ภาพเก่าเล่าตำนาน : ญาติจากอเมริกา…ตามล่าหาปู่ทวดในแม่กลอง : พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

ขออนุญาตท่านผู้อ่านที่เคารพ นำพาท่านออกนอกวงโคจร “เรื่องราวของอยุธยาสมัยพระนารายณ์” ไปสู่ความฝันที่กำลังกลายเป็นความจริง…กรณีแฝดสยามอิน-จัน ครับ

บรรดาทายาทของแฝดสยามอิน-จัน ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 5 สืบสายโลหิตล้วนเป็นคนอเมริกันทั้งหมด 20 คน กำลังจะยกโขยงมาเมืองแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม เพื่อขอดูบ้านเกิดของปู่ทวดอิน-จัน ชาวเมืองแม่กลองของแท้ ที่ไปอยู่อเมริกาตั้งแต่วันที่
18 สิงหาคม พ.ศ.2372 มีลูก หลาน เหลน โหลน ผ่านมา 5 ชั่วอายุคนแล้ว

คณะทายาทจากอเมริกา จะมาถึงจังหวัดสมุทรสงคราม ในระหว่างวันที่ 10-12 พฤษภาคม 2561 ซึ่ง นายคันฉัตร ตันเสถียร ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม ภาครัฐและเอกชนของเมืองแม่กลอง เตรียมการต้อนรับทายาทคณะนี้ไว้แบบ จุใจ ประทับใจ เต็มพิกัด

ผู้เขียนเคยได้รับความกรุณาจาก มติชน ตีพิมพ์ตำนานชีวิตบันลือโลกของแฝดสยามอิน-จัน จำนวน 25 ตอนในปี พ.ศ.2558 ที่จะขอนำมาปัดฝุ่น รวบรัดชีวิตพิสดารของคนดังระดับโลกดังนี้ครับ :

Advertisement

ในรัชสมัยในหลวง ร.3 มีชาวจีนอพยพหนีตายจากจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาตั้งรกราก สร้างชีวิตใหม่ตามเมืองชายฝั่งทะเลของสยามจำนวนมหาศาล เมืองสยามดินดำน้ำชุ่ม อุดมสมบูรณ์ยิ่งนัก

นาย ทีอาย ที่ลงเรือสำเภามาจากเมืองจีนตั้งแต่เด็ก เมื่อโตเป็นหนุ่มเต็มตัว ตัดสินใจอยู่กินกับสาวเมืองสยาม นามว่า นางนาก ทั้งสองอาศัยอยู่บนแพ ปากคลองแม่กลอง ตำบลแหลมใหญ่ แขวงสมุทรสงคราม มีอาชีพทำประมงและค้าขายเล็กๆ น้อยๆ มีลูกต่อเนื่องกัน 4 คน

ราวเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2354 ครบกำหนดคลอดท้องที่ 5 นางนาก มีท้องโตผิดปกติ แต่ก็มิใช่เรื่องใหญ่โตอันใด เพราะนางผ่านการคลอดลูกมาแล้ว 4 ครั้ง หมอตำแยยังคงทำหน้าที่ควบคุมการคลอดตามปกติตามวิถีชีวิตในชนบท แต่มาคราวนี้ หมอตำแยถึงกับตกตะลึง เมื่อทารกเพศชายที่นางนาก คลอดออกมานั้นเป็นเด็กแฝดที่มีลำตัวติดกัน การคลอดมีเหตุขลุกขลักเล็กน้อย

Advertisement

ทุกคนฉงนสนเท่ห์ว่า เมื่อจับร่างทารกทั้ง 2 แยกจากกัน กลับแยกไม่ออก เพราะเด็กแฝดคู่นี้มีลำตัวติดกัน

เมื่อหมอตำแยเพ่งดูให้ชัด ก็พบว่าบริเวณ “หน้าอก” ของทารก มี “หนังเป็นแผ่น” เชื่อมร่างกายของทารกไว้เกือบแนบชิดติดกัน ร่างกายของเด็กแฝดทั้ง 2 ปกติสมส่วนทุกประการ มีอวัยวะครบสมบูรณ์ไม่ขาดตกบกพร่อง ส่งเสียงร้องไห้ประสานกัน 2 เสียงลั่นเรือนแพที่พักอาศัย

ข่าวการคลอดเด็กชายประหลาดตัวติดกันของนางนาก ระบือลือลั่นไปทั่วคุ้งแม่น้ำเมืองแม่กลอง ชาวบ้านชาวช่อง เริ่มแวะมาเยือนด้วยความอยากรู้อยากเห็น นางนากผู้เป็นแม่ ทะนุถนอมลูกน้อยดังไข่ในหิน อันเนื่องจากสภาพร่างกายที่ไม่อำนวยต่อการใช้ชีวิตตามปกติ

ข่าวลือ เริ่มทำงานแทรกซึมไปตามวิถีชีวิตของชาวสยามในแม่กลอง การนำเรื่องราวของดิน ฟ้า อากาศ เทพเจ้า ความไม่อุดมสมบูรณ์ โชคลาง นรก สวรรค์ ถูกนำมาผูกโยงกับสภาพร่างกายของเด็กแฝด ลูกนายทีอาย และนางนาก

เกิดการตีความในด้านลบ พาดพิงไปในทำนองว่า เด็กแฝดประหลาดคู่นี้ จะเป็นเหตุให้บ้านเมืองเกิดอาเพศ ฝนฟ้าจะไม่มาตกต้องตามฤดูกาล คำว่า “กาลกิณี” คือ หลักการตัดสินของสังคมรอบด้าน

ผู้หวังดี เจ้าสำนักแห่งเวทมนตร์ทั้งหลายต่างแสดงความประสงค์ดี จะขอลงมือผ่าแยกร่างเด็กน้อยออก เพื่อแก้เคล็ดให้บ้านเมือง ชีวิตในเรือนแพไม่เป็นปกติสุข ด้วยเหตุความจุ้นจ้านของบุคคลสารพัด

นางนากไม่หวั่นไหวต่อมรสุมชีวิต ดูแลเอาใจใส่บุตรแฝดคนที่ 5-6 พร้อมทั้งการฝึกฝนให้ลูกน้อยให้ใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ให้จงได้ นางนาก สอนให้เด็กน้อยเอาแขนคล้องคอกันเพื่อเดินพร้อมกัน เดินไม่หกล้ม นางขยับ จัดท่าทางให้ลูกน้อยยามนอนหลับ

เด็กน้อยทั้ง 2 เจริญเติบโต เรียนรู้การเคลื่อนไหวใช้ชีวิตแบบ “ประสานสอดคล้อง” ธรรมชาติ ความสำนึก หล่อหลอมให้เด็กน้อยทั้ง 2 ใช้ชีวิต กิน อยู่หลับ นอน เล่นซุกซนได้ กลายเป็นเด็กในชุมชนแม่กลอง ในการใช้ชีวิตร่วมกัน พ่อแม่สังเกตเห็นว่า แฝดอิน จะเป็นฝ่ายโอนอ่อนให้กับ แฝดจัน เสมอ

ธรรมชาติสร้างให้อิน-จัน เป็นเด็กที่เฉลียวฉลาด มีทักษะในการทำงาน การเดิน วิ่ง แม้กระทั่งว่ายน้ำในแม่น้ำ ร่างกายอันเกือบแนบชิดของเขา กลายเป็นจุดสนใจของทุกคนที่ได้พบเห็น เด็กหนุ่มทั้ง 2 กลายเป็น “ตัวหลัก” ในงานการค้าขาย การประมงของครอบครัว

พ.ศ.2363 เมื่ออายุได้ 9 ขวบ เกิดเหตุ “ห่าลง” ชาวสยามเสียชีวิตนับหมื่นคน กรุงเทพฯเกือบเป็นเมืองร้าง อิน-จันก็ต้องเสียบิดาและพี่น้องในคราวเดียวกันรวม 5 คน

ผ่านมาถึง พ.ศ.2369 ในรัชสมัยในหลวง ร.3 เช้าวันหนึ่ง มีเรือชั้นดีจากบางกอกมาที่แพนางนาก แล้วแจ้งว่า ในหลวง ร.3 โปรดเกล้าฯ ให้นำตัวเด็กแฝดอิน-จัน ไปเข้าเฝ้าฯ ในพระบรมมหาราชวัง

เจ้าหน้าที่จากในวัง ฝึกสอนแฝดอิน-จัน ให้ถวายบังคม การกราบบังคมทูลต่อพระเจ้าแผ่นดิน การเข้าเฝ้าของแฝดอิน-จัน เป็นที่พอพระทัย ได้รับพระราชทานเงินและของมีค่าที่เด็กแฝด นำไปเป็นทุนรอนสร้างธุรกิจเลี้ยงเป็ดเพื่อขายไข่ กิจการขายไข่เป็ด และไข่เค็ม ก้าวหน้าด้วยแรงขยัน มุมานะ อดทน เก็บหอมรอมริบ

ในสมัยในหลวง ร.3 เป็นยุคที่สยามกลับมาค้าขายกับต่างชาติอีกครั้งหลังจากไล่ชาวต่างชาติออกไปสมัยพระเพทราชาของอยุธยา ฝรั่งอังกฤษ ชื่อนายโรเบิร์ต ฮันเตอร์ (ชาวสยามเรียก นายหันแตร) เข้ามาเป็นนายห้างใหญ่ค้าขายอาวุธกับสยาม นายหันแตร ทราบข่าวเรื่องเด็กประหลาดตัวติดกันที่เมืองแม่กลองจึงออกไปตามล่าหาแฝดอิน-จัน

นายหันแตร พบเด็กแฝดสยามตัวเป็นๆ ที่แม่กลอง นายหันแตร เห็นเด็กแฝดที่ว่ายน้ำในแม่น้ำแม่กลองถึงกับอึ้ง ทึ่งในความมหัศจรรย์ นายหันแตร มองเห็น “ธุรกิจ” การโชว์ตัว โชว์มนุษย์ประหลาดเพื่อทำเงินก้อนใหญ่ในแผ่นดินอเมริกาและยุโรป

นายหันแตร เข้าตีสนิทกับนางนาก แบบเนียนๆ รอเวลาจนแฝดอิน-จัน อายุครบ 18 ปีจึงเอ่ยปากขอนำตัวแฝดอิน-จัน ไปอเมริกา หันแตรเสนอเงินก้อนโต เป็นสิ่งตอบแทน มีการลงนามในหนังสือสัญญา แฝดอิน-จัน ลงนามเป็นภาษาจีน

1 เมษายน 2372 นายหันแตร ร่วมหุ้นกับนายคอฟฟิน กัปตันเรือสินค้าชาวอเมริกัน นำตัวแฝดสยามไปโชว์ตัวหาเงินในอเมริกา นางนากมาส่งลูกแฝดหนุ่มลงเรือไปอเมริกาด้วยความกังวลใจ แต่แฝดอิน-จัน ตื่นเต้น ดีใจ ที่จะได้ไปทำเงินก้อนใหญ่ในแผ่นดินอเมริกาและยุโรป และตั้งใจจะกลับมาหาแม่ตามสัญญา

เรือสินค้าชื่อ ซาเค็ม (The Sachem) ออกจากบางกอกใช้เวลา 138 วัน ไปขึ้นที่ท่าเรือ ลองวาร์ฟ (Long Wharf) เมืองบอสตัน แผ่นดินอเมริกา

ธุรกิจ คือ ธุรกิจ แฝดอิน-จัน คือสินค้าที่ถูกนำมาโชว์ตัวเพื่อหาเงิน คนกลุ่มแรกที่เข้ามาในชีวิตของแฝดอิน-จัน คือ บรรดาแพทย์ทั้งหลายที่ต้องการตรวจร่างกายแฝดที่ตัวติดกัน (Conjoined Twins) ว่าเป็นของจริง ไม่ได้เอามาแหกตาคนอเมริกัน พร้อมกับต้องการศึกษาสรีระของแฝดประหลาดที่มาจากอีกซีกหนึ่งของโลก

แฝดอิน-จัน กลายเป็นข่าวใหญ่ในอเมริกา ต้องทำงานด้วยความเหน็ดเหนื่อยในการออกแสดงตัวทุกวัน วันละ 2 รอบ เช้า-เย็น เว้นวันอาทิตย์ การต้องอยู่ในสายตา ต้องตอบคำถามสารพัดจากผู้ชม คนแปลกหน้า คำพูดยียวน กวนประสาท แฝดจากแม่กลองคู่นี้ปรับตัวเข้ากับธุรกิจ ทำเงินได้ดี ไม่ได้อับอาย ไม่ใช่เคราะห์กรรม แต่เป็นเรื่องของ “โอกาส” สำหรับชีวิตในโลกกว้าง อิน-จัน ใช้ชีวิตในมหานครนิวยอร์กแบบชุ่มฉ่ำนานหลายเดือน

แฝดอิน-จัน ตระเวนไปหลายรัฐในอเมริกาแบบมีแผนล่วงหน้า มีคนชมการแสดงตลอดทุกเมือง เก็บเงินได้เป็นกอบเป็นกำ มีบัญชีเงินฝาก สุขภาพร่างกายแข็งแรง ทั้งสองแทบไม่เคยได้ข่าวจากนางนาก

มีความขัดแย้งเรื่อง “รายได้” ปีกกล้าขาแข็ง จนต้องกลายเป็นผู้จัดการให้กับตัวเอง ชีวิตจากเด็กเลี้ยงเป็ดเมืองแม่กลอง ชีวิตของคนทั้งสอง เปลี่ยนไปแบบไม่มีวันกลับ

17 ตุลาคม 2372 อิน-จัน มีผู้จัดการพาตัวลงเรือข้ามหาสมุทรแอตแลนติกไปอังกฤษ ไปแต่งองค์ทรงเครื่องใส่สูทถ่ายรูปหล่อเฟี้ยว ตระเวนไปในเกาะอังกฤษ 15 เดือน แล้วมาปักหลักแสดงตัวในอียิปต์เชียนฮอลล์ (Egyptian Hall) ในลอนดอน เกิดนิยายรักระหว่างสาวสวยชื่อ โซเฟีย ที่จะขอแต่งงานกับแฝดสยาม หนังสือพิมพ์ลงข่าว รักพิสดารของคน 3 คน แต่ในที่สุดก็ต้องพลัดพราก เพราะแฝดหนุ่มเจ้าเสน่ห์ต้องกลับไปทำมาหากินในอเมริกา

แฝดอิน-จัน ได้ข่าว ฝากต่อๆ กันมาจากกัปตันเรือสินค้า ว่านางนากมีสามีใหม่ ชื่อ เทียนเซ้ง ทุกคนที่แม่กลองสบายดี แม่คิดถึงมากอยากให้กลับมาเยี่ยมแม่กลอง

ผ่านไปราว 8 ปี แฝดสยาม กลายเป็นหนุ่มนักธุรกิจมีเงินฝากก้อนใหญ่ในธนาคาร เดินทางไปถึงเมือง วิลค์สโบโร รัฐนอร์ธแคโรไลนา เหมือนเทพยดาดลใจ ทั้ง 2 เกิดนึกเบื่อหน่ายชีวิตที่เร่ร่อนในอเมริกา

เมืองที่มีป่าเขียวขจี มีลำธารใสสะอาด เงียบสงบ ทำเอาแฝดตกหลุมรักดินแดนแห่งนี้ แฝดคิดถึงเมืองแม่กลองที่จากมานานแสนนาน ทั้งสองยิงนก ตกปลา ใช้ชีวิตแบบสบายๆ ด้วยเงินที่หามาได้อย่างเหลือเฟือ เช่าบ้านเล็กๆ พร้อมกับตัดสินใจเปิดร้านค้าของชำ แต่ไม่รุ่ง

12 ตุลาคม 2382 ยื่นคำขอต่อศาลในนิวยอร์กขอเป็นพลเมืองอเมริกัน ปัญหาคือ แฝดจากสยาม ชื่อ อิน และ จัน ไม่มีนามสกุล จะเป็นคนอเมริกัน ต้องมีนามสกุล

อิน-จัน นึกถึงเพื่อนสนิทนักธุรกิจที่อยู่ในนิวยอร์กที่นามสกุล บังเกอร์ ซึ่ง แฝดจัน เคยไปแอบหลงรักลูกสาวของเพื่อน จึงติดต่อไปเพื่อขออนุญาตใช้นามสกุล “บังเกอร์” (Bunker) ซึ่งเพื่อนอเมริกันก็ยินดียิ่ง ตั้งแต่นั้นมา ชื่อ นามสกุลของแฝดคู่นี้ คือ เอ็ง บังเกอร์ และ ชาง บังเกอร์

17 ตุลาคม 2382 แฝดอเมริกันเชื้อสายสยาม ขยับไปซื้อที่ดินแปลงใหญ่ 214 เอเคอร์ ที่แทรปฮิลล์ (Trap Hill) แล้วปลูกบ้านไม้ 2 ชั้น สั่งทำเฟอร์นิเจอร์พิเศษ เตียงคู่ เก้าอี้คู่ ทุกอย่างสั่งทำใหม่หมดเพื่อความเป็น “คนคู่” ที่ไม่เหมือนใครในโลกนี้

แฝดอิน-จัน กลายเป็นพลเมืองอเมริกัน มีที่ดิน มีธุรกิจด้านการเกษตร ยังขาดแต่คู่ครอง ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจเป็นพิเศษว่า มันจะใช้ชีวิตกับใคร แบบไหน และอย่างไร

ตำนานรักที่แสนจะโลดโผน เกิดขึ้นเมื่อคืนวันหนึ่ง แฝดอิน-จัน ไปร่วมงานแต่งงาน และได้พบกับสองสาวพี่น้องสกุล เยทส์ (Yates)

การสนทนาเป็นไปอย่างสนุกสนาน พี่น้องสองสาวหยอกล้อหนุ่มพิเศษอย่างออกรสออกชาติ เมื่องานเลิกและลาจาก หัวใจของแฝดจัน ร่ำร้องขอจับจองสาวน้อยที่ชื่อ อาดีเลด (Adelaide) หรือแอ๊ดดี้ ในขณะที่แฝดอิน ยังไม่ต้องการจะมีคนรัก

ชีวิตคนคู่เริ่มมีปัญหา เพราะแฝดจัน พร่ำเพ้อหาแต่แอ๊ดดี้ แต่ครั้นจะไปหา ตัวที่ติดกันกับแฝดอินก็ไม่สามารถปลีกตัวไปได้ แอ๊ดดี้ฝ่ายหญิงก็มีใจกับ แฝดจัน ชีวิตร่างกายที่แยกไม่ได้ ไม่ลงตัวเริ่มระส่ำระสาย

แต่ในที่สุด แอ๊ดดี้ ก็ร้องขอ ซาราห์ พี่สาวให้เข้าใจและร่วมมือกันสร้างครอบครัว โดยขอให้ ซาราห์ รักและยอมแต่งงานกับแฝดอิน

พี่น้อง 2 คู่ 4 คน ตกลงกันได้ในที่สุด โลกทั้งใบกลายเป็นสีชมพู แต่ข่าวร้ายที่สุด คือ สังคมในชุมชนไม่ยอมรับในความรักและการใช้ชีวิตแบบพิสดารของคนทั้ง 4

พ่อ แม่ ของ 2 สาวโดนเพื่อนบ้านเย้ยเยาะ บ้านของตระกูล เยทส์ โดนขว้างปาเสียหาย มันเป็นเรื่องของการเหยียดผิวผสมผสานกับการไม่ลงตัวของสภาพร่างกาย ความน่ารังเกียจส่วนหนึ่ง คือ การที่จะมีลูกออกมาไม่สมประกอบแน่นอน

คนทั้ง 4 ไม่สามารถฝืนทนต่อการเรียกร้องของหัวใจได้ ในที่สุดจึงวางแผนจะหนีกันไป ในสถานที่ห่างไกลผู้คน แต่พ่อแม่ของ 2 สาวผู้ทระนง ทราบข่าวเสียก่อน เมื่อทำความเข้าใจกันถึงที่สุด เดวิด แนนซี่ เยทส์ จึงยอมให้มีพิธีสมรส แบบเสียมิได้ จึงขอให้บาทหลวง คอลบี้ สปาร์ค ทำพิธีแต่งงานให้แบบฉับพลันทันด่วน

13 เมษายน พ.ศ.2386 คือพิธีสมรสที่เป็นตำนานระดับโลกของ 2 คู่ชู้ชื่น เจ้าบ่าว 2 คนที่ตัวติดกัน ไปจากเมืองแม่กลองครับ

ผู้คนยังติดตาม สอดส่อง เจาะหาข้อมูลการใช้ชีวิตของตัวละครทั้ง 4 ว่ามันครื้นเครงแค่ไหนอย่างไร ผู้เขียนเองก็ค้นเอกสารทุกประเภทโดยเฉพาะจากต่างประเทศ ก็มิได้บรรยายกิริยาท่าทางให้ปรากฏ

แฝดสยามที่มีครอบครัวเริ่มต้องแยกบ้าน ผลัดกัน เวียนกันไปอยู่บ้านละ 3 วัน ทำงานด้านการเกษตร มีทาสนิโกรในครอบครอง มีรายได้เป็นครอบครัวที่อบอุ่น มีความขัดแย้งบ้าง แต่ก็ต้องจบให้ได้

ทั้ง 2 ครอบครัว อินและจัน มีลูกฝ่ายละ 11 คน แต่ลูกของอินเสียชีวิต 1 คน แฝดอิน-จัน ใช้ชีวิตที่เหลืออย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ตระเวนไปในยุโรปอีกหลายประเทศ ในนามของ Siamese Twins ที่ทำให้ผู้คนรู้จักประเทศสยาม หรือ Siam

แฝดอิน-จัน เคยได้รับเชิญให้เข้าพบประธานาธิบดีสหรัฐ 2 ท่าน 2 ครั้งในวอชิงตัน

ช่วงท้ายของชีวิตคู่บันลือโลก ทั้งสองตระเวนไปในยุโรปเพื่อแสดงตัว พบผู้นำของประเทศต่างๆ เช่น ไปถึงมอสโก เข้าเฝ้าพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 ไปลอนดอน เข้าเฝ้าพระราชินีนาถวิกทอเรีย ณ บักกิ้งแฮม เคยรับเสด็จเจ้าชายแห่งเวลส์ (ต่อมาคือพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7) และการเดินทางด้วยเหตุผล คือ อยากพบแพทย์เพื่อ “ผ่าตัดแยกร่าง” แต่ในที่สุดก็ไม่มีแพทย์กล้าผ่าแยกร่างให้ ด้วยเหตุผล “ความเสี่ยง” ไม่ทราบว่าส่วนต่อเชื่อมระหว่างร่างกายทั้ง 2 ข้างในมีอวัยวะอะไรใช้ร่วมกัน

ลูกๆ บางคนของตระกูล บังเกอร์ ไปเป็นทหารในสงครามกลางเมืองในอเมริกา ต่อมากลายเป็นรุ่นหลาน รุ่นเหลน น้ำแยกสาย ไผ่แยกกอ เติบโตแยกย้ายกันไปจาก แฝดสยาม คู่ชีวิตที่แสนทรหดอดทนคู่เดียวของโลก

17 มกราคม พ.ศ.2417 เวลาราวตี 4 แฝดจันเสียชีวิตอย่างสงบบนเตียงที่บ้านของอินในเมืองเมาท์แอรี่
บรรดาลูกๆ และภรรยาคู่ชีวิตเข้ามาสั่งลาดูใจ และอีกราว 1 ชั่งโมงต่อมา แฝดอินก็หมดลม กอดกับแฝดจัน
ก่อนหมดลม ลาโลกนี้ตามไปในวัย 63 ปี

มีการตรวจสอบข้อมูลทายาทที่สืบเชื้อสายมาจากแฝดอิน-จัน นามสกุล บังเกอร์ พบว่า มีจำนวนราว 1,500 คน มีงานเลี้ยงรวมญาติครั้งล่าสุด คือ พ.ศ.2559 ที่เมืองเมาท์แอรี่

ลูกหลานที่สืบสายโลหิตมาจนถึงปัจจุบัน พ.ศ.2461 เป็นรุ่นที่ 5 จำนวน 20 คน จากอเมริกา รวมตัวกันเพื่อขอมาดู “ต้นตระกูลบังเกอร์” ที่เมืองแม่กลองระหว่างวันที่ 10-12 พฤษภาคม พ.ศ.2561 ก็เป็นเรื่องที่สร้างสรรค์ และคงเป็นประวัติศาสตร์ที่ต้องจารึกไว้

ผู้เขียนต้องขอบคุณ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม นายคันฉัตร ตันเสถียร ที่เชิญผู้เขียนเป็นที่ปรึกษาในภารกิจนี้ ผู้เขียนได้เข้าร่วมประชุมการเตรียมต้อนรับคณะ ได้ประจักษ์การทุ่มเทกับกิจกรรมด้านอนุรักษ์และฟื้นฟูประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ และเรื่องการท่องเที่ยวที่จะบูมขึ้นในภายภาคหน้าที่เมืองแม่กลอง อนุสาวรีย์แฝดอิน-จัน ที่ยืนเหงาอยู่นานนับ 10 ปี คงจะกลับมีชีวิตอีกครั้ง

จะมีพิธีลงนามในประกาศ เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง จังหวัดสมุทรสงคราม กระทรวงการต่างประเทศ และ ครอบครัว บังเกอร์

11 พฤษภาคม 2561 จะมีพิธีทำบุญในวันคล้ายวันเกิดแฝด อิน-จัน ณ บริเวณ อนุสรณ์สถานแฝดอิน-จัน และจะพาทายาททั้งหลายไปชมเมืองแม่กลอง ทั้งทางบกและทางน้ำ ซึ่งสมุทรสงครามร่ำรวยมรดกทางวัฒนธรรมมาช้านาน

ตำนานของแฝดอิน-จัน โดยละเอียด ลองหาอ่านจาก มติชน นะครับ ยังมีเกร็ดประวัติศาสตร์อีกหลากหลายที่นึกไม่ถึง

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก
ข้อมูลจาก : ภาพของชีวิตอิน-จัน ครอบครัว ยังคงถูกเก็บรักษาอย่างดีในอเมริกา แม้กระทั่งจดหมาย ลายมือ เอกสารโฆษณาตอนไปแสดงตัวเมื่อเกือบ 200 ปีที่แล้ว ลูกหลาน เหลนเก็บรักษาอย่างดี จึงทำให้เรามีเรื่องพูดคุยจนถึงทุกวันนี้และตลอดไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image