หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

หลอดลมอักเสบ เป็นโรคทางเดินหายใจที่เกิดการอักเสบ แบ่งเป็น ชนิดเฉียบพลัน กับ ชนิดเรื้อรัง ในที่นี้จะกล่าวถึง “ชนิดเฉียบพลัน” ส่วนชนิดเรื้อรังแยกกล่าวไว้ต่างหาก หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งมักพบหลังเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่

สาเหตุ : ส่วนมากเกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งจะมีอาการมีเสมหะขาว บางครั้งอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งจะไอมีเสลดสีเหลืองหรือเขียว นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการถูกสารระคายเคือง เช่น ควันบุหรี่ ไอเสียรถยนต์ ฝุ่นละออง เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้มีอาการเรื้อรังได้

อาการ : มีอาการไอ ซึ่งจะเป็นมากตอนกลางคืน บางรายอาจไอมากจนนอนไม่เพียงพอ ระยะแรกจะไอแห้งๆ อาจมีเสียงแหบ และเจ็บหน้าอกเพราะไอมาก 4-5 วัน ต่อมาจะมีเสมหะเหนียวเป็นสีขาว (เชื้อไวรัส) หรือขุ่นข้นเป็นสีเหลืองหรือเขียว (เชื้อแบคทีเรีย) ในเด็กอาจไอจนอาเจียน อาจมีไข้ต่ำๆ หรือไม่มีก็ได้ บางรายอาจมีอาการหอบหืดร่วมด้วย เรียกว่า หืดจากหลอดลมอักเสบ (asthmatic bronchitis)

สิ่งตรวจพบ : ส่วนมากจะไม่พบสิ่งผิดปกติ บางรายอาจมีไข้ การใช้เครื่องฟังตรวจปอด อาจได้ยินเสียงหายใจหยาบ (coarse breath sound) หรือมีเสียงอี๊ด (rhonchi) ในรายที่มีอาการหอบหืดร่วมด้วย การใช้เครื่องฟังปอดอาจได้ยินเสียวี้ด (wheezing)

Advertisement

อาการแทรกซ้อน : โรคนี้มักหายได้ภายใน 1-3 สัปดาห์ แต่บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย ได้แก่ ปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบเรื้อรัง หลอดลมพอง ถุงลมพอง

การรักษา : 1.แนะนำให้ผู้ป่วยพักผ่อนให้มากขึ้น อย่าตรากตรำงานหนัก ควรดื่มน้ำอุ่นมากๆ (วันละ 10-15 แก้ว) เพื่อช่วยละลายให้เสมหะออกได้ง่ายขึ้น ไม่ควรดื่มน้ำเย็น น้ำแข็ง ของทอดหรือของมันๆ อาจทำให้ไอมากขึ้น ควรงดสูบบุหรี่ อย่าอยู่ในที่ที่มีอากาศเสียหรือฝุ่นละอองมาก

2.ถ้าไอมากอาจให้ยาขับเสมหะ เช่น มิสต์แอมมอนคาร์บ (หากไม่มีก็ไม่จำเป็นต้องให้ หรือให้จิบน้ำผึ้งผสมมะนาวก็ได้) ไม่ควรให้ยาแก้ไอชนิดระงับการไอ หรือยาแก้แพ้ เพราะจะทำให้เสลดเหนียวขากออกยาก และเสมหะอาจอุดกั้นหลอดลมเล็กๆ ทำให้ปอดบางส่วนแฟบได้

Advertisement

3.ถ้ามีอาการไอจนรู้สึกหอบเหนื่อย หรือใช้เครื่องฟังปอดได้ยินเสียงวี้ด ให้ยาขยายหลอดลมจะช่วยให้หายใจได้คล่อง

4.ยาปฏิชีวนะ ถ้าเสลดขาว (เกิดจากไวรัส หรือการระคายเคือง) ไม่ต้องให้ ถ้าเสลดเป็นสีเหลืองหรือเขียว (เกิดจากแบคทีเรีย) ควรให้ยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน หรืออีริโทรไมซินนาน 7-10 วัน

5.ถ้าไอนานเกิน 3 สัปดาห์ หรือมีไข้นานเกิน 1 สัปดาห์ หรือน้ำหนักลด ควรส่งโรงพยาบาลอาจต้องเอกซเรย์ ตรวจเสมหะ หาสาเหตุและรักษาตามสาเหตุ

ข้อแนะนำ : โรคนี้มักเป็นหลังจากเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ และอาจไอมีเสมหะขาวอยู่นาน 4-6 สัปดาห์ (บางรายอาจนานถึง 3 เดือน) เพราะเยื่อบุผิวภายในหลอดลมที่อักเสบและสูญเสียหน้าที่ไป กว่าจะเจริญและฟื้นตัวเต็มที่ได้ใหม่อาจใช้เวลา ระหว่างนี้จึงอาจมีอาการระคายเคืองได้ง่ายและไอได้บ่อยเวลาถูกฝุ่นหรือพัดลม ผู้ป่วยมักจะมีสุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี (กินได้ น้ำหนักไม่ลด ไม่มีไข้)

แต่ถ้าพบว่ามีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลดหรือมีไข้เรื้อรัง อาจเป็นจากสาเหตุอื่นๆ เช่น วัณโรค หากสงสัยควรส่งโรงพยาบาล

หลอดลมอักเสบเรื้อรัง (Chronic bronchitis) ถุงลมพอง (Emphysema/COPD)

หลอดลมอักเสบเรื้อรัง หมายถึง การอักเสบของหลอดลม ซึ่งเป็นอยู่เรื้อรัง ทำให้เยื่อบุผิวหลอดลมและหลอดลมฝอยมีการบวมหนา และมีการหลั่งเมือก (เสมหะหรือเสลด) ออกมามากกว่าปกติ เป็นสาเหตุให้หลอดลมมีลักษณะตีบแคบลง ทำให้ลมหายใจเข้าออกได้ยากลำบากขึ้น โดยทั่วไปเรามักจะวินิจฉัยผู้ป่วยว่าเป็นหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการไอมีเสลดติดต่อกันทุกวัน นานกว่า 6 เดือนขึ้นไป หรือเป็นอยู่อย่างน้อยปีละ 3 เดือนติดต่อกัน 2 ปีขึ้นไป

ถุงลมพอง (ถุงลมปอดโป่งพอง) หมายถึง ภาวะพิการอย่างถาวรของถุงลมในปอด ปกติถุงลมอยู่ปลายสุดของปอด ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากล้านๆ ถุง เป็นถุงอากาศเล็กๆ มีหลอดเลือดหุ้มอยู่โดยรอบ เป็นที่ซึ่งเกิดการแลกเปลี่ยนอากาศ กล่าวคือ ก๊าซออกซิเจนในถุงลมซึมผ่านผนังถุงลมและหลอดเลือดเข้าไปในกระแสเลือดและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระแสเลือดซึมกลับออกมาในถุงลมหดและขยายตัวได้คล้ายฟองน้ำ ซึ่งช่วยให้การแลกเปลี่ยนอากาศเป็นไปอย่างเต็มที่ ส่วนผู้ป่วยที่เป็นโรคถุงลมพองจะมีผนังถุงลมที่เสียความยืดหยุ่นและเปราะง่าย ทำให้ถุงลมสูญเสียหน้าที่การแลกเปลี่ยนอากาศ นอกจากนี้ ผนังของถุงลมขนาดเล็กๆ หลายๆ อันรวมตัวเป็นถุงลมที่โป่งพองและพิการ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้จำนวนพื้นผิวของถุงลมที่ยังทำหน้าที่ได้ทั้งหมด ลดน้อยลงกว่าปกติ ทำให้ออกซิเจนเข้าสู่กระแสเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้น้อยลง เกิดอาการเหนื่อยหอบง่าย ทั้ง 2 โรคนี้มักจะเกิดร่วมกัน จนบางครั้งแยกกันไม่ออก พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง หลอดลมอักเสบเรื้อรังจะพบมากในช่วงอายุ 30-60 ปี ส่วนถุงลมพองพบมากในช่วงอายุ 45-65 ปี ส่วนใหญ่จะมีประวัติสูบบุหรี่จัดมานานเป็น 10 ปีขึ้นไป หรือไม่ก็มีประวัติอยู่ในย่านที่มีอากาศเสีย หรือมีอาชีพทำงานในโรงงาน หรือเหมืองแร่ที่หายใจเอาสารระคายเคืองเข้าไปเป็นประจำ

สาเหตุ : มีความเกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่เป็นสำคัญ (ส่วนน้อยที่เกิดจากฝุ่นละออง หรือสารระคายเคืองต่างๆ) ทำให้หลอดลมมีการระคายเคือง ขนอ่อน (cilia) บนเยื่อบุผิวของหลอดลมเกิดความพิการ ไม่สามารถโบกขับเอาเสมหะที่มีเชื้อโรคและฝุ่นละอองออกมาได้ จึงทำให้เกิดการอักเสบของหลอดลมจากโรคต่างๆ เป็นประจำ

อาการ : หลอดลมอักเสบเรื้อรัง จะมีอาการไอมีเสลดเรื้อรังเป็นแรมเดือนแรมปี โดยระยะเริ่มแรกผู้ป่วยมักจะไอหรือขากเสลดในคอหลังจากตื่นนอนตอนเช้าเป็นประจำ จนนึกว่าเป็นเรื่องปกติ ต่อมาจะมีอาการไอถี่ขึ้นตลอดทั้งวัน และมีเสลดจำนวนมาก อาจออกเป็นสีขาวหรือสีเหลืองหรือสีเขียว บางครั้งอาจมีไข้หรือไอมีเลือดปนร่วมด้วย เมื่อเป็นนานๆ เข้าอาจมีอาการหอบเหนื่อยร่วมด้วย ถุงลมพองจะมีอาการเหนื่อยหอบง่ายเวลาทำงานหรือออกแรง ซึ่งจะค่อยๆ เพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เป็นแรมปีจนในที่สุดอาจกินเวลา 5-10 ปีขึ้นไป แม้แต่เวลาพูดหรือเดินก็รู้สึกเหนื่อยง่ายจนกลายเป็นคนพิการไป ทั้งนี้เนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถนำออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายได้ ผู้ป่วยอาจมีอากรไอมีเสลดเรื้อรังแบบหลอดลมอักเสบเรื้อรังร่วมด้วย บางครั้งเมื่อมีการติดเชื้อแทรกซ้อน อาจมีไข้และไอมีเสลดสีเหลืองหรือสีเขียวร่วมด้วย ในรายที่เป็นมากๆ อาจมีอาการหายใจหอบคล้ายโรคหืด

สิ่งที่ตรวจพบ : หลอดลมอักเสบ : การตรวจร่างกายในระยะแรกอาจไม่พบสิ่งใดผิดปกติ ต่อมาอาจพบเสียงอี๊ดจากการใช้เครื่องฟังตรวจปอด ถุงลมพอง : การตรวจร่างกาย ถ้าใช้นิ้วมือเคาะที่หน้าอกของผู้ป่วยจะพบว่ามีเสียงโปร่ง อาการเคาะโปร่ง เนื่องจากมีอากาศค้างอยู่ในถุงลม แต่เมื่อใช้เครื่องฟังตรวจปอด จะพบว่าเสียงหายใจค่อย บางครั้งอาจได้ยินเสียงกรอบแกรบ (crepitation) เสียงอี๊ด หรือเสียงวี้ด เสียงหายใจอาจได้ยินเสียงเบากว่าปกติ และได้ยินชัดตรงบริเวณใต้ลิ้นปี่ ในรายที่เป็นมากๆ อาจตรวจพบอาการนิ้วปุ้ม เล็บเขียว ปากเขียว หรือมีภาวะหัวใจวาย เท้าบวม นอนราบไม่ได้ หลอดเลือดที่คอโป่ง คลำได้ตับโต

อาการแทรกซ้อน : หลอดลมอักเสบเรื้อรัง : อาจทำให้เกิดโรคปอดอักเสบ แทรกซ้อนเป็นครั้งคราว ถ้าปล่อยไว้นานๆ มักจะกลายเป็นโรคถุงลมพอง หัวใจวาย หรือปอดทำงานไม่ได้ ดังที่เรียกว่า ภาวการณ์หายใจล้มเหลว (respiratory failure) ถุงลมพอง : มักมีโรคปอดอักเสบแทรกซ้อนเป็นครั้งคราว อาจทำให้เกิดปอดทะลุจากการที่ถุงลมแตก เมื่อเป็นนานๆ ในที่สุดจะเกิดภาวะหัวใจวายหรือภาวการณ์หายใจล้มเหลว ผู้ป่วยบางรายที่ไอเรื้อรังอาจทำให้เกิดโรคไส้เลื่อนได้

การรักษา : 1.แนะนำให้ผู้ป่วยเลิกสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่อากาศเสีย หรือการสูดหายใจเอาสารระคายเคืองต่างๆ ควรดื่มน้ำให้มากๆ วันละ 10-15 แก้ว เพื่อช่วยขับเสมหะ 2.ถ้าไอมากอาจให้ยาขับเสมหะ เช่น มิสต์แอมมอนคาร์บครึ่งช้อนโต๊ะ ทุก 6 ชม. 3.ถ้าหอบหรือปอดมีเสียงดังวี้ดให้ยาขยายหลอดลม ถ้าหอบมากให้สูดหรือฉีดยากระตุ้นบีต้า 2 หรือฉีดอะดรีนาลิน 0.5 มล. เข้าใต้หนัง 4.ถ้าเสลดมีสีเหลืองหรือสีเขียวให้ยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลีน หรืออีริโทรไมซิน นาน 7-10 วัน 5.ถ้าไม่ดีขึ้นหรือสงสัยมีภาวะแทรกซ้อน ควรส่งโรงพยาบาล อาจต้องเอกซเรย์ตรวจเสมหะ ใช้กล้องส่องตรวจหลอดลม (bronchoscope) ถ้าไม่ดีขึ้นระยะท้ายถึงขั้นที่มีภาวการณ์หายใจล้มเหลว ปอดทำงานไม่ได้ อาจต้องเจาะคอและใช้เครื่องช่วยหายใจไประยะหนึ่ง ในที่สุดผู้ป่วยจะต้องตายจากปอดอักเสบแทรกซ้อนระหว่างอยู่ในโรงพยาบาล

ข้อแนะนำ : 1.บุหรี่เป็นสาเหตุของโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังและถุงลมพอง ดังนั้น จึงควรป้องกันโรคนี้ด้วยการไม่สูบบุหรี่ รวมทั้งผู้ที่เป็นโรคนี้ควรเลิกสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด อาจช่วยป้องกันมิให้โรคลุกลามมากขึ้นได้ 2.ถุงลมส่วนที่พองและเสียหน้าที่ไปแล้วจะไม่มีทางกลับมาหายเหมือนคนปกติได้ จึงนับว่าเป็นโรคที่ไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้ การรักษาเพียงแต่ให้ยาบรรเทาอาการและป้องกันภาวะแทรกซ้อนเท่านั้น ดังนั้น จึงควรติดต่อรักษากับแพทย์ที่มักคุ้นเป็นประจำ อย่าดิ้นรนเปลี่ยนหมอเปลี่ยนโรงพยาบาลให้สิ้นเปลืองเงินทอง และอย่าซื้อยาชุดกินเอง เพราะอาจเป็นอันตรายได้ 3.ผู้ป่วยมีโอกาสติดเชื้อเป็นปอดอักเสบได้บ่อยอาจต้องเข้าๆ ออกๆ รพ.เป็นประจำ เมื่อมีไข้หรือสงสัยจะติดเชื้อควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที 4.โรคถุงลมพองอาจมีอาการหายใจหอบแบบเดียวกับโรคหืด แต่ต่างกันที่ผู้ป่วยถุงลมพองจะมีอาการเหนื่อยง่ายอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าจะหายหอบแล้วก็ตาม

ส่วนผู้ป่วยโรคหืดเวลาไม่มีอาการหอบจะเป็นปกติสุขทุกอย่าง ดังนั้น การป้องกันโรคนี้ที่ดีที่สุดคือ ไม่สูบบุหรี่

หลอดลมพอง (bronchiectasis) เป็นภาวะที่หลอดลมขนาดเล็กเกิดการพองตัวอย่างถาวร และเกิดการเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุผิวและผนังหลอดลม ทำให้มีการติดเชื้ออักเสบได้บ่อย พบได้ในคนทุกวัย แต่พบมากในช่วงอายุ 20-40 ปี

สาเหตุ : มักเกิดจากการติดเชื้อของปอด ปอดอักเสบ วัณโรค ไอกรน หรือการอุดกั้นของหลอดลม เช่น มีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในหลอดลม มีก้อนเนื้องอกหรือมะเร็งมากดหลอดลม และพบว่าคนที่เป็นโรคนี้ประมาณครึ่งหนึ่งจะเป็นโรคไซนัสอักเสบร่วมด้วย

อาการ : ไอเรื้อรังออกเป็นหนองจำนวนมากและมีกลิ่นเหม็น ถ้าตั้งทิ้งไว้จะออกเป็น 3 ชั้น ชั้นล่างสุดเป็นชั้นหนองข้น ชั้นกลางเป็นของเหลวใส และชั้นบนสุดเป็นฟอง อาการไอจะเป็นมากเวลาตื่นนอนหรือลุกขึ้นจากเตียงนอน ลมหายใจมักมีกลิ่นเหม็น ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยจะมีอาการไอออกเป็นเลือดร่วมด้วย อาจออกเป็นเลือดปนหนองหรือออกเป็นเลือดสดจำนวนมาก บางรายอาจไม่มีอาการไอเรื้อรังมาก่อน อยู่ดีๆ หรือหลังเป็นไข้หวัดก็ไอมีเลือดออกสดๆ ก็ได้ บางรายอาจเป็นปอดอักเสบ เป็นๆ หายๆ อยู่เรื่อยๆ อาจมีไข้ เหงื่อออกตอนกลางคืน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เหนื่อยง่ายหรือหอบ

สิ่งตรวจพบ : ใช้เครื่องฟังตรวจปอดมักจะได้ยินเสียงกรอบแกรบและเสียงอี๊ดตรงส่วนล่างของปอด บริเวณใต้สะบักทั้งสองข้าง เสียงหายใจหยาบและดังกว่าปกติ อาจพบนิ้วปุ้ม (clubbing of fingers) หรือกดเจ็บตรงบริเวณไซนัส แต่บางรายก็อาจตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติแต่อย่างใดก็ได้

อาการแทรกซ้อน : ถ้าเป็นเรื้อรังปอดอาจเสียได้ ทำงานไม่ได้ ทำให้หอบเหนื่อยง่าย หรือกลายเป็นโรคถุงลมพอง อาจทำให้ปอดอักเสบบ่อย อาจทำให้ไอออกเป็นเลือด ถ้าออกทีละมากๆ อาจช็อกได้ แต่เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้น้อย

การรักษา : 1.ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลิน หรืออีริโทรไมซิน นาน 7-10 วัน และอาจให้ยาขับเสมหะ เช่น มิสแอมมอนคาร์บครึ่งช้อนโต๊ะ ทุก 6 ชม. ถ้ามีไข้ให้ยาลดไข้ 2.แนะนำให้ดื่มน้ำอุ่นมากๆ วันละ 10-15 แก้ว ควรงดบุหรี่และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีควันมาก และหมั่นระบายเสมหะออกมา โดยการนอนคว่ำพาดกับขอบเตียง และวางศีรษะบนพื้นโดยใช้มือหรือหมอนรองวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 5 นาที 3.ถ้ามีอาการหอบเหนื่อย หรือใช้เครื่องฟังตรวจปอดมีเสียงวี้ด ควรให้ยาขยายหลอดลม 4.ถ้าไม่ดีขึ้น หรือใช้กล้องส่งตรวจหลอดลม (bronchoscope) ค้นหาสาเหตุ ถ้าเลือดออกมาจนช็อกให้น้ำเกลือแล้วส่งโรงพยาบาลทันที

ข้อแนะนำ : เพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้นานและมีคุณภาพชีวิตที่ดีมี 3 ข้อ คือ 1.โรคนี้มักเป็นเรื้อรังนานเป็นปีๆ บางครั้งแพทย์อาจต้องให้ยาปฏิชีวนะกินติดต่อกันนานๆ ดังนั้น ผู้ป่วยควรรักษากับแพทย์แห่งใดแห่งหนึ่งเป็นประจำ อย่าเปลี่ยนหมอบ่อย 2.ควรระวังอย่าให้เป็นหวัด ทอนซิลอักเสบ ไซนัสอักเสบ เหงือกอักเสบ ปอดอักเสบ ถ้าเป็นควรรีบรักษาเสียแต่เนิ่นๆ

3.หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ และกินอาหารประเภทโปรตีน เนื้อ นม ไข่ ถั่วต่างๆ ผักและผลไม้ให้มากๆ เพื่อเสริมสร้างภูมิต้านทานโรค…

อย่างไรเรารู้ก็อยู่แล้วว่าเป็นแล้วไม่หายขาด มีทางเดียวจะมีชีวิตอยู่ได้นานเท่านานก็ขอให้ยึดหลักปฏิบัติ 3 ข้อหลังนี้อย่างเคร่งครัดด้วยนะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image