ชราธิปไตย (GERONTOCRACY) : โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ในสัปดาห์นี้คงมีคนเขียนกันเยอะเรื่องของผลการเลือกตั้งและการเมืองหลังการเลือกตั้งของมาเลเซีย เมื่อคุณปู่มหาธีร์ได้กลับเข้ามามีอำนาจ

ในบ้านเราเมื่อพูดถึงเรื่องนี้ บางคนอาจจะเต็มไปด้วยความหวัง บางคนอาจจะรู้สึกว่าก็ไม่มีอะไรใหม่ เพราะมหาธีร์ก็เป็นคนในระบบเก่า ที่หันมาเข้ากับฝ่ายค้าน แต่อย่างน้อยคุณปู่ก็เลือกวิธีการเข้าสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้ง

แต่คนที่สนใจเรื่องมาเลเซียเขาก็คิดว่าเรื่องใหญ่มาก เพราะมันเป็นการล้มอำนาจของโครงสร้างพรรคการเมืองและระบบชนชั้นนำทางการเมืองของมาเลเซียที่ลงหลักปักฐานตั้งแต่การเปลี่ยนผ่านประเทศจากระบบอาณานิคมมาสู่โลกหลังอาณานิคม

รวมทั้งเรื่องของความหวังและจินตนาการใหม่ๆ ที่พูดถึง “ความเป็นไปได้ทางการเมือง” ผ่านการปรองดองและสมานฉันท์กันของอดีตคู่ขัดแย้งอย่างมหาธีร์ กับอันวาร์ และฝ่ายค้าน

Advertisement

ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือ เริ่มมีการรายงานข่าวออกมาว่า แม้ว่าการเมืองในมาเลเซียซึ่งยังคงวางอยู่บนเรื่องของความตึงเครียดทางเชื้อชาติของคนมาเลย์ จีน และอินเดีย แต่ในรายละเอียดของแต่ละท้องถิ่น ความกลืนกลายเข้าหากันของคนแต่ละเชื้อชาติก็มีมากขึ้น และที่สำคัญการที่คนมาเลย์เองจะเริ่มยอมรับคนเชื้อชาติอื่นก็ดูจะมีมากขึ้น

สำหรับผมที่น่าสนใจก็คือ เมื่อแนวคิดแบบพรรคใหญ่หลายมุ้งแบบอัมโน ที่เคยกำหนดจินตนาการของนักการเมืองและชนชั้นนำไทยว่าคือ “ต้นแบบ” ของ “รัฐบาลแห่งชาติ” นั้นสามารถถูกโค่นล้มลงได้ ความคิดเรื่องรัฐบาลแห่งชาติที่ล่าสุดในมาเลเซียถูกมองว่าเป็น “รัฐโกงแห่งชาติ” ก็คงไม่ได้เป็นสิ่งที่หวือหวาในประเทศนี้อีกต่อไป ทีนี้ก็ต้องมาดูต่อว่า สำหรับบ้านเรานั้นเราจะสามารถคิดว่าจะเกิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ ทางการเมืองแทนระบบ “ดูดตามครรลอง” ได้มากน้อยแค่ไหนล่ะครับ

สัปดาห์นี้ผมจะขอเสนออะไรที่ไม่เกี่ยวมากนักกับกระแสและสิ่งที่เขียนมาตอนต้นสักหน่อย (แม้ว่าจะต่อกันนิดนึง เพราะมหาธีร์นั้น กลายเป็นผู้นำที่มีอายุมากที่สุดในโลก คือ 92 ปี) ก็คือ อยากเขียนเรื่อง “ชราธิปไตย” (gerontocracy – อ่านแบบไทยๆ คือ “เจอรอนโตเครซี” หรือ “เจอรอนต๊อคเครซี”) ซึ่งถ้าจะแปลให้สวยก็ต้องเขียนว่า “วุฒิชนธิปไตย” แต่ความจริงก็ไม่แน่หรอกครับ เพราะในพจนานุกรมไทย คำว่า ภูมิรู้ ความเจริญ ความงอกงาม และความเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งก็ไม่แน่ว่าระบบการปกครองที่แปลง่ายๆ ว่าปกครองโดยคนแก่นั้น จะต้องเป็นคนแก่ที่มีความรู้ หรือมีความเป็นผู้ใหญ่

ที่ตอบแบบกำปั้นทุบดินที่สุดก็คือ คนแก่เหล่านั้นมีอำนาจละครับ

แต่ถ้าจะเอาคำจำกัดความที่เป็นระบบหน่อย ในสารานุกรม wikipedia ได้อธิบายเอาไว้ว่า ชราธิปไตยนั้น คือหนึ่งในรูปแบบการปกครองที่เป็นการปกครองโดยคณะบุคคล (คณาธิปไตย) ซึ่งมีอายุมากกว่าประชาชนทั่วไป แต่สิ่งเหล่านี้ถ้าจะอธิบายให้ถึงที่สุด มันไม่ใช่แค่เรื่องบังเอิญที่เรามีระบบการปกครองที่ผู้ปกครองและคณะผู้ปกครองนั้นอาวุโสกว่าเรา แต่มันเป็นเรื่องของโครงสร้างสถาบันทางการปกครองที่ทำให้มีแต่คนชราเท่านั้นที่จะสามารถขึ้นสู่อำนาจได้ ซึ่งในแง่นี้ ผู้ที่มีอำนาจนั้นอาจไม่จำเป็นต้องนั่งในตำแหน่งที่เป็นทางการก็ได้

ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ เขายกกรณีของสปาร์ตา ซึ่งมีระบบสภา Gerousia ที่สมาชิกต้องมีอายุเกินหกสิบปี และอยู่ในตำแหน่งไปชั่วชีวิต

ทีนี้เรื่องของระบบการปกครองโดยคนชรานั้น มันไม่ได้เป็นระบบการปกครองที่บังเอิญมีคนชรามาปกครองเท่านั้นหรอกครับ มันมีโครงสร้างสถาบันรองรับ ซึ่งยกตัวอย่างขยายความก็คือ มันอาจจะมีองค์กรบางองค์กรที่ทำให้ระบบอาวุโสเช่นนี้มันเกิดขึ้นได้ ตัวอย่างสำคัญก็คือเรื่องของระบบคอมมิวนิสต์ ซึ่งระบบของการขึ้นสู่ความเป็นผู้นำส่วนสำคัญก็มาจากการที่สมาชิกแต่ละคนนั้นอยู่ในพรรคมานานเท่าไหร่ กรณีของจีนนั้น ประธานเหมาก็อยู่ในอำนาจจนอายุ 82 หรือประธานเติ้ง ก็มีอิทธิพลทางการเมืองจนเกือบจะ 90 ส่วนกรณีของโซเวียต ผู้นำก่อนที่กอร์บาชอฟจะขึ้นสู่อำนาจ คือเบรซเนฟนั้น ก็อายุ 75 และว่ากันว่าสองปีสุดท้ายในตำแหน่งก็เจ็บป่วยจนไม่สามารถทำอะไรได้ หรือมีการนับกันว่า อายุเฉลี่ยของคณะผู้ปกครองประเทศของโซเวียตในทศวรรษที่ 1980 นั้น มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 70 ปี

แหม่ เรื่องนี้ประเทศเราก็ไม่น้อยหน้าหรอกครับ ข้อมูลจากคุณนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค ปชป. เคยกล่าวไว้ว่า อายุเฉลี่ยของ ครม.บิ๊กตู่นี่ก็คือ 65.7 ปี (https://www.thairath.co.th/content/1122575)
หรือที่ The Matter เคยสำรวจไว้ว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาตินั้นทั้งหมดเป็นผู้ชาย และมีอายุระหว่าง 55-90 ปี โดยมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 63 ปีเศษ (https://thematter.co/quick-bite/national-strategy-thailand-20-years/33576)

ที่สำคัญคือ สัดส่วนเยอะที่สุดคือทหาร 10 คน (iLaw ให้ 11 คน รวมตำรวจ https://ilaw.or.th/node/4625) นั่นหมายถึงว่า ระบบที่จะทำให้คนแก่มีอำนาจได้ก็จะต้องไต่เต้ามาในระบบกองทัพและระบบราชการนั่นแหละครับ ซึ่งนี่ก็ไม่แปลกอะไร ถ้าเราจะบอกว่า ถ้าสังคมไหนคนแก่มีอำนาจอาจเป็นไปได้ว่ามันต้องมีโครงสร้างกองทัพและระบบราชการที่ทรงพลังมากกว่าสถาบันทางการเมืองอื่นนั่นแหละครับ

ส่วนอายุเฉลี่ยของคนไทยนั้น ข้อมูลล่าสุดคือ 2556 แปลผลปี 2559 พบว่า ผู้ชายมีอายุ 71 และผู้หญิง 77 ทั้งสองเพศมีอายุเพิ่มขึ้นนิดหน่อยจากการสำรวจครั้งก่อน แต่แม้ว่าผู้หญิงจะอายุมากกว่าแต่ก็มีสุขภาพที่ไม่สมบูรณ์และบกพร่องมากกว่าผู้ชาย (https://www.matichon.co.th/local/news_202773)

ภาพรวมอีกประการหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ มีการวิเคราะห์ว่าประเทศเผด็จการมักมีสัดส่วนของคนแก่เป็นผู้มีอำนาจ มากกว่าคนหนุ่มสาวที่เป็นผู้ใต้ปกครอง อย่างกรณีที่ชัดอีกกรณีหนึ่งก็คือ อียิปต์ก่อนการปฏิวัติของประชาชนนั้น มูบารัค อายุ 82 ตอนที่ถูกโค่นจากอำนาจขณะที่อายุมัธยฐานอยู่ที่ 24 (หมายถึงครึ่งประเทศอายุมากกว่า 24 อีกครึ่งน้อยกว่า 24) กรณีส่วนมากก็จะเป็นเช่นนี้คือ ซาอุดีอาระเบีย เยเมน แอลจีเรีย คิวบา และเกาหลีเหนือ ก่อนคิม จอง อึน (จอง อิล ผู้พ่อนั้นเจ็ดสิบกว่าก่อนเสียชีวิต) (https://www.economist.com/blogs/dailychart/2011/02/age_and_leadership)

ส่วนกรณียกเว้นคือ ประเทศประชาธิปไตยโดยทั่วไป อายุของผู้นำกับประชาชนนั้นจะไม่ห่างกันมากเท่า เว้นแต่อินเดีย อิตาลี และล่าสุดก็มาเลเซียนี่แหละครับ

ส่วนบ้านเรานั้น ข้อมูลล่าสุดปี 2543 อายุมัธยฐานอยู่ที่ 29.2 แต่อีก 20 ปีข้างหน้าอยู่ที่ 40 (http://popcensus.nso.go.th/sub_topic.php?pid=2) แต่อายุบิ๊กตู่อยู่ที่ 64 ปี

จะว่าไปแล้วเรื่องประชากรนี่มีเรื่องน่าสนใจอยู่มาก เพราะเวลาเราดูเรื่องว่าผู้ปกครองประเทศนั้นเป็นคนชราหรือไม่ เรามักไม่ได้ให้ความสนใจไปที่ว่า แล้วถ้าคนจำนวนมากในประเทศกลายไปอยู่ในสังคมสูงวัย สิ่งสำคัญไม่น่าจะมีแค่ว่าพวกเขาจะเป็นภาระของประเทศไหมเท่านั้น (อย่างน้อยเชิงงบประมาณ) เหมือนที่เราชอบพูดกัน แต่เอาเข้าจริง อย่าลืมว่าในสังคมประชาธิปไตยนั้น คนสูงวัยที่เพิ่มขึ้นก็จะครองตำแหน่งคนที่มีสิทธิลงคะแนนเลือกผู้ปกครองประเทศด้วย

กรณีของยุโรปมีการศึกษาอย่างจริงจัง พบว่าในอิตาลีและเยอรมนีนั้น คนอายุ 50 ปีขึ้นไป เป็นครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียง และเมื่อเด็กเกิดใหม่น้อยลงด้วย คะแนนเสียงส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในมือคนรุ่นเก่านั่นแหละครับ และในเชิงเศรษฐกิจ คนเกษียณอายุจะไม่มีรายได้ เด็กที่เกิดมาก็จะโตมาพร้อมหนี้ก้อนใหญ่ที่รัฐบาลใช้จ่ายไป และเกิดภาวะเศรษฐกิจ เพราะมีการใช้จ่ายไปกับสวัสดิการผู้สูงอายุเป็นจำนวนมาก และเริ่มมีการพูดกันว่าคนรุ่นใหม่นั้นจะต้องจ่ายเงินสองก้อน ก็คือจ่ายเงินส่วนหนึ่งไปเป็นบำนาญของตัวเอง

และอีกส่วนหนึ่งเอาไปให้รัฐบาลนั้นเอาไปเป็นบำนาญของคนรุ่นก่อนที่มีเพิ่มขึ้น แถมสิทธิในการเลือกตั้งของคนนั้นแม้ว่าจะอยู่ที่ 18 แต่ถ้าจะได้เลือก ส.ว.ก็จะต้องอายุ 25 (https://ourworld.unu.edu/en/gerontocracy-to-dominate-in-affluent-countries) นั่นแหละครับ

อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาวิจัยแม้กระทั่งในกรณีของยุโรปเองว่า ในสังคมที่คนแก่มีเพิ่มขึ้นนั้นจะมีการลงทุนด้านการศึกษาและบริการสาธารณะที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้นไหม ผลการศึกษากลายเป็นว่า ในสังคมเหล่านั้น รัฐบาลที่ยิ่งมีอายุมาก กลับไม่ได้ลงทุนในด้านการศึกษาและบริการสาธารณะอย่างเป็นระบบ แถมยังกีดกันไม่ให้คนรุ่นใหม่เข้าสู่วงอำนาจอีกต่างหาก (V.Atella and L.Carbonari. “Is Gerontrocracy harmful for growthM: A comparative study of seven European countries”. Journal of Applied Economics. 20:1)

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ เรายังไม่ศึกษาข้อมูลนี้อย่างเป็นระบบไหมว่า ยิ่งมีคนแก่เป็นคนมีอำนาจ และมีคนแก่เป็นคนเลือกตั้ง เราจะมีระบบสวัสดิการที่ดีขึ้นเพื่อรองรับคนแก่ในปัจจุบันและในอนาคต มันจึงเป็นเรื่องแปลกที่ทำไมมีคนแก่มากขึ้น ทั้งผู้นำและคนมีสิทธิเลือกตั้ง แต่คำอธิบายประเภทคนแก่เป็นภาระ สวัสดิการเป็นภาระ หรือแม้กระทั่งอนาคตของเราเป็นของคนรุ่นใหม่ จึงไม่มีใครอธิบายเรื่องอนาคตของคนรุ่นเก่า และวันหนึ่งที่คนรุ่นใหม่จะกลายเป็นคนรุ่นเก่า และวันนี้ที่คนรุ่นใหม่จะดูแลและทำงานร่วมกับคนรุ่นเก่าและดูแลคนรุ่นเก่าจึงไม่ค่อยจะมี

มิพักต้องกล่าวถึงคนรุ่นเก่าบางคนที่ไม่ได้คิดเรื่องเหล่านี้ แถมยังจะวาดฝันอยากอยู่ต่อยาวๆ อีกต่างหาก

น่าหนักใจยิ่งครับผม …

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image