ประสานักดูนก : พญาครุฑตากาล็อก โดย : นสพ.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว

นกอินทรีฟิลิปปินส์

นักดูนกแต่ละคนย่อมมีนกที่ใฝ่ฝันจะได้เห็นอย่างเต็มๆตาไม่เหมือนกัน คนเขียนในฐานะที่ชอบนกนักล่า ทุ่มเทเวลาศึกษาสำรวจเรื่องนกนักล่าไทย นอกเหนือจากงานประจำในฐานะพยาธิสัตวแพทย์ก็ไม่ต่างจากคนอื่นๆ ที่จะมี dream bird ของตนเอง

นกอินทรีกินลิง หรือนกอินทรีฟิลิปปินส์ Phillipine Eagle เป็นนกนักล่ายักษ์ใหญ่อีกชนิดที่ชื่อชั้นจัดเป็นนกอินทรีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกด้วยน้ำหนัก 4-8 กก. และความกว้างของปีก เป็น 1 นกในฝันที่คนเขียนอยากเห็น ถ้าจำกันได้ เมื่อเดือนตุลาคม ปีกลาย มีโอกาสไปประชุมวิชาการและนำเสนองานวิจัยที่เกาะมินดาเนา บ้านหลักของนกอินทรีชนิดนี้ แม้จะได้เห็นนกอินทรีบนเทือกเขาคิตังลาด ที่ใครๆ ก็ต้องไปที่นี่เพื่อหานกอินทรี แต่เป็นภาพจำของนกร่อนบนฟ้า ในระยะใกล้ท่ามกลางม่านหมอกของป่าเมฆ เมื่อเพื่อนนักดูนกชาวฟิลิปปินส์ ส่งข่าวมาว่าเขาร่วมมือกับชาวบ้าน จัดทำบังไพรไว้เก็บข้อมูลการเลี้ยงลูกของนกอินทรีคู่หนึ่งที่ป่าอนุรักษ์ซินโคนา บนเทือกเขาคิตันลาด ในจังหวัดบูคิดนอน บนเกาะมินดาเนา คนเขียนก็จัดหาเวลาบินไปทันทีเมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว ลูกนกโตใกล้ออกจากรัง ซึ่งนกชนิดนี้ด้วยความที่ขนาดใหญ่มาก ท่อนขาหนาเท่ากับแขนเด็กประถม จึงใช้เวลาเลี้ยงลูกนานถึง 4-5 เดือน ก่อนที่ลูกนกจะพอบินได้ แต่ก็ต้องให้แม่นกอู้มชูนอกรังไปอีก เกือบ 2 ปี

ปัจจัยด้านการผสมพันธุ์นี้เป็นตัวกำหนดความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ของมันจากมนุษย์ เพราะบ้านของนกต้องอาศัยในป่าดิบชื้น ที่มีต้นไม้ใหญ่สูงมากกว่า 20 เมตร ไว้เป็นแหล่งทำรัง เมื่อป่าถูกทำลายไปเรื่อยๆ เพราะอุตสาหกรรมกระดาษรวมทั้งชาวบ้านบางพื้นที่ล่ามันเพื่อนำมากินเป็นอาหาร ชะตาชีวิตของนกอินทรีกินลิงจึงริบหรี่ลงเรื่อยๆ ปัจจุบันประเมินกันว่าประชากรนกอินทรีในประเทศฟิลิปปินส์ เหลือไม่เกิน 500 ตัว และตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ประชากรประเมินนี้ก็ยังไม่กระเตื้องเพิ่มขึ้นแม้แต่น้อย เพราะอะไร กลับมาดูที่วิถีการผสมพันธุ์ของนก ที่ต้องใช้เวลา ทุ่มเทกับลูกนก 1 ตัว ถึง 2 ปี! หมายความว่า นกอินทรีจะวางไข่แค่ 1 ใบ ผลิตลูกนกมาทดแทนประชากรได้อย่างมากที่สุดคือ 2 ปี 1 ตัว นับว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับความสูญเสียถิ่นอาศัยและภัยจากการล่าของมนุษย์ ต่อให้เพิ่มการให้ความรู้ สร้างความตระหนัก ให้ชาวบ้านเห็นคุณค่าในฐานะเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นของฟิลิปปินส์ ที่ใครๆ ก็ต้องบินไปดูถึงบ้านเขา นำเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวไปให้ ร่วมกับสร้างความภาคภูมิใจ ที่เป็นนกประจำชาติ แต่ในเมื่อภัยจากบ้านถูกทำลายล้างยังคงอยู่ ทำให้สถานภาพของนกอินทรีกินลิงยังตกอยู่ในฐานะใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤต!

หากมองในแง่ดี ความร่วมมือที่ ดร.มิเกล เดอ ลีออน พยายามจนได้ความไว้เนื้อเชื่อใจของชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบป่าซินโคนา มาช่วยปกป้องนกอินทรีครอบครัวนี้ที่ใกล้จะออกรังแล้ว ก็ยังถือว่าความหวังยังมี ยิ่งมาตรการควบคุมให้การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เป็นไปด้วยคำนึงถึงความปลอดภัยของนกเป็นอันดับแรก

Advertisement

ในขณะที่ชาวบ้านเองมีรายได้ระดับที่พออยู่ได้จากการนำทาง การคุ้มครองรัง เช่นที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในประเทศกัมพูชา กับนกช้อนหอยใหญ่และพญาแร้ง ก็นับว่าพวกเราในฐานะนักอนุรักษ์ที่เลือกเดินสายกลาง ให้คนอยู่ได้ นกอยู่ได้ มาถูกทางแล้ว ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า จะอนุรักษ์นกและสัตว์ป่า ต้องรักษาบ้านของนกไว้ด้วย Save birds, save habitats..

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image