สังคมสงฆ์ในบริบทของสังคมไทย ลูบคลำไปตรงไหนก็เจอปัญหา : โดย รศ.ดร.กิตติทัศน์ ผกาทอง

สังคมไทยยุคไทยแลนด์ 4.0 มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในปลายเรื่องเพื่อให้คนในสังคมมีความสะดวกสบายและมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยความสะดวกสบายและคุณภาพชีวิตที่ดีตามแนวคิดและทฤษฎีของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คือการใช้กลไกของรัฐพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศเพื่อจูงใจให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย เมื่อมีนักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวมากขึ้นสภาพคล่องทางเศรษฐกิจก็เกิดขึ้นตามมา ในบรรดานักท่องเที่ยวทั้งหลายส่วนใหญ่เมื่อท่องเที่ยวครบตามโปรแกรมการท่องเที่ยวแล้วก็เดินทางกลับประเทศของตน แต่ปัญหาภาพลักษณ์ในเชิงทำลายบรรยากาศการท่องเที่ยวในประเทศไทยต่อสายตาชาวโลกคือนักท่องเที่ยวที่แอบแฝง โดยสมคบกับคนไทยที่ขายชาติบางกลุ่มเปิดกิจกรรมลามกอนาจาร ซึ่งทำลายวัฒนธรรมและศีลธรรมอันดีงามของสังคมไทย เช่นเดียวกับปัญหาของสังคมสงฆ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทำลายภาพลักษณ์ในเชิงบวกของพุทธศาสนิกชนซึ่งเกิดขึ้นจากกลุ่มคนที่หากินกับสังคมสงฆ์มาอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นวัฒนธรรมหรือธรรมเนียมประเพณีที่เมื่อดำเนินการจัดสรรเงินอุดหนุนในโครงการต่างๆ ที่ทางวัดเสนอขอไป จักต้องมีการแบ่งสันปันส่วนให้กับบุคคลกลุ่มนี้ทุกครั้ง

หากไม่แบ่งสันปันส่วนให้ก็จักไม่ได้รับความสะดวกหรือได้เงินอุดหนุนไปดำเนินการเกี่ยวกับกิจการพระศาสนา เข่น จัดการศึกษา พัฒนาวัดและบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะ เป็นต้น

1.บทบาทขององค์กรสงฆ์ : องค์กรสงฆ์หรือวัดในพระพุทธศาสนามีบทบาทอยู่ 2 ประการ คือ 1) บทบาทหลัก และ 2) บทบาทรอง

1.1 บทบาทหลัก : บทบาทหลักของวัดเป็นบทบาทที่เกี่ยวข้องกับพระธรรมวินัย วัดทุกวัดทั้งที่เป็น

Advertisement

สำนักสงฆ์และวัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาจะต้องมีบทบาทในการพิทักษ์รักษาพระธรรมวินัยทั้งที่มาในพระปาฏิโมกข์ และนอกพระปาฏิโมกข์เพื่อธำรงรักษาพระศาสนาให้มั่นคงและยั่งยืน บทบาทในส่วนนี้ทำให้สังคมสงฆ์มีความแตกต่างจากสังคมชาวบ้านทั้งในรูปแบบและเนื้อหา รูปแบบคือการนุ่งห่ม และเนื้อหาคือข้อวัตรปฏิบัติ เมื่อใดสังคมสงฆ์หย่อนยานในรูปแบบ และเนื้อหา เมื่อนั้นพระศาสนาก็จะได้รับผลกระทบ ดังกรณีอดีตพระนิกร ธัมฺมวาที และอดีตพระยันตระ อมโร เป็นต้น หรือแม้แต่กรณี พระไชยบูลย์ ธัมฺมชโย

1.2 บทบาทรอง : บทบาทรองของวัดเป็นบทบาทที่เกี่ยวข้องกับสังคมโลก หรือสังคมชาวบ้าน

เนื่องเพราะต้องอาศัยชาวบ้านในการดำรงชีวิต โดยชาวบ้านเป็นคนดำเนินการสร้างวัดและบูรณปฏิสังขรณ์วัด ส่วนวัดหรือพระสงฆ์อนุเคราะห์ด้วยการอำนวยความสะดวกให้ชาวบ้านได้ประกอบพิธีทางศาสนา เช่น ทำบุญ ถวายทาน ทอดผ้าป่า ถวายกฐิน เป็นต้น ด้วยเหตุนี้จึงมีคำกลอนสอนใจให้บ้านกับวัดถ้อยทีถ้อยอาศัยระหว่างกันว่า

“วัดจะดีมีหลักฐานเพราะบ้านช่วย
บ้านจะสวยเพราะมีวัดดัดนิสัย
บ้านกับวัดผลัดกันช่วยคงอวยชัย
หากขัดแย้งกันก็บรรลัยทั้งสองทาง”

บทบาทวัดในส่วนนี้นี่เอง ที่นำไปสู่ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับเรื่องเงินทอน เพราะการดูแลหรือพัฒนาวัด

ในปัจจุบันผู้บริหารจัดการวัดคือเจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส หรือผู้ช่วยเจ้าอาวาสเป็นผู้มีบทบาทหน้าที่แทนชาวบ้าน เมื่อวัดกับบ้านมีบทบาททิ้งช่วงห่างระหว่างกัน วัดที่เคยเป็นสมบัติของคนในชุมชนก็กลายเป็นสมบัติของเจ้าอาวาสโดยปริยาย แม้บางวัดจะมีการตั้งกรรมการวัดและไวยาวัจกร แต่ก็เพียงเพื่อให้ครบองค์ประกอบทางกฎหมายเท่านั้น

…เมื่อการบริหารจัดการวัดเป็นหน้าที่โดยตรงของเจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส และหรือผู้ช่วยเจ้าอาวาส

โดยคนในชุมชนเป็นเพียงแค่ผู้อาศัยวัดเพื่อทำบุญหรือประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ปัญหาต่างๆ ก็เกิดขึ้นมากมายตามมา…

2.เผือกร้อนในสังคมสงฆ์ : เมื่อสังคมสงฆ์ถูกสังคมยุคใหม่ดูดกลืน ความศักดิ์สิทธิ์ที่เคยมีก็เริ่มจางคลาย ชุมชนบางแห่งจึงมีแนวคิดในการสร้างฌาปนสถานนอกวัดแทน แต่ถึงกระนั้นบทบาทรองของสังคมสงฆ์ก็ยังคงอยู่ เพราะแม้จะมีฌาปนสถานนอกวัดก็จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับพระอยู่ดี เพียงแต่อาจเป็นพระอีกวัดหนึ่งเท่านั้น

การขัดแย้งกันระหว่างวัดกับบ้านหรือพระสงฆ์กับชุมชนในสังคมไทยยังปรากฏให้เห็นโดยทั่วไป นับตั้งแต่ประเทศไทยยกระดับการพัฒนาประเทศจากสังคมเกษตรกรรมสู่สังคมอุตสาหกรรมเป็นต้นมา เมื่อชาวบ้านหรือชุมชนกับวัดหรือพระสงฆ์ไม่ลงรอยกัน ปัญหาต่างๆ ที่สลับซับซ้อนก็เกิดขึ้นตามมา โดยเฉพาะวัดในชุมชนเมืองมีการพัฒนาและยกระดับคล้ายคลึงกับบ้านจัดสรรและหรือโรงแรม มีลาภสักการะหลั่งใหลเข้ามาไม่ขาดสาย จึงมีฐานะการดำรงชีพที่ดีและมีรายได้ค่อนข้างมาก การขอเงินอุดหนุนจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจึงเป็นเพียงปัจจัยเสริมสภาพคล่องเท่านั้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ การได้งบประมาณอุดหนุนจากภาครัฐผ่านสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จึงเป็นแค่เศษเสี้ยวเพียงเล็กน้อย การแบ่งสันปันส่วนในลักษณะต่างตอบแทนจึงเกิดขึ้น เมื่อวัดใหญ่พระผู้ใหญ่เมตตาได้ วัดเล็กวัดน้อยหรือพระที่ไม่มีตำแหน่งใหญ่โตก็ควรจะมีเมตตากับผู้อาสาจัดสรรงบประมาณอุดหนุนให้เช่นกัน ในที่สุดก็แพร่ระบาดเหมือนโรคพิษสุนัขบ้าในวงการพระพุทธศาสนาดังที่เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ และโทรทัศน์นำเสนอไปแล้ว

การที่เผือกร้อนในสังคมสงฆ์เพิ่งเกิดขึ้นในยุครัฐบาลรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นเพราะรัฐบาลที่ผ่านมา โดยเฉพาะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่กล้าพอที่จะเข้าไปเปลืองตัวในสังคมสงฆ์

เพราะเคยมีบทเรียนจากนายทองก้อน วงศ์สมุทร ลูกศิษย์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน มาแล้วอย่างเจ็บปวด ที่เอามือไปลูบคลำจีวรพระผู้ใหญ่ระดับสมเด็จ ในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร

3.บทบาทผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) : ในอดีตก่อนมีพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 บทบาทเกี่ยวกับการกำกับควบคุมและอำนวยความสะดวกของสังคมสงฆ์เป็นหน้าที่ของอธิบดีกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งประสานงานกับองค์กรการปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์คือ มหาเถรสมาคม อันเป็นบทบาทที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ แต่ภายหลังมี พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 ในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศขณะนั้น) เป็นนายกรัฐมนตรี การกำกับควบคุมและอำนวยความสะดวกของสังคมสงฆ์เป็นหน้าที่ของผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยผู้อำนวยการ พศ.ทำหน้าที่เป็น เลขาธิการมหาเถรสมาคม ไม่ใช่เป็นเลขานุการ

เมื่อวงการสงฆ์มีผู้กำกับคนใหม่ ซึ่งขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ตาม พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 นายกรัฐมนตรีจึงมีอำนาจในการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลที่เหมาะสมให้ไปดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งมักจะขอความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคมเป็นเบื้องต้น เมื่อมหาเถรสมาคมเห็นชอบว่าใครเป็นผู้เหมาะสม นายกรัฐมนตรีก็จะอนุโลมตามนั้น

ด้วยเหตุนี้เลขาธิการมหาเถรสมาคม ซึ่งก็คือผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จึงมีบทบาทเสมอเป็นลูกศิษย์พระ พระคือมหาเถรสมาคมมีมติอย่างไร ก็นำไปปฏิบัติตามอย่างนั้น ปัญหาความขัดแย้งจึงไม่เกิดขึ้น แม้จะมีปัญหาซุกซ่อนอยู่ใต้อาสน์สงฆ์ก็ตาม

4.รัฐบาลกับเงินทอน : เงินทอนคือเงินที่มีการยักย้ายถ่ายโอนผิดวัตถุประสงค์ ทำให้ผู้ที่ได้รับหรือมีสิทธิในผลประโยชน์โดยตรงตกหล่นหรือขาดหายไป เช่น เงินกองทุนเสมาฯของกระทรวงศึกษาธิการ เงินช่วยเหลือคนจนและศูนย์คนไร้ที่พึ่งของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมทั้งเงินงบประมาณอุดหนุนวัดและโรงเรียนพระปริยัติธรรมเป็นต้น

รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ดำเนินการตรวจสอบโดยกลไกของรัฐเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบของหน่วยงานที่ดูแลกองทุนเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือคนจนและคนยากไร้ จนสามารถจับกุมและดำเนินคดีได้หลายราย และที่สำคัญการทุจริตและคดโกงรวมทั้งประพฤติมิชอบในเรื่องดังกล่าวข้างต้นล้วนแต่มีข้าราชการระดับสูงเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น บางหน่วยงานมีการยักยอกและถ่ายโอนเงินไปเป็นสมบัติส่วนตัวมาเป็นเวลาช้านานแล้วแต่ไม่มีการตรวจสอบหรือดำเนินการ เช่นเดียวกับการทุจริตเกี่ยวกับเงินทอนวัด ที่เพิ่งปรากฏชัดในรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งตกเป็นจำเลยทางสังคมเรียบร้อยแล้วนั้น ก็ล้วนแล้วแต่เป็นพระผู้ใหญ่ที่มีบทบาทในการปกครองคณะสงฆ์ระดับสูงเช่นกัน และที่สำคัญเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมที่มาจากการแต่งตั้งของสมเด็จพระสังฆราชถึง 3 รูปด้วยกัน

การกล่าวหาพระผู้ใหญ่ระดับกรรมการมหาเถรสมาคมซึ่งมีตำแหน่งทางปกครองเป็นระดับเจ้าคณะจังหวัด และเจ้าคณะภาคด้วยนั้น หากเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือเป็นนักการเมืองอาชีพ จะไม่กล้าลูบคลำหรือแตะต้องโดยเด็ดขาด เพราะจะไม่เป็นสิริมงคลในทางการเมือง จึงต้องขอยกนิ้วให้กับรัฐบาลเผด็จการ คสช. ที่อาจหาญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเคยอาจหาญมาแล้วในกรณีวัดพระธรรมกาย และวัดปากน้ำภาษีเจริญ โดยไม่คำนึงถึงผลลัพธ์ว่าท้ายที่สุดจะเป็นเช่นไร สังคมสงฆ์เองก็เช่นกัน การกระทำกับอดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร จนกระทั่งต้องหาทางออกด้วยวิธีอัตวินิบาตกรรม (ผูกคอตาย) เพราะทนความอับอายขายหน้าไม่ได้และปลงไม่ตก เวรกรรมจะตามทันในชาตินี้แหละ

เนื่องจากเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของวงการสงฆ์ไทยที่พระระดับรองสมเด็จพระราชาคณะถูกกระทำและกดดันหรือบีบคั้นจิตใจ

สรุป : สังคมสงฆ์ในบริบทของสังคมไทยในยุคปัจจุบันต้องแสวงหาแนวทางคืนสู่บทบาทของสังคมสงฆ์เชิงอุดมการณ์ คือไม่มุ่งแสวงหาลาภสักการะแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงบทบาทในฐานะศาสนทายาทและเป็นแบบอย่างทางศีลธรรมและวัฒนธรรมให้กับคนในสังคมยุคใหม่ควบคู่กับการช่วยเหลือเอื้อกูลคนที่ยากไร้ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก ในสังคมไทยปัจจุบัน

และที่สำคัญต้องผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรมในการบริหารจัดการองค์กร เพื่อชะล้างคราบไคลแห่งความขัดแย้งให้หมดไป

ทั้งนี้ โดยยึดหลักการที่ว่า “ยาพิษย่อมไม่กำซาบบนฝ่ามือที่ไม่มีแผล” เพราะในยุคที่ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติมีบทบาทเข้มแข็งซึ่งส่งตรงมาจากนายกรัฐมนตรีเพื่อสะสางและทำความสะอาดปัดกวาดขยะมูลฝอยให้กับวงการสงฆ์และพระพุทธศาสนา ซึ่งแตกต่างจากกาลในอดีตที่ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติมาจากคนที่ มส.ต้องการและรัฐบาลสนองตอบ

เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนการปรับตัวขององค์กรสงฆ์จึงต้องสอดคล้องกับข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่อิงอยู่กับวัฒนธรรมร่วมสมัยคือเปิดวัดต้อนรับการตรวจสอบด้วยความเมตตาและเอื้อเฟื้อเพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนาอย่างจริงใจโดยปราศจากอคติต่อกันอันจะนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “ความสามัคคีปรองดอง” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการปฏิรูปองค์กรสงฆ์เพื่อธำรงมั่นแห่งพระพุทธศาสนา

รศ.ดร.กิตติทัศน์ ผกาทอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image