สงครามในรัฐกะฉิ่น และอุปสรรคต่อสันติภาพที่ยั่งยืนในพม่า โดย ลลิตา หาญวงษ์

เมื่อนึกถึงความรุนแรงที่รัฐพม่ากระทำต่อชนกลุ่มน้อยในปัจจุบัน หลายคนคงนึกถึงความขัดแย้งระหว่างพม่ากับโรฮีนจาเป็นอันดับแรก เนื่องจากความรุนแรงด้านเชื้อชาติ-ศาสนานี้ทำให้มีชาวโรฮีนจาเกือบล้านคนที่ต้องอพยพหนีตายข้ามไปฝั่งบังกลาเทศ และหมู่บ้านของตนในรัฐยะไข่ตอนเหนือถูกเผาทำลาย รวมทั้งมีชาวโรฮีนจาอีกจำนวนหนึ่งที่ถูกซ้อมทรมานและเสียชีวิต อย่างไรก็ดี ความรุนแรงในลักษณะนี้เกิดขึ้นกับชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ในพม่ามาช้านาน นับตั้งแต่พม่าได้รับเอกราช และความขัดแย้งนี้มิได้จำกัดอยู่กับกองทัพพม่ากับกองทัพชนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาอื่นๆ ทั้งคริสต์และอิสลามเท่านั้น แต่กองทัพพม่ายังสู้รบกับกองกำลังของมอญ กะเหรี่ยงพุทธ และตะอาง (ปะหล่อง) ที่เป็นชาวพุทธด้วย ชี้ให้เห็นว่าความขัดแย้งระหว่างกองทัพกับชนกลุ่มน้อยมิได้เป็นเพียงความขัดแย้งทางชาติพันธุ์และศาสนา หากแต่มีเรื่องของการแย่งชิงทรัพยากรและการสถาปนาอำนาจนำของรัฐบาลและกองทัพพม่าเป็นสาเหตุสำคัญ

นอกจากความรุนแรงกับชาวโรฮีนจา ในปัจจุบันการสู้รบระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์กะฉิ่นก็ทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ ความขัดแย้งของทั้งสองไม่ใช่การปะทะกันระหว่างกองทัพพม่าที่เป็นพุทธ กับกองกำลังของกะฉิ่นหรือที่เรียกว่า “เคไอเอ” (KIA-Kachin Independence Army) ที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์เท่านั้น แต่ความขัดแย้งนี้มีความเป็นมายาวนาน กะฉิ่นเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์เพียงไม่กี่กลุ่มที่ยังไม่ยอมวางอาวุธ แม้จะมีการเจรจาและความพยายามหยุดยิงหลายครั้งมาตั้งแต่ปี 1944 (พ.ศ.2487) ก่อนพม่าได้รับเอกราช กะฉิ่นเป็นรัฐที่มีความพิเศษ นอกจากจะไกลปืนเที่ยงที่สุดแล้ว ยังอยู่บนภูเขาสูงอันเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัย และมีทรัพยากรที่มีค่าอย่างหยกปริมาณมาก เรียกว่าเป็นแหล่งหยกที่สำคัญของโลกในปัจจุบัน

ที่ผ่านมา รัฐบาลพม่าปล่อยสัมปทานการขุดหยกให้กับบริษัทของนักธุรกิจที่มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับคนในกองทัพ การทำเหมืองยกเสี่ยงอันตราย คนงานต้องเสี่ยงภัยจากดินถล่มเข้าไปขุดหาหยกทีละก้อน โดยที่ไม่มีวันรู้ว่าจะเจอหยกก้อนใหญ่และให้ผลตอบแทนคุ้มค่าเมื่อใด จึงมีผู้กล่าวว่ารัฐกะฉิ่นแม้จะมีทัศนียภาพเป็นภูเขาสูงที่สวยงาม แต่ก็เป็นภูเขาเลือด ที่ผู้คนจำนวนมากต้องเสียชีวิตเมื่อภูเขาหยกเกิดถล่มขึ้นมา และหยกนี่เองที่ทำให้รัฐกะฉิ่นลุกเป็นไฟมาตลอดหลายสิบปี กองกำลังของกะฉิ่นจะเป็นกองกำลังท้ายๆ ที่วางอาวุธและยอมเจรจากับรัฐบาล เพราะพวกเขาจำเป็นต้องปกป้องสิทธิการเข้าถึงทรัพยากรของตนและของชาวกะฉิ่น รวมทั้งป้องกันไม่ให้กองทัพพม่า ที่พวกเขามองว่าเป็นทั้งคู่ค้าและศัตรู เอาเปรียบและกดขี่ชาวกะฉิ่นไปมากกว่าที่เป็นอยู่

อันที่จริง การสู้รบในรัฐกะฉิ่นเกิดขึ้นมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา แม้จะมีความพยายามเจรจาสันติภาพ และแม้ผู้นำทั้งสองฝ่ายจะลงนามในข้อตกลงหยุดยิงไปแล้ว แต่ก็กลับมาสู้รบกันใหม่ และยิ่งมีทีท่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อเมษายนที่ผ่านมา กองทัพพม่าโจมตีหมู่บ้านสิบกว่าแห่งของชาวกะฉิ่น ใกล้เมืองปากั้น (Hpakant) แหล่งผลิตหยกที่สำคัญที่สุดในรัฐกะฉิ่น ประชาชนหลายพันคนต้องหนีไปในป่า บ้างเบียดเสียดกันอยู่ในโบสถ์ กองทัพพม่าอ้างว่าเป้าหมายการโจมตีในครั้งนี้อยู่ที่ฐานที่มั่นของเคไอเอ ด้านผู้นำเคเอไอก็ออกแถลงการณ์บอกให้ประชาชนชาวกะฉิ่นอยู่ในความสงบ และขอให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ “อดทนกับปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อสันติภาพที่สมบูรณ์ในอนาคต”

Advertisement

หลังสู้รบมาหลายสิบปี เคไอเอและเคไอโอ (KIO- Kachin Independence Organization) อันเป็นปีกการเมืองของเคไอเอเข้าร่วมการเจรจากับรัฐบาล SLORC และบรรลุข้อตกลงหยุดยิงในปี 1994 (พ.ศ.2537) แต่เคไอเอกับกองทัพพม่ากลับมาสู้รบกันอีกครั้งในปี 2011 (พ.ศ.2554) เนื่องจากเคไอเอไม่ยอมต่อสัญญาสงบศึกกับรัฐบาลพม่า กองทัพฝั่งกะฉิ่นอ้างว่ากองทัพพม่าได้โจมตีฐานที่มั่นของตน จนทำให้กองกำลังของกะฉิ่นต้องบุกยึดโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ซึ่งจีนมาร่วมลงทุนและจะส่งพลังงานที่ผลิตได้เกือบทั้งหมดกลับไปยังจีน กองกำลังกะฉิ่นจับเจ้าหน้าที่พม่าและคนงานจีนเป็นตัวประกัน หลังจากนั้นก็เกิดการปะทะกันระหว่างกองกำลังทั้งสองเรื่อยมา ต่างฝ่ายต่างโจมตีฐานที่มั่นของอีกฝั่งหนึ่งเพื่อตัดกำลัง ตัดเสบียง และเพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติที่ทั้งสองฝั่งอ้างสิทธิ

การสู้รบในรัฐกะฉิ่นทำให้มีชาวกะฉิ่นหลายหมื่นคนต้องหนีไปตั้งค่ายผู้อพยพที่ชายแดนพม่า-จีนใกล้มณฑลยูนนาน ความรู้สึกของคนในรัฐกะฉิ่นผสมปนเปกันไป แต่ที่เห็นได้เด่นชัดที่สุดคือความโกรธแค้นที่พวกเขามีต่อกองทัพพม่า และเลือกที่จะยอมรับชะตากรรม มองว่าชาวกะฉิ่นต้องเสียสละเพื่อทำให้สันติภาพกลับคืนสู่รัฐกะฉิ่น พวกเขารู้ดีว่าการสู้รบระลอกใหม่ท่ามกลางการปฏิรูปเพื่อประชาธิปไตยและความพยายามเจรจาสันติภาพหลังรัฐบาลพลเรือนของพ่อ ออง ซาน ซูจีเข้ามาในปี 2013 นั้นเป็นการต่อสู้ที่ไม่ปกติ แต่จะเป็นการสู้รบที่ยาวนาน และเต็มไปด้วยผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างชนชั้นนำกะฉิ่น กองทัพและรัฐบาลพม่า รวมทั้งนักธุรกิจอื่นๆ แต่แม้จะมีเอกสารการหยุดยิงที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ก็ยังมีการสู้รบและการปะทะกันอยู่เนืองๆ ไม่ใช่เฉพาะกับกะฉิ่น แต่ยังเกิดขึ้นกับรัฐฉาน ตะอาง และโกก้าง การลงนามในข้อตกลงหยุดยิงจึงไม่ใช่สัญญาณว่าพม่าจะสงบสุข

จะเห็นได้ว่าความขัดแย้งระหว่างชนกลุ่มน้อยกับกองทัพพม่ามักเกิดขึ้นจากการลอบโจมตีฐานที่มั่นของอีกฝั่งหนึ่ง สำหรับชนกลุ่มน้อยนั้น กองกำลังของพวกเขามีจำนวนไม่มาก แม้เคไอเอจะเป็นกองกำลังที่มีจำนวนทหารมากเป็นอันดับหนึ่งของกองกำลังที่ยังสู้รบกับรัฐบาลอยู่ แต่ก็มีจำนวนแค่ 1 หมื่นเศษเท่านั้น ไม่อาจต่อสู้กับกองกำลังของรัฐบาลที่มีจำนวนมากกว่าและมีอาวุธที่ทันสมัยมากกว่า และด้วยผลประโยชน์ทับซ้อนมากมาย รวมทั้งมีตัวแสดงใหม่ๆ อย่างจีนที่เข้ามาแทรกแซงกระบวนการสันติภาพในพม่า โอกาสที่จะเห็นการเจรจาสันติภาพที่ยั่งยืน ที่ไม่ใช่เพียงลมปากหรือเศษกระดาษเพียงไม่กี่แผ่นคงเกิดขึ้นได้ยาก

Advertisement

ลลิตา หาญวงษ์
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image