สุจิตต์ วงษ์เทศ : รัฐเอกราชในอีสาน นับถือศาสนาผี, พราหมณ์, พุทธ

ปราสาทพิมาย จ. นครราชสีมา และปราสาทพนมรุ้ง จ. บุรีรัมย์ ล้วนเป็นต้นแบบพระปรางค์ในที่ราบลุ่มภาคกลาง ซึ่งเป็นเครือญาติ (ภาพนี้คือปราสาทหินพนมรุ้ง)

อีสานยุคดั้งเดิม ไม่ได้มีการเมืองการปกครองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือเป็นอาณาจักรเดียวกัน แต่มีลักษณะเป็นรัฐเอกราชหลายรัฐที่เกี่ยวดองเป็นเครือญาติ ซึ่งวิชาการสมัยใหม่เรียก มัณฑละ ดังนี้

1. บริเวณตอนต้นแม่น้ำมูล มีมัณฑละศรีจนาศะ ตั้งแต่นครราชสีมาถึงบุรีรัมย์ นับถือพุทธมหายาน [เกี่ยวกับมัณฑละศรีจนาศะ มีคำอธิบายอย่างละเอียดอยู่ในวารสารเมืองโบราณ (ปีที่ 42 ฉบับที่ 1) มกราคม-มีนาคม 2559]
2. บริเวณตอนปลายแม่น้ำมูล หรือจุดรวมโขง-ชี-มูล มีรัฐเจนละ ตั้งแต่อุบลราชธานีและปริมณฑล ได้แก่ สุรินทร์, ศรีสะเกษ, ยโสธร ฯลฯ
3. บริเวณลุ่มน้ำชี ตั้งแต่ชัยภูมิ, ขอนแก่น, กาฬสินธุ์ ฯลฯ นับถือพุทธเถรวาท
4. บริเวณสองฝั่งโขงอีสานเหนือ มีรัฐศรีโคตรบูร มีเวียงจันเป็นศูนย์กลาง นับถือพุทธเถรวาท

บริเวณตอนต้นแม่น้ำมูล เริ่มตั้งแต่ลำตะคอง (นครราชาสีมา) ถึงลำปลายมาศ (บุรีรัมย์) รวมพื้นที่แถบทิวเขาพนมดงรัก ได้แก่ ภูพนมรุ้ง, ภูอังคาร, ภูปลายบัด
ล้วนนับถือศาสนาผีกับศาสนาพุทธแบบผสมผสานระหว่างมหายานกับเถรวาท (หีนยาน) ในวัฒนธรรมทวารวดี แบบเดียวกับลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง ตั้งแต่ราวหลัง พ.ศ. 1000
ต่อไปข้างหน้า ราวหลัง พ.ศ. 1500 บริเวณตอนต้นแม่น้ำมูลจะมีศูนย์กลางสำคัญ นับถือมหายานอยู่ที่เมืองพิมาย [เป็นต้นแบบให้พระเจ้าชัยวรรมันที่ 7 สร้างปราสาทบายน ที่นครธม เนื่องในพุทธศาสนามหายาน] ขณะเดียวกันมีเมืองพนมรุ้งนับถือศาสนาพราหมณ์

ปราสาทพิมายกับปราสาทพนมรุ้ง จะเป็นต้นแบบให้พระปรางค์ในรัฐละโว้, รัฐ อโยธยา, และรัฐอยุธยา ซึ่งเป็นเครือญาติ เช่น พระปรางค์วัดมหาธาตุ อยุธยา กับ พระปรางค์อื่นๆ จนท้ายสุด คือพระปรางค์วัดอรุณฯ กรุงเทพฯ

Advertisement
ปราสาทหินพิมาย จ.นครราชสีมา
ปราสาทหินพิมาย จ.นครราชสีมา

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image