ควบคุม/ส่งเสริมธุรกิจห้องเช่าให้ถูกทาง : โดย เกรียงศักดิ์ โยธาประเสริฐ

ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2561 รัฐจะเริ่มบังคับใช้ ประกาศให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา โดยเชื่อว่าเป็นการคุ้มครองดูแลผู้บริโภคหรือผู้เช่า แต่แนวทางที่รัฐใช้ก็ยังเป็นแนวทางเดิมๆ คิดแบบเดิม โดยออกกฎมาบังคับ (โดยเฉพาะกับกิจการเล็กๆ) เมื่อเทียบกับการที่รัฐช่วยประชาชนมีบ้านเป็นของตนเอง เป็นการส่งเสริมและช่วยเหลือทั้งวงการธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ชื้อบ้าน เจ้าของโครงการ ผู้ก่อสร้าง และผู้ซื้อได้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ค่าผ่อนบ้านเอาไปหักภาษีได้

กรณีเช่ารัฐบังคับผู้เช่าอย่างเดียว รัฐเคยสำรวจมั้ย คนไทยที่เกิดและตายเมื่ออายุ 70 ปี อยู่บ้านใคร 30 ปีแรกอาจอยู่กับพ่อแม่ 10-20 ปี เช่าอยู่ 20-30 ปี อยู่บ้านตัวเอง จำนวนไม่น้อยอาจจะเช่าอยู่ตลอดชีวิต

ดังนั้น มุมมองการช่วยเหลือจึงไม่ควรที่เน้นที่การเป็นเจ้าของ (ประมาณ 10 ปี วารสารเดอะอีโคนอมิสต์จัดให้มีการถกเถียงว่ารัฐควรช่วยประชาชนให้มีบ้านของตนเองหรือไม่ มีถึงร้อยละ 30 บอกว่าไม่ควร เพราะขัดขวางการเคลื่อนย้ายและหาความรู้ของประชากร) แต่มองว่าชาวบ้านได้อาศัยในที่อยู่ที่ดีพอสมควรตามฐานะหรือไม่ นั่นหมายความว่าถ้าเป็นห้องเช่าก็ดีพอสมควรไม่ใช่ค่าเช่าถูกอย่างเดียว

ประกาศฉบับนี้ปกป้องผู้เช่าเป็นพิเศษ และมีมุมมองว่าผู้ให้เช่าหรือเจ้าของกิจการจะเป็นผู้ที่คิดแต่เอารัดเอาเปรียบและอยู่ในฐานะทำเช่นนั้นได้ ซึ่งในความเป็นจริงสัมพันธภาพระหว่างผู้เช่าและผู้ให้เช่าเป็นความสัมพันธ์เชิงธุรกิจตามปกติ ระหว่างลูกค้าและผู้ให้บริการและกำหนด โดยภาวะตลาดและคุณภาพของทั้งลูกค้าและผู้ให้บริการ กรณีเว็บไซต์ airbnb หรือใกล้เคียงมีคนแห่นำทรัพย์สินไปให้เช่าก็สะท้อนตลาดระดับหนึ่ง

Advertisement

ประกาศฉบับนี้ระบุว่า ห้ามไม่ให้ผู้เช่าเก็บค่าเช่าล่วงหน้าเกิน 1 เดือน ก็ไม่รู้ว่าจะสื่ออะไร ค่าเช่าโรงแรม ค่าเช่ารถก็จ่ายกันล่วงหน้าทั้งนั้น และตามปกติค่าเช่าล่วงหน้าก็เก็บแค่ 1 เดือน (พ.ร.บ.หอพัก เก็บได้สามเดือน)

ประกาศฉบับนี้ห้ามเก็บเงินประกัน เกินค่าเช่า 1 เดือนก็ไม่รู้ว่าใช้อะไรเป็นหลักคิด เงินประกันนั้นมีไว้เพื่อให้เป็นค่าชดเชยความเสียหายจากเครื่องเรือน หรืออุปกรณ์ที่ให้และเพื่อให้ปฏิบัติตามสัญญา เช่น จะแจ้งย้ายออกต้องแจ้งล่วงหน้า 1 เดือน คุณภาพและจำนวนเครื่องเรือนที่ให้จึงเป็นมูลค่าที่จะกำหนดเงินประกันแน่นอนยังถูกกำหนดโดยภาวะตลาด บางแห่งค่าเช่าถูก เงินประกันถูก แต่เตียง ที่นอน ตู้ ผู้เช่าหามาเอง แอร์ติดเอง

ประกาศฉบับนี้ให้เก็บค่าน้ำค่าไฟเท่ากับที่หลวงคิดกับผู้ประกอบการแต่ก็เปิดโอกาส ให้เก็บค่าจดมิเตอร์ค่าใช้จ่ายส่วนอื่นในทางปฏิบัติ ก็คงยุ่งยากเพิ่มขึ้น เพราะวันที่หลวงเก็บและส่งเอกสารมาก็ไม่แน่นอนสม่ำเสมอ

Advertisement

ประกาศฉบับนี้ไม่ได้ให้เครื่องมือผู้ประกอบการในการบังคับเก็บค่าเช่าหรือริบเงินมัดจำหรือให้ย้ายออกเพราะห้ามผู้เช่าระบุในสัญญาว่ามีสิทธิริบเงินประกันหรือค่าเช่าล่วงหน้า ห้ามผู้ให้เช่าปิดกั้นผู้เช่าใช้ประโยชน์จากอาคาร (ซึ่งก็คือห้องเช่า)

แม้ผู้เช่าไม่ได้ชำระค่าเช่าหรือค่าใช้จ่ายต่างๆ (พ.ร.บ.โรงแรม ผู้ให้เช่ามีสิทธิปฏิเสธผู้เช่าที่จะเข้าพักได้ทันที) หากผู้เช่าไม่ติดค้างค่าเช่าแต่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ยิ่งไม่มีทาง

ประกาศฉบับนี้ไม่ระบุชัดเจนให้ผู้เช่าขอสำเนาบัตรประชาชนหรือพาสปอร์ตจากผู้เช่า ซึ่งในความเป็นจริงผู้เช่าก็เหมือนคนทั่วไปมีทั้งดีหรือมีพฤติกรรมที่ไม่น่าไว้ใจ ตั้งบริษัทหลอกชาวบ้านก็มี หลบความผิดที่ก่อไว้ก็มี

หากใครชมภาพยนตร์เรื่อง The Pursuit of Happiness ซึ่งแสดงโดย วิล สมิท ซึ่งก่อนจะประสบความสำเร็จต้องสู้ชีวิต จนช่วงหนึ่งต้องไปขออาศัยในที่พักพิงผู้ไร้บ้าน (homeless shelters) ซึ่งจัดการโดยรัฐ (เชื่อว่าผู้ประกอบการไทยก็มีประสบการณ์เช่นนี้ แม้จะไม่เต็มใจ บางกรณีทนผัวไม่ได้หนีมาอยู่ก็มี) หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคหรือรัฐไทย ควรทำงานในลักษณะนี้ มันประหลาดที่ว่าหากเป็นธุรกิจของทุนใหญ่ แทบจะไม่มีการริเริ่มจากหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค ค่าโดยสารรถไฟใต้ดินหรือลอยฟ้าเมื่อเทียบกับค่าครองชีพของไทยแพงกว่าของสิงคโปร์และจีน ผู้ใช้บริการเรือคลองแสนแสบก็แสนลำบาก ตายบาดเจ็บก็หลายคน

ที่เห็นง่ายที่สุด บริการตู้น้ำฟรี ในสวนอาหารของห้างใหญ่ซึ่งเคยมีเมื่อ 30 กว่าปีก่อน ปัจจุบันไม่มี แค่ออกประกาศให้สวนอาหารเหล่านั้นจัดวางตู้น้ำบริการฟรี กลับทำไม่ได้

เกรียงศักดิ์ โยธาประเสริฐ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image