การเมืองใหม่ นวัตกรรมการแก้อดีต กำหนดอนาคตชาติ : ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

ภายหลังที่ คสช.มีการประกาศโรดแมปว่าด้วยการเลือกตั้งในปี 2562 วันนี้กระแสการเมืองบ้านเราเริ่มร้อนแรงขึ้นตามลำดับโดยมีอดีตนักการเมืองรวมทั้งคนในรัฐบาลออกมาแสดงทรรศนะกันอย่างหลากหลายและหากมีการเลือกตั้งดังที่ประกาศตามโรดแมปจริงสิ่งที่คนไทยทั้งมวลอยากเห็นคือ “การเมืองใหม่” ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าการล้มลุกคลุกคลานของประชาธิปไตยบ้านเราในรอบ 80 กว่าปีที่ผ่านมา มีปัจจัยในหลายมิติที่เป็นกับดักและหลุมดำส่งผลให้สังคมไม่สามารถเข้าสู่วิถีแห่งประชาธิปไตยแบบสากลเหมือนนานาประเทศได้อย่างแท้จริง

หากย้อนกลับไปตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจะพบว่าคนไทยได้สัมผัสกับรัฐธรรมนูญใหม่เฉลี่ยทุก 4 ปี 3 เดือนต่อการมีรัฐธรรมนูญ 1 ฉบับ หลังจากที่ระบบการเมืองทำท่าว่าจะเข้ารูปเข้ารอยเป็นไปตามแนวทางของระบบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงไปได้สักระยะหนึ่งกลับเกิดวิกฤตหรือตัวแปรอันเนื่องมาจากปัญหาที่ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ไม่สามารถเดินต่อไปได้การเมืองนอกระบบที่เรียกว่า “การรัฐประหาร” จึงมาเยือน

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ถือได้ว่าเป็นกฎหมายสูงสุดที่ผู้ยกร่างต้องการนำสังคมไทยและคนไทยให้ห่างไกลจากการเมืองแบบเดิมๆ ที่คอยฉุดรั้งการพัฒนาประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากนับระยะเวลาในการยกร่างกว่าจะคลอดออกมาได้ต้องใช้เวลาถึง 2 ปี 5 เดือน โดยมีคณะกรรมาธิการยกร่าง 2 ชุด คณะกรรมาธิการชุดแรกภายใต้การนำของ ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ แต่น่าเสียดายที่กรรมาธิการชุดนั้นไม่สามารถทำให้รัฐธรรมนูญถูกใจผู้มีส่วนได้เสียในภาพรวมได้ จึงถูกบรรดาผู้ทรงเกียรติ สภาปฏิรูปแห่งชาติคว่ำกลางสภา แต่ด้วยความสำคัญและความจำเป็นที่คนไทยจะต้องมีรัฐธรรมนูญ หัวหน้า คสช.จึงได้แต่งตั้งให้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานในการขับเคลื่อนต่อจนปรากฏนำไปสู่การพระราชทานเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา

Advertisement

เมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดขึ้นคนไทยที่ติดตามและสนใจในเรื่องการเมืองการปกครองต่างตั้งตารอเพื่อกำหนดทิศทางอนาคตของประเทศร่วมกันภายใต้การเมืองใหม่และนำไปสู่การเลือกตั้ง ทั้งนี้ เพราะประเทศในโลกเสรีประชาธิปไตยการเลือกตั้งอันเป็นอำนาจของประชาชนถือได้ว่าเป็นเส้นทางที่จะนำไปสู่การเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

และที่สำคัญนอกเหนือจากความต้องการของประชาชนที่ต้องการให้มีการเลือกตั้งแล้วสิ่งที่เป็นแรงปรารถนาอย่างแท้จริงคือการขับเคลื่อนประเทศให้สามารถเดินไปได้โดยไม่มีวิกฤตที่จะนำไปสู่ความเสียหายต่อบ้านเมืองดังในอดีตที่ผ่านมา

วันนี้กระแส “การเมืองใหม่” กำลังมาแรงเพราะการเมืองใหม่จะเป็นการเมืองในอุดมการณ์ของสังคมไทยที่ประกอบไปด้วยคนดี มีคุณธรรม และสามารถนำนวัตกรรมในระบบสากลแห่งยุคดิจิทัลมาเสริมเติมเต็มสำหรับการพัฒนาประเทศ แต่ในทางกลับกันวันนี้สังคมเริ่มตั้งขอกังขาว่าการเมืองใหม่จะมีจริงหรือไม่เพียงแค่มีการโหมโรงว่าจะมีการเลือกตั้งในปีหน้ากลับเกิดปรากฏการณ์และวาทะทางการเมืองที่หลากหลายอันมาจากอดีตนักการเมืองและคนในฝากรัฐบาล ในขณะที่ประชาชนเจ้าของประเทศส่วนใหญ่ยังสงบนิ่งอยู่ในที่ตั้ง การผสมผสานแนวคิดของทั้งสองฝ่ายหากมองด้วยใจที่เป็นธรรมจะเห็นได้ว่าเป็นสิทธิเสรีภาพและเป็นความงดงามของระบอบประชาธิปไตยซึ่งล้วนแล้วแต่น่ารับฟังบนพื้นฐานของเหตุและผล การกล่าวให้ร้ายหรือโจมตีซึ่งกันและกันของฟากการเมืองอาจจะมองเป็นเรื่องปกติและเกาะติดกับการเมืองแบบไทยๆ มานานและดูที่ท่าว่าอยากจะลบเลือน

หนึ่งในวาทะที่กำลังมาแรงขณะนี้สำหรับการเมืองไทย คือคำว่า “ดูด” ทั้งนี้เพราะในรอบสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมามีการกล่าวอ้างถึงการใช้พลังเพื่อนำไปสู่การสร้างฐานอำนาจแห่งอนาคตด้วยการเชิญและชวนอดีตนักการเมืองที่เชื่อได้ว่าจะสามารถเป็นฐานการคงอำนาจได้มาอยู่ในกลุ่มของตนเอง

กระแสสังคมที่มองว่ามีการดูดอดีตนักการเมืองไปสังกัดเพื่อฐานอำนาจแห่งอนาคตจะมีจริงหรือไม่อย่างไรไม่สามารถนำใบเสร็จมายืนยันได้ แต่ด้วยสภาวการณ์ที่เกิดในเชิงประจักษ์ที่มีการนำร่องมาบ้างแล้วจึงหนีไม่พ้นวาทะของคำว่า “ดูด” ซึ่งจำเลยทางสังคมคงหนีไม่พ้นผู้มีอำนาจในรัฐบาลปัจจุบัน

ต่อกระแสดังกล่าว พล อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในรายการศาสตร์พระราชาเมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา ความตอนหนึ่งว่า “การสร้างความเข้าใจในบรรยากาศของความพยายามบิดเบือนชักใบให้เรือเสียบ้าง มือไม่พายเอาเท้าราน้ำบ้าง บางคนเป็นเด็กเลี้ยงแกะพูดจาไร้เหตุผลปราศจากหลักฐานเรื่องที่มีการกล่าวว่ามีการใช้งบประมาณ ทุจริตใช้วงเงินเป็นหมื่นล้านบาท ผมไม่ทราบเอามาจากไหนเหมือนกันและเอามาได้อย่างไร ถ้าท่านรู้ท่านต้องบอกผมมา หรือท่านเคยทำผมไม่รู้ไม่ทราบเหมือนกัน” พร้อมกันนั้นนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเรื่องการดูดตอนหนึ่งว่า “กรณีข่าวการดูด ส.ส.พรรคโน้นพรรคนี้ ผมไม่ใช่นักการเมืองผมทำงานทางการเมืองให้ตอนนี้ แต่ทุกคนทราบดีว่าการดูดนี้มีมายาวนาน ฯลฯ” (มติชน, 28 เมษายน 2561, หน้า 10)

อย่างไรก็ตามมิติแห่ง “การเมืองใหม่” มีผู้แสดงทรรศนะไว้หลากหลายทั้งนักวิชาการและนักการเมืองต่างแสดงออกให้เห็นในรูปแบบของการเมืองที่ต้องการที่จะให้สังคมไทยหลุดพ้นจากวงจรเดิมๆ อันมาจากฝีมือของนักการเมืองเองหรือจากภาคประชาสังคมที่ก่อให้เกิดเหตุในเชิงประจักษ์และนำมาซึ่งความสูญเสียดังในอดีตที่ผ่านมา

แต่สำหรับท่านพุทธทาส ท่านได้นิยามคำว่าการเมืองที่สามารถนำมาประยุกต์ให้เป็นการเมืองใหม่และเป็นช่องทางสู่การปฏิบัติได้อย่างยั่งยืนว่า “การเมืองคือธรรมะ” และสาระตอนหนึ่งที่เกี่ยวกับธรรมะซึ่งท่านได้แสดงไว้ ธรรมะคือหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามกฎธรรมชาติเป็นหน้าที่ของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดโดยเฉพาะมนุษย์ที่ต้องปฏิบัติตามกฎธรรมชาติเพื่อความอยู่รอด ถ้าเป็นทางรอดทางสังคมการเมืองก็ต้องปฏิบัติตามกฎธรรมชาติทางสังคมที่เป็นเงื่อนไขของความอยู่รอดในการอยู่ร่วมกันของคนหมู่มาก เช่น กฎแห่งการอิงอาศัยด้วยกันบนพื้นฐานของความไม่เห็นแก่ตัว เมตตา เสียสละ ปฏิบัติต่อกันด้วยกาย วาจา ใจ ที่มุ่งประโยชน์สุขแก่กันและเป็นที่ตั้ง การกล่าว
อย่างรวมๆ ก็คืออยู่ร่วมกันอย่างมีศีลธรรมนั่นเอง

ด้วยในอนาคตรัฐบาลที่มีบทบาทในการบริหารจัดการประเทศต้องเป็นรัฐบาลในลักษณะการจัดสรรปันส่วนจะสามารถทำให้สังคมไทยก้าวสู่การพัฒนาและเป็นการเมืองใหม่ได้จริงมากน้อยแค่ไหน โจทย์หรือคำตอบเป็นสิ่งที่สังคมต้องรอ แต่ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดเมื่อกฎหมายสูงสุดถูกออกแบบมาอย่างนี้ผู้ที่จะเข้าสู่กระแสการเมืองระดับชาติในอนาคตโดยเฉพาะผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ทรงเกียรติไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา บุคคลเหล่านี้จำเป็นต้องปรับหรือปฏิรูปตนเองให้เป็นต้นแบบของนักประชาธิปไตยใหม่ดังที่สังคมคาดหวัง หากบุคคลเหล่านี้ยังวังวนอยู่ในมิติของการเมืองแบบเดิมๆ ที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ งหรือไม่สามารถเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยได้อย่างแท้จริงก็อย่าหวังเลยว่าการเมืองไทยจะเปลี่ยนแปลงเข้าสู่การเมืองใหม่ และที่สำคัญหากมะเร็งร้ายทางการเมืองที่เกาะกินสังคมมาอย่างนานไม่ถูกขจัดวงจรที่สังคมและนักประชาธิปไตยไม่พึงปรารถนาคือคำว่า “รัฐประหาร” ก็จะกลับมาเยือนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ตามเพื่อไม่ให้การเมืองไทยต้องถอยหลังกลับไปสู่การเมืองที่ไม่ผ่านกับดักและหลุมดำแห่งความชั่วร้าย หรือการเมืองที่นำไปสู่ปลายกระบอกปืน วันนี้คนไทยทั้งประเทศต้องร่วมกันแก้อดีตและกำหนดทิศทางอนาคต ซึ่งรัฐบาลตลอดจน อดีตนักการเมือง จะต้องเป็นต้นแบบแห่งการปฏิรูปที่สำคัญสำหรับการวางทิศทางแห่งอนาคตของการเมืองไทย การรักษาประชาธิปไตยให้อยู่กับสังคมอย่างยั่งยืนและยาวนาน คำตอบสุดท้ายในระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้งเท่านั้น

แต่แก่นแท้และหัวใจที่สำคัญคือการทำให้คนไทยส่วนใหญ่ของประเทศมีความรู้ เข้าใจ เข้าถึงในระบอบประชาธิปไตยมีส่วนร่วม เคารพในสิทธิเสรีภาพ ของตนเองและผู้อื่นอย่างแท้จริง

การเมืองไทยที่ผ่านมาหากย้อนไปถึงต้นเหตุจะปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในกระแสพระราชปรารภของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ความตอนหนึ่ง “แม้ได้มีการยกเลิกแก้ไขเพิ่มเติมและประกาศใช้รัฐธรรมนูญเพื่อจัดระเบียบการปกครองให้เหมาะสมหลายครั้ง แต่การปกครองก็ไม่ได้มีเสถียรภาพหรือราบรื่นเรียบร้อยเพราะยังประสบปัญหาและข้อขัดแย้งต่างๆ บางครั้งเป็นวิกฤตทางรัฐธรรมนูญที่หาทางออกไม่ได้ เหตุส่วนหนึ่งเกิดจากที่มีผู้ไม่นำพาหรือไม่นับถือยำเกรงกฎเกณฑ์การปกครองบ้านเมือง ทุจริตฉ้อฉล หรือบิดเบือนอำนาจ หรือขาดความตระหนักสำนึกรับผิดชอบต่อประเทศชาติ และประชาชนจนทำให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นผลซึ่งจำเป็นต้องป้องกันแก้ไขด้วยการปฏิรูปการศึกษาและการบังคับใช้กฎหมาย และเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบคุณธรรมและจริยธรรม แต่เหตุอีกส่วนหนึ่งเกิดจากกฎเกณฑ์การเมืองการปกครองที่ยังไม่เหมาะสมแก่ภาวการณ์บ้านเมือง และกาลสมัยให้ความสำคัญแก่รูปแบบและวิธีการยิ่งกว่าหลักการพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย หรือไม่อาจนำกฎเกณฑ์ที่มีอยู่มาใช้แก่พฤติกรรมของบุคคลและสถานการณ์ในยามวิกฤตที่มีรูปแบบ และวิธีการแตกต่างไปจากเดิมให้ได้ผล”

ที่สำคัญในหลวงรัชกาลที่ 10 พระองค์ท่านยังทรงมีกระแสพระราชปรารภที่คนไทยจักต้องน้อมนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 อยู่กับสังคมไทยตราบนานเท่านาน ดังความตอนหนึ่งว่า “ขอปวงชนชาวไทยจงมีความสมัครสโมสรเป็นเอกฉันท์ในอันที่จะปฏิบัติตามและพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ เพื่อธำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยและอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย และนำมาซึ่งความผาสุกสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลชัย อเนกศุภผล สกลเกียรติยศสถาพรแก่อาณาประชาราษฎรทั่วสยามรัฐสีมา สมดั่งพระบรมราชปณิธานปรารถนา ทุกประการเทอญ”

มิติใหม่ในการนำพาให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้มีการปฏิรูปตลอดจนแก้ไขและขจัดความชั่วร้ายในอดีตนั้น ศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ บอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากสภาพทางวิกฤตของบ้านเมืองและมีการสั่งสมบทเรียนจากรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านๆ มา ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 จึงมีจุดเด่นที่สำคัญคือ ยืนยันในจุดที่ดีของรัฐธรรมนูญในอดีต สิ่งที่ต้องเพิ่มเติมเข้ามาจะต้องทำให้บ้านเมืองเดินหน้าไม่ใช่วนหรือเวียนอยู่กับที่ ผลักดันให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้าในจุดที่บ้านเมืองอื่นมีสิ่งที่ประชาชนสัมผัสได้ เป็นต้น นั่นคือแนวคิดที่อยู่บนความเชื่อมั่นของคณะกรรมาธิการยกร่างที่ต้องการเห็นเมืองไทยเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่มีอนาคต

ไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะมีสาระสวยหรูแค่ไหน หากคนไทยและผู้มีบทบาทหน้าที่ในการบริหารจัดการบ้านเมืองแห่งอนาคตยังคงไว้ซึ่งการเมืองแบบไทยๆ ดังอดีตที่ผ่านมา ก็อย่าหวังได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะช่วยเสริมเติมเต็มให้สังคมและประเทศชาติก้าวไปสู่มิติแห่งการเมืองใหม่ที่แท้จริง

ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image