รื่นร่มรมเยศ : อ่านพระไตรปิฎกระหว่างบรรทัด (1) โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

ผมมีเรื่องน่าสนใจขยายให้ท่านฟัง ผมมีศิษย์นอกห้องเรียนท่านหนึ่งชื่อ นภาจรี นำเบญจพล เป็นหลาน จำรัส สายะโสภณ ผู้เขียนเมรัยละคร ยอนเดวานั้นแหละ

ไหนครับไม่เคยอ่าน อ๋าย ไม่เคยได้ไง ท่านมหากวีท่านนี้ได้แต่งหนังสือว่าด้วยเหล้าไทยต่อสู้กับเหล้านอกที่เข้ามาตีตลาดไทยได้อย่างวิเศษวิโสเลยทีเดียว อ่านแล้วน้ำลายสอทีเดียว แต่ก็แค่น้ำลายไหล

ที่ผมยออาจารย์นภาจรีขึ้นมาก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหาที่จะเขียน ก็เพราะท่านผู้นี้ขณะสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยหอการค้า เธอสั่งงานให้นักศึกษาทำการบ้านแปลกคือสั่งให้หาพระไตรปิฎกอ่าน เล่มไหนก็ได้ หน้าไหนก็ได้ ตามใจชอบ อ่านแล้วได้ “ข้อคิด” อะไรให้จดไว้ แล้วนำมาเล่าให้เพื่อนๆ ฟังในห้องเรียน

เธอบอกผมว่าไม่ต้องการอะไรมาก ต้องการเพียงให้เด็กได้ “สัมผัส” (แปลว่าจับตามตัวอักษร) เอง ส่วนจะอ่านรู้เรื่องหรือไม่ เธอไม่หวัง หวังแค่นี้จริงๆ

Advertisement

แต่พอถึงชั่วโมงเรียน เธอก็แปลกใจมากว่าลูกศิษย์ของเธอแต่ละคนต่างก็กระตือรือร้นนำเอาเรื่องที่ตนอ่านพบ และข้อคิดที่ได้จากพระไตรปิฎกมาเล่าให้เพื่อนๆ ฟังอย่างสนุกสนาน แทบทั้งหมดกล่าวกับอาจารย์อย่างซาบซึ้งว่า “อาจารย์ค่ะ/ครับ หนู/ผม เพิ่งรู้ว่าพระไตรปิฎกมีเรื่องสนุกๆ ให้ข้อคิดดีๆ มากมาย นึกว่าจะมีแต่ประเภทยานอนหลับ”

อาจารย์ท่านฉลาดในการสอนศิษย์ ท่านสอนให้ศิษย์ของท่านอ่านในสิ่งที่ตนชอบ ตนสนใจ และเข้าใจได้ ไม่ให้อ่านเนื้อหาของหลักธรรมคำสอนซึ่งมันยากสำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงพระศาสนาโดยตรง เมื่ออ่านแล้วก็พยายามคิดแตกหน่อ แตกยอดออกไป เพื่อประยุกต์ใช้กับชีวิตจริง

ผมเรียกหลวมๆ ว่าการอ่านอย่างนี้เรียกว่าอ่านเอาความหมาย “ระหว่างบรรทัด” ไม่ได้อ่านเอาตามตัวอักษร ถ้าเราอ่านแบบนี้บ่อยๆ จะรู้สึกว่าเราได้แนวคิดใหม่ๆ แปลกๆ ได้คำตอบที่ไม่คิดว่าจะได้ ไม่เชื่อลองดูก็ได้ครับ

Advertisement

สมัยผมสอนพระไตรปิฎกแก่พระนักศึกษามหาวิทยาลัยจุฬาฯ วิชาที่สอนคือ พระไตรปิฎกวิเคราะห์ ก็ไม่จำต้องเน้นเนื้อหา ผมก็พานักศึกษาวิเคราะห์ตามแบบของผม คือให้ท่านเหล่านั้นอ่านความหมายระหว่างบรรทัด ไม่ต้องสนใจว่าเนื้อหาว่าอย่างไร ธรรมะข้อนี้อธิบายว่าอย่างไร ปิติคืออย่างไร วิตกคืออย่างไร ปัญญาคืออย่างไร เกิดได้อย่างไร มีกี่ระดับ …ลืมไปได้เลย เรามาเสาะหาความหมายระหว่างบรรทัดกันดีกว่า และผมก็วิเคราะห์ถกเถียงกับพระคุณเจ้าสนุกสนานมาก ผมจะยกตัวอย่างสักสองเรื่องพอเป็นแซมเปิล

เรื่องที่หนึ่ง เรื่องนี้อาจพูดถึงเขียนถึงมาบ้าง อาจจะซ้ำในเรื่องเนื้อหาสาระ แต่วิธีนำเสนอไม่ซ้ำครับ หลังจากตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้าต้องการสอนให้ประชาชนรับทราบสิ่งที่พระองค์ได้ตรัสรู้ จึงตัดสินใจเสด็จออกจากพุทธคยา ตรงไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ปัจจุบันคือ สารนาถ ระยะทางประมาณสองร้อยกว่ากิโลเมตร

ระหว่างทางพบนักบวชต่างศาสนาชื่อ อุปกาชีวก เดินสวนทางมา หมอนี่เห็นพระพุทธเจ้าทรงมีพระฉวีวรรณผุดผ่อง พระพักตร์อิ่ม ท่าทางมีสง่าราศี น่าเลื่อมใส จึงถามว่า “ท่านเป็นใคร ท่านบวชเป็นลูกศิษย์ใคร”

(สังเกตว่าสมัยก่อน เวลาพระเจอกันจะถามถึงครูอาจารย์ ถามถึงวัตรปฏิบัติที่ประพฤติ ต่างจากสมัยนี้ เจอกันทีก็ถามประเภทนี้ครับ “หลวงพี่อยู่วัดไหน”)

พระพุทธเจ้าตอบว่า “เราตรัสรู้แล้วด้วยตนเอง ไม่มีใครเป็นครูอาจารย์”

อุปกาชีวกได้ยินดังนั้นก็ย้อนว่า “ถ้าเช่นนั้นท่านเป็น อนันตชินะ สิ”

พระพุทธองค์ไม่ตอบ เพียงแสดงอาการสงบนิ่ง อุปกาชีวกจึงพูดต่อไปว่า “หุเวยยาวุโส” (ยังไม่ขอแปลตอนนี้) สั่นศีรษะ แล้วก็หลีกไป

ผมก็ให้พระนักศึกษาวิเคาระห์ระหว่างบรรทัดว่า “นายคนนี้เชื่อพระพุทธเจ้าหรือไม่”

หลายท่านบอกไม่เชื่อ เพราะฟังพระพุทธเจ้าตรัสตอบแล้ว ก็สั่นศีรษะหลีกไป

มีบางรูปบอกว่าไม่ค่อยแน่ใจ ผมถามว่าทำไมไม่แน่ใจ ท่านว่าการฟังคำตอบแล้วหลีกไป มิจำเป็นต้องหมายความว่าเขาเชื่อหรือไม่เชื่อ คือมันไม่ชัดเจนถึงปานนั้น

เออ พระรูปนี้หลักแหลม ผมคิด จึงยุให้พวกท่านทั้งหมดในห้องพยายาม “อ่านความหมายระหว่างบรรทัด” ต่อไป ผมยิงคำถามว่า “มีท่านรูปใดนึกถึงขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมบ้าง” หลายรูปถามว่า “มันเกี่ยวอะไรหรืออาจารย์” ผมว่า “ไม่รู้สิ ลองมองจากมิติวัฒนธรรมดูบ้าง ฉากนี้เกิดขึ้นที่ไหน ตัวละครเป็นคนชาติไหน พระตอบว่า อินเดีย ผมถามว่า ตามวัฒนธรรมอินเดีย เวลาแขกเขาสั่นศีรษะแสดงว่า เขา Yes หรือ No”

หลวงพี่ร้องพร้อมกันว่า “อา ใช่แล้ว อุปกาชีวกแกสั่นศีรษะแสดงว่าเชื่อ”

เห็นไหมครับ ถ้าเราอ่านพระคัมภีร์โดยตีความระหว่างบรรทัด ย่อมจะได้คำตอบที่ไม่เคยคิดว่าจะได้อย่างนี้แหละ ส่วนคำตอบที่ได้จะถูกต้องหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งฟังๆ ไว้เพื่อประดับสติปัญญาก็ไม่เสียหลาย

ในกาลามสูตร พระพุทธเจ้าทรงกำชับไว้ “อย่าเพิ่งเชื่อตำรา และแม้กระทั่งครูอาจารย์ก็อย่าเพิ่งเชื่อ ก่อนจะเชื่อใคร เชื่ออะไร ให้ใช้ปัญญาไตร่ตรองให้ชัดเจนเสียก่อน”

อ้อ ข้อสนับสนุนว่าอุปกาชีวกแกเชื่ออีกข้อหนึ่งคือ คำพูดว่า “หุเวยยาวุโส” (แปลว่า คำที่ท่านพูดนั้นพึงเป็นได้ มีได้) ฟังแล้วมีแนวโน้มว่าเชื่อมากกว่าไม่เชื่อ เพราะเหตุนี้ฝรั่งที่แปลพระไตรปิฎกเขาจึงแปลว่า “I see” said Upaka, nodding his head, and departed. อะไรประมาณนั้น

ตอนหน้ามาต่อเรื่องที่ 2 ครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image