สุจิตต์ วงษ์เทศ : ดอยสุเทพ แผ่ความอุดมสมบูรณ์ถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง

ทวงคืน – เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพและประชาชนชาว จ. เชียงใหม่ ใส่เสื้อเขียวและผูกริบบิ้นสีเขียว เข้าร่วมชุมนุมเคลื่อนไหวใหญ่ คัดค้านการก่อสร้างบ้านพักตุลาการ ทวงคืนพื้นป่าดอยสุเทพ บริเวณลานประตูท่าแพ ก่อนเคลื่อนขบวนไปปฏิญาณตนร่วมปกป้องดอยสุเทพ เมื่อวันที่ 29 เมษายน (ภาพและคำบรรยายภาพจาก มติชน ฉบับวันจันทร์ที่ 30 เมษายน 2561 หน้า 1)

ดอยสุเทพ เป็นต้นน้ำสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง (ไม่ต้นน้ำแค่ภาคเหนือเท่านั้น)

ชื่อดอยสุเทพ ยังเป็นสัญลักษณ์ความสัมพันธ์ทางการเมืองในระบบเครือญาติของคนชั้นนำในบ้านเมืองและรัฐต่างๆ ระหว่างดินแดนล้านนากับลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง เกือบ 1,000 ปีมาแล้ว

กฎหมายไม่ชอบธรรม เพราะตราขึ้นโดยผู้ถืออำนาจไม่เป็นธรรม จึงไม่คุ้มครองสิทธิชุมชน และไม่เป็นไปเพื่อคนส่วนใหญ่ เป็นกฎหมายที่ไม่ควรยกอ้างว่าทำ “ป่าแหว่ง” โดยถูกต้องตามกฎหมาย

ดอยสุเทพ

Advertisement

ดอยสุเทพ ได้ชื่อจากฤๅษีวาสุเทพ เป็นหลักแหล่งของคนดั้งเดิม (ซึ่งเป็นบรรพชนคนไทยกลุ่มหนึ่ง) พูดตระกูลภาษามอญ-เขมร มีผู้นำในตำนานเป็นลัวะ ชื่อ ขุนวิลังคะ เป็นประชากรสำคัญกลุ่มหนึ่งของรัฐหริภุญไชย

เมืองเชียงใหม่

พญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 1839 (ราว 700 ปีมาแล้ว) บริเวณเชิงดอย เพื่อขอความอุดมสมบูรณ์จากดอยสุเทพหล่อเลี้ยงไพร่บ้านพลเมืองตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้

หลังสร้างเมืองเชียงใหม่ คนในตระกูลภาษามอญ-เขมร และภาษาอื่นๆ ต่างใช้ภาษาไทย (ในตระกูลไต-ไท) เป็นภาษากลาง นานเข้าก็พากันพูดภาษาไทย สำเนียงลาว

 

ฤๅษีวาสุเทพ

ดอยสุเทพ (เชียงใหม่) ได้ชื่อจาก วาสุเทพฤๅษี ผู้อาศัยในอาศรมอยู่ดอยนั้น ริมน้ำแม่ขาน ซึ่งไหลรวมน้ำแม่ปิงที่ไปรวมเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา

[วาสุเทพ เป็นชื่อพระนารายณ์ปางอวตารเป็นพระกฤษณะ, สุเทพ แปลว่า เทวดา]

วาสุเทพฤๅษี มีมิตรสหายใกล้ชิดสนิทสนมที่มีอาศรมอยู่ใกล้ลำน้ำ ไหลรวมเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ดังนี้

พุทธชฎิล อยู่ดอยบูชา ริมน้ำแม่สาร ไหลรวมน้ำแม่กวง ลงน้ำแม่ปิง (ลำพูน)

อนุสิฐฤๅษี อยู่เขาพระศรี ริมน้ำยม (ศรีสัชนาลัย สุโขทัย)

สุพรมฤๅษี อยู่ดอยงาม ริมน้ำแม่วัง (ลำปาง) ไหลรวมแม่ปิง

สุกทันตฤๅษี อยู่เขาสมอคอน ริมน้ำบางขาม (ลพบุรี) ไหลรวมแม่น้ำเจ้าพระยา

ฤๅษีเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของชุมชนบ้านเมือง มีความสัมพันธ์กันทั้งหมดเป็นเครือญาติทางสังคมวัฒนธรรม

จามเทวี

ฤๅษีวาสุเทพส่งทูตไปเชิญพระนางจามเทวี แห่งกรุงละโว้-อโยธยา (โดยคำแนะนำของฤๅษีสุกทันต์) ขึ้นไปครองเมืองหริภุญไชย (ลำพูน)

เส้นทางที่จามเทวีขึ้นไปหริภุญไชย เป็นสัญลักษณ์ของการขยายเส้นทางการค้าและการเมือง จากลุ่มน้ำเจ้าพระยาขึ้นไปลุ่มน้ำปิง-วัง แล้วต่อเนื่องถึงลุ่มน้ำสาละวิน (ลาว เรียก น้ำแม่คง)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image