ถ้า ‘พรรคเกรียน’ ยังอยาก ‘เกรียน’ โดย กล้า สมุทวณิช

ใครหลายคนที่ลุ้นอยากจะให้มีพรรคการเมืองที่มีชื่อสั้นๆ ว่า “พรรคเกรียน” เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ในทางการเมืองนั้น คงจะต้องชะงักค้างไว้ก่อนชั่วคราว เมื่อ (รักษาการ) นายทะเบียนพรรคการเมือง มีหนังสือปฏิเสธการจองตั้งชื่อ “พรรคเกรียน” ของ “บก.ลายจุด” นายสมบัติ บุญงามอนงค์

แม้ว่าในหนังสือปฏิเสธดังกล่าวจะไม่ตัดสิทธิ บก.ลายจุด ในการจองชื่อเพื่อจดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมือง โดยเปิดโอกาสให้ไปหาชื่อใหม่มายื่นภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ แต่แน่นอนว่าในเมื่อเจตนารมณ์ตั้งต้นของ บก.ลายจุดนั้นต้องการตั้งพรรคการเมืองชื่อ “พรรคเกรียน” ให้เหมือนกับ “พรรคโจรสลัด” หรือไพเรตปาร์ตี้ในต่างประเทศ ด้วยการตั้งชื่อพรรคให้ดูสนุก เพื่อการขับเคลื่อนนโยบายของพรรคในรูปแบบใหม่ๆ ที่เน้นการมีส่วนร่วมจากการระดมความคิดและผู้คนด้วยกลไกประชาธิปไตยทางตรงผ่านเครือข่ายโซเชียลเน็ตเวิร์ก

อันที่จริง พรรคที่มีชื่อและแนวทางแปลกๆ ในต่างประเทศนั้นก็มีมาช้านานแล้ว หรืออย่างในประเทศไทยก่อนหน้านี้ก็เคยมีพรรคการเมืองชื่อแปลกๆ อยู่อย่างเช่น “พรรคคนขอปลดหนี้”

“พรรคถิ่นกาขาว” “พรรคขบวนการไฮด์ปาร์ค” หรือที่มีการมาจองชื่อพรรคใหม่ในรอบนี้ก็มี “พรรคคนเห็นแก่ตัว” เป็นต้น

Advertisement

แต่ในสภาวะการเมืองอันล่อแหลม ชื่อพรรคสั้นๆ แต่ความหมายมากมายตามแต่จินตนาการอย่าง “พรรคเกรียน” ก็ถูกปฏิเสธการตั้งชื่อเพื่อในขั้นตอนเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองที่ (รักษาการ) นายทะเบียนให้เหตุผล โดยยกข้อมูลจากรายการ “รู้รักภาษาไทย” ของราชบัณฑิตยสถานมาให้เหตุผลในการไม่รับจองชื่อ “พรรคเกรียน” โดยมีเหตุผลสำคัญอยู่ที่ว่า “…คำว่าเกรียน มีผู้นำไปใช้เป็นคำสแลงเพื่อเรียกบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว ทำอะไรโดยไม่สนใจใคร ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล หรือทำอะไรๆ ไปตามอารมณ์โดยปราศจากการไต่ตรอง เช่น หนังเรื่องนี้เป็นเรื่องของพวกเกรียน มีแต่เด็กชอบใช้อารมณ์ ไร้เหตุผล ในเว็บไซต์นี้ชอบมีพวกเกรียนเข้ามาก่อนกวนเสมอ และตามพจนานุกรมคำใหม่ เล่ม 2 ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ.2552 ให้ความหมายว่า เกรียน หมายถึง คนที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว ก่อกวน ไร้เหตุผล… ดังนั้น จากความหมายดังกล่าว การใช้ชื่อพรรคการเมืองว่า “พรรคเกรียน” จึงอาจทำให้สังคมเกิดความสับสนในความหมายอันอาจไม่มีความเหมาะสมและจำเป็น การขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนได้…”

ไม่ใช่เฉพาะพรรคเกรียนเท่านั้น ก่อนหน้านี้ “พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” ก็ถูกปฏิเสธกระบวนการจองชื่อเพื่อเตรียมการตั้งพรรคการเมืองนี้ ด้วยเหตุผลจากพจนานุกรมเช่นกันว่า “คอมมิวนิสต์” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 หมายถึง ลัทธิสังคมนิยมที่มีอุดมการณ์ให้รวมทรัพย์สินทั้งปวงเป็นสมบัติส่วนกลางของชุมชน ไม่ให้มีกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลและให้จัดสรรรายได้แก่บุคคลอย่างเสมอภาคกัน ส่วนคำว่า “ประชาธิปไตย” ตามพจนานุกรมฉบับเดียวกัน หมายถึง ระบอบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่ การถือเสียงข้างมากเป็นใหญ่ ดังนั้นคำว่า “คอมมิวนิสต์” จึงแตกต่างจากคำว่า “ประชาธิปไตย”

ดังนั้น การตั้งพรรค “คอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” จึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 2 ที่บัญญัติว่าประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงไม่รับคำขอแจ้งเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมือง

Advertisement

ซึ่งกรณีของพรรคคอมมิวนิสต์นั้น ในหนังสือแจ้งไม่รับจองชื่อก็ไม่มีการบอกให้ผู้ขอจัดตั้งพรรคไปแก้ไขชื่อพรรคหรือรายละเอียดอื่นๆ มาใหม่ภายใน 15 วัน เช่นเดียวกับกรณีของ “พรรคเกรียน” เราขอวางประเด็นว่าการวินิจฉัยของฝ่าย กกต.นั้นสมเหตุสมผล ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายหรือไม่เอาไว้ก่อน มากันที่ปัญหาแรกก่อนว่า หากทั้ง บก.ลายจุด และผู้ขอเตรียมการจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยนั้น ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยหรือการไม่รับคำขอแจ้งเตรียมการจัดตั้งพรรคดังกล่าวนั้น จะสามารถต่อสู้ในทางกฎหมายได้หรือไม่อย่างไร

“โดยปกติแล้ว” ในกรณีที่มีปัญหาโต้แย้งเกี่ยวกับการจัดตั้งพรรคการเมือง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 17 วรรคสี่ บัญญัติให้อยู่ในอำนาจพิจารณาวินิจฉัยของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” โดยผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองหรือหัวหน้าพรรคการเมืองมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านมติของคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยนายทะเบียนพรรคการเมืองในเรื่องปฏิเสธการขอจัดตั้งพรรคการเมืองหรือเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งมติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง

แต่เมื่อผู้เขียนใช้คำว่า “โดยปกติแล้ว” อยู่ในเครื่องหมายคำพูด ย่อมเข้าใจได้ว่า กระบวนการขอยื่นจัดตั้งพรรคการเมืองในทุกวันนี้อยู่ในภาวะ “ไม่ปกติ”

นั่นเพราะว่าการจัดตั้งพรรคการเมืองนั้นจะต้องเริ่มจากกระบวนการตามมาตรา 10 ที่กำหนดให้ผู้ร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองจะต้องประชุมร่วมกันโดยมีผู้เข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 250 คน เพื่อดำเนินการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมือง ได้แก่ การตั้งชื่อและชื่อย่อ หาภาพเครื่องหมายพรรค ร่างคำประกาศอุดมการณ์ทางการเมือง นโยบาย และข้อบังคับของพรรคการเมืองนั้น เลือกหัวหน้าพรรคและผู้บริหารพรรค รวมถึงดำเนินการอื่นๆ ตามที่กฎหมายและ กกต.กำหนด

ปัญหาอยู่ที่ในปัจจุบันนี้ยังมีประกาศ คสช.ฉบับที่ 57/2557 และคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ใช้บังคับอยู่ การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเช่นว่านี้จึงยังไม่อาจกระทำได้ ดังนั้นที่เราเคยได้ยินเสียงเรียกร้องจากบรรดาพรรคการเมืองให้ “ปลดล็อกพรรคการเมือง” ด้วยการยกเลิกหรือแก้ไขประกาศและคำสั่ง คสช.ทั้งสองฉบับนี้

อย่างไรก็ตาม ทางฝ่าย คสช.ก็ยังไม่อยากที่จะ “ปลดล็อก” ให้พรรคการเมืองในขณะนี้ (หรือในอนาคตอันใกล้) แต่ถ้าจะให้มีการเลือกตั้งตามโรดแมปได้ พรรคการเมืองไม่ว่าจะจัดตั้งขึ้นใหม่ หรือพรรคการเมืองเดิมที่มีอยู่แล้วจะต้องทำการจัดตั้งพรรค และดำเนินกิจกรรมทางการเมืองให้ได้ภายในกำหนดระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เพื่อให้มีสิทธิส่งผู้สมัครลงสนามการเลือกตั้ง (ถ้าจะมีขึ้น) ในปีหน้า 2562

แต่จะทำอย่างไร ในเมื่อการจัดตั้งพรรคการเมืองหรือการประชุมพรรคการเมืองก็ทำไม่ได้เพราะจะต้องมีการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกล็อกเอาไว้อยู่โดยคำสั่ง คสช.ทั้งสองฉบับที่ว่า

ใครสักคนในแผนกเนติบริกรของ คสช.จึงปิ๊งไอเดียว่า ถ้าอย่างนั้นก็ใช้วิธีว่าใครจะตั้งพรรคการเมืองก็ให้มาขออนุญาต คสช.ทำกิจกรรมทางการเมืองเพื่อเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมือง “คลายล็อก” ให้เป็นรายพรรคไปก็แล้วกัน จึงเป็นที่มาของคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจของมาตรา 44

จึงเป็นที่มาของกระบวนการที่ไม่มีอยู่ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองตามปกติ นั่นคือ กกต.จึงต้องเปิดให้ “จองชื่อพรรค” หรือการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมือง ให้ทาง กกต.เห็นชอบในการเตรียมจัดตั้งพรรคการเมืองเสียก่อน แล้วจึงค่อยนำหนังสือรับแจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมือง ไปขออนุญาต คสช.ให้ดำเนินกิจกรรมเพื่อการก่อตั้งพรรคการเมืองที่ได้ขอจองชื่อไว้ได้ ตามที่เขียนไว้ในข้อ 5 ของคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560

ดังนั้น เมื่อกระบวนการนี้เป็นเพียงการ “จองชื่อพรรค” หรือการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมือง เป็นกระบวนการเพื่อ “ขออนุญาต” ดำเนินการตามมาตรา 10 ซึ่งจึงยังไม่ถือเป็นการ “ขอจัดตั้งพรรคการเมือง”

ดังนั้น “คำขอเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมือง” นั้น ก็ไม่ใช่ “คำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง” ที่จะอาศัยช่องทางตามมาตรา 17 วรรคสี่ โต้แย้งความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมืองต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดไว้ว่าถ้าไม่เห็นด้วยกับการวินิจฉัยของนายทะเบียนพรรคการเมืองในเรื่องนี้แล้ว จะให้โต้แย้งด้วยวิธีการใด หรืออุทธรณ์ต่อศาลไหน

มีคำถามว่า ถ้าอย่างนั้นจะถือว่าหนังสือของ (รักษาการ) นายทะเบียนพรรคการเมืองดังกล่าว เป็นคำสั่งทางปกครองที่จะฟ้องร้องต่อศาลปกครองได้หรือไม่ ก็น่าสงสัยว่าถ้าการกระทำของ (รักษาการ) นายทะเบียนพรรคการเมืองถือเป็นการใช้อำนาจในฐานะของ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” เสียแล้ว ก็เท่ากับว่าเรื่องนี้เป็นการใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญขององค์กรอิสระ ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 197 วรรคสาม

เอาล่ะ สมมุติว่าเราจะยังไม่ยอมแพ้แก่เรื่องนี้ง่ายๆ งั้นจะใช้ช่องทาง “ฟ้องตรง” หรือ “ร้องทุกข์ทางรัฐธรรมนูญ” ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติว่า “บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยว่าการกระทำนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ” จะได้หรือไม่

การใช้สิทธิตามมาตราดังกล่าวจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 ซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 46 ประกอบมาตรา 48 สรุปได้ว่า บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรง และได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องจากการถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพนั้น จะมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้ ก็จะต้องยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเสียก่อนภายใน 90 วัน นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงการถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพดังกล่าว เว้นแต่การละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพนั้นยังคงมีอยู่ก็ให้ยื่นคำร้องได้ตราบที่การละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพนั้นยังคงมีอยู่

โดยผู้ตรวจการแผ่นดินจะต้องพิจารณาว่าจะยื่นคำร้องดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่รับคำร้องจากผู้ร้อง

โดยให้ผู้ตรวจการแผ่นดินแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ร้องทราบภายใน 10 วันนับแต่วันที่ครบกำหนดเวลาดังกล่าว เมื่อดำเนินกระบวนการยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินไปแล้ว ถ้าผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยไม่ยื่นคำร้อง หรือไม่ยื่นคำร้องภายในกำหนดเวลา 60 วัน ก็ให้ผู้ถูกละเมิดมีสิทธิยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือวันที่พ้นกำหนดเวลาที่ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

น่าสนใจว่า การใช้อำนาจของนายทะเบียนพรรคการเมืองในการไม่รับจองชื่อพรรค หรือไม่เห็นชอบในการเตรียมจัดตั้งพรรคการเมือง หรือผู้ยื่นขอเตรียมการจัดตั้งพรรคนั้นไม่เห็นด้วยกับความเห็นให้ไปแก้ไขชื่อพรรคหรือรายละเอียดของพรรคอื่นในกำหนดระยะเวลา 90 วันนั้น ไม่มีกฎหมายกำหนดว่าให้อยู่ในอำนาจของศาลใด ดังที่ได้วิเคราะห์ไปแล้ว และไม่ถือเป็นกรณีต้องห้าม ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 คือไม่ใช่ “การกระทำของรัฐบาล” และไม่มีรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้กำหนดกระบวนการร้องหรือผู้มีสิทธิขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย หรือไม่ได้มีกฎหมายอื่นใดบัญญัติขั้นตอนและวิธีการในเรื่องนี้ไว้เป็นการเฉพาะ ทั้งยังไม่ใช่เรื่องที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลอื่น หรือไม่เป็นเรื่องที่ศาลอื่นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว ไม่ใช่การกระทำของคณะกรรมการชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล และสุดท้ายคือไม่ใช่การกระทำที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของ ก.ต.ก.ศป. หรือเรื่องวินัยทหาร

ดังนั้น การใช้สิทธิร้องทุกข์ทางรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญตามที่ยกมาข้างต้น น่าจะเป็นช่องทางเล็กๆ ให้เหล่า “กบฏเกรียน” สามารถโต้กลับได้บ้าง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image