นพ.วิชัย เทียนถาวร : วัณโรคปอด ค้นให้พบ จบด้วยหาย

วัณโรค เป็นโรคที่พบได้บ่อยทั้งคนในเมืองและชนบท โดยเฉพาะตามแหล่งสลัม หรือในที่ที่ผู้คนอยู่กันแออัด ชาวบ้านเรียกว่า ฝีในท้อง มักจะพบในเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่เป็นเอดส์ หรือเบาหวาน ผู้ป่วยโรคไตหรือโรคเอสแอลอีที่ต้องกินยาเพร็ดนิโซโลนอยู่นานๆ พวกที่ติดยา ผู้ที่ร่างกายอ่อนแอจากการเป็นโรคอื่นๆ มาก่อน (เช่น หัด ไอกรน ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น) ผู้ที่ตรากตรำงานหนัก พักผ่อนไม่เพียงพอ ดื่มเหล้าจัด ขาดสารอาหาร ปัจจุบัน พบว่าผู้ป่วยโรคเอดส์เป็นวัณโรคแทรกซ้อนกันมาก และทำให้วัณโรคปอดที่เคยลดลง มีการแพร่กระจายมากขึ้น การรณรงค์เนื่องในวัน “วัณโรคโลก” จึงมุ่งให้มีการค้นหาผู้ป่วยเพื่อให้เข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง เพื่อลดการแพร่ระบาด ด้วย Key message “ค้นให้พบ จบด้วยหาย”

วัณโรค เกิดจากเชื้อซึ่งเป็นแบคทีเรียที่มีชื่อว่าไมโครแบคทีเรียมทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium tuberculosis) บางครั้งเรียกว่าเชื้อเอเอฟบี (AFB ซึ่งย่อมาจาก acid fast bacilli)

วัณโรคปอดมักจะติดต่อโดยการสูดเอาละอองเสมหะของผู้ป่วยที่ไอ จาม หรือหายใจรด ซึ่งจะสูดเอาเข้าไปในปอดโดยตรง ดังนั้น จึงมักมีประวัติสัมผัสใกล้ชิด (เช่น นอนห้องเดียวกัน หรืออยู่บ้านเดียวกัน) กับคนที่เป็นโรค ส่วนการติดต่อโดยทางอื่นนับว่ามีโอกาสน้อยมากที่อาจพบได้ ก็โดยการดื่มนมวัวดิบๆ ที่ได้จากวัวที่เป็นวัณโรค หรือโดยการกลืนเอาเชื้อที่ติดมากับอาหารหรือภาชนะ เชื้อจะเข้าทางต่อมทอนซิลหรือลำไส้ แล้วเข้าไปอยู่ในต่อมน้ำเหลือง ซึ่งบางครั้งอาจลุกลามเข้ากระแสเลือดไปยังปอด สมอง กระดูก ไต หรืออวัยวะอื่นๆ ได้

ผู้ป่วยมักจะได้รับเชื้อวัณโรคเข้าไปในร่างกายครั้งแรกในระยะที่เป็นเด็ก (บางรายอาจได้รับเชื้อตอนโตก็ได้) โดยไม่มีอาการแสดงแต่อย่างใด ยกเว้นบางรายอาจมีอาการของปอดอักเสบเล็กน้อยอยู่สักระยะหนึ่งแล้วหายไปได้เอง ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นกำจัดเชื้อวัณโรค คนส่วนมากที่ได้รับเชื้อวัณโรคครั้งแรกจึงมักจะแข็งแรงเป็นปกติดี แต่อย่างไรก็ตาม เชื้อวัณโรคที่ยังอาจหลงเหลืออยู่บ้าง ก็จะหลบซ่อนอยู่ในปอดและอวัยวะอื่นๆ อย่างสงบนานเป็นแรมปี ตราบใดที่ร่างกายแข็งแรงดีก็จะไม่เกิดโรคแต่อย่างใด แต่ถ้าต่อมา (อาจเป็นเวลาหลายปีหรือสิบๆ ปี) เมื่อร่างกายเกิดอ่อนแอด้วยสาเหตุใดก็ตาม เช่น เป็นเอดส์ ตรากตรำทำงานหนัก ดื่มสุราจัด ติดยาเสพติด เป็นต้น เชื้อที่หลงซ่อนอยู่ก็จะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนจนทำให้เกิดเป็นวัณโรคขึ้นได้โดยไม่ต้องรับเชื้อมาจากภายนอก ส่วนมากจะเกิดเป็นวัณโรคปอด ซึ่งจะแสดงอาการดังกล่าวได้ต่อไป นอกจากนี้คนบางคนที่รับเชื้อวัณโรคเข้าร่างกายครั้งแรก เชื้ออาจจะลุกลามจนกลายเป็นวัณโรคในเวลาอันสั้น ซึ่งอาจกลายเป็นวัณโรคร้ายแรงได้

Advertisement

อาการ
มักจะค่อยๆ เป็นด้วยอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด อาจมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว หรือเป็นไข้ต่ำๆ ตอนบ่ายๆ มีเหงื่อออกตอนกลางคืนต่อมาจึงมีอาการไอ ระยะแรกๆ ไอแห้งๆ ต่อมาจะมีเสมหะ ไอมากเวลาเข้านอน หรือตื่นนอนตอนเช้าหรือหลังอาหาร อาการไข้และไอมักจะเรื้อรังเป็นแรมเดือน บางรายอาจรู้สึกแน่นหรือเจ็บหน้าอกโดยที่ไม่มีอาการไอ ในรายที่เป็นมากจะหอบหรือไอเป็นเลือดก้อนแดงๆ หรือดำๆ แต่น้อยรายที่จะมีเลือดออกมาถึงกับช็อก บางรายอาจมีอาการเป็นไข้นานๆ เป็นแรมเดือน โดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ในรายที่เป็นน้อยๆ อาจไม่มีอาการอะไรเลยและมักตรวจพบโดยบังเอิญจากการเห็น “จุด” ในปอด ในภาพถ่ายเอกซเรย์ ถ้าเกิดในเด็กอาการมักจะรุนแรงกว่าผู้ใหญ่ เพราะมีภูมิคุ้มกันน้อย อาจแพร่กระจายไปตามกระแสเลือด เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น กระดูก ไต ลำไส้ ฯลฯ

สิ่งตรวจพบ
ซูบผอม อาจมีอาการซีด หายใจหอบหรือมีไข้การใช้เครื่องฟังตรวจปอดส่วนใหญ่จะไม่มีเสียงผิดปกติ บางรายอาจได้ยินเสียงกรอบแกรบ (crepitation) ซึ่งมักจะได้ยินตรงบริเวณยอดปอดทั้ง 2 ข้าง ถ้าได้ยินไปทั่วปอดทั้ง 2 ข้าง แสดงว่าอาการลุกลามไปมาก ถ้าปอดข้างหนึ่งเคาะทึบ และไม่ได้ยินเสียงหายใจก็แสดงว่ามีภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด ในรายที่มีอาการหอบเหนื่อยมากนานๆ อาจมีอาการนิ้วปุ้ม (clubbing of fingers) ในรายที่เป็นน้อยๆ อาจตรวจไม่พบอะไรชัดเจนก็ได้

อาการแทรกซ้อน
ที่สำคัญคือ 1.เยื่อหุ้มสมองอักเสบ, ฝีปอด (lung abscess) ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด 2.วัณโรคต่อมน้ำเหลือง (พบบ่อยที่ข้างคอ อาจโตเป็นก้อนร่วมกับไข้เรื้อรัง หรือโตต่อกันเป็นสายเรียกว่าฝีประคำร้อย) 3.ไอออกเป็นเลือดถึงช็อก ที่พบได้น้อยลงไป ได้แก่ วัณโรคกระดูก (มักพบที่กระดูกสันหลังมีอาการปวดหลังเรื้อรัง หลังคดโก่งและกดเจ็บ) 4.วัณโรคลำไส้ (มีอาการไข้ ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเดินเรื้อรัง ซูบผอม ถ้าลุกลามไปที่เยื่อบุช่องท้องทำให้เกิดอาการท้องเดินได้) 5.วัณโรคไต (ตรวจพบเม็ดเลือดขาวในปัสสาวะ หรือเป็นกรวยไตอักเสบเรื้อรังโดยตรวจไม่พบเชื้อชนิดอื่น วัณโรคกล่องเสียง (เสียงแหบ) เป็นต้น

Advertisement

การรักษา
1.หากสงสัยควรแนะนำไปตรวจที่โรงพยาบาลมักจะวินิจฉัยโดยการเอกซเรย์ปอด ตรวจเสมหะโดยวิธีย้อมสีแอซิดฟาสต์ (acid-fast stain) บางรายอาจต้องนำเสมหะไปเพาะเลี้ยง เพื่อค้นหาเชื้อวัณโรค (AFB) หรือทำการทดสอบทูเบอร์คูลิน (tuberculin test) การรักษา : จะต้องให้ยารักษาวัณโรค อย่างน้อย 2 ชนิดขึ้นไป โดยมีไอเนเอช เป็นยาหลัก 1 ชนิด แล้วยาอื่นร่วมด้วยอีก 1-3 ชนิด การใช้ยาเพียงชนิดเดียวมักจะรักษาไม่ได้ผล ยาที่ใช้รักษาวัณโรคจึงมีสูตรให้เลือกอยู่หลายแบบ เช่น

สูตรยา 6 เดือน ไอเอ็นเอช+ไรแฟมพิชิน+ไพราซินาไมด์+สเตรปโตไอซิน นาน 2 เดือนตามด้วย ไอเอ็นเอช+ไรแฟมพิซิน อีก 4 เดือน หรือไอเอ็นเอช+ไรแฟมพิชิน+ไพราซินาไมด์+อีแทมบูทอล นาน 2 เดือน ตามด้วย ไอเอ็นเอช+ไรแฟมพิซิน อีก 4 เดือน

สูตรยา 8 เดือน ไอเอ็นเอช+ไรแฟมพิชิน+ไพราซินาไมด์+สเตรปโตไมซิน นาน 2 เดือน ตามด้วย ไอเอ็นเอช+อีแทมบูทอล อีก 6 เดือน หรือไอเอ็นเอช+ไรแฟมพิชิน+ไพราซินาไมด์+อีแทมบูทอล นาน 2 เดือน ตามด้วย ไอเอ็นเอช+อีแทมบูทอลอีก 6 เดือน

สูตรยาข้างบนนี้ใช้สำหรับผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ ที่ตรวจพบเชื้อในเสมหะและผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ที่มีอาการรุนแรง หรือเป็นวัณโรคที่อวัยวะอื่นๆ นอกจากปอด ส่วนผู้ป่วยรายเก่าที่กำเริบใหม่ หรือภาวะอื่นๆ จะมีสูตรยาที่แตกต่างกันไป ซึ่งไม่ขอกล่าวในที่นี้ นอกจากนี้ให้รักษาตามอาการ เช่น ซีดหรือเบื่ออาหารก็ให้ยาเม็ดเฟอร์รัสซัลเฟต และวิตามินรวม อย่างละ 2-3 เม็ดต่อวัน ถ้าไอมีเสลดให้ดื่มน้ำอุ่นมากๆ และอาจให้ยาขับเสมหะ เช่น มิสต์แอมมอนคาร์บ 0.5-1 ช้อนโต๊ะทุก 4-6 ชั่วโมง ควรให้บำรุงร่างกายด้วยอาหารโดยเฉพาะพวกโปรตีน (เนื้อ นม ไข่ ถั่วต่างๆ)

2.ในรายที่มีอาการแทรกซ้อน เช่น ไอออกเป็นเลือดมากๆ หรือหอบ ให้ส่งโรงพยาบาลด่วน 3.เมื่อได้ยารักษาสักระยะหนึ่ง (2-6 สัปดาห์) อาการค่อยๆ ดีขึ้น ไข้ลดลง ไอน้อยลง กินข้าวได้มากขึ้น น้ำหนักเพิ่ม ควรให้ยาต่อไปทุกวันจนครบกำหนดจึงจะหายขาดได้ 4.ถ้าสงสัยมีโรคเอดส์ร่วมด้วยควรตรวจหาเชื้อเอสไอวี

ข้อแนะนำ
มี 7 ข้อ ดังนี้ : 1.วัณโรคไม่ใช่โรคที่น่ากลัว หรือน่ารังเกียจและเป็นโรคที่มีทางรักษาให้หายขาดได้ โดยการกินยารักษาวัณโรคอย่างน้อย 2 ชนิด ติดต่อกันทุกวันเป็นเวลานาน 6-8 เดือน ผู้ป่วยมักเข้าใจผิดว่าเมื่อกินยาได้สัก 2-3 เดือน แล้วอาการดีขึ้นก็นึกว่าหาย จึงไม่กินยาต่อ การกินยาบ้างไม่กินยาบ้าง หรือกินไม่ได้ตามกำหนด มีแต่ทำให้เกิดปัญหาเชื้อโรคดื้อยา ทำให้กลายเป็นวัณโรคเรื้อรังรักษายากและสิ้นเปลืองเงินทองและเวลา ดังนั้น ผู้ป่วยโรคนี้ควรไปรักษาตามแพทย์นัดและกินยาทุกวันอย่าได้ขาด ญาติ สมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนบ้าน ควรมีส่วนร่วมกระตุ้นและกำกับให้ผู้ป่วยกินยาทุกวัน ถ้าทำได้ควรให้กินต่อหน้าและจดบันทึกในปฏิทินทุกวันเพื่อกันลืม เมื่ออาการดีขึ้นแพทย์จะตรวจเสมหะซ้ำ ในเดือนที่ 2, 5 และ 6 หลังเริ่มให้การรักษา ผู้ป่วยที่อยู่ในเขตชนบท อาจไปรับยาได้ที่สถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลประจำอำเภอ ส่วนผู้ป่วยที่อยู่ในเมืองอาจไปรับยาที่ศูนย์บริการสาธารณสุขหรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดและสะดวก (สำหรับผู้ที่ยากจน ไม่มีเงินเสียค่ายา ก็สามารถรับยาได้ฟรีจากสถานบริการของรัฐบาล)

2.ผู้ป่วยควรงดบุหรี่และเหล้า ควรกินอาหารพวกโปรตีนให้มากๆ ควรอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก เวลาไอหรือจาม ควรใช้ผ้าหรือกระดาษปิดปาก ควรบ้วนเสมหะลงในกระโถนหรือกระป๋องที่มีน้ำยาทำลายเชื้อ เช่น ไลซอล (Lysol) แล้วนำไปทิ้งในส้วมหรือขุดหลุมฝังเสีย

3.ในระยะก่อนการรักษา หรือกินยาได้ไม่ถึง 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยควรนอนแยกต่างหาก อย่านอนรวมหรืออยู่ใกล้ชิดกับคนอื่นๆ อย่าไอ จาม หรือหายใจรดหน้าคนอื่น (แม่ที่เป็นวัณโรคอย่ากอดจูบลูก หรือไอ หรือหายใจรดหน้าลูก ทางที่ดีอย่าให้ลูกดูดนมตัวเอง) เมื่อกินยาได้ 2 สัปดาห์ไปแล้ว เชื้อจะถูกทำลายและไม่มีการแพร่ให้คนอื่นต่อไป จึงไม่ต้องแยกออกอย่างเคร่งครัดเหมือนระยะก่อนการรักษา เช่น ไม่จำต้องแยกถ้วย ชาม สำหรับอาหารหรือเครื่องใช้ออกต่างหาก เมื่อรู้สึกแข็งแรงดีแล้วผู้ป่วยสามารถทำงาน เรียนหนังสือ หรือออกกำลังกายได้เช่นปกติ

4.ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยหรือสมาชิกในครอบครัวของผู้ป่วย (โดยเฉพาะเด็กเล็ก) ควรไปให้แพทย์ตรวจหรือเอกซเรย์ปอดให้แน่ใจว่าติดเชื้อวัณโรคจากผู้ป่วยหรือไม่ แพทย์อาจให้ยารักษาหรือให้ยาป้องกันตามแต่จะพิจารณาเห็นสมควร

5.ผู้ที่มีอาการสงสัยว่าจะเป็นวัณโรค เช่น เป็นไข้เรื้อรัง เบื่ออาหารและน้ำหนักลด ไอเป็นเลือดหรือไอนานเกินกว่า 3 สัปดาห์ โดยไม่ทราบสาเหตุ อ่อนเพลียเหนื่อยง่ายโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น ควรให้แพทย์ตรวจเช็กร่างกาย ถ้าเป็นโรคนี้จะได้รักษาเสียแต่เนิ่นๆ เป็นการป้องกันมิให้โรคลุกลาม และมิให้แพร่เชื้อให้ผู้อื่นต่อไป

6.โรคนี้ติดต่อโดยการสูดหายใจเอาเชื้อโรคที่ผู้ป่วยไอ จาม หรือหายใจรด (เพราะความใกล้ชิดหรืออยู่ในห้องที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวกร่วมกับผู้ป่วย) เป็นสำคัญ ดังนั้น พยายามอย่าเข้าไปในที่ที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เช่น ห้องที่ปิดประตูหน้าต่างมิดชิด เป็นต้น

7.คนที่ได้รับเชื้อวัณโรค หากร่างกายแข็งแรงและมีภูมิคุ้มกันโรคดี จะไม่ป่วยเป็นโรคนี้ (ในบ้านเราในผู้ใหญ่เกือบทุกคนเคยได้รับเชื้อวัณโรคกันแล้ว) แต่เชื้อจะหลบซ่อนอยู่ภายในร่างกาย เมื่อร่างกายทรุดโทรม เชื้อก็จะกำเริบและกลายเป็นวัณโรคได้ โดยไม่ต้องได้รับเชื้อจากภายนอกมาใหม่

ท้ายสุดนี้ผู้เขียนขอเชิญชวนให้พี่ๆ น้องๆ คนไทยทั้งประเทศสนใจด้าน “สร้างสุขภาพ นำซ่อมสุขภาพ จึงควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ด้าน ‘3 อ. 3 ลด’ 3 อ. : โดย อ.1 การออกกำลังกาย อ.2 การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ อ.3 สุขภาพจิตอารมณ์ดี 3 ลด : 1.ลดเหล้า 2.ลดบุหรี่ 3.ลดอ้วน การละเว้นจากการสูบบุหรี่หรือดื่มสุราจัด การไม่ตรากตรำงานหนักเกินควร การพักผ่อนให้เพียงพอและอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก

รวมถึงมีมาตรการที่สำคัญยิ่งในการป้องกัน 3 ด้าน อย่าให้ขาดตกบกพร่องเด็ดขาด คือ : 1.ฉีดวัคซีนบีซีจี (BCG) ในเด็กและบุคคลที่แสดงผลลบต่อการทดสอบทูเบอร์คูลิน (tuberculin test) เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันวัณโรค ในปัจจุบันตามโรงพยาบาลต่างๆ จะฉีดวัคซีนนี้ให้แก่เด็กตั้งแต่แรกเกิด โดยทั่วไปมักจะฉีดให้เพียงเข็มเดียว 2.ในคนที่สัมผัสโรค โดยเฉพาะในทารกและเด็กเล็ก แพทย์อาจให้ไอเอ็นเอชกินป้องกันเป็นเวลา 1 ปี 3.รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ จะช่วยให้เราปลอดวัณโรคได้ตลอดชีวิตไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image