เรามาถึงสังคมยุคหลังเปาบุ้นจิ้นหรือยัง? โดย พิชญ์ พงษ์สวสัดิ์

ผมเป็นคนหนึ่งที่โตมากับภาพยนตร์เรื่องเปาบุ้นจิ้น โดยเฉพาะกับชุดที่กลับมาฉายใหม่ในช่องสามในตอนนี้ (เริ่มมาตั้งแต่ 1 ต.ค. ปีที่แล้ว) ซึ่งเป็นครั้งที่เท่าไหร่แล้วไม่ทราบ จำไม่ค่อยจะได้ แต่ตามประวัตินั้นภาพยนตร์ชุดนี้ เริ่มฉายครั้งแรกที่ช่องสามเมื่อปี 2538 หรือ สองปีหลังจากที่ออกฉายครั้งแรกในไต้หวัน (เมื่อเช็กข้อมูลในวิกิพีเดีย พบว่าฉายครั้งที่สองเมื่อ 2549 ที่ช่องสามอีกครั้ง จากนั้นช่องดาวเทียม พอใจแชลแนล นำมาออกอากาศอีกครั้งเมื่อปี 2554)

ภาพยนตร์เรื่องเปาบุ้นจิ้นและการรับรู้เรื่องเปาบุ้นจิ้นนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย ด้วยมีการรับรู้เรื่องนี้มาก่อนเป็นเวลานาน มีภาพยนตร์เวอร์ชั่นที่เก่ากว่านี้อีกหลายยุคสมัย ตั้งแต่ผมเด็กๆ และที่จะได้อีกอย่างหนึ่งก็คือ เปาบุ้นจิ้นนั้นก็เคยเป็นชื่อเต็มของผงซักฟอก “เปา” ที่หลายคนก็ยังใช้มาจนถึงวันนี้

ย้อนประวัตินิดนึงก่อนจะพูดเรื่องปรากฏการณ์การรับรู้เรื่องเปาบุ้นจิ้นในสังคมไทย เปาบุ้นจิ้น (เรียกตามสำเนียงฮกเกี้ยน) มีอายุอยู่ในช่วง ค.ศ.999-1062 เป็นข้าราชการชาวจีนซึ่งมีชีวิตอยู่ในสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ สมัยรัชกาลเหวินจง เขาเป็นข้าราชการต่างพระเนตรพระกรรณที่ศาลเมืองไคฟง และมีชื่อเสียงในเรื่องของการตรวจสอบทุจริตในวงราชการ หรือถ้าใช้ศัพท์สมัยนี้ก็คือข้าราชการต้านโกงที่ไม่ไว้หน้าใคร ซึ่งในหลายๆ ตอนจะพบว่านอกจากท่านเปาจะจัดการกับคนผิดแล้ว สิ่งที่สำคัญก็คือ คนผิดเหล่านั้นล้วนมีตำแหน่งใหญ่โต และบางรายถึงกับมีความเชื่อมโยงกับสถาบันฯอีกต่างหาก

ผมอยากจะตีความว่าภาพยนตร์เรื่องเปาบุ้นจิ้นที่ฉายมาเป็นเวลานาน คือเวอร์ชั่น ค.ศ.1995 นี่มีนัยยะสำคัญมากในสังคมไทย แต่จะเสื่อมความสำคัญลงหรือไม่ หรือมีอะไรที่จะทดแทนทั้งตัวภาพยนตร์และการรับรู้ในเรื่องมรดกทางความคิดและสำนึกรับรู้ของผู้คนในสังคมไทยหรือไม่ก็คงจะเป็นเรื่องที่จะนำมาอภิปรายในส่วนที่เหลือของบทความชิ้นนี้แหละครับ

Advertisement

เริ่มด้วยประเด็นที่ว่า แม้ว่าภาพยนตร์เรื่องเปาบุ้นจิ้นนั้นจะมีหลายเวอร์ชั่น แต่เวอร์ชั่นที่ฉายซ้ำซากอยู่นี้ได้รับความนิยมมากเป็นพิเศษ หากจะไม่นับเอาเรื่องทางเทคนิคนอกเหนือจากการรับรู้ของผม (เช่นสัญญาลิขสิทธิ์) หรือเพราะว่าช่องสามได้นำมาฉาย หรือเพราะความสามารถในการพากย์ และการแสดง ตลอดจนช่วงเวลาที่นำมาฉายแล้ว ผมอยากจะนิยามเปาบุ้นจิ้นเวอร์ชั่นนี้ว่าได้รับความนิยมมากเพราะเป็นเปาบุ้นจิ้นเวอร์ชั่น “ต้านโกง”

กล่าวคือ ในการพิจารณาว่าทำไมเปาบุ้นจิ้นเวอร์ชั่นนี้ หรือภาพยนตร์สักเรื่องหนึ่งนั้นได้รับความนิยม เราอาจจะมองได้ว่า มันอาจจะต้องมีส่วนที่ยึดโยงสัมพันธ์ หรือสะท้อนสิ่งที่สังคมนั้นมี หรือโหยหาอยากมี

ในอีกด้านหนึ่ง เราอาจจะพบว่าภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยม นั้นอาจจะมาจากการที่ภาพยนตร์เรื่องนั้นอาจจะสร้างแรงบันดาลใจหรือสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดกับสังคมนั้นไปด้วย

Advertisement

ภาพยนตร์เรื่องเปาบุ้นจิ้นเวอร์ชั่นนี้ตอบโจทย์ว่าได้รับความนิยม เพราะทั้งสะท้อนสิ่งที่สังคมไทยกำลังขาด และสร้างแรงบันดาลใจให้เราต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมได้ในระดับหนึ่งทีเดียว อย่างน้อยหากเชื่อตามที่ผมเสนอนั้น การนำมาฉายครั้งแรกนั้น ก็คือช่วงเวลาในยุคที่เริ่มมีการรณรงค์การต่อต้านนักการเมืองโกง และการปฏิรูปการเมือง ซึ่งกว่าจะเป็นรูปธรรมก็คือ การร่างและผ่านรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (2540) ในเวลาประมาณสองสามปีหลังจากที่เริ่มฉายนั่นแหละครับ

การปฏิรูปการเมืองในยุคนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ได้ทำเพียงแค่การตั้งท่านเปาสักคนที่ทำได้ทุกเรื่อง แต่เขาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจัดการนักการเมืองโกง และมากไปกว่านั้นคือ จัดการข้าราชการอีกมากมาย และตั้งระบบคิดใหม่ในการจำกัดอำนาจรัฐด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งตรงนี้อาจจะต้องขยายความสักนิด ด้วยมิได้หมายความว่าจะไม่ให้รัฐทำหน้าที่ทางนโยบายมากมาย แต่เป็นเรื่องของการจำกัดอำนาจรัฐในความหมายของการไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

เมื่อย้อนไปดูเรื่องการฉายซ้ำอีกครั้งของเปาบุ้นจิ้น อาจจะพอเชื่อมโยงได้ว่า การกลับมาอีกครั้งของเปาบุ้นจิ้นฉบับต้านโกงก็คือเมื่อปี 2549 ซึ่งเป็นปีที่มีการรัฐประหารอีกรอบหนึ่ง (ส่วนเวลาสัมพันธ์กันจริงจังแค่ไหนว่าอะไรมาก่อนมาหลังผมยังไม่มีข้อมูลในตอนที่เขียนงานนี้) และล่าสุดก็เมื่อการรัฐประหารดำเนินมาได้ปีกว่าๆ แต่คำถามสำคัญก็คือ กระแสการต้านโกงและกระแสอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับเปาบุ้นจิ้นนั้นยังทรงพลังเช่นเดิมหรือไม่ หรือว่ามีอะไรมาทดแทนการย้อนรำลึกถึงเปาบุ้นจิ้นบ้าง

จะว่าไปแล้วเรื่องราวที่ผมพยายามโยงเกี่ยวกันนี้น่าสนใจมาก เพราะว่าเปาบุ้นจิ้นนั้นไม่ใช่เรื่องราวในสังคมไทยอย่างแน่นอน แต่เปาบุ้นจิ้นนั้นเข้ามาอยู่ในจินตกรรมของการต้านโกงของทั้งคนไทย โดยเฉพาะพี่น้องไทยเชื้อสายจีนมานาน และดูน่าจะเป็นเทพเจ้าของความซื่อสัตย์และความยุติธรรมมากกว่าความรับรู้ของไทยในเรื่องตาชั่ง รูปปั้นเทพีว่าด้วยความยุติธรรม หรือกระทั่งท้าวมลีวราช (ว่าความ) ซึ่งเป็นตัวละครสำคัญในรามเกียรติ์

อย่างท้าวมลีวราชนั้น แม้ว่าจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ตั้งอยู่ในความยุติธรรมและได้รับประทานพรจากพระอิศวรว่ามีวาจาศักดิ์สิทธิ์ แต่การตัดสินคดีระหว่างทศกัณฐ์ (ซึ่งเป็นญาติ) กับพระรามนั้นแม้ว่าจะตัดสินไม่เข้าข้างทศกัณฐ์ แต่ก็ได้แต่สาปแช่งทศกัณฐ์ให้ตายด้วยศรของพระราม ส่วนเราจะตีความต่อว่าถ้าคำตัดสินของท้าวมลีวราชศักดิ์สิทธิ์จริง พระรามจะต้องทำการรบอย่างยาวนานเช่นนั้น หรือต้องมีเทวดาจำนวนมากอาสามาเป็นลิงให้ตั้งมากมายทำไมก็ว่าไป

แต่เปาบุ้นจิ้น โดยเฉพาะในเวอร์ชั่นต้านโกงนั้น ความสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือความเฉียบขาดในการผดุงความยุติธรรม เพราะจุดเด่นในแต่ละตอนนั้นก็คือเรื่องของการเลือกใช้เครื่องประหารต่างๆ ในการจัดการกับคนผิด (ที่ออกจะเป็นที่นิยมมากคือ เครื่องประหารหัวสุนัข) ไม่ใช่แค่จองจำ รอลงอาญา ดำเนินคดียาวนาน และอ้างว่าไม่อยู่ในเขตอำนาจศาล

กล่าวคือ การต้านโกงของท่านเปานั้นนอกจากจะมีเรื่องของความเถรตรง จงรักภักดี และเฉียบขาดแล้ว ความรุนแรงในการจัดการคดีความต่างๆ นั้นก็เป็นจุดเด่นของเปาบุ้นจิ้นที่เป็นที่นิยมในช่วงเวลาหนึ่ง

คําถามก็คือ นี่คือทั้งหมดของความยุติธรรมหรือไม่? และสังคมที่ผมเรียกว่าสังคมหลังเปาบุ้นจิ้น นั้นเป็นสังคมที่ขาดความยุติธรรม หรือ มีการตัดสินความยุติธรรมด้วยวิธีอื่นๆ หรือไม่?

สิ่งที่เปาบุ้นจิ้นทำนั้นอาจจะเป็นเรื่องหนึ่งที่ตอบโจทย์ในยุคสมัยของเขาเมื่อพันกว่าปีก่อน ต่อมาเรามีพัฒนาการทางกฎหมายที่มากขึ้น โดยเฉพาะการให้หลักประกันและคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ของผู้กระทำผิด โดยเฉพาะการลงโทษ และความเข้าใจในเรื่องของความยุติธรรม ดังนั้นความยุติธรรมจึงไม่ได้อยู่ที่ความเฉียบขาดเท่านั้น

แต่ต้องหมายถึงกระบวนการที่ให้หลักประกันถึงความโปร่งใสด้วย ไม่ใช่แค่ศรัทธาและความไว้ใจต่อผู้พิพากษาเท่านั้น

แต่ในอีกมุมหนึ่งที่ในบ้านเราไม่ค่อยพูดกัน แต่ถ้าสืบค้นเรื่องอิทธิพลของเปาบุ้นจิ้นต่อกระบวนการยุติธรรมของจีนจากอดีตจนถึงปัจจุบันก็คือเรื่องของการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ร้องเรียนเมื่อเกิดความไม่ยุติธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ถือว่าเป็นอีกเงื่อนไขสำคัญในการสร้างความนิยม ความชอบธรรม และความยุติธรรมให้กับรัฐ ถึงขั้นที่เชื่อว่าอย่างน้อยหากประชาชนมีโอกาสร้องเรียน และรัฐได้แสดงออกถึงความจริงจังต่อทุกข์เข็ญของประชาชนแล้ว ก็อาจไม่จำเป็นต้องมีประชาธิปไตยแบบตะวันตกในประเทศจีนก็ได้

ในกระแสโซเชียลช่วงนี้ ผมพบว่าบางคนก็แสดงความรู้สึกคล้ายกับผมว่า เอ… เปาบุ้นจิ้นรอบนี้จะได้รับความนิยมเหมือนเดิมไหม ซึ่งในความหมายของผมความนิยมในแง่นี้มีความหมายมากกว่าความนิยมในแง่เรตติ้ง แต่มันรวมความไปถึงเรื่องของความนิยมในแง่ของการนำมาพูดถึงเรื่องราวอื่นๆ ในสังคม โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องความยุติธรรมเป็นต้น

ผมพบว่าสังคมวันนี้อาจจะพ้นไปจากเรื่องของเปาบุ้นจิ้นไปแล้ว ไม่ใช่ไม่มีความยึดโยงเอาเสียเลย แต่หมายถึงการที่เปาบุ้นจิ้นไม่ใช่ภาพประทับใจในเรื่องของความยุติธรรมทั้งหมดเสียแล้ว

เราอาจพบว่าทั้งคดีความและความยุติธรรมมีความซับซ้อนขึ้นมาก เกินกว่าที่คนคนเดียวแบบเปาบุ้นจิ้นจะแบกรับทุกเรื่องเอาไว้ได้ มิพักต้องกล่าวถึงว่าเรื่องบางเรื่องก็ตัดสินได้ยากว่าความผิดนั้นเป็นความผิดของคนหรือเป็นปัญหาทางโครงสร้างที่ผลักดันให้คนเหล่านั้นกระทำความผิด หรือผิดกันทุกฝ่ายประเภทที่เปาบุ้นจิ้นอาจจะเครียดได้ว่าเครื่องประหารของตนเองนั้นไม่พอจะประหาร

ไม่นับเรื่องว่า เปาบุ้นจิ้นจะรู้ทุกเรื่องไหมว่าควรจะดำเนินนโยบายการคมนาคมของประเทศอย่างไร

ในอีกด้านหนึ่ง บางอย่างก็ล้ำหน้าไปกว่าที่เปาบุ้นจิ้นจะเข้าใจได้ เช่นกระแสการสร้าง “ศาลไคฟงในมือเรา”ผ่านการทำงานร่วมระหว่างสื่อรายวันกับเครือข่ายสังคมในอินเตอร์เน็ต ที่ทำให้กระแสในบางเรื่องนั้นกลายเป็นคดีรายสัปดาห์เพียงแค่เราร่วมแสดงความเห็น กดไลค์ หรือร่วมกดดันไม่ว่าจะกรณีทันตแพทย์หนีทุน กรณีพิพาทเรื่องการขับรถชนกัน กรณีพิธีกรต้องหยุดทำหน้าที่เพราะมีคดีความ กรณีอุบัติเหตุบนท้องถนนจากการกระทำของคนที่เราเรียกว่าคนรวย หรือกรณีปัญหาเรื่องครอบครัวของธุรกิจน้ำพริกเจ้าหนึ่ง

การได้รับมติมหาชน หรือข้อมูลในบางประเด็นที่ขาดหายไปจากเรื่องราวและคดีความนั้นก็เป็นสิ่งดี แต่มันต้องแลกมาด้วยความเข้าใจว่ากระบวนการดำเนินคดีนั้นจะต้องคุ้มครองทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายที่โดนกระทำ และฝ่ายผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหา เราไม่สามารถเชื่อว่าความรวดเร็วคือเรื่องเดียวของความยุติธรรม (แต่หลายครั้งเราก็รู้สึกว่าเรื่องบางเรื่องก็ล่าช้าเสียจนน่าตั้งข้อสงสัย หรือสูญเสียศรัทธาต่อความยุติธรรม) และเรื่องที่สำคัญคือ เราเน้นความเข้าอกเข้าใจของเรื่องราวของทุกฝ่ายไหม มากกว่าเรื่องที่เราชอบเข้าใจว่าฝ่ายหนึ่งนั้นอ่อนแอและต้องถูกช่วยเหลือ และอีกฝ่ายหนึ่งมันผิดแล้วตั้งใจจะโกงหรือโกหกตลอดเวลา

แม้ว่ารอบนี้เปาบุ้นจิ้นยังฉายอยู่ แต่ผมเริ่มคาดเดาแล้วว่า อีกกี่ปี เปาบุ้นจิ้นตอนนี้จะกลับมาฉายใหม่ และเริ่มสงสัยว่าจะได้รับความนิยมเหมือนที่ผ่านๆ มาหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image