“บวก-ลบ”หลังเลือกตั้ง โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

แฟ้มภาพ

ประเมินในภาพรวมแล้ว มองไม่เห็นเหตุอะไรที่จะมีพลังพอทำให้ “ร่างรัฐธรรมนูญ” ไม่ผ่านประชามติ

ไม่มีอุปสรรคอะไรที่จะทำให้การเมืองไทยเดินไปตามโรดแมปที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วางไว้ไม่ได้

การเลือกตั้งเกิดขึ้นแน่นอนตามที่กำหนดไว้คือปลายๆ ปี 2560

ความน่าสนใจจึงอยู่ที่ว่าจะช่วยกันทำอย่างไรให้การเมืองไทยหลังการเลือกตั้งสามารถเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรืองสมกับที่ตั้งใจกันไว้

Advertisement

หลังการเลือกตั้ง

รัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามา ไม่ว่านายกรัฐมนตรีจะมาจากพรรคการเมือง หรือมาจากคนนอกตามที่รัฐธรรมนูญเปิดทางไว้ให้ รัฐบาลจะต้องวางนโยบายตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ คสช.วางทิศ ชี้ทางไว้ให้

จะเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรคที่มีแนวโน้มว่าจะมีปัญหาในเรื่องเสถียรภาพ

Advertisement

และจะถูกตรวจสอบเข้มข้นจากองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มาจากการแต่งตั้ง การออกกฎหมายต่างๆ ต้องผ่านอำนาจของรัฐสภาที่ “วุฒิสมาชิก” ที่มาจากการแต่งตั้งมีบทบาทอยู่สูง

เป็นรัฐบาลที่ต้องระมัดระวังสูงยิ่งในเรื่องการใช้อำนาจ เพราะกลไกจาก “รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง” จะควบคุมเข้มข้นในกรอบให้เป็นไปตามดุลพินิจ

แม้คนของพรรคการเมืองจะผ่านด่านเข้ามาจัดตั้งรัฐบาล แต่การทำงานต่อจากนี้ใช่ว่าจะง่าย

อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกัน “นักการเมืองจากการแต่งตั้ง” แม้จะมีอำนาจที่รั้งไว้ให้ในระดับที่สามารถควบคุมการบริหารจัดการประเทศเป็นส่วนใหญ่ได้

แต่ใช่ว่าจะปลอดโปร่งโล่งตลอด

อย่างไรเสียหลังการเลือกตั้ง “นักการเมืองจากการเลือกตั้ง” ผู้ที่มาจากประชาชน จะต้องเข้ามาแชร์อำนาจส่วนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นพรรครัฐบาล หรือพรรคฝ่ายค้าน

นั่นหมายถึงว่า “สิทธิเสรีภาพ” ที่กลับคืนมา แม้ไม่ทั้งหมด แต่ไม่ว่าระดับใดก็ตาม จะทำให้การแสดงออกในสิทธิของผู้ที่มาจากการยึดโยงกับประชาชนจะต้องเกิดขึ้น การแสดงท่าทีเพื่อเป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชนจะต้องเกิดขึ้น

และนั่นหมายถึงโอกาสที่จะต้องปะทะกันกับ “นักการเมืองจากการแต่งตั้ง”

ซึ่งความหมายต่อมาคือ “ความขัดแย้งอาจจะต้องเกิดขึ้นอีก”

อันย่อมเป็นที่คาดหมายได้ถึงความไม่สงบจะกลับมาอีกครั้ง

“นักการเมืองจากการเลือกตั้ง” ที่ต้องแสดงออกเพื่อให้เห็นว่ายืนอยู่กับการปกปักรักษาอำนาจของประชาชน กับ “นักการเมืองจากการแต่งตั้ง” ที่มีความคิดว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมที่จะใช้สิทธิของตัวเองได้อย่างเต็มที่ เพราะยังไม่รู้จักหน้าที่การอยู่ร่วมกันในสังคม

ความอิหลักอิเหลื่อที่จะอธิบายถึง “ประชาชนไทยยังไม่พร้อมจะเป็นประชาธิปไตย” จะเกิดขึ้นอีกครั้ง

และเมื่อหลังเลือกตั้งสถานการณ์ได้เปิดบทบาทให้ “ผู้แทนจากประชาชน” แล้ว การจะอธิบายอย่างนั้นอยู่มุมเดียวคงไม่ได้

การปะทะกันทางความคิด อันจะนำไปสู่การปะทะกันเรื่องอื่นจะเกิดขึ้นต่อเนื่องตามมา

เป้าหมาย “เลือกตั้ง” เพื่อ “นำการพัฒนากลับมาสร้างประเทศให้รุ่งเรือง” จะเป็นเพียงแค่ความหวัง ที่มองเห็นความจริงไปอีกทาง

แน่นอน ทั้งหมดทั้งสิ้นเป็นการมองไปด้วยมุมที่เป็น “ลบ” อยู่ไม่น้อย

เพียงแต่มุมมองในทาง “บวก” นั้น มีแต่ต้องใช้พลังในการจินตนาการสูงยิ่ง

ประเทศที่ “นักการเมืองจากการเลือกตั้ง” กับ “นักการเมืองจากการแต่งตั้ง” ทำงานด้วยกันอย่างสุขสงบ ถ้อยทีถ้อยอาศัยให้เกียรติ เชิดชูซึ่งกันและกัน โดยที่นานาชาติให้การยอมรับเชื่อมั่น

ได้แต่ภาวนาให้เกิดขึ้นได้จริงหลังเลือกตั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image