สุจิตต์ วงษ์เทศ : ศรีวิชัยไม่ใช่อาณาจักรมหึมา แต่เป็นรัฐเครือข่ายของกลุ่มเกาะต่างๆ

เรือของชาวเกาะชาวน้ำทะเลสมุทร “ศรีวิชัย” ใช้ขนถ่ายสินค้าข้ามภูมิภาคอาเซียนโบราณ สันนิษฐานว่ามีโครงสร้างสำคัญอย่างเดียวกับเรือสลักที่ปราสาทบรมพุทโธ (โบโรบูดูร์) บนเกาะชวา อินโดนีเซีย

รัฐศรีวิชัย มีพัฒนาการจากการรวมตัวของชาวเกาะชาวน้ำ ซึ่งอยู่ตามเกาะและกลุ่มเกาะต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนโบราณ
เพื่อสร้างเครือข่ายการค้าทางทะเลสมุทร โดยเฉพาะกับจีนและอินเดีย ราวหลัง พ.ศ. 1000 จึงไม่ใช่รัฐที่ต้องมีพื้นที่กว้างขวางทางการเกษตร
แต่ความเคลื่อนไหวของคนเหล่านี้ในประวัติศาสตร์ต้องเกี่ยวพันมากอย่างยิ่งกับคนชายฝั่งและคนบนบก เป็นส่วนสำคัญของการค้าขายแลกเปลี่ยนในทะเลใต้และการค้าโลกตั้งแต่ครั้งอดีตกาลมาจนปัจจุบัน เช่น เกิดชุมชนการค้า หรือเมืองชายฝั่งบริเวณชุมทางบนเส้นทางการค้าทะเลสมุทรระหว่างอินเดียกับจีน
[สรุปจากหนังสือ ประวัติศาสตร์มหาสมุทรอินเดีย ของ ดร. ธิดา สาระยา สำนักพิมพ์เมืองโบราณ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2554]

รัฐศรีวิชัย ไม่ควรเรียกเป็น “อาณาจักรศรีวิชัย” จะทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะลักษณะโครงสร้างทางการเมืองยุคแรกๆ ของอาเซียนโบราณเป็นระดับรัฐเอกราชขนาดเล็กๆ กระจายทั่วไป ยังไม่รวมตัวกันแข็งแรงใหญ่โตขนาดอาณาจักร (ตามความหมายของประวัติศาสตร์ยุโรป)
อาณาจักรศรีวิชัย เป็นประวัติศาสตร์เพิ่งสร้างใหม่ (อันเป็นผลพวงจากยุคล่าเมืองขึ้น) ด้วยพยานหลักฐานโบราณคดีที่มีน้อยนิด โดยยกประวัติศาสตร์ศิลปะเป็นเครื่องมือชี้ขาดอำนาจทางการเมือง ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เลยมีช่องโหว่เป็นจุดอ่อนให้ทักท้วงถกเถียงมากมายก่ายกองไม่เป็นที่ยุติ สืบเนื่องจากคำอธิบายตามแนวคิดประวัติศาสตร์ศิลปะแบบล่าเมืองขึ้นนั่นเอง

พระบรมธาตุนครศรีธรรมราชมีความสำคัญในตัวเอง ไม่จำเป็นต้องลากจูงไปให้ถึงรัฐศรีวิชัยโดยไม่จำเป็น เพราะจะมีปัญหาโต้แย้งมากในทางสากล แล้วส่งผลเสียมากกว่าดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image