สมหมาย ภาษี : ดอกเบี้ย ค่าเงิน การเลือกตั้งเรื่องไหนจะสะเทือนเศรษฐกิจมากกว่ากัน

ธรรมชาติได้สร้างสิ่งที่เป็นความสมดุลให้กับสัตว์โลกได้เป็นอย่างดีในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ธรรมชาติได้สร้างขึ้นมาตั้งแต่ต้น หรือสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์ได้คิดสร้างขึ้นมา

จงดูจากเรื่องง่ายๆ คือ น้ำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำดีหรือน้ำเน่า น้ำจะไหลไปสู่ที่ต่ำจนได้ระดับในทุกหนทุกแห่ง หากมาดูในเรื่องของเงินทุนและดอกเบี้ย ดอกเบี้ย คือ ผลตอบแทนของเงินลงทุน ถ้าปล่อยไปตามธรรมชาติเงินทุนซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมา ย่อมไหลไปหาแหล่งที่ดอกเบี้ยสูงกว่าเสมอ

ทุกวันนี้ท่านผู้อ่านทั้งหลายคงจะได้ยินข่าวเรื่องดอกเบี้ยในโลกนี้เป็นรายวัน ว่ากันตามที่จริงแล้วในโลกทางการเงิน ดอกเบี้ยในช่วงวันเดียวกันอาจต่างกันก็ได้ และในเรื่องของการคิดดอกเบี้ยหรือการแข่งขันในการเสนออัตราตอบแทนของเงินกู้หรือเงินทุน ในระดับธนาคาร และสถาบันการเงินใหญ่นานาชาติ เขาจะพูดถึงอัตราดอกเบี้ยที่เล็กลงไปกว่า 1% หรือ 1/2% กล่าวคือ จะพูดกันตั้งแต่ 1/4%, 1/8% หรือ 1/16% เพราะถ้าพูดถึงเงินจำนวน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ 1/16% หรือ 0.0625% ก็ย่อมมีค่ามากเอาการทีเดียว

ข่าวทางการเงินที่ได้ยินกันบ่อยๆ คือ การประกาศเพิ่มลดดอกเบี้ยทางการของประเทศที่มีเศรษฐกิจและสกุลเงินใหญ่ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศกลุ่มยูโร ประเทศญี่ปุ่น และประเทศจีน เป็นต้น ถ้าสหรัฐอเมริกาประกาศขึ้นดอกเบี้ย ก็จะทำให้เงินทุนในประเทศอื่นๆ ไหลไปลงทุนในตลาดการเงินของสหรัฐมากขึ้น เงินลงทุนของประเทศเล็กอย่างเช่น ประเทศไทยก็จะถูกกระทบในทางหดตัว ยิ่งออกข่าวว่าปีนี้ธนาคารกลางของสหรัฐจะปรับดอกเบี้ยถึง 3-4 ครั้ง นักลงทุนไทยก็จะวิตกมากขึ้น โดยหลักการถ้าเราไม่อยากให้เงินทุนต่างประเทศในประเทศเราไหลออกไปเราก็ควรปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงตาม แต่ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาที่ธนาคารสหรัฐปรับอัตราดอกเบี้ยทางการไปครั้งหนึ่งให้เพิ่มขึ้น 0.25% แต่ประเทศไทยไม่ปรับตามก็เพราะเงินทุนต่างประเทศในไทยยังมีมากเกินพออย่างหนึ่ง และประเทศไทยยังมีดุลการค้าและดุลการชำระเงินเป็นบวก หรือเกินดุลมาทุกไตรมาสทั้งในปีที่แล้วและปีนี้ และที่สำคัญกว่านั้นก็คืออัตราเงินเฟ้อของไทยยังต่ำอยู่มาก จึงไม่มีเหตุผลใดๆ สนับสนุนให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นในช่วงนี้

Advertisement

สำหรับประเทศพัฒนาแล้วที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐก็ไม่ใช่จะปรับดอกเบี้ยให้เพิ่มลดใด้ง่ายๆ ตามนโยบาย ธนาคารกลางของสหรัฐหรือที่เรียกว่า เฟด (Federal Reserve Bank) ก็ต้องพิจารณาถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้ออย่างรอบคอบเช่นกัน

ในหลักการ อัตราดอกเบี้ยของเงินสกุลใดก็คือตัวชี้ถึงราคาหรือค่าเงินของสกุลนั้น ถ้าค่าเงินแข็งขึ้นหรืออัตราแลกเปลี่ยนดีขึ้น อัตราดอกเบี้ยก็ควรถูกปรับให้สูงขึ้น แต่อย่างไรก็ตามในระหว่างปัจจัยสองตัวนี้ยังมีตัวปัจจัยตรงกลางที่สำคัญมากอีกสองตัว คืออัตราเงินเฟ้อและดุลการชำระเงิน ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับค่าของเงินสกุลนั้นๆ เช่นกัน ดังนั้น การวางนโยบายให้ทำในสิ่งที่ปัจจัยเหล่านี้ขัดกันอยู่จึงเป็นที่เรื่องที่บางครั้งทำได้แต่ไร้ผลก็มี

ยกตัวอย่างเช่นการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของดอลลาร์สหรัฐโดยเฟดร้อยละ 0.25 จากที่เคยปรับครั้งก่อนเมื่อปลายปี 2517 ที่อัตรา 1.25-1.50% เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2518 นี้ เป็นร้อยละ 1.50-1.75% ซึ่งการปรับครั้งนี้ดูเหมือนว่าตลาดการเงินของโลกไม่รับรู้ด้วยเลย เพราะค่าเงินดอลลาร์สหรัฐนับตั้งแต่ต้นปี 2517 ถึงมีนาคม 2518 ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีการอ่อนค่าลงต่อเนื่อง กล่าวได้ว่าแม้เฟดจะปรับอัตราดอกเบี้ยทางการขึ้น 0.25% สองครั้งภายใต้รัฐบาลทรัมป์หลังจากไม่ได้มีการปรับมาเป็นเวลานาน แต่เงินทุนจากสหรัฐยังคงไหลเข้าสู่ภูมิภาคอื่นที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่าสหรัฐ เช่น ภูมิภาคอาเซียน เป็นต้น จึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องที่คณะกรรมการการเงิน (กนง.) ในการประชุมล่าสุดเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ยังคงยืนอัตราดอกเบี้ยทางการของไทยไว้ที่ 1.50%

Advertisement

ในกรณีของประเทศไทยนั้น คนที่รู้เรื่องอัตราดอกเบี้ยในระดับนานาชาตินั้นมีไม่มากแต่คนที่ไม่ใช่นักการเงินแต่ต้องสัมผัสกับเรื่องดอกเบี้ยอยู่บ่อยๆ มีมาก ดังนั้น จึงมักจะได้ยินการเรียกร้องหรือการวิจารณ์ให้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยจากนักการค้าส่งออก นักการเมือง และนักหนังสือพิมพ์บ่อยครั้งว่าค่าเงินแข็งไป ควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อให้ค่าเงินอ่อนลงจะได้ทำให้สินค้าจากไทยมีการแข่งขันมากขึ้น เรื่องเรียกร้องแบบนี้ในประเทศที่พัฒนาแล้วจะไม่มี เพราะเขายอมให้ผู้รับผิดชอบ คือธนาคารกลาง ซึ่งมีคณะกรรมการที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินดูแลเรื่องนี้อยู่โดยเฉพาะอยู่แล้ว ซึ่งมีการประชุมอยู่เป็นระยะๆ ใคร่จะขอร้องนักการเมืองบางคนที่ออกมาพูดในเรื่องนี้เป็นครั้งคราว ก่อนออกมาวิจารณ์ก็ขอให้คิดถึงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 เสียก่อน เพราะวิกฤตคราวนั้นเกิดจากการบริหารการเงินของประเทศที่ผิดพลาดอย่างมหันต์ และไม่ใช่ผิดเฉพาะตอนขัดขืนไม่ยอมลดค่าเงินบาทในช่วงวิกฤตเท่านั้น แต่มันผิดตั้งแต่การดำเนินนโยบายทั้งเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนและเรื่องอัตราดอกเบี้ยเป็นปีมาก่อนหน้านั้น

หลายคนอาจลืมตัวเลขความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมหันต์ในช่วงนั้นไปแล้วว่ามีถึง 1.4 ล้านล้านบาท และถึงบัดนี้ 20 ปีล่วงมาแล้ว ทั้งกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยได้ใช้หนี้ไปแล้วถึงเมษายน 2518 เพียงแต่ไม่ถึง 517,000 ล้านบาท หรือประมาณหนึ่งในสามเท่านั้นเอง อีก 30-40 ปีจึงอาจจะหมด ซึ่งขณะนี้แบงก์ชาติโดยกองทุนฟื้นฟูฯ รับผิดชอบใช้หนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้ เพื่อช่วยเหลือกองทุน เพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2555 โดยอาศัยการให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจเรียกให้สถาบันการเงินนำเงินร้อยละ 0.46% ต่อปีของยอดเงินฝากถัวเฉลี่ยของบัญชีที่ได้รับการคุ้มครองเงินฝากนำส่งเงินเป็นรายได้เข้ากองทุนฟื้นฟูฯ

เมื่อพูดถึงเรื่องหนี้ของประเทศชาติที่เกิดขึ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 แล้ว ก็อดไม่ได้ที่จะขอพูดถึงตัวเลขการขาดทุนของธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2560 ถึงประมาณ 900,000 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขนี้ทางธนาคารแห่งประเทศ ก็ได้ออกมาแถลงให้ผู้ที่ไม่รู้ได้รับรู้ว่า ขาดทุนตัวนี้เป็นขาดทุนตัวเลขในบัญชี เป็นการขาดทุนจากการที่แบงก์ชาติซึ่งเป็นผู้ดูนโยบายด้านการเงินของชาติ เข้าไปดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าหรืออ่อนค่าเร็วจนเกินไป ไม่ได้คิดถึงกำไรหรือขาดทุน และขาดทุนตัวนี้หากในอนาคตเงินบาทเกิดอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ (จริงๆ รวมถึงเงินสกุลแข็งอยู่หลายสกุล) ตัวเลขขาดทุนนี้ก็จะลดน้อยลง อย่างไรก็ตาม การขาดทุนในตัวเลขก็คือการขาดทุน ซึ่งจะทำให้งบรวมของแบงก์ชาติติดลบอยู่ดี

แบงก์ชาติก็พยายามแถลงอย่างดีแล้ว แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ เพราะเห็นขาดทุนมากๆ ก็กลัวกันไว้ก่อน แต่ก็ไม่ค่อยจะน่าเป็นห่วง แต่ที่มีสื่อบางฉบับโดยคอลัมนิสต์บางคนที่บอกว่าเข้าใจดี แต่ก็ยังบอกว่าผลขาดทุนของแบงก์ชาติที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ประเทศมีต้นทุนทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็น และทำให้กระทบความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจมากขึ้น อันนี้น่าเป็นห่วงที่สื่อเข้าใจแบบนี้ ไม่รู้เลยว่าความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจคืออย่างไร เสถียรภาพทางการเงินคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ความน่าเชื่อถือในตลาดหลักทรัพย์ของไทย และตลาดตราสารหนี้ของไทยอยู่ได้ทุกวันนี้เพราะอะไร น่าเป็นห่วงกว่าครับ

ถ้าไปถามนักลงทุนชาวต่างประเทศ กองทุนจากต่างประเทศที่มาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์และตลาดตราสารหนี้ของไทยในขณะนี้เขาจะตอบได้โดยไม่ต้องคิดว่า การขาดทุนของธนาคารกลางของไทย 900,000 ล้านบาทนั้น เขาไม่ได้สนใจเลย แต่หากจะมีข่าวการขู่ที่จะเลื่อนการเลือกตั้งตาม “รัฐธรรมนูญฉบับต่อท่ออำนาจ” ออกไป หรือข่าวการแก้ปัญหากฎหมายลูกของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องยืดเยื้อ เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น เขาจะพากันทิ้งหุ้นและตราสารหนี้ของไทยให้เห็นโดยทันที นี่แหละครับผู้ร้ายตัวจริง

แต่ถ้าไปถามคนไทยระดับกลางและล่าง เขาก็จะตอบว่าไม่สนใจหรอกกับเรื่องดอกเบี้ยและค่าเงินบาท แต่เขาสนใจการเลือกตั้งที่จะมีมากกว่า เขาไม่สนใจหรอกว่า GDP จะเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ แต่เขาสนใจกับเงินที่เขาจะหามาได้เพื่อเลี้ยงครอบครัวซึ่งลดน้อยลงทุกวันๆ และเขาก็เบื่อฟังข่าวคอร์รัปชั่นซึ่งเกิดขึ้นรายวันในแทบทุกกระทรวงในรัฐบาลชุดนี้ ผมขอบอกว่าเราดูถูกคนไทยยุคนี้ไม่ได้แล้วนะครับ คนไทยจะต้องฉลาดไม่น้อยกว่าเพื่อนบ้านมาเลเซียอย่างแน่นอน

สมหมาย ภาษี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image