พลังดูดกับการแข่งขันเชิงนโยบาย : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

คุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี โต้ตอบเสียงวิจารณ์ที่มีต่อพรรคการเมืองขั้วที่สาม พรรคพลังดูด ว่าพรรคการเมืองต่างๆ ควรใช้เวลาคิดนโยบายใหม่ๆ มาแข่งขันกัน จะทำอย่างไรให้ประเทศก้าวไปข้างหน้าดีกว่าพูดกันแต่เรื่องเก่าๆ ดูดโน่น ดูดนี่ ไม่มีสาระ

ครับ ฟังดูดี มีเหตุผล น่าเก็บไปคิด แต่คิดไปคิดมา คิดให้ลึกแล้วมีประเด็นที่น่าพิจารณาให้ความเป็นธรรมกับผู้วิจารณ์เช่นกัน อย่างน้อยก็สองประการ

ข้อแรก การที่เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์พลังดูดก็เพราะเหตุว่าเป็นการใช้วิธีการเก่าๆ ที่พิสูจน์มาแล้วว่าล้มเหลว ไม่ได้ผล เพราะผู้คนสงสัยว่าการเข้ามารวมกันของกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่แสดงท่าทีจะร่วมกับพรรคพลังดูดนั้นเกิดขึ้นเพราะมีผลประโยชน์ต่างตอบแทน ที่เห็นชัดคือการได้ตำแหน่งแห่งหนในรัฐบาลเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน

ไม่ได้เกิดจากความเห็นพ้องในนโยบายหรืออุดมการณ์ทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ล้วนๆ กลุ่มการเมืองต่างๆ ที่ว่ามิได้บอกกล่าวกับสังคมอย่างจริงจังเป็นกิจจะลักษณะว่าแนวทางนโยบายของกลุ่มในเรื่องอะไร สอดคล้องเข้ากันได้กับแนวทางนโยบายของพรรคพลังดูดที่กำลังจะเกิดขึ้น

Advertisement

ที่สำคัญไม่ได้แสดงท่าทีจุดยืนต่อสาธารณะว่าเห็นด้วยหรือไม่กับสิ่งที่องค์กรอำนาจแม่น้ำ 5 สายวางแนวทางไว้ ตั้งแต่บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การกำหนดแผนปฏิรูปประเทศ 13 ด้าน ซึ่งล้วนเป็นสาระสำคัญในการนำพาประเทศเดินไปข้างหน้า ได้ศึกษา วิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนในเรื่องเหล่านี้ก่อนตัดสินใจร่วมหัวจมท้ายกับพรรคพลังดูดหรือไม่

กลุ่มการเมืองแทบทุกกลุ่มตัดสินใจไม่ขอยืนยันความเป็นสมาชิกกับพรรคการเมืองเดิมที่ตัวสังกัด ยกเหตุผลว่าต้องขอสอบถามความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ก่อน ฟังดูมีเหตุผลเช่นเดียวกัน แต่อีกด้านหนึ่งก็มีคำถามตามมาว่า แล้วการที่ตัดสินใจจะไปร่วมกับพรรคพลังดูดนั้น ท่านได้สอบถามความคิดเห็นพี่น้องประชาชนก่อนหรือไม่

ข้อสอง การแข่งขันเชิงนโยบายที่พรรคการเมืองทุกพรรคควรคิดเพื่อนำเสนอต่อพี่น้องประชาชนในสนามการเลือกตั้ง เป็นข้อเสนอแนะที่ควรค่าแก่การรับฟังและนำไปปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง

Advertisement

แต่หากมองถึงสภาพความเป็นจริงที่สวนทางกัน ด้านหนึ่งเรียกร้องให้เกิดการคิดนโยบายมาแข่งขันกัน แต่อีกด้านหนึ่งกลับปิดกั้น ไม่เปิดโอกาสให้มีการจัดประชุมระดมความคิดเห็น ทำกิจกรรมอย่างเปิดเผย โปร่งใส ให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ยังคงใช้อำนาจพิเศษจำกัดสิทธิ เสรีภาพ การแสดงออกของฝ่ายที่เห็นต่าง

ภายใต้สภาพการณ์และบรรยากาศเช่นนี้ ข้อเสนอแนะหรือเรียกร้องให้คิดนโยบายมาแข่งขันกันในเวทีการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร

ความหมายของการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น เมื่อไหร่ ยังไม่แน่นอนครั้งนี้ ไม่ใช่มีแต่การแข่งขันเรื่องความเก๋ากึ๊กของตัวบุคคลระดับเจ้าพ่อในแต่ละพื้นที่ และการแข่งขันเชิงนโยบายด้านต่างๆ เท่านั้น

ความหมายที่ทรงคุณค่าหรือการแข่งขันเชิงนโยบายสำคัญที่สุดก็คือ การแข่งขันเชิงนโยบายระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการอำนาจนิยมรวมศูนย์

ประชาธิปไตยที่ยอมรับความหลากหลาย ความเห็นต่าง เคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของทุกคน ทุกฝ่าย ใช้สันติวิธีในการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่ความรุนแรงจากอะไรก็แล้วแต่ และไม่สองมาตรฐาน

การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเป็นการตัดสินใจที่สำคัญของประชาชนผู้มาใช้สิทธิจะเลือกแนวทางใด จะเห็นชอบให้โมเดลการบริหารจัดการของแม่น้ำ 5 สายดำเนินต่อไปหรือเปลี่ยนแปลง กลับมาสู่การเมืองระบบปกติ มีการถ่วงดุลอำนาจ กำกับ ตรวจสอบโดยรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นหลัก

จะเป็นการพิสูจน์ความเชื่อระหว่างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจจะนำไปสู่ประชาธิปไตยทางการเมืองในที่สุด กับประชาธิปไตยทางการเมืองต่างหากที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ เพราะทำให้สังคมมีพลังอำนาจถ่วงดุล ต่อรองไม่ให้กลุ่มพลังทางเศรษกิจ ทุนข้ามชาติ ทุนชาติ ทุนใหญ่ เอารัดเอาเปรียบได้ประโยชน์จนเกินไป ปัญหาความเหลื่อมล้ำจึงยังดำรงอยู่อย่างน่าวิตก

สองแนวทางความเชื่่อที่ว่านี้ แนวทางใดจะทำให้สังคมเกิดความเป็นธรรม สมานฉันท์ ปรองดอง เป็นจริงมากกว่า

การดึงดูดกลุ่มการเมืองต่างๆ เข้ามาร่วมอยู่ใต้ชายคา เพื่อดำรงอำนาจจัดการประเทศต่อไป จึงต้องทำให้สังคมเห็นว่าการถกเถียง อภิปราย พูดคุยในเรื่องหลักใหญ่นี้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง เปิดเผยโปร่งใสจนได้บทสรุปที่สอดคล้องกัน

ไม่ใช่การแลกเปลี่ยน ยื่นหมูยื่นแมว แล้วแก้ตัวว่านายกฯไม่ได้เป็นผู้เสนอ แต่รัฐมนตรีต่างๆ เสนอมา สุดท้าย ก็เป็นไปเหมือนอดีตที่ผ่านมา พิสูจน์แล้วว่าอยู่ไม่ได้ ไปไม่รอดในที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image