เมื่อ‘เขา’ยืมมือศาลทุบตี‘เธอ’ โดย : กล้า สมุทวณิช

การระงับข้อพิพาทที่มีความมั่นคงทางนิติฐานะที่สุด โดยรัฐรับรองรับรู้และมีกลไกบังคับให้ คือการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ผู้ใช้อำนาจตุลาการพิพากษาตัดสิน

กระบวนยุติธรรมโดยศาลนั้นมีไว้เพื่อไม่ให้ผู้คนต้องต่อสู้โต้ตอบกันไปมายืดยาวไม่จบสิ้น หรือใช้พลังอำนาจบังคับการข้อพิพาทกันเอง ซึ่งผู้มีพลังอำนาจมากย่อมได้เปรียบกว่าในทุกกรณี ทั้งโดยหลักการแล้ว แม้กระทั่งรู้แจ้งชัดยอมรับทั้งสองฝ่ายว่า ใครมีสิทธิหรือน่าจะมีสิทธิดีกว่า แต่ “บ้านเมือง” ก็ไม่อนุญาตให้ใช้กำลังบังคับการกันเองเพื่อป้องกันความวุ่นวายและอาจเกิดความไม่เป็นธรรม

แต่การเข้าไปขอใช้อำนาจตุลาการในกระบวนยุติธรรมนั้นก็มีราคาเช่นกัน ราคานั้นก็ได้แก่ “เวลา” ที่จะต้องใช้ในการดำเนินคดี และ “ค่าใช้จ่าย” ได้แก่ ค่าทนายความ ค่าจัดการจิปาถะ หรือในคดีแพ่งและคดีปกครองบางกรณีก็ยังมีค่าขึ้นศาลหรือเงินวางศาลในกรณีต่างๆ ตามแต่ที่กฎหมายกำหนด อันนี้ยังไม่ต้องพูดถึงความลำบากที่จะต้องวิ่งเต้นเป็นธุระ จนกระทั่งมีภาษิตเตือนใจว่า “เป็นความกินขี้หมาดีกว่า”

ดังนั้น หากใครตัดสินใจที่จะ “เป็นความ” แล้ว โดยเฉพาะในคดีแพ่ง ก็เป็นไปได้ทีเดียวว่า เรื่องหรือปัญหาของเขาหนักหนา ชนิดที่ให้กินขี้หมาก็ยังแย่น้อยกว่า

Advertisement

หากกระนั้น ก็ยังมีเรื่องที่คนที่อาศัยช่องทางการฟ้องคดีของศาลเพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาประโยชน์เกินส่วนอยู่ด้วยเช่นกัน แม้ว่าตนเองจะเป็นฝ่ายเสียหายจริงอยู่บ้างก็ตาม ก็ด้วยว่าการใช้กระบวนการยุติธรรมทางศาลนั้นมีราคาดังที่ว่าไป และราคานั้นก็จะตกลงแก่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายด้วย ในเมื่อตัวเองต้องจ่ายราคาในการเข้าสู่กระบวนยุติธรรมแล้ว ก็ขอเอาให้คุ้มค่าหน่อย ให้อีกฝ่ายเดือดเนื้อร้อนใจหรือลำบากยากเย็นบ้างก็แล้วกัน

จึงนำไปสู่หลักการสำคัญในการใช้สิทธิต่อกระบวนยุติธรรมเรื่องหนึ่งคือ หลัก “ผู้ที่ร้องขอความยุติธรรมต่อศาลจะต้องไปด้วยมือที่สะอาด” (Clean hands doctrine) นั่นคือ การใช้สิทธิต่อศาลนั้น จะต้องเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต

Advertisement

นั่นคือ “โดยหลักการ” แล้ว ผู้เรียกร้องความยุติธรรมต่อศาลในฐานะของผู้ริเริ่มคดี ไม่ว่าจะเป็นโจทก์ ผู้ฟ้องคดี ผู้ร้อง หรือผู้เสียหาย นั้น “ควร” จะใช้สิทธิทางศาลเพื่อเรียกร้องให้ฝ่ายที่ทำให้ตนเสียหาย ได้แก่ จำเลย ผู้ถูกฟ้องคดี ผู้ถูกร้อง หรือผู้กระทำความผิดนั้น ยุติการกระทำที่ทำให้ตัวเองเสียหาย หรือชดใช้เยียวยาความเสียหายที่ฝ่ายนั้นได้ก่อขึ้น รวมถึงการให้รับโทษตามกบิลเมืองที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุดตามความร้ายแรงของการกระทำความผิดหรือก่อความเสียหายนั้น โดยไม่ควรที่จะใช้กระบวนการทางศาลสร้างความได้เปรียบหรือกลั่นแกล้งอีกฝ่ายหนึ่ง (ซึ่งแม้อาจจะเป็นฝ่ายผิด) ไปมากเกินสมควรหรือเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือใช้กระบวนการทางศาลเป็นเครื่องมือเพื่อให้บรรลุผลตามความประสงค์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

บางกรณีนั้นการใช้สิทธิทางศาลก็อาจจะเป็นเรื่อง “เทาๆ” คือจะบอกว่าไม่สุจริตเสียเลยก็ไม่เชิงนัก แต่ก็ถือว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการใช้กระบวนยุติธรรมเพื่อเป็นประโยชน์ทางอ้อม นั่นคือ การใช้กระบวนการในคดีอาญาเป็นเครื่องมือในการเจรจาต่อรองข้อพิพาทในทางแพ่งหรือเรื่องอื่นๆ

ข้อพิพาททางแพ่งหลายเรื่องนั้นเกี่ยวเนื่องหรือคาบเกี่ยวกับคดีอาญา เช่น การหมิ่นประมาทดูหมิ่นซึ่งหลายกรณีอาจเป็นทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาในเรื่องเดียวกัน เช่น การผิดสัญญานั้นหลายกรณีใกล้เคียงกับความผิดฐานฉ้อโกงหรือฉ้อโกงประชาชน หรือแม้แต่คดีปกครองบางเรื่อง ก็อาจจะมองว่าเป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือที่เรียกกันติดปากว่าคดี 157 (ซึ่งเป็นเลขมาตราของความผิดนั้นในประมวลกฎหมายอาญา) ดังนั้นในข้อพิพาทใดที่อาจจะฟ้องร้องหรือแจ้งความเป็นคดีอาญาได้ หลายครั้งหรือเป็นส่วนใหญ่ทีเดียวที่ฝ่ายผู้เสียหาย หรืออาจเดือดร้อนเสียหาย (หรือแม้แต่เข้าใจว่าตัวเองเสียหาย) นั้นเลือกใช้ช่องทางการดำเนินคดีอาญาไปก่อน หรือดำเนินการควบคู่กัน

หรืออย่างที่น่าจะเคยได้ยินกัน ในความผิดเกี่ยวกับเพศบางเรื่อง หรือความผิดพรากผู้เยาว์ (ซึ่งแม้ผู้กระทำความผิดจะกระทำจริงๆ ก็ตาม) ก็ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการเรียกเอา “ค่าเสียหาย” แลกกับการไม่ดำเนินคดี หรือนำคดีขึ้นสู่การรับรู้ของกระบวนยุติธรรม (ความผิดเหล่านี้บางเรื่องแม้ในทางกฎหมายจะยอมความไม่ได้ แต่ก็อาจจะ “ไม่เป็นความ” ได้ ถ้าไม่มีการแจ้งความร้องทุกข์หรือดำเนินคดี)

เพราะในการฟ้องร้องหรือแจ้งความคดีอาญานั้นไม่มีค่าใช้จ่ายประเภทค่าขึ้นศาลหรือค่าฤชาธรรมเนียม ส่วนทนายความนั้นจะมีหรือไม่ก็ได้หากเป็นการแจ้งความร้องทุกข์ แต่คดีอาญานั้นมีน้ำหนักที่หน่วงหัวใจของฝ่ายถูกฟ้องร้องหรือแจ้งความดำเนินคดีอยู่มากโข ด้วยมีคุกตะรางหรือการควบคุมตัวคอยบังคับให้เบื้องหลังหรือเป็นวิธีการชั่วคราวก่อนเรื่องจะยุติโดยศาล ทั้งต้องมีการไปให้การต่อศาลหรือพนักงานสอบสวนตลอดจนยื่นประกันตัวกันวุ่นวาย ดังนั้น เพียงบันทึกประจำวันรับแจ้งความจากตำรวจ ก็เป็นคล้ายหมายเรียกให้อีกฝ่ายยอมเข้ามาเจรจายุติข้อพิพาทได้โดยง่าย

วิธีแบบนี้อาจเรียกไม่ได้ว่าเป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมที่สะอาด แต่จะบอกว่าสกปรกเสียเลยนั้นก็ใช่ที่ เพราะในความเป็นจริงแล้ว การดำเนินคดีแพ่งหรือคดีปกครองเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของฝ่ายผู้เสียหายนั้นมีราคาและความยุ่งยากดังที่กล่าวไปแล้ว อีกทั้งการบังคับการให้เป็นไปตามคำพิพากษาถ้าอดทนต่อสู้จนคดีถึงที่สุดได้นั้นก็อาจจะบังคับจริงไม่ได้ หรือบังคับได้ก็สายไปไม่คุ้มกับความเสียหายที่เกิดขึ้นไปแล้ว

การใช้ “ทางลัด” คดีอาญาเพื่อบีบให้ฝ่ายที่ก่อความเสียหายนั้นยอมเจรจาตกลง ใช้หนี้ ชดใช้ค่าเสียหาย หรือทบทวนคำสั่งทางปกครองหรือการกระทำทางปกครอง ก็อาจจะเป็นทางออกที่ดีกว่า และก็ไม่ถึงกับเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเสียทีเดียวนัก

แต่การใช้สิทธิทางศาลที่ “มือไม่สะอาด” จริงๆ ที่อาจจะพอจะยกตัวอย่างได้ เช่น เทคนิคในดำเนินคดีหมิ่นประมาท ที่ถือเป็นวิธีการเก่าแก่ที่ยังใช้กันอยู่ทุกวันนี้ คือ ในกรณีของการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณานั้น เคยมีแนวคำพิพากษาฎีกาว่า ถือว่าการกระทำความผิดเกิดขึ้น ณ ท้องที่ใดก็ตามที่ข้อความหมิ่นประมาทนั้นถูกส่งไปถึง

เช่น ถ้าหมิ่นประมาทโดยข่าวหรือคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ ก็ทุกตำบลที่มีหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นส่งไปขาย และในปัจจุบันที่การหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นปรากฏในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ก็ที่ใดก็ตามที่อินเตอร์เน็ตหรือสัญญาณ 4G เข้าถึง ที่นั่นก็เป็น “ที่เกิดเหตุ” ที่ทำให้ผู้เสียหายสามารถแจ้งความดำเนินคดีหรือฟ้องร้องดำเนินคดีได้ทั้งสิ้น

เทคนิคนี้ใช้มาตั้งแต่โบราณนานมา ตกทอดมาจนยุคโซเชียลเน็ตเวิร์ก นักการเมือง ข้าราชการระดับสูง หรือธุรกิจห้างร้านสมัยก่อน นิยมไปแจ้งความหรือฟ้องร้องหนังสือพิมพ์ที่กล่าวหาว่าหมิ่นประมาทตนในท้องที่อันห่างไกล เช่น ที่แม่ฮ่องสอนหรือเบตง บางทีในกรณีของนิติบุคคลหรือหน่วยงานของรัฐก็อาจจะให้ตัวแทนหรือลูกน้องไปแจ้งความหรือฟ้องคดีในทุกท้องที่ทั่วประเทศไทย ให้ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาต้องเดินทางทั่วไทยเพื่อไปรับทราบข้อกล่าวหาหรือแก้ฟ้อง แม้จนถึงทุกวันนี้ เทคนิคแบบ “ยะลาโมเดล” นี้ก็ยังมีการประยุกต์ใช้กันอยู่อย่างที่รู้กันหลายกรณี

แม้ในทางเทคนิคของคดี ในที่สุดแล้ว จำเลยหรือผู้ต้องหาอาจจะร้องขอให้ศาลรวมคดีหรือโอนคดีมายังท้องที่เขตอำนาจศาลที่สมควรได้ แต่ในระยะแรกนั้น ผู้ถูกแจ้งความหรือถูกฟ้องร้องก็ต้องเดินทางไปให้การในพื้นที่ซึ่งตนถูกฟ้องหรือแจ้งความไว้จริงๆ อย่างน้อยก็ครั้งหรือสองครั้ง ในทางปฏิบัติก็เท่ากับเป็นการ “บีบ” ให้ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหานั้นต้องรับสารภาพหรือยอมไกล่เกลี่ยโดยรับว่าตนเองเป็นฝ่ายผิด ลงข้อความขอขมาหรือใช้ค่าเสียหาย เพื่อให้พ้นทุกข์พ้นร้อนจากการต้องเดินทางไปเพื่อพิสูจน์ตนตาม “กระบวนยุติธรรม” เช่นนั้น

แน่นอนว่าการตีความของศาลเรื่องสถานที่เกิดกระทำความผิดของการหมิ่นประมาทด้วยวิธีดังกล่าวนั้นเกิดที่ใดก็สมเหตุสมผลทางตรรกะ และเป็นสิทธิของผู้เสียหายที่จะเลือกฟ้องคดีหรือแจ้งความดำเนินคดีในสถานที่ใดก็ได้ที่ความเสียหายนั้นเกิดขึ้น โดยไม่ต้องสนใจฝ่ายผู้กระทำความผิดหรือก่อความเสียหายนั้นก็จริง

แต่ “วิญญูชน” ย่อมวิเคราะห์หรือวินิจฉัยได้ไม่ยากว่า การใช้สิทธิในลักษณะดังกล่าว เป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตหรือไม่ เมื่อพิจารณาถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง ภูมิลำเนาปกติของโจทก์หรือผู้เสียหาย และจำเลยหรือผู้ถูกกล่าวหา หรือสาระแห่งการกระทำความผิดนั้น การไปแจ้งความดำเนินคดีในที่ห่างไกลโดยไม่มีเหตุผลอันควร ก็ไม่อาจชี้เจตนาประการอื่นนอกเหนือจากการกลั่นแกล้งอีกฝ่ายหนึ่งให้เดือดร้อนโดยวิธีดังกล่าวได้เลย

ทั้งนี้ ปัญหาการใช้ช่องทางการฟ้องคดีอาญาโดยไม่สุจริตหรือหมายจะใช้ศาลเป็นเครื่องมือโดยมิชอบนั้น แม้แต่ศาลเองก็มองเห็น ดังปรากฏว่าศาลยุติธรรมก็เคยมีการเสนอขอให้แก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญา มาตรา 161/1 เพื่อให้ศาลมีดุลพินิจในการสั่งไม่รับฟ้องคดีก็ได้ ในกรณีที่ราษฎรเป็นโจทก์ หากความปรากฏต่อศาลว่า โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริตหรือโดยบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจำเลยหรือโดยมุ่งหวังผลอย่างอื่นยิ่งกว่าประโยชน์ที่พึงได้โดยชอบ และห้ามโจทก์ยื่นฟ้องคดีนั้นอีก เว้นแต่เป็นอัยการที่จะยื่นฟ้องคดีนั้นใหม่ แต่ในขณะนี้ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาดังกล่าว ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

เห็นได้ว่า ปัญหาเรื่องการใช้ช่องทางการฟ้องร้องหรือดำเนินคดีอาญาเพื่อเอาเปรียบอีกฝ่าย ซึ่งอาจจะเป็นผู้กระทำความผิดจริงๆ ก็ตาม แต่ผู้นั้นก็ควรจะได้รับความลำบากเดือดร้อนเพียงเฉพาะเท่าที่จำเป็นในทางคดี
และในที่สุดอาจจะได้รับโทษทัณฑ์ตามกฎหมาย หรือต้องชดใช้เยียวยาฝ่ายที่เสียหายหรืออ้างว่าเสียหายเพียงเท่าที่สมควรเท่านั้น แต่ไม่ใช่ใช้กระบวนทางศาลหรือคดี บีบคั้นให้อีกฝ่ายต้องได้รับความลำบากยุ่งยากแถมเพิ่มไปกว่านั้น  จนกระทั่งอาจจะทำให้กระบวนยุติธรรมเป็นกระบวนการหนึ่งที่เป็นไปเพื่อกลั่นแกล้งรังแกกันให้เดือดร้อนโดยยืมมือของกฎหมาย

ที่สำคัญคือ สังคมและวิญญูชนก็อาจจะพิจารณาได้เองว่า ใครก็ตามที่อ้างว่าเรียกร้องขอใช้กระบวนการยุติธรรม โดยอ้างว่าเพื่อปกป้องสิทธิหรือความบริสุทธิ์ของตนเอง แต่กลับใช้วิธีการดำเนินคดีเชิงกลั่นแกล้งซึ่งเป็นวิธีการโบราณเก่าแก่ที่เอาไว้ใช้รังแกหรือบีบคั้นเอาเปรียบในทางคดีเสียแล้ว

เขาผู้นั้นอาจจะเป็นเพียงเสรีชนจอมปลอม ที่ทุบตีอีกฝ่ายหนึ่งซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยอาศัยไม้ค้อนและโซ่ตรวนแห่งกระบวนยุติธรรมเป็นอาวุธเท่านั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image