ปฏิรูปหลงทาง ขนมชั้นโมเดล : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย พูดถึงภาพรวมของการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ว่าทุกคณะมีแต่แผนแล้วให้ส่วนราชการเป็นผู้ปฏิบัติ คิดว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสำเร็จ เพราะให้ผู้ที่ถูกปฏิรูปมาทำเรื่องปฏิรูปเสียเอง เหมือนกับให้ผู้รับเหมามาทำหน้าที่ตรวจงานตัวเอง แม้จะใช้เวลาถึง 4 ปีแล้ว แต่การปฏิรูปยังอยู่ในขั้นตอนการวางแผน ยังไม่มีอะไรคืบหน้า และตอบไม่ถูกว่าการปฏิรูปจะแล้วเสร็จเมื่อใด

ครับ เป็นเหตุให้สื่อมวลชนพาดหัวว่า ปฏิรูปหลงทาง ถ้าจะให้ได้เนื้อหาสาระครบถ้วนกระบวนความต้องอ่านและฟังโดยละเอียดหลายๆ รอบ

สาระคำกล่าวทั้งหมด ไม่เฉพาะแต่คนคิดและมีส่วนร่วมสร้างนวัตกรรมการบริหารราชการแผ่นดินโมเดลแม่น้ำ 5 สายต้องเก็บเอาไปคิดให้หนักแล้ว สังคมโดยรวมควรมีส่วนขบคิดพิจารณาอย่างจริงจังด้วยเช่นกัน เพราะการปฏิรูปไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของทุกคน ทุกฝ่ายในสังคม ซึ่งล้วนได้รับผลกระทบทั้งสิ้น

ที่สำคัญความคาดหวังที่จะได้มาต้องแลกด้วยต้นทุนทุกอย่างที่ส่วนรวมเสียไป ไม่ว่าต้นทุนเวลา ต้นทุนเงิน ต้นทุนคน ต้นทุนปัญญา ผลผลิตที่ออกมา 4 ปีมีแต่แผน คุ้มกันหรือไม่

Advertisement

เพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ประเด็นแรกที่น่าคิดต่อก็คือ แล้วกฎหมายหลายร้อยฉบับที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติและรัฐบาลคุยว่าบัญญัติออกมาใช้บังคับได้มากมายเป็นประวัติการณ์ สภามาจากการเลือกตั้งไม่มีทางทำได้มากขนาดนี้ มองจากมุมของประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายแล้ว คิดอย่างไร

ควรวัดกันในเชิงปริมาณหรือคุณภาพที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างชนิดที่เรียกได้ว่าเป็นการปฏิรูปหรือไม่

ข้อต่อมาที่น่าใคร่ครวญ ผลผลิตถูกมองว่าไม่คืบหน้าในทางปฏิบัติจริงนอกจากแค่แผน ล้วนเป็นผลจากทิศทางหลักของการบริหารจัดการหลังวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และพัฒนาต่อเนื่องเรื่อยมา เน้นสร้างความเข้มแข็งของภาครัฐ ภาคราชการเป็นด้านหลักยิ่งกว่าการสร้างความเข้มแข็งให้ภาคประชาสังคม รวมศูนย์อำนาจมากกว่าการกระจายอำนาจ เกิดการสร้างกลไกการบริหารราชการแผ่นดินคณะแล้วคณะเล่า จาก สปช.มา สปท.มาคณะกรรมการปฏิรูป คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ล่าสุดคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ก่อนถึง ครม.และ สนช.

แทนที่จะทำให้กระบวนการสั้น กระชับ รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ จิ๋วแต่แจ๋ว รูปแบบการบริหารจัดการภาครัฐเลยมีลักษณะคล้ายขนมชั้น ทับซ้อนกันเป็นขนมชั้นโมเดล

การปฏิบัติแทนที่จะเกิดขึ้นรวดเร็ว ต้องผ่านการกลั่นกรอง ทบทวนแล้วทบทวนอีก ผลิตซ้ำในเรื่องเดียวกันหลายขั้นตอน กว่าจะออกมาเป็นกฎหมายนำไปสู่การบังคับใช้

ข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่น่าพิจารณาจากสาระในร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่นายบวรศักดิ์เป็นประธานกรรมาธิการยกร่าง เสนอให้มีกลไกการบริหารราชการคณะหนึ่ง คือคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ชื่อย่อว่า คปป. ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 15 คน แต่เมื่อส่งไปให้รัฐบาลให้ความเห็น ผลปรากฏว่านายกรัฐมนตรีมีหนังสือตอบกลับมาให้ปรับเปลี่ยนใหม่

คปป.ควรมี 20 คน กรรมการโดยตำแหน่ง ประกอบด้วย ประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ และตำรวจ กับผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนหนึ่ง

กรรมาธิการยอมแก้ไขตามที่รัฐบาลและ คสช.เสนอ โครงสร้าง องค์ประกอบ และบทบาทของ คปป.ตามโมเดลใหม่เป็นเหตุให้ร่างรัฐธรรมนูญถูกตีตกไปโดย สปช.นั่นเอง

มาถึงฉบับใหม่ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานกรรมการยกร่าง ไม่ได้บัญญัติคณะกรรมการ คปป.ไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่แปลงเป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ และคณะกรรมการปฏิรูป 11 ด้าน มีกฎหมายลูก 2 ฉบับรองรับ ว่าด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติและ พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ

ขณะที่ฝ่ายบริหารมีกลไกขึ้นมาหลายชุด ที่สำคัญคือคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูป ยุทธศาสตร์และการสร้างความสามัคคี ปรองดอง (ป.ย.ป.) มีอนุกรรมการรองรับอีกหลายคณะ

การมีกลไกมาก ทำให้การพิจารณาหาบทสรุปเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติยืดเยื้อ หลายขั้นตอน ประกอบกับวัฒนธรรมการทำงานแบบราชการ ปิดมากกว่าเปิด มุ่งรายงานขอความเห็นชอบจากหน่วยเหนือตามลำดับชั้นมากกว่าขอความเห็นสาธารณะ ทำให้กระบวนการเพื่อการปฏิรูปประเทศเป็นของภาคราชการมากกว่าของภาคประชาสังคม สังคมไม่รู้สึกว่าเป็นเจ้าของ ไม่มีส่วนร่วมรับรู้และขับเคลื่อนอย่างจริงจังกว้างขวาง

ตัวอย่างจากแผนปฏิรูปประเทศ 13 ด้าน ผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ไม่มีกระบวนการเชิญชวน รณรงค์ให้ผู้คนมาร่วมรับรู้และร่วมขบวนเท่าที่ควร 30 เรื่องเร่งด่วนที่ควรทำทันทีมีอะไร ทำอย่างไร และเมื่อไหร่ ต้องรอผ่านขั้นตอนอนุมัติขอความเห็นชอบจากแม่น้ำสายหลักก่อนถึงจะบอกกล่าวเล่าสิบผู้คนในสังคมแบบพูดฝ่ายเดียวได้

ระบบกระบวนการทำงานแบบราชการเป็นใหญ่ภายใต้วัฒนธรรมปิดที่ยังดำรงอยู่อย่างแข็งขันนี่แหละครับ เป็นสาเหตุหนึ่งทำให้การปฏิรูปยังไปไม่ถึงไหน นอกจากแผน

ถึงแม้จะพยายามเอาคำว่าประชารัฐมาเป็นทางออกก็ยังไม่ช่วยให้กระบวนการปฏิรูปก้าวหน้าไปเท่าที่ควรจะเป็น ไทยแลนด์ 4.0 ภายใต้วัฒนธรรมอำนาจราชการ 2.0 จึงเกิดสภาพอย่างที่นายบวรศักดิ์สะท้อนให้คิดนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image