมาร่วมปีก่อนทำให้ คสช.เกิดมาดูในวันนี้ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ล้มเหลวเหมือนการคว่ำคณะกรรมการปฏิรูปเมื่อร่วมสามปีที่แล้ว ทุกวันนี้ที่ทำพอจะเป็นชิ้นเป็นอันคือ การปฏิรูปตำรวจ แต่ก็เหมือนว่าจะลงเอยเหมือนที่คนทั่วไปคาดหมาย โดยไม่ต้องใช้ดุลพินิจใดๆ เลยว่ามันจะไปไม่รอด จะได้ก็แค่น้ำจิ้ม สรุปแล้วอย่าไปพูดถึงการปฏิรูปเลยจะดีกว่า

สุดท้ายมีอีกเรื่องหนึ่งที่คนไทยผู้รักประชาธิปไตยส่วนใหญ่ในประเทศนี้อยากเห็น คือ การปฏิรูปการเมือง ซึ่ง ณ วันนี้เรามีรัฐธรรมนูญฉบับ คสช.แล้ว ได้ประกาศใช้แล้วอย่างที่ได้เห็นกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าเรามีการปฏิรูปการเมืองแล้วนะครับ เพราะการปฏิรูปการเมืองที่สุดจะฟอนเฟะเน่าเหมือนบึงสลัมกลางเมืองที่ไหนสักแห่งนั้น ต้องดูที่ผลของการปฏิรูป หรือง่ายๆ ก็คือ ดูที่เกมการเมืองที่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกำลังเดินไปตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้

นี่ก็แค่เริ่มได้ยินเสียงปี่เสียงกลองเท่านั้นเอง ประชาชนกำลังเฝ้าจับตาดูอย่างใจจดใจจ่อ ณ บัดนี้ก็ได้เห็นฉากการเมืองฉากแรกปรากฏขึ้นบนเวทีแล้ว แอ่นแอ๊น และแล้วพรรคการเมืองที่ดูท่าทางขึงขังก็ปรากฏโฉมให้เห็นท่ามกลางแสงไฟที่สว่างระยิบระยับให้เห็นการแสดงอย่างน่าตื่นเต้นโปรดจับตาดูให้ดีนะครับ เรื่องแรกนี้ถ้าเป็นละครทางทีวีละก็คงไม่แพ้ละครเรื่องบุพเพสันนิวาสที่เพิ่งจบไปเมื่อไม่กี่วันนี้แน่

การประกาศตั้งพรรคพลังประชารัฐ โดยมีผู้กำกับเป็นถึงท่านรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจที่เปิดให้เห็นตัวพระเอกว่าที่หัวหน้าพรรคเป็นถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และว่าที่เลขาธิการพรรคก็เป็นถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ใน ครม.ปัจจุบัน พอเปิดฉากออกมาทุกคนก็ต้องมองตาไม่กะพริบ เมื่อเห็นพรรคใหม่เอี่ยมนี้ได้ลากท่อดูดส้วมหรืออะไรสักอย่าง ดูมีราคาแพงมากบอกถึงประสิทธิภาพที่เหนือชั้น ออกมาให้คนดูอ้าปากค้างกันไปทั่ว ฉากแรกก็ให้เครื่องทำงานอย่างกระฉับกระเฉงดูดอะไรก็ได้ โดยเฉพาะของที่คนเขาใช้แล้วมีกลิ่นตุๆ หน่อยยิ่งดูดได้ดียิ่งนัก อะไรจะดีปานนั้น

การที่สมาชิก ครม.ปัจจุบัน ซึ่งแต่งตั้งมาโดย คสช.ซึ่งเป็นผู้กุมอำนาจชี้ซ้ายชี้ขวาให้พรรคการเมืองต่างๆ ต้องปฏิบัติตามอยู่ในขณะนี้ มาดำเนินการตั้งพรรคการเมืองขนาดใหญ่ โดยมีนโยบายชัดเจนที่จะสนับสนุนหัวหน้า คสช.หรือก็คือนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันนั้น วงการเมืองและนักวิชาการจะออกมาวิจารณ์ว่าเป็นการดำเนินการที่มีผลประโยชน์ขัดแย้งอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม แต่ผู้จัดละครฉากนี้ก็ไม่ได้ให้ความสนใจ เพราะม่านได้เปิดแล้ว ปี่กลองหรือดนตรีได้ประโคมกันแล้ว ก็ต้องแสดงกันไป นี่คือจุดเริ่มต้นของการดำเนินการทางการเมือง หรือการบริหารการได้มาซึ่งอำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของ คสช.แล้วอย่างนี้เมื่อเลือกตั้งแล้วประเทศไทยอันเป็นที่หวงแหนของคนไทยทั้งมวล จะไปรอดไหมนี่ ช่วยตอบหน่อยเถอะครับ

ถ้ายังหาคำตอบกันไม่ค่อยได้ก็ขอนำประวัติศาสตร์การเมืองกับการปฏิวัติของไทยในอดีตมาเล่าให้ฟังเป็นการปิดท้ายโดยจะขอเริ่มตั้งแต่รัฐบาลเผด็จการถนอมประภาส (คำเรียกของสื่อในตอนนั้น) ในช่วงประมาณปี 2511 หรือ 50 ปีที่แล้ว หลังจากเห็นว่าจำต้องคืนอำนาจให้ประชาชน ก็ได้เตรียมจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเพื่อเข้าสู่ระบบรัฐสภาที่หัวหน้าพรรคการเมืองเก่าแก่คนหนึ่งศรัทธามากนัก พรรคที่ตั้งขึ้นมาชื่อว่า “พรรคสหประชาไทย” โดยรวบรวมขุนพลมาจากนักการเมืองหน้าเดิมๆ ที่ถูกเรียกขานว่า น้ำเน่าเข้ามารวมกัน เพื่อสนับสนุนหัวหน้าคณะปฏิวัติ แต่จอมพลถนอมเองก็ทนกับพฤติกรรมน้ำเน่าของบรรดา ส.ส.ลูกพรรคของตนเองไม่ไหว จึงมีการยึดอำนาจตนเองโดยการปฏิวัติ เมื่อวันที่ 17 พ.ย.2514 (อย่างนี้คิดว่ามีที่เดียวในประเทศนี้เท่านั้น)

เรื่องปฏิวัติเกิดขึ้นมาอีกครั้งเมื่อเดือนตุลาคมประมาณปี 2520 หรือเมื่อ 41 ปีมาแล้ว ครั้งนั้นท่านพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ (หรืออาจเป็นชื่ออื่น) เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติล้มรัฐบาลท่านธานินทร์ กรัยวิเชียร แล้วตั้งพลเอกเกรียงศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ครั้นเมื่อตอนจะคืนอำนาจให้ประชาชน พวกผู้สนับสนุนก็ได้ร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาชื่อว่า “พรรคชาติประชาธิปไตย” โดยทำอีหรอบเดียวกัน คือรวบรวมอดีต สส.ผู้ชำนาญการขนาดน้ำเน่าเกรด A มาเป็นสมัครพรรคพวก พรรคนี้เมื่อลงเลือกตั้งได้ ส.ส.เข้ามาไม่กี่คน ซึ่งคนหนึ่งในนั้นคือ ท่านพลเอกเกรียงศักดิ์ นั่นแหละ โดยได้เป็น ส.ส.จังหวัดร้อยเอ็ด ทำไมจึงเป็นที่ร้อยเอ็ด ซึ่งสมัยนั้นมีการเรียกขานโรคชนิดหนึ่งที่ทำให้ได้คะแนนเสียงง่ายว่า “โรคร้อยเอ็ด” อันนี้ก็เป็นแนวทางจัดให้นายทหารที่มีบารมีไปลงเลือกตั้งเพื่อให้ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาสบายๆ ในท้องถิ่นที่ห่างไกล ก็ถือว่าเป็นสูตรหรือโมเดลอันหนึ่งของการเมืองน้ำเน่าไทย

อีกตัวอย่างหนึ่งซึ่งยังไม่ใช่ครั้งล่าสุด คือ เหตุการณ์ที่ทำให้เกิดพฤษภาทมิฬในปี 2535 ซึ่งเรื่องนี้บรรดานักการเมืองเก่าๆ ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป คงยังจำภาพกันได้ถึงสมัยปฏิวัติ รสช.ที่มีพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ (บิ๊กจ๊อด) เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ มี พลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีเหตุการณ์ทางการเมืองที่ไม่ควรเอามาเป็นตัวอย่างและที่ดีก็มีบ้างเกิดขึ้นมากมาย อย่างไรก็ตาม ในครั้งนั้นก็ได้มีผู้หวังดีต่อทหารที่ทำการปฏิวัติซึ่งประกอบด้วยนักการเมืองหน้าเก่าๆ แบบเดิมได้จัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาชื่อว่า “พรรคสามัคคีธรรม” โดยมีคุณณรงค์ วงศ์วรรณ คหบดีทางเหนือและอดีต ส.ส.เป็นหัวหน้าพรรค ก็เป็นไปอย่างที่คาดพรรคนี้ก็ล้มเหลวและเลิกราไปในเวลาอันสั้น

ในห้วงเวลาอันไม่นานจากนี้ ขอให้ประชาชนคนไทยที่รักประชาธิปไตยทั้งหลายจงติดตามกระบวนการสนับสนุนหัวหน้าคณะปฏิวัติให้เป็นนายกรัฐมนตรีที่สง่างามตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งที่เล่ามาสามเรื่องของการปฏิวัติสามครั้งที่ผ่านมา เรามาจับตาดูพร้อมชวนคนรอบข้างมาช่วยกันดูด้วยว่า การเดินเกมการเมืองแบบวงจรอุบาทว์ของคณะปฏิวัติที่ทำมารอบแล้วรอบเล่าแบบนี้จะประสบกับความหายนะเหมือนรุ่นพี่สมัยก่อนๆ หรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image