‘การพึ่งตนเอง’ มาตรการสำหรับแปรสภาพ จินตนาการสู่ความเป็นจริง : โดย ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร

การสร้างจินตนาการ (imagination) ด้วยความปรารถนาดีในการที่จะได้เห็นบ้านเมืองมีความเจริญรุ่งเรืองทัดเทียมนานาชาติเป็นสิ่งที่น่าสรรเสริญ แต่จินตนาการกับความเป็นจริงเป็นคนละเรื่องกัน

เราอาจจินตนาการว่าในอนาคตอันไม่ยาวไกลนัก เมืองไทยจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว มีรายได้สูง ปราศจาก “กับดัก” ในเรื่องความยากจน, ความเหลื่อมล้ำในเศรษฐกิจและสังคมของคนในชาติ, และการผลิตที่ “ทำมาก ได้น้อย” ใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ, และมีพลเมืองที่รู้จักคิด, เฉลียวฉลาด ใฝ่หาความรู้ และปรองดอง ฯลฯ

ความจริงการที่จะจินตนาการให้เลิศเลอไปกว่านี้ก็สามารถทำได้ เช่น กรุงเทพมหานครเป็นเมืองสวรรค์ในทุกมิติ, ประเทศไทยเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและเป็นศูนย์กลางความเจริญของโลก และคนไทยมีอัจฉริยภาพในทางวิชาการ ได้รับรางวัลโนเบลในสาขาต่างๆ ทุกปี ฯลฯ

แต่การที่จะแปรสภาพจินตนาการไปสู่ความเป็นจริง (reality) นั้นไม่อาจกระทำได้ด้วยวาทกรรมหรือด้วยโครงการและแผนงานต่างๆ ที่มุ่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าหรือที่มีนัยทางการเมืองมาลดการที่จำเป็นสำหรับภารกิจดังกล่าว นี้คือหลักคิดและจิตสำนึกที่ถูกต้อง

Advertisement

การศึกษาประวัติศาสตร์ที่เน้นสาระ มิใช่รูปแบบอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์เศรษฐกิจจะบอกให้ทราบว่า “หลักคิดและจิตสำนึก” ที่จำเป็นที่สุดสำหรับการเริ่มต้นวิวัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองก็คือ “การพึ่งตนเอง” โดยแต่ละชาติไม่ว่าจะเป็นชาติยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น ต่างก็มุ่งไปที่การเพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งตนเองอย่างเต็มพิกัด และประสบความสำเร็จ

การพึ่งตนเองมิได้หมายความว่าจะไม่มีการพึ่งพาซึ่งกันและกันระหว่างชาติต่างๆ ที่อยู่ร่วมโลกกัน หรืออยู่ร่วมภูมิภาคเดียวกัน การพึ่งพาซึ่งกันและกันเป็นธรรมชาติของสังคมมนุษย์ที่มีความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ หากการพึ่งพาซึ่งกันและกันจะก่อประโยชน์จริงๆ ก็ต่อเมื่อแต่ละชาติมีขีดความสามารถในการพึ่งตนเองในระดับที่เหมาะสม

หากชาติหนึ่งไม่พึ่งตนเอง หรือพึ่งตนเองไม่ได้ โดยมุ่งแต่จะพึ่งชาติอื่นตลอดกาล ชาตินั้นก็ไม่มีโอกาสที่จะพัฒนาได้เท่าเทียมกับชาติอื่นๆ

Advertisement

ในเบื้องแรก “การพึ่งตนเอง” เป็นที่ตัดสินและจิตสำนึก ส่วนขีดความสามารถในการพึ่งตนเองจะเป็นในด้านใดและในระดับใด เป็นประเด็นที่ตามมา

หลักคิดและจิตสำนึกในการพึ่งตนเองน่าที่จะเป็นหลักคิดและจิตสำนึกของทุกชาติ ในขณะที่ขีดความสามารถในการพึ่งตนเองจะแตกต่างกันไปตามสถานภาพและสิ่งแวดล้อม โดยที่ขีดความสามารถในการพึ่งตนเองเป็นเครื่องบ่งชี้ระดับของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้นทุกประเทศที่ปรารถนาในการพัฒนา จึงได้พยายามที่จะเพิ่ม หรือยกระดับขีดความสามารถในการพึ่งตนเอง นอกจากการมีหลักคิดและจิตสำนึกในการพึ่งตนเองเป็นฐานอยู่แล้ว จะมีแต่บางประเทศเท่านั้นที่ปราศจากหลักคิดและจิตสำนึกดังกล่าว และด้วยเหตุนั้นจึงไม่ให้ความเอาใจใส่ต่อการเพิ่มหรือยกระดับขีดความสามารถในการพึ่งตนเองอย่างจริงจัง

ในบรรดาขีดความสามารถในการพึ่งตนเองซึ่งมีอยู่หลายประการ อาทิ ในเรื่องอาหาร, พลังงาน, การศึกษาและสาธารณสุข และแม้กระทั่งความมั่นคง ที่สำคัญที่สุดสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมก็คือ ขีดความสามารถในการพึ่งตนเองทางเทคโนโลยี (technological self-reliance) ทั้งนี้เพราะ “เทคโนโลยีวิทยาศาสตร์” (science-based technology) กำหนดขีดความสามารถในการพัฒนาประเทศ ดังคำกล่าวที่ว่า “ผู้ใดครองเทคโนโลยี ผู้นั้นครองเศรษฐกิจ” และ “ผู้ใดครองเทคโนโลยี ผู้นั้นครองอำนาจ”

สหรัฐอเมริกาสามารถครองเศรษฐกิจและครองอำนาจในโลกอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก็เพราะครองเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ แต่เมื่อมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 21 ประเทศจีนได้ก้าวเข้ามาท้าทายฐานะของสหรัฐ เพราะจีนสามารถพัฒนาขีดความสามารถในการพึ่งตนเองทางเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว

ขีดความสามารถในการพึ่งตนเองทางเทคโนโลยีมิได้หมายเพียง “การรู้จักใช้เทคโนโลยี” อย่างที่เข้าใจกัน หากหมายรวมถึง “การเป็นเจ้าของและสามารถกำกับเทคโนโลยี” ด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นด้วยการผลิตสรรพสิ่งได้เอง, มิใช่สามารถใช้ประโยชน์สิ่งที่ซื้อมา หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ผลิตขึ้นภายในประเทศ ไม่ว่าจะโดยผู้ผลิตซึ่งเป็นเจ้าของเทคโนโลยี หรือผู้ผลิตที่ใช้เทคโนโลยีสำเร็จรูปนำเข้าทำการผลิต

ขีดความสามารถในการพึ่งตนเองทางเทคโนโลยีเกิดจากการสร้างเทคโนโลยีขึ้นมาเอง เช่นในประเทศที่มีระดับการพัฒนาสูง หรือจากการ “ถ่ายทอดเทคโนโลยี” (technology transfer) อย่างเป็นระบบ จากประเทศผู้สร้างเทคโนโลยีมากำกับเองเช่นผู้เป็นเจ้าของเทคโนโลยี เช่นกรณีของหลายประเทศในส่วนต่างๆ ของโลกจนกระทั่งสามารถผลิตสินค้าต่างๆ ได้เอง อย่างประเทศเริ่มต้นจาก “การรับถ่ายทอดเทคโนโลยี” และพัฒนาขีดความสามารถในการพึ่งตนเองขึ้นไปเป็นลำดับ จนกระทั่งถึงขั้นที่สร้างเทคโนโลยีได้เอง การสร้างเทคโนโลยีไม่จำเป็นจะต้องเริ่มจากการศึกษาค้นพบความรู้ทางวิทยาศาสตร์หรือแม้กระทั่งการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์สร้างประดิษฐกรรม (invention) หากจะต่อยอดที่สร้างนวัตกรรม (innovation) จากประดิษฐกรรมได้ นวัตกรรมสำหรับการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ ไม่สามารถเนรมิตขึ้นมาจากจินตนาการที่ปราศจากฐานขีดความสามารถในการพึ่งตนเองทางเทคโนโลยีที่เข้มแข็งในระดับหนึ่ง

จินตนาการที่ปราศจากหลักคิดและจิตสำนึกในการพึ่งตนเอง ไม่อาจที่จะแปรสภาพไปสู่ความเป็นจริงได้ และย่อมจะจางหายไปตามกาลเวลาและวาสนาบารมี

ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image