ที่มา | มติชนออนไลน์ |
---|---|
ผู้เขียน | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
เผยแพร่ |
ภาชนะเก่าสุดสำหรับใส่น้ำ น่าจะเป็นกระบอกไผ่ จึงมีคำพังเพยว่า “ไม่เห็นน้ำ ตัดกระบอก” (คล้องจองกับ ไม่เห็นกระรอก ขึ้นหน้าไม้)
และน้ำเต้า อาจเป็นภาชนะเก่าสุดใส่น้ำคู่กับกระบอกไม้ไผ่ แล้วเป็นต้นแบบให้มีภาชนะจักสานและดินเผาก้นกลมสืบจนสมัยหลังๆ ถึงปัจจุบัน
ขัน หมายถึง ภาชนะตักน้ำหรือใส่น้ำ มักเรียกขันน้ำเป็นสามัญทั่วไป แต่ชื่อเรียกขยายไปตามฐานะทางสังคมของคน เช่น
ขันน้ำพานรอง หมายถึง ขันน้ำมีพานรองขันเข้าชุดกัน สำหรับคนที่ฐานะทางสังคมสูงขึ้น และอาจมีลวดลายประดับมากขึ้นตามลำดับไป
ขันสาคร แปลว่า ขันใส่น้ำ หมายถึง ขันขนาดใหญ่ทำด้วยโลหะ มีหูหิ้ว 2 ข้าง มักใช้ทำน้ำมนต์ในพิธีกรรมสำคัญๆ เช่น พิธีไหว้ครู ครอบครู นาฏศิลป์และดนตรี
ขันมีไว้ใช้อย่างอื่นด้วย จึงมีชื่อเรียกกำกับต่างๆ กัน เช่น
ขันกำนล (อ่านว่า ขัน-กำ-นน) หมายถึง ขันใส่เครื่องบูชาครูผู้สอนวิชาความรู้ต่างๆ สมัยก่อนอาจเป็นสิ่งของ เช่น หมากพลู ฯลฯ สมัยหลังๆ เป็นสตางค์เท่าที่กำหนดเป็นพิธี เช่น 6 บาท ฯลฯ
ขันหมาก หมายถึง ขันใส่หมากพลูและของไหว้อื่นๆ ที่ฝ่ายเจ้าบ่าวนำไปไหว้ผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาว (เพื่อขมาที่ทำลูกสาวเขาท้อง หรือที่ฉุดลูกสาวเขาไปทำเมีย)
ในวัฒนธรรมลาว มีเรียกชื่อขันประเภทต่างๆ ไปอีกหลายอย่าง เช่น
ขันโตก หมายถึง ภาชนะใส่อาหาร สานด้วยไม้ไผ่แล้วทาด้วยน้ำรัก มีขอบและมีขา 4 ขา
ขันหมากเบ็ง กลายจากขันหมากเบ็ญจ์ หมายถึง ภาชนะใส่เครื่องสักการะ มี 5 อย่าง ได้แก่ ข้าวตอก, ดอกไม้, ธูป, เทียน, ประทีป โดยใช้ใบตองประดิษฐ์ประดับประดา
