รื่นร่มรมเยศ : อ่านพระไตรปิฎกระหว่างบรรทัด (จบ) โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

สัปดาห์ที่แล้ว เขียนถึงเรื่องการอ่านเอาความหมาย “ระหว่างบรรทัด” ที่ไม่ได้อ่านเอาความตามตัวอักษร เพื่อค้นหาแนวคิดใหม่ๆ แปลกๆ ให้ได้คำตอบที่ไม่เคยคิดว่าจะได้ และได้ยกเรื่องที่พระพุทธเจ้าสนทนากับอุปกาชีวกมาเป็นแซมเปิล (เป็นตัวอย่างนั้นแล) สัปดาห์นี้ขอยกตัวอย่างการอ่านระหว่างบรรทัดให้ฟังอีกเรื่องหนึ่งครับ

ชาวพุทธได้สร้างพระพุทธรูปปาง “นาคปรก” เป็นอนุสรณ์ ท่านคงนึกออกสมัยพระพุทธเจ้าประทับใต้ต้นมุจลินท์ (ต้นจิก) ฝนตกพรำๆ เจ็ดวัน พญานาคมาขดเป็นอาสนะให้พระองค์ประทับนั่งแผ่พังพานบังลมฝนให้ เมื่อฝนหยุดแล้วพญานาคแกจำแลงกายเป็นมานพน้อยยืนประคองอัญชลีนมัสการพระพุทธองค์ พระองค์ทรงเปล่งอุทานว่า “ความสันโดษของผู้เห็นธรรมเป็นสุข การกำจัดอัสมิมานะ (ความสำคัญว่าตัวกู) ได้ เป็นสุขอย่างยิ่ง”

อ่านความระหว่างบรรทัดแล้ว ได้ข้อคิดสนุกมาก เริ่มตั้งแต่พญานาคที่ว่านี้น่าจะหมายถึงใคร นาคจริงๆ ที่เชื่อว่าอยู่ที่นาคพิภพ หรือมนุษย์ชาวเขาเผ่านาคา (ที่บูชางู) หรือว่าอะไรกันแน่

ถ้าเป็นนาคมาบังลมฝนให้พระพุทธเจ้าทำไมหลังจากฝนหายแล้วจึงแปลงกายเป็นคน หรือว่านาคเป็นเพียงสัญลักษณ์บ่งบอกถึงอะไรกันแน่ คุณสามารถตั้งคำถามได้ร้อยแปด

Advertisement

บังเอิญเรื่องฉากนี้ ผมไม่ได้ร่วมตีความกับพระลูกศิษย์ในห้องเรียน ไม่เช่นนั้นคงมีอะไรแหลมๆ คมๆ ออกมาเยอะ ผมขออนุญาตตีความเองพอเป็นแนวทางดังนี้

นาค คงหมายถึงงูใหญ่ งูใหญ่นั้นเป็นสัญลักษณ์แทนความชั่วร้าย โรคร้ายหรือกิเลส การที่พระพุทธเจ้าทรงเอาชนะกิเลสได้เด็ดขาด เปรียบเสมือนมีอำนาจเหนืองูใหญ่

งูใหญ่ซึ่งมีพิษร้ายกาจไม่ทำร้ายพระองค์ แถมยังมาขดเป็นอาสนะให้ประทับนั่ง และแผ่พังพานบังลมฝนให้อีกต่างหาก หมายถึงพระองค์ทรงเอาชนะกิเลสได้เด็ดขาดแล้ว และการที่ทรงชนะกิเลสได้เป็นประโยชน์แก่พระองค์เป็นการส่วนตัว และอำนวยประโยชน์แก่สัตว์โลกทั่วไปอีกด้วย

Advertisement

ที่น่าคิดก็คือ การเปรียบงูใหญ่เหมือนความชั่ว, โรคร้าย หรือกิเลส เป็นแนวคิดค่อนข้าง “สากล” ศาสนาคริสต์กล่าวถึงซาตานมาหลอกให้อาดัมกับอีวาขัดคำสั่งพระเจ้า ก็มาในร่างงู

ในโรงพยาบาลศิริราชมีสัญลักษน์รูปงูถูกลูกศรสองดอกเสียบคอ นัยว่าลูกศรคือวิทยาการทางแพทย์สมัยใหม่ ที่จะฟาดฟันโรคร้ายให้สิ้นซาก แต่ดูยังไงก็ไม่น่าจะสิ้นซาก เพราะงูแกถึงจะโดนลูกศรเสียบคอ แกก็ยังยิ้มๆ ยังไงไม่รู้สินะครับ

มีข้อสังเกตแถมท้าย เมื่อพระโอรสองค์หนึ่งของในหลวงรัชกาลที่สี่ประสูตินั้น มีฟ้าฝนคะนอง น้ำไหลท่วมชาลาพระตำหนัก ในหลวงรัชกาลที่สี่ทรงรำลึกถึงมานพน้อยที่ยืนไหว้พระพุทธองค์ ขณะทรงประทับใต้ต้นจิก ดังกล่าวข้างต้น ทรงอุทานด้วยดีพระทัยว่าเห็นทีลูกคนนี้จะเจริญในพระศาสนาแน่จึงทรงขนานพระนามพระราชโอรสว่า “พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ” (คนนาคน้อย) ก็ทรงถือเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อพระพุทธเจ้าประทับใต้ต้นจิกนั้นแล

ประหลาดอย่างยิ่ง พระราชโอรสน้อยพระองค์นี้ เจริญพระชนมายุมาก็บรรพชาเป็นสามเณร และอยู่มาจนได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช จนสิ้นพระชนม์ในผ้าเหลือง

เจ้านายพระองค์นี้คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระผู้ประทานความเจริญแก่การศึกษาพระปริยัติธรรมแห่งวงการคณะสงฆ์นั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image