กาลครั้งหนึ่ง..นานมาแล้ว แฝดสยาม (18) รวมกันตายหมู่-แยกกันอยู่บ้านละ3วัน โดย พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก

แฝดสยามอิน-จันจากเมืองแม่กลอง สมุทรสงคราม แต่งงานกับพี่น้องสองสาวอเมริกัน ซาร่าห์และอาดีเลด ใช้ชีวิตเป็นเกษตรกรในชนบท ณ เขตปกครองแทรปฮิลล์ รัฐนอร์ธแคโรไลนา อย่างสมบูรณ์พูนสุข วันเวลาผ่านไป เพื่อนใกล้ไกลในชุมชนส่งเสียงสรรเสริญความเป็นสุภาพบุรุษ ความเป็นคนขยันทำมาหากิน เป็นพลเมืองต่างเผ่าพันธุ์ เป็นประชากรน้ำดีของสหรัฐอเมริกา เป็นสามีที่ดีของภรรยา เป็นพ่อที่ดีของลูกๆ ที่สร้างครอบครัว มีลูก 2 ท้อง 8 คน วิ่งเล่นในบ้าน

เหตุผลหลักที่อิน-จันโอนสัญชาติเป็นพลเมืองสหรัฐ ซื้อที่ดิน ปักหลักสร้างครอบครัวในชนบททางตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐนอร์ธแคโรไลนาตรงนี้ เพราะต้องการปลีกตัวจากสังคมเมืองที่ทุกสายตาจ้องมองมาที่ร่างกายของแฝดที่ไม่เป็นปกติ ไปไหนก็มีแต่คนจ้อง (ตัวติดกัน) นอกจากนั้นแฝดสยามคู่นี้คงมีวิสัยทัศน์มองเห็นอนาคตตัวเองที่จะต้องมีครอบครัว มีลูก คงนึกเบื่อ สะอิดสะเอียนกับสายตาที่เยาะเย้ยแบบหมาหยอกไก่ เบื่อการตอบสารพัดคำถามจากผู้คนทั้งหลาย และคงนึกสงสารลูกมีพ่อที่ร่างกายแปลกไปจากมนุษย์ธรรมดา

ในหนังสือบันทึกตำนาน The Lives of Chang and Eng (ชีวิตอิน-จัน) ระบุว่าแฝดคู่นี้สุขภาพร่างกายแข็งแรง เป็นนักกีฬากลางแจ้ง ไม่ปรากฏว่าแฝดสยามคู่นี้เคยเจ็บป่วยแต่ประการใดในการใช้ชีวิตในอเมริกา อิน-จันเป็นเกษตรกรเต็มตัว ทุ่มเทการทำงานสร้างรายได้จากไร่ยาสูบ ข้าวสาลี ข้าวโพด เลี้ยงวัวเนื้อ วัวนม เลี้ยงแกะและหมู

ความเป็นเด็กสู้ชีวิตจากชนบทจากเมืองแม่กลอง ส่งผลให้แฝดทำงานในไร่ได้สารพัด เป็นที่ประหลาดใจของเพื่อนอเมริกันที่แวะมาเยี่ยมเยือน เพราะมีมโนภาพว่าอิน-จันคือคนพิการ ไร้ค่า

Advertisement

กิจกรรมที่ประทับใจมิตรสหายมะริกันคือ อิน-จันจะแบกขวานเข้าป่าแล้วใช้ขวานฟันต้นไม้ แบบสลับฟัน หรือฟันคู่ ทั้งสองคนจะใช้ขวานทั้งสองด้ามฟันลงไปยังต้นไม้ทั้งสองข้างซ้าย-ขวา ต้นไม้จะโค่นลงอย่างรวดเร็วเป็นสองเท่า แฝดจะกระหน่ำขวานแบบมีศิลปะ มีลีลาไม่ซ้ำแบบใครทั้งนั้น ผู้คนนำไปเล่าสู่กันฟังและต่างก็อยากมาดูด้วยตา นอกจากนั้น อิน-จันยังเป็นนักล่าสัตว์ ที่มีฝีมือไม่เป็นสองรองใคร

บ้านที่ปลูกขึ้นมาหลังแรกลุล่วงจากหยาดเหงื่อแรงงานของคนคู่สู้ชีวิต แม้กระทั่งตอนขึ้นไปมุงหลังคาบ้าน คนตัวติดกัน 2 คนปีนขึ้นที่สูงช่วยกันทำงานแบบสอดประสาน ผู้คนที่ผ่านไปมาชอบอกชอบใจ หัวเราะกันเป็นภาษาอังกฤษเอิ๊กอ๊ากที่เห็นการแสดงสดตัวเป็นๆ ของแฝดบนหลังคา

แฝดอิน-จัน และครอบครัวและลูกๆ ได้สร้างความรู้สึกด้านบวก เป็นมิตรกับเพื่อนอเมริกันในชุมชน

Advertisement

ในฤดูใบไม้ร่วงปี พ.ศ.2389 ความอุ่นหนาฝาคั่งของสมาชิกตัวน้อยๆ ในครอบครัวจำนวน 12 คน เริ่มกลายเป็นความแออัดในบ้าน แฝดอิน-จันปรึกษาภรรยา ตกลงใจไปซื้อที่ดินอีกแปลงเพื่อปลูกบ้านที่ห่างออกไปราว 40 ไมล์

ครอบครัวบังเกอร์สู้ชีวิตปลูกบ้านใหม่ให้ใหญ่กว่าเดิม เพราะยังต้องการมีลูกเพิ่มอีก (หลังจากมีลูกแล้วท้องละ 4 คน) ที่ดินผืนใหม่อยู่ในย่านเซอร์รี่เคาน์ตี้ (Surry County) ใกล้เมืองเมาท์แอรี่ (Mt. Airy) ส่วนบ้านหลังเก่าที่แทรปฮิลล์ยังคงเก็บไว้ ครอบครัวบังเกอร์ปลื้มใจที่สุดคือ ลูกๆ ที่กำลังเติบโตขึ้นมาเหล่านี้จะได้ไปโรงเรียน อ่านออกเขียนได้

อิน-จัน คนคู่ แสดงฝีมือสร้างบ้านอีกครั้งด้วยแรงงานของตนเอง มีนักข่าวที่เกาะติดกับชีวิตครอบครัวบังเกอร์ตามมาเมียงมองการใช้ชีวิตทุกแง่มุม มีบ้างที่ขอสาระแนสอดรู้สอดเห็นเรื่องส่วนตัว แต่สิ่งที่ได้พบเห็นคือ อิน-จัน เป็นชาวเอเชียที่มีทักษะความเป็นช่าง โดยเฉพาะช่างไม้ งานก่อสร้างทั้งปวง

ในเรื่องการเกษตร ดูเหมือนจะไม่มีอุปสรรคใดๆ เลยสำหรับแฝดคู่นี้ในการใช้เครื่องมือ เครื่องจักรในการทำงาน การติดต่อทางธุรกิจซื้อขายพืชผล แฝดทำได้กลมกลืนและมีรายได้พอเพียงเลี้ยงครอบครัว

แฝดสยามที่เป็นบรรพบุรุษของเราคู่นี้ ตั้งแต่เกิดจากท้องนางนากและพ่อตีอายที่เมืองแม่กลอง สมุทรสงคราม ไม่เคยได้ไปโรงเรียนนะครับ แต่ตอนนี้อยู่อเมริกา ทำการเกษตรทำธุรกิจ มีเงินฝากธนาคารในนิวยอร์ก รวมทั้งภรรยาอเมริกันสองพี่น้องซาร่าห์และอาดีเลดก็แทบจะไม่ได้เรียนหนังสือ

แฝดเอาจริงเอาจังกับงานเพาะปลูก มีหลักฐานระบุว่าแฝดคู่นี้เป็นผู้ร่วมบุกเบิกปลูกใบยาสูบพันธุ์เขียวตองอ่อน (Bright Leaf) ที่นำใบยามามวนเป็นบุหรี่ได้เลย แถมยังต่อยอดซื้อเครื่องรีดใบยามาใช้ในไร่อีกต่างหาก

อิน-จัน บังเกอร์ ใช้ชีวิตแบบลงตัว ตามวิถีชีวิตชาวชนบทในรัฐนอร์ธแคโรไลนา อิน-จัน จะติดตามภรรยาไปโบสถ์เป็นบางครั้งในเช้าวันอาทิตย์ ชาวชนบทในอเมริกาในยุคนั้น ซึ่งตรงกับรัชสมัยในหลวง ร.3 แทบไม่ใคร่จะรู้จักคนเอเชีย หรือหน้าตาของพุทธศาสนาเท่าใดนัก ถ้าจะพูดกันแฟร์ๆ ต่างคนต่างก็ไม่รู้จักกัน

มีเกร็ดตำนานที่นักข่าวของหนังสือพิมพ์ The Southerner ไปคุยกับอิน-จัน ที่ตามภรรยาซาร่าห์และอาดีเลดไปโบสถ์ในเช้าวันหนึ่งแล้วตีพิมพ์ความว่า

“คุณมีความเข้าใจในศาสนาคริสต์แค่ไหน? คุณคิดว่าคุณเชื่อศาสนาของเรามั้ย?” นักข่าวยิงคำถาม

“ศาสนาเราไม่เหมือนของคุณ ของคุณทะเลาะกัน เรื่องใครถูก ใครผิด เราไม่เคยทะเลาะกันเรื่องศาสนา” อินตอบนักข่าว

นักข่าวถามต่อ “คุณคิดว่าตายแล้วจะไปไหน?”

“เราไปเกิดเป็นหมู เพราะเราทำบาปเอาไว้ในโลก ต่อไปอาจจะเกิดเป็นม้า หรือเป็นกวาง จนกว่าเราจะสำนึกได้ ก็จะเกิดเป็นสัตว์ที่ดีขึ้น” อินตอบนักข่าว

“ถ้าคุณทำบาป แล้วไปเกิดเป็นม้า แล้วคุณจะต้องไปลากเกวียน ไปไถไร่ข้าวโพด ทำงานหนักด้วยมั้ย?” นักข่าวยิงคำถามต่อ

“เราเชื่อว่าเป็นความจริง ศาสนาสอนเราเช่นนั้น รวมทั้งคนสยามก็เชื่อเช่นนั้น” อินตอบนักข่าวแบบมั่นใจ

“ตอนที่คุณไปโบสถ์ คุณเชื่อสิ่งที่บาทหลวงพูดมั้ย?” นี่เป็นคำถามตรงจากนักข่าวแบบไม่อ้อมค้อม

“บางครั้งบาทหลวงก็พูดไม่จริง” อินไม่ลังเลที่จะตอบนักข่าว

นักข่าวจากหนังสือพิมพ์ The Southerner ที่ไปคุยกับแฝดตีพิมพ์เรื่องราวตรงนี้เป็นเรื่องเป็นราว โดยอาศัยมุมมองจากแฝดอิน-จัน ซึ่งถือเป็นคนนอกศาสนาคริสต์ ซึ่งในขณะนั้นมีความแตกแยก บาดหมางในหลักคิดของศาสนา ระหว่างนิกายแบพติสต์ และนิกายเมโธดิสต์ ในสังคมอเมริกายุคนั้น

ส่วนคำตอบของอิน-จันต่อนักข่าว ซึ่งเป็นความเชื่อคนสยามในยุคนั้น สะท้อนให้เห็นชุดความคิดในเรื่องเวรกรรม เรื่องการไม่ทำบาป เป็นเรื่องที่สอนลูกหลานชาวสยามแบบเปิดเผย ผู้ใหญ่สอนเด็ก ครูสอนนักเรียน พระสอนฆราวาสให้ละเว้นจากการทำบาปทั้งปวง แม้กระทั่งผู้เขียนเองก็เคยได้รับการบอกกล่าวเช่นนั้น

ปัจจุบันยุคสมัยเปลี่ยนไป มีการพิสูจน์ตรวจสอบกันมากขึ้น ความเชื่อแนวนี้คงจะเป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคล เพราะผู้เขียนไม่เคยนำไปสั่งสอนผู้ใด และไม่เคยได้ยินใครมาสั่งสอนเช่นกัน

มีหลักฐานบันทึกว่า อิน-จัน ที่จากบ้านจากเมืองสยามไปอเมริกาเมื่ออายุราว 18 ปีนั้น ได้นำหนังสือชื่อ เรื่องราวเอลียา ซึ่งเป็นผู้ทำนายแห่งพระเจ้า (History of Elijah พิมพ์ในปี พ.ศ.2391) ซึ่งเป็นหนังสือแนวทางคำสอนของศาสนาคริสต์ที่นำมาเผยแพร่ในสยามติดตัวไปด้วยเพียงเล่มเดียว

ในสมัยนั้นสยามเพิ่งเริ่มการพิมพ์หนังสือ และหนังสือที่แจกจ่ายฟรีแก่คนทั่วไปคือคำสอนของศาสนาคริสต์ที่มิชชันนารีลงทุนจัดทำและเผยแพร่ทั่วไป

ในชีวิตประจำวัน อินชอบอ่านบทกลอน บทกวีของอเล็กซานเดอร์ โป๊ป (Alexander Pope) กวีชาวอังกฤษให้ลูกๆ ฟังอย่างมีความสุขเสมอ ไม่ดื่มเหล้าและชอบอ่านข่าวการเมืองในสหรัฐอเมริกา ส่วนจันเริ่มดื่มสุรามากขึ้น และมากขึ้น กินอาหารรสจัด ชอบเล่นไพ่โป๊กเกอร์แบบดึกดื่นข้ามคืน ในขณะที่อินต้องหลับคาวงไพ่

ครอบครัวบังเกอร์ใช้ชีวิตแบบราบรื่นมาได้ยืนยาวราว 10 ปี สภาพของคนตัวติดกันของพ่อ บางครั้งก็เป็นเรื่องที่ไม่รื่นรมย์นัก ความหงุดหงิด การกระทบกระทั่ง การมีความเห็นต่าง การใช้ชีวิตที่แตกต่างเริ่มปรากฏ ซาร่าห์และอาดีเลดมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมาก ซาร่าห์ภรรยาของแฝดอินมีน้ำหนักตัวประมาณ 115-120 กิโลกรัม ส่วนอาดีเลดภรรยาของแฝดจันก็อวบท้วมขึ้นไล่เลี่ยกัน

ชีวิตไม่มีอะไรแน่นอน อยู่มาวันหนึ่ง เพื่อนรักที่ชื่อชาร์ลส์ แฮริส ที่เป็นคนชักนำร่วมคณะการแสดงตัว นำพาแฝดมาถึงจุดนี้ได้เสียชีวิตลงก่อนวัยอันควร กัลยาณมิตรเพียงคนเดียวที่สนิทสนมมานาน ทิ้งให้แฝดและครอบครัวบังเกอร์รู้สึกใจหาย

ความคิดเรื่องการแยกกันอยู่เป็น 2 บ้านเพื่อลดความแออัดของ 2 ครอบครัว เป็นประเด็นที่เริ่มพูดคุยกันมากขึ้น

ในที่สุด เพื่อความสบายใจของทุกฝ่ายถ้วนหน้า แฝดอิน-จันและภรรยาแม่ลูกดกทั้งสองจึงตกลงจะแยกบ้าน แบ่งข้าวของเครื่องใช้ แบ่งทรัพย์สินกันเป็นเรื่องเป็นราว ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งแต่อย่างใด บ้านที่สร้างใหม่ขึ้นมา ห่างจากบ้านปัจจุบันราว 1 ไมล์ (1.6 กิโลเมตร) ตั้งแต่แฝดเกิดมา นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่มีการแบ่งสมบัติ

ติดอยู่อย่างเดียว คือตัวพ่อที่ตัวติดกัน แยกไม่ได้ และกฎ 3 วัน คือคำตอบที่ลงตัวที่สุด

บ้าน 2 หลัง 2 ครอบครัว ที่อยู่ห่างกันต้องการพ่อฝาแฝดตัวติดกันที่ไม่สามารถแยกร่างได้ อินและจันจึงตกลงกันว่า

วันจันทร์-อังคาร-พุธ 3 วันเป็นตารางของแฝดอินที่ได้อยู่กับซาร่าห์และครอบครัวที่บ้านของอิน แฝดจันที่ตัวติดกันก็ต้องหุบปาก ไม่มีปากมีเสียง ไม่มีความเห็นใดๆ ทำตัวเหมือนไม่มีตัวตนในโลกนี้ กระเตงตัวเองให้ความร่วมมือกับอินทุกอย่างโดยไม่มีเงื่อนไข

พฤหัสฯ-ศุกร์-เสาร์ 3 วันเป็นตารางของจันที่จะได้อยู่กับอาดีเลดและลูกๆ ที่บ้าน แฝดอินต้องทำเหมือนไม่มีตัวตนในโลกนี้ และให้ความร่วมมืออย่างไม่มีข้อแม้ทั้งสิ้นเช่นกัน

นี่คือข้อมูลที่เปิดเผยโดยนายแพทย์วิลเลียม เอช. แพนโคสต์ แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย

เพื่อนสนิทของตระกูลบังเกอร์ โดยยอมรับว่าแฝดทั้งสองเคารพกฎ 3 วันนี้อย่างเคร่งครัดตลอดมาแบบราบรื่นไร้กังวล

แม้กระทั่งเรื่องบนเตียง ยามมีเพศสัมพันธ์

น่าทึ่งมากนะครับ สำหรับตำนานชีวิตครอบครัวสุดแสนโรแมนติกแนวปรองดอง ที่ปู่ทวดอิน-จันของชาวสยามได้สร้างไว้ และทั้งหมดคือความจริงที่ประคับประคองชีวิตคู่ให้ผ่านพ้นอุปสรรคไปได้แบบบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น

การแยกบ้านและกฎ 3 วันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับลูกๆ ของครอบครัวแฝด เริ่มมีการทำบัญชีแบ่งเงินรายได้ แบ่งที่ดิน และทรัพย์สินอื่นๆ แฝดทั้งสองค้าขายกันเอง เช่นครั้งหนึ่ง แฝดจันเคยขายทาสสาวนิโกรให้อินในราคา 800 เหรียญ

ถึงขนาดแยกกันอยู่ 2 บ้าน แบบผลัดกันคนละ 3 วัน ในที่สุดความรักที่ยิ่งใหญ่ได้สร้างทายาท

อินและซาร่าห์มีลูกด้วยกันทั้งสิ้น 11 คน

จันและอาดีเลดมีลูกด้วยกันทั้งสิ้น 10 คน

รวม 2 ท้องพี่น้องไทย-อเมริกัน รุ่น 1 ของแท้โดยแฝดเมืองแม่กลอง เมดอิน USA รวม 21 คน

ลูกของจันกับอาดีเลด เสียชีวิต 1 คน

ครอบครัวขนาดมหึมา บ้านช่อง ทรัพย์สินที่ดินทั้งหลายที่เป็นรูปธรรมหามาได้ในอเมริกา เป็นการตัดสินได้เลยว่า แฝดอิน-จันจากเมืองแม่กลองไม่มีโอกาสกลับไปหาแม่ที่เมืองแม่กลองแน่นอน

ความมีอันจะกินบวกกับความมีน้ำใจของแฝดสยามที่คนอเมริกันเองยังยกย่องชมเชยคือ แฝดอิน-จัน บังเกอร์ได้บริจาคที่ดินแปลงหนึ่งเพื่อก่อสร้างโบสถ์ ชื่อ White Plains Baptist Church แถมยังเป็นช่างก่อสร้างให้ด้วย โบสถ์แห่งนี้เป็นสัญลักษณ์แห่งการรวมจิตใจของชุมชน ทั้งๆ ที่แฝดจากสยามคู่นี้ไม่เคยประกาศตนเป็นคริสต์ ปัจจุบัน (พ.ศ.2559) โบสถ์แห่งนี้ยังคงความสวยงาม ยืนตระหง่านปรากฏต่อสายตาของลูก หลาน เหลน โหลน ตระกูลบังเกอร์และประชาชนทั่วไป

การเป็นเกษตรกรของแฝดที่ผ่านมา รวมถึงการเลี้ยงลูกทั้งสองครอบครัว แฝดชาวเอเชียคู่นี้มีทาสนิโกรผิวดำเป็นผู้ช่วยในไร่เสมอมา ในช่วงที่รุ่งเรืองที่สุดแฝดอิน-จันเป็นเจ้าของทาสนิโกร 28 คน โดยปลูกกระท่อมให้พักอาศัย 4 หลังในพื้นที่ใกล้เคียง

แน่นอนที่สุด ในความขัดแย้งของสังคมในอเมริการะหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้เรื่องทาสนั้น อิน-จัน บังเกอร์สนับสนุนการมีและการใช้ทาสนิโกรผิวดำสนิท ผมหยิกหยอยทั้งชายหญิง

การครอบครองทาสในรัฐทางใต้ของอเมริกาในยุคนั้น เป็นเรื่องของคนผิวขาวอเมริกันเท่านั้น

อิน คือ คนที่มีน้ำใจ เมตตาปรานีต่อทาส แต่จันเข้มงวดและโหดในการปฏิบัติต่อทาสทั้งปวงในเวลาทำงาน จนกลายเป็นประเด็นร้อนในอเมริกา…

โปรดติดตามตอนต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image