สัพเพเหระคดี ต้นไม้ใกล้สายไฟฟ้า : โดย โอภาส เพ็งเจริญ

คุณจำนูญมีที่ดินหลายแปลง แปลงนี้ติดถนนซอย เคยปลูกบ้านพักให้คนงาน อยู่พักหนึ่ง ต่อมาให้คนงานย้ายไปจึงไม่ได้ใช้ทำธุระอะไรอีก ปล่อยให้ต้นไม้ขึ้นตามความพอใจ ที่ดินตกอยู่ในสภาพรกเรื้อ เป็นที่อยู่อาศัยของ

นก งู หนู แมลงสารพัน

ทว่าไม่ถึงกะมีเสือดาว เสือดำ เสือลายพาดกลอนแต่อย่างใด

แต่เรื่องนี้มิได้ว่าด้วยเรื่องเสือ หรือสัตว์ต่างๆ เหล่านั้น ว่าด้วยเรื่องต้นไม้เท่านั้น

Advertisement

กล่าวจำเพาะต้นไม้ ในจำนวนที่เติบโตขึ้นๆ หลายๆ ปี จึงสูงใหญ่โตมโหฬาร โดยเฉพาะต้นกระถิน ที่ขึ้นเองห่างจากแนวสายไฟฟ้าเพียง 2-3 เมตร สูงท่วมเสาและสายไฟฟ้าอยู่หลายต้น

วันหนึ่งเกิดฝนตกหนัก แถมด้วยลมแรง ต้นกระถินนั้นทานแรงลมและสภาพพื้นดินอุ้มน้ำไว้ไม่ไหว โค่นลงใส่สายไฟฟ้า ทำเอาสายไฟฟ้าดึงเสาไฟฟ้าหักโค่นตามลงมาระเนระนาดไป ราว 5 ต้น เกิดความเสียหาย แก่ทั้งสาย เสาและอุปกรณ์ไฟฟ้าประกอบ รวมทั้งต่อชาวบ้านผู้ใช้ไฟในย่านนั้นด้วย

การไฟฟ้าฯไปจัดการซ่อมแซมแล้วมายื่นฟ้องคุณจำนูญต่อศาล ขอให้บังคับคุณจำนูญจ่ายเงินที่ทำให้เกิดความเสียหายนั้นขึ้น จำนวน 95,750 บาท มาพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

Advertisement

คุณจำนูญต่อสู้คดีว่าฝน ลมพายุมันเป็นเหตุสุดวิสัย แล้วจะมาเรียกค่าเสียหายได้อย่างไร ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นยกฟ้อง

การไฟฟ้าฯอุทธรณ์

ศาลชั้นอุทธรณ์ พิพากษากลับ ให้คุณจำนูญจ่ายเงินจำนวน 95,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 92,043 บาท นับแต่วันที่ 27 กันยายน 2556 จนกว่าจะชำระเสร็จ

คุณจำนูญฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ต้นกระถินโค่นล้มระหว่างพายุฝนครั้งนี้ถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัยหรือไม่

เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ต้นไม้สูงใหญ่ของคุณจำนูญปลูกอยู่ใกล้แนวเสาไฟฟ้าของการไฟฟ้าฯมาก ถ้าโค่นล้มทับสายไฟฟ้าย่อมจะเกิดอันตรายแก่สายไฟฟ้า อุปกรณ์ และเสาไฟฟ้า

ยิ่งกรณีมีพายุฝนฟ้าคะนอง โอกาสที่ต้นไม้จะโค่นล้มก็มีมาก ตามปกติแล้วในฤดูฝนหรือก่อนจะถึงฤดูฝน ย่อมเกิดเหตุฝนฟ้าคะนองลมพัดแรง และมีต้นไม้หักโค่นล้มได้ เหตุดังกล่าวเป็นเรื่องที่อาจคาดการณ์และป้องกันได้

เหตุฝนฟ้าคะนองและมีลมพัดในฤดูฝนหรือก่อนจะถึงฤดูฝนอันเป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นทุกปีดังกล่าว จึงมิใช่เหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจป้องกันได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 8

ฎีกาของคุณจำนูญฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

เป็นอันว่าคุณจำนูญต้องชดใช้เงินตามคำพิพากษาศาลชั้นอุทธรณ์

(เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 281/ 2560)

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 8 คำว่า “เหตุสุดวิสัย” หมายความว่า เหตุใดๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้นจะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น

มาตรา 434 ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะเหตุที่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นก่อสร้างไว้ชำรุดบกพร่องก็ดี หรือบำรุงรักษาไม่เพียงพอก็ดี ท่านว่าผู้ครองโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้นๆ จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่ถ้าผู้ครองได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรเพื่อปัดป้องมิให้เกิดเสียหายฉะนั้นแล้ว ท่านว่าผู้เป็นเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน

บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนั้น ให้ใช้บังคับได้ตลอดถึงความบกพร่องในการปลูกหรือค้ำจุนต้นไม้หรือกอไผ่ด้วย

ในกรณีที่กล่าวมาในสองวรรคข้างต้นนั้น ถ้ายังมีผู้อื่นอีกที่ต้องรับผิดชอบในการก่อให้เกิดเสียหายนั้นด้วยไซร้ ท่านว่าผู้ครองหรือเจ้าของจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ผู้นั้นก็ได้

โอภาส เพ็งเจริญ

[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image