อนาคตของประเทศ ในการเลือกตั้ง (1) โดย : นิธิ เอียวศรีวงศ์

น่าประหลาดที่การเลือกตั้ง ซึ่งรัฐธรรมนูญได้ทำให้เสียงของประชาชนไร้ความหมาย กลับให้ผลที่มีความหมายอย่างยิ่งต่ออนาคตของการเมืองไทย จนทำให้การเลือกตั้งที่จะต้องจัดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ครั้งนี้ (ไม่ภายใต้คณะรัฐประหารชุดนี้ ก็คณะรัฐประหารชุดหน้า) แตกต่างจากการเลือกตั้งที่ผ่านมาทั้งหมด

ความพิเศษของการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะตัวของมันเอง แต่เพราะประเทศไทยกำลังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่สำคัญอย่างยิ่ง พอจะเทียบได้กับ 2475, 2501, หรือ 14 ตุลาฯ ส่วนจะเปลี่ยนผ่านหรือเปลี่ยนไม่ผ่านนั้นทำนายไม่ถูก แต่แน่ใจได้ว่า หากเปลี่ยนไม่ผ่านโดยสงบ ก็เท่ากับสะสมภาวะตึงเครียดให้สูงยิ่งขึ้น จนวันหนึ่งเมื่อเปลี่ยนผ่านได้ ก็คงเป็นไปด้วยความรุนแรงและความสูญเสียอย่างที่การเมืองสมัยใหม่ของไทยไม่เคยเผชิญมาก่อนเลย

อย่าลืมว่า สัญญาณแห่งความรุนแรงดังกล่าวมีมาตลอดทศวรรษกว่าที่ผ่านมา การใช้อำนาจเด็ดขาดของคณะรัฐประหารทำให้ความรุนแรงในรูปอื่นไม่ปรากฏให้เห็น เหลือแต่ความรุนแรงของอำนาจเด็ดขาดซึ่งคณะรัฐประหารผูกขาดเอาไว้แต่ผู้เดียว

ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะเปลี่ยนผ่าน ก็เพราะทุกภาคส่วนของสังคมได้เปลี่ยนมาก่อนแล้ว หรือจำเป็นต้องเปลี่ยนเพราะสภาวะใหม่ที่ถอยกลับไม่ได้

Advertisement

ชนชั้นนำที่ถืออำนาจปกครอง (ruling elite) ซึ่งประกอบด้วยหลายกลุ่ม กำลังมีปัญหาด้านอัตลักษณ์อย่างหนัก ความเป็นไทยคืออะไร คนดีคืออย่างไร อำนาจที่เหมาะกับสังคมไทยในปัจจุบันและอนาคตควรเป็นอย่างไร จะรักษาการครอบงำ (domination) ของตนต่อไปได้อย่างไร ท่ามกลางความเสื่อมศรัทธาต่อพิธีกรรมและแบบแผนธรรมเนียมอย่าง “ไทยๆ” ของคนรุ่นใหม่ ฯลฯ เรื่องซึ่งเคยมีฉันทามติในหมู่ชนชั้นนำซึ่งถืออำนาจปกครอง กำลังกลายเป็นปัญหาที่ตอบได้ไม่ตรงกัน บางคนอาจหันกลับไปหาอดีต และบางคนกลับอยากก้าวให้ทันกระแสโลกาภิวัตน์มากกว่า

คนกลุ่มนี้ โดยจำนวนแล้วมีน้อยนิดเดียว ไม่มีความหมายในคะแนนเสียงเลือกตั้งแต่อย่างไร แต่มีอำนาจชี้นำสังคมสูง หากทว่าอำนาจชี้นำนี้กลับลดลงในช่วงนี้ เพราะความไม่ชัดเจนด้านอุดมการณ์ อันเนื่องมาจากปัญหาอัตลักษณ์ดังกล่าวแล้ว

Advertisement

คนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมีจำนวนไม่มากนัก แต่มีอำนาจในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจอย่างมาก สืบเนื่องกันมาหลายทศวรรษแล้วคือนายทุน สถานการณ์ในประเทศไทยก็กำลังเปลี่ยนเช่นกัน

นักวิชาการจำนวนไม่น้อยได้พบมานานแล้วว่า ผู้ลงทุนมีอำนาจต่อรองได้สูงกว่ารัฐเป็นอันมาก เพราะรัฐไม่สามารถทำอะไรได้ หากนายทุนหยุดการลงทุน (หรือเพียงไม่ลงทุนเพิ่ม ก็ทำให้เกิดปัญหามากแล้ว) หรือเคลื่อนย้ายทุนออกไปยังแหล่งอื่น

การกระทำเช่นนี้ส่งผลกระทบต่อสังคมทั้งหมด เช่นทำให้คนว่างงานมีจำนวนมากขึ้น จนกระทั่งผู้ปกครองรัฐอาจอยู่ในอำนาจต่อไปไม่ได้ ดังนั้นรัฐจึงมักฟังเสียงของผู้ลงทุน ซึ่งอาจสื่อสารกับรัฐโดยตรงหรือโดยอ้อม ให้จัดการด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมที่เอื้อต่อการทำกำไรของนายทุน

นักวิชาการจำนวนไม่น้อยได้พบต่อไปด้วยว่า นายทุนแต่ละประเภทมีอำนาจในการเคลื่อนย้ายทุนได้ไม่เท่ากัน เช่นนายทุนขนาดเล็ก แทบจะเคลื่อนย้ายทุนของตนไม่ได้เลย เพราะต้นทุนอาจสูงจนไม่คุ้ม นายทุนผู้ประกอบการด้านหัตถอุตสาหกรรมมักเคลื่อนย้ายทุนได้ยากกว่านายทุนการเงินอย่างเทียบกันไม่ได้เลย ยกเว้นแต่ว่ามีการลงทุนในประเทศอื่นๆ อย่างกว้างขวางอยู่แล้ว ด้วยเหตุดังนั้น นายทุนที่เคลื่อนย้ายทุนได้ยากจึงมักเข้าไปแทรกแซงทางการเมือง นับตั้งแต่อุดหนุนพรรคการเมือง, อุดหนุนการรัฐประหาร, หรือวิ่งเต้นเอาพรรคพวกหรือสมุนไปนั่งในตำแหน่งทางการเมือง ฯลฯ

ในขณะที่นายทุนซึ่งสามารถเคลื่อนย้ายทุนได้ง่าย (ด้วยเหตุใดก็ตาม) มักเพียงแต่ส่งสัญญาณพอใจหรือไม่พอใจให้รัฐเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว และไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องแทรกแซงทางการเมืองเกินจำเป็นไปกว่านั้น

ถามว่านายทุนไทยเป็นนายทุนประเภทไหน?

คำตอบก็คือ ทุนไทยมีลักษณะอยู่ติดที่มากกว่าเคลื่อนย้ายได้ง่าย การลงทุนต่างประเทศของไทยมีน้อยมาก ตัวเลขของ BOI คือเพียง 4% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมเท่านั้น (สำนักสถิติเศรษฐกิจเอกชนบางสำนักให้ตัวเลขสูงถึง 8.4% แต่ก็รวมการขยายการผลิตของทุนข้ามชาติไปยังประเทศเพื่อนบ้านด้วย)

ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะทุนไทยมีขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ๆ ก็มีลักษณะติดที่เหมือนกัน และเหตุที่ติดที่ก็เพราะสภาพแวดล้อมของการลงทุนในประเทศไทยนั้นต้องถือว่าดีเลิศ กล่าวคือเอื้อต่อการทำกำไรได้สูง แรงงานไทยอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐอย่างรัดกุม ทั้งโดยกฎหมายและโดยการปฏิบัติ (แรงงานประท้วงนอกโรงงานแต่กลับถูกเจ้าหน้าที่รัฐทุบตี เกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว, ไม่เคยมีการนัดหยุดงานทั่วไปหรือ general strike เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์แรงงานไทยเลย ฯลฯ) กฎหมายและการบังคับใช้ด้านสิ่งแวดล้อมหย่อนยาน ระบบภาษีหลบหรือเลี่ยงได้ง่าย รัฐคอยเงี่ยหูฟังเสียงหรือสัญญาณจากทุน จนแทบไม่ได้ยินเสียงจากคนกลุ่มอื่นอีกเลย ยังไม่พูดถึงการผูกขาดในทางปฏิบัติอีกหลายเรื่อง ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ทำให้ไม่มีประโยชน์หรือเพิ่มกำไรในการเข้าไปแข่งขันในตลาดการลงทุนต่างประเทศ

ขอยกตัวอย่างจากทุนใหญ่ๆ ในกลุ่มประชารัฐ ทุนสัมปทานน้ำเมาและที่ดินอสังหาริมทรัพย์ ย่อมไม่อาจเคลื่อนย้ายไปไหนได้อยู่แล้ว จะมีรัฐอะไรหรือที่ออกกฎหมายกีดกันมิให้คนทั่วไปผลิตน้ำเมาแข่งขันกับทุนใหญ่ได้ และจะมีประเทศอะไรหรือที่สะสมทรัพย์ในรูปที่ดินเท่าไรก็ได้ โดยไม่เกิดภาระทางภาษีเพิ่มขึ้นเลย

เงื่อนไขที่สามารถกระจายความเสี่ยงในการผลิตอ้อยไปยังคนเล็กคนน้อย ในพื้นที่กว้างขวาง ย่อมทำให้อุตสาหกรรมน้ำตาลมั่นคงและทำกำไรได้อย่างที่ไม่อาจหาแหล่งลงทุนอื่นที่ดีกว่าได้ ทั้งนี้ยังไม่พูดถึงโครงสร้างพื้นฐานซึ่งดีเลิศ ทั้งด้านขนส่งคมนาคมและพลังงาน

อุตสาหกรรมอาหาร (ทั้งคนและสัตว์) ซึ่งสามารถกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจให้เกษตรกรอีกนับล้านเข้าร่วมรับด้วย โดยรัฐไม่สร้างมาตรการปกป้องเกษตรกรไว้อย่างเพียงพอ จึงทำกำไรได้อย่างมหาศาล ทั้งนี้ยังไม่พูดถึงเครือข่ายในระบบราชการและสื่อซึ่งสร้างหรือซื้อไว้จำนวนมากแล้ว

ทุนใหญ่เหล่านี้อาจขยายการลงทุนไปต่างประเทศ หรือซื้อหุ้นธุรกิจต่างประเทศ แต่ฐานใหญ่อยู่ในประเทศไทยเสมอ และด้วยเหตุดังนั้นทุนใหญ่จึงเข้าแทรกแซงทางการเมืองตลอดมา และต้องถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง ตลอด 5-6 ทศวรรษที่ผ่านมา ทุนใหญ่สามารถรักษาฐานของโครงสร้างนโยบายเศรษฐกิจ, ป่าไม้, แรงงาน, ตลาด, ภาษี ฯลฯ ให้เอื้อต่อการทำกำไรของตนตลอดมา

แม้ว่าส่วนแบ่งอำนาจทางการเมืองไทยอาจพลิกผันไปมาระหว่างทหาร, นักการเมือง, ข้าราชการ, เทคโนแครต, เจ้าสัว-เจ้าพ่อก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ในทศวรรษท้ายๆ นี้ เริ่มมีคนแปลกหน้ากลุ่มใหม่ขึ้นมาบนเวทีการเมือง ที่สำคัญได้แก่คนชั้นกลางระดับล่าง ซึ่งเรียกร้องนโยบายที่ไม่เป็นผลดีแก่การทำกำไรในการลงทุนนัก (เช่น ต่อต้านการเลี้ยงปลากระชัง ที่ทำความเสียหายให้แหล่งน้ำ… ต้นทุนวัตถุดิบในการทำอาหารย่อมมีทีท่าจะสูงขึ้น และอาจขายอาหารปลาได้ลดลง) ดังนั้น หากเวทีการเมืองเปิดกว้างต่อไป การแทรกแซงทางการเมืองของทุน เพื่อรักษาฐานโครงสร้างของนโยบายไว้ย่อมจะยากขึ้น จนอาจล้มเหลวได้ จึงพร้อมจะสนับสนุนและร่วมมือกับกลุ่มที่ต้องการจำกัดเวทีการเมืองไว้ให้แคบเท่าเดิม

ไม่เคยมีการรัฐประหารของกองทัพครั้งไหน ที่นายทุนใหญ่ออกหน้าสนับสนุนอย่างชัดเจนเท่าครั้งนี้ แต่ก่อนนายทุนสนับสนุนการยึดอำนาจด้วยการโอนเงินเพื่อเป็นทุนทำการแก่กลุ่มผู้นำอย่างลับๆ เมื่อสำเร็จแล้วจึงนำกระเช้าดอกไม้ไปมอบให้ต่อหน้าสื่อมวลชน เพื่อพลิกสถานะผู้จ้างเป็นเพียงลูกสมุนต่อสาธารณชน

แต่รัฐประหารครั้งนี้ พวกเขาเข้าร่วมมีบทบาทอย่างออกหน้า ส่งสมุนและพรรคพวกไปนั่งในตำแหน่งที่คณะรัฐประหารตั้งขึ้น ในที่สุดก็ได้รัฐธรรมนูญที่จำกัดคนซึ่งจะขึ้นไปบนเวทีการเมืองให้แคบลงเป็นคนหน้าเดิม ทั้งตัวเขาเองหรือลูกสมุนก็มีทีท่าว่าจะได้นั่งในตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นโอกาสให้ควบคุมนโยบายที่เปิดการทำกำไรให้แก่ทุนของเขาอย่างอ้าซ่าตลอดไป

แม้แต่ทุนกว่า 4 หมื่นล้านบาท (ซึ่งจริงหรือไม่ก็ไม่ทราบได้) ที่เตรียมไว้สำหรับการแสวงหาความชอบธรรมในการสืบทอดอำนาจและระบบ จำนวนมากในนั้นคงมาจากการลงขันของเหล่านายทุนซึ่งร่วมการรัฐประหารมาแต่ต้นเหล่านี้

การใช้เงินและตำแหน่งในรัฐบาลใหม่เป็นเหยื่อล่อนักการเมือง ย่อมทำให้ได้แต่กลุ่มเจ้าสัว-เจ้าพ่อท้องถิ่นมาเป็นฐานเสียง คนกลุ่มนี้เป็นผู้อุปถัมภ์รายใหญ่ในท้องถิ่น และทำให้ได้รับเลือกตั้งสืบมาหลายครั้ง ปัญหามาอยู่ที่ว่าระบบอุปถัมภ์จะเข้ามาทดแทนนโยบาย (ที่ถูกเรียกว่าประชานิยม) ได้หรือไม่ ในทรรศนะของชาวบ้านในท้องถิ่น คนจนคงไม่เกี่ยง จะเป็นอย่างไหนก็ได้ที่ทำให้ตนเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นบ้าง แต่คนจนมีจำนวนน้อยกว่าคนชั้นกลางระดับล่าง (หรือ “ชาวนาการเมือง”)

เรื่องของเรื่องจึงมาอยู่ที่ว่า ระหว่างบุคคลซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์กับนโยบาย คนชั้นกลางระดับล่างจะเลือกอะไรในสถานการณ์ที่รัฐธรรมนูญบังคับไว้แล้วว่า ตัวแทนของประชาชนไม่อาจวางนโยบายได้เองอย่างอิสระ แต่ไม่มีเนื้อที่จะอภิปรายเรื่องนี้ได้อีกในครั้งนี้ จึงขอเลื่อนไปพูดถึงคนชั้นกลางระดับล่างในตอนต่อไป

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image