นาฏยลีลาหลวง (ระบำ) เขมร : โดย สุกรี เจริญสุข

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2561 ผู้เขียนได้รับคำเชิญให้ไปชมนาฏยลีลาหลวง หรือระบำของราชสำนักเขมร ที่โรงละครหลวงจตุมุข (Chaktomuk Theatre) ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับพระบรมราชวังจตุมุข ที่กรุงพนมเปญ โดยที่คณะระบำชุดนี้ได้ฝึกซ้อมและจัดการกำกับโดยสมเด็จพระเรียมนโรดม บุปผาเทวี ซึ่งมีพระชนม์ 75 พรรษา เป็นการฝึกคนรุ่นใหม่ให้เรียนรู้ท่ารำ การแต่งตัว โดยเลียนแบบจากสำเนาต้นแบบที่มีอยู่เดิม เมื่อครั้งเจ้านายเขมรได้นำคณะระบำไปแสดงที่กรุงปารีส เมื่อปี พ.ศ.2449

ที่สำคัญก็คือได้มีศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ ออกุสต์ โรเด็ง (Auguste Rodin) ชาวฝรั่งเศส ได้เข้าชมการแสดงในครั้งนั้นและได้วาดภาพการแต่งกายของคณะนาฏยลีลาหลวง (ระบำราชสำนักเขมร) เอาไว้

ต่อมาได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือ (ภาพวาด) นำออกไปเผยแพร่ในฐานะงานศิลปะที่วาดโดยศิลปินที่มีชื่อเสียงของโลก ซึ่งวาดลายเส้นเอาไว้อย่างสมบูรณ์ ทำให้ระบำเขมรเป็นที่รู้จักในยุโรป ผ่านงานวาดของโรเด็ง

โดยปกตินั้น เจ้านายเขมรและชนชั้นสูงเขมร มีความสัมพันธ์กับฝรั่งเศสเป็นอย่างดี ชนชั้นสูงเขมรส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาจากฝรั่งเศส เขมรใช้ฝรั่งเศสเป็นต้นแบบ ไม่ว่าจะเป็น การศึกษา ภาษา วัฒนธรรม การเมือง การปกครอง วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ อาหารการกิน

Advertisement

ทั้งนี้ เขมรตกอยู่ในอาณานิคมฝรั่งเศส 90 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2406-2496 เมื่อเขมรถูกปลดปล่อยจากอาณานิคมฝรั่งเศสแล้ว ต่อมาได้เกิดสงครามกลางเมืองเป็นเวลาหลายปี โดยเฉพาะระหว่างปี พ.ศ.2518-2522 มีการต่อสู้ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวเขมร ทำให้ชาวเขมรล้มตายเป็นจำนวนมาก (ร่วม 2 ล้านคน) ซึ่งขณะนั้นประชากรเขมรทั้งประเทศมีประมาณ 7-8 ล้านคน

เมื่อหนึ่งในสี่ของประชากรถูกฆ่าตาย ทำให้ศิลปินและศิลปะเขมรถูกทำลายลงไปด้วย

เจ้าหญิงบุปผาเทวี ซึ่งพระองค์ได้ทรงศึกษาจากฝรั่งเศส ทรงฝึกนาฏยลีลาหลวง ทรงเป็นนักระบำด้วยพระองค์เอง ต่อมาก็ได้ทรงพยายามที่จะฟื้นฟูนาฏยลีลาหลวงเขมรขึ้น ในขณะเดียวกันชาวเขมรที่ลี้ภัยไปอยู่นอกประเทศก็ได้จัดตั้งองค์กรชื่อว่า “ศิลปะแขมร์อมตะ” (Cambodian Living Arts) ขึ้น เพื่อที่จะศึกษาค้นคว้า ให้การสนับสนุน อุปถัมภ์อุ้มชู รวมตัวช่วยฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมเขมร ทั้งดนตรีและการฟ้อนรำ โดยค้นหาร่องรอยในทุกวิธี เพื่อจะทำให้ศิลปะดนตรีเหล่านั้นกลับคืนมาให้มากที่สุด ซึ่งได้รับความสนใจ
ทั้งชาวเขมรนอกประเทศและนานาชาติที่มีใจจะช่วยเหลือ

Advertisement

มีการศึกษาทำวิจัยเครื่องดนตรีจากภาพจำหลักที่นครวัด สนับสนุนให้ทำเครื่องดนตรีขึ้นใหม่ บันทึกเรื่องราวศิลปะดนตรีและสงครามผ่านการแสดง การค้นหาศิลปินที่หลงเหลือจากสงคราม ฝึกซ้อมดนตรีคนรุ่นใหม่ นำผลงานออกไปแสดงเผยแพร่ทั่วโลก ในขณะเดียวกัน การแสดงก็ได้การต้อนรับจากผู้ชมอย่างอบอุ่น

คณะนาฏยลีลาหลวงของราชสำนักเขมรเป็นโครงการหนึ่งที่จัดขึ้นเพื่อฟื้นฟูศิลปะ นาฏยลีลา และดนตรีราชสำนัก โดยนำต้นแบบมาจากภาพวาดที่
โรเด็งได้วาดไว้เมื่อ 112 ปีมาแล้ว ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ด้วยการสนับสนุนจากองค์กรนานาชาติ รวมทั้งบริษัทนานาชาติที่เข้าไปลงทุนในเขมร มาจัดแสดงขึ้นเพื่อให้ชนชั้นสูง ชาวต่างประเทศ และทูตานุทูต ทั้งหมดเป็นแขกรับเชิญ ไม่ได้จำหน่ายบัตรแต่อย่างใด โดยแสดงในรอบปฐมทัศน์ไปเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2561 ก่อนที่คณะนาฏยลีลาหลวงจะเดินทางไปแสดงที่ประเทศฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์

เรื่องราวที่นำมาแสดงในนาฏยลีลาหลวง เป็นการนำเรื่องรามเกียรติ์มาแสดงบางตอน เรื่องพระสุธนนางมโนราห์ เรื่องพระรถนางเมรี โดยตัดเป็นฉากๆ การแต่งกายสุดอลังการมาก สวยงามสะดุดตา แต่งองค์ทรงเครื่องเป็นรูปนก หงส์ กินรี ยักษ์ นายพราน นางอัปสร ทำให้มองเห็นภาพจำหลักของนางอัปสรจากนครวัดเลยทีเดียว สามารถที่จะถ่ายภาพเป็นตัวแทนชาวเขมร เพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของประเทศได้อย่างภาคภูมิใจ

เมื่อดูแล้วได้มองเห็นถึงรากฐาน ที่มาของการแต่งกาย ซึ่งที่มาของนาฏยลีลาหลวงของเขมรมาจากแหล่งเดียวกันกับนาฏศิลป์ไทย แต่ของเขมรดูวิจิตรตระการตากว่า

นาฏยลีลาหลวงบางชุดเป็นละครร้อง โดยมีนักร้องเป็นผู้ขับร้องให้นางรำ นางรำมีหน้าที่ร่ายรำ ท่าร่ายรำนั้นประณีต ผสมโขน และท่าทางอ่อนช้อยกว่านาฏศิลป์ไทย ดนตรีนั้นใช้เป็นวงเปินเพียต (ปี่พาทย์หรือพิณพาทย์) โดยมีหลักมาจากแหล่งเดียวกัน คือ ระนาด ฆ้องวง ปี่ ตะโพน กลองทัด โทน ฉิ่ง ฉาบ กรับ เหมือนกับวงปี่พาทย์เครื่องห้าทุกประการ เพียงวงเปินเพียตเขมรนำเอาระนาดเอกเหล็กและเครื่องคีย์บอร์ดไฟฟ้าเข้ามาผสมด้วย เพื่อให้ดูว่าทันสมัย แต่เครื่องดนตรีที่นำมาผสมนั้น เสียงยังไม่เข้ากันนัก เพราะไม่ได้ตั้งเสียงให้ละเอียดแต่อย่างใด

ในส่วนเพลงที่ใช้บรรเลงและขับร้อง ก็เป็นรากฐานเดียวกันกับเพลงที่เล่นในวงปี่พาทย์ไทย ภาษาที่ใช้ขับร้องก็มีรากฐานเดียวกัน (อนิจจากรรมเอย) ทั้งภาษาเขมร บาลีและสันสกฤต หากไม่สนใจเนื้อร้อง ฟังแค่เพลงก็บอกได้เลยว่ามีรากฐานมาจากแหล่งเดียวกัน ทำให้งานศิลปะแขมร์อมตะเป็นที่ประทับใจผู้ชมอย่างมาก การลงมือทำ ลงทุนฝึกซ้อม การทุ่มเททำงานซึ่งเป็นงานที่ยิ่งใหญ่มหาศาล ทุกคนต้องการทำเพื่อรักษางานศิลปะของชาติ ทั้งชุดการแสดง ท่าทางการร่ายรำ เรื่องราวของนาฏยลีลาหลวงของราชสำนักเขมร รักษาฟื้นฟูดนตรีปี่พาทย์ แนวการบรรเลง รวมทั้งการฟื้นฟูบทเพลงที่เล่นด้วย

ความพยายามด้วยชีวิตและจิตใจ เพื่อค้นหาร่องรอยจิตวิญญาณวัฒนธรรมเขมรที่หายไป ทำให้ผู้ชมลืมทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตประจำวันของกรุงพนมเปญ ลบเลือนสิ่งที่ขาดตกบกพร่องในการจัดแสดงลงไปสิ้น เมื่อการแสดงนาฏยลีลาหลวงแสดงจบลง ผู้ชมยืนขึ้นปรบมืออย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย จนต้องมีชุดแสดงพิเศษเพิ่ม (Encore) เพื่อเป็นของขวัญให้แก่ผู้ชม เหมือนกับการแสดงดนตรี ซึ่งเป็นศิลปวัฒนธรรมของตะวันตกที่คณะนักแสดงจะต้องเตรียมเพลงเอาไว้ เพื่อว่าหากการแสดงเป็นที่ประทับใจมาก ผู้ชมยืนปรบมือนาน ก็ต้องออกไปแสดงขอบคุณเพิ่ม

การแสดงนาฏยลีลาหลวงของราชสำนักเขมรในวันนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี พระมหากษัตริย์ เสด็จฯชมการแสดง ซึ่งพระองค์ก็ทรงเป็นนักระบำ (บัลเลต์) ศึกษาที่สถาบันดนตรีและศิลปะที่กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก และทรงพำนักเป็นนักบัลเลต์อยู่กรุงปารีสมาก่อน เสด็จฯ พร้อมพระมหาวีรกษัตรีย์น
โรดม มุนีนาถ สีหนุ พระวรราชมารดา (ปอล โมนิกอิซซี ซึ่งมีเชื้อสายฝรั่งเศส ผสมคอร์ซิกัน และอิตาลี) ทรงเสด็จฯไปทอดพระเนตรชมการแสดงด้วย

หากมีการศึกษาเชื่อมความสัมพันธ์ผ่านศิลปวัฒนธรรม ระหว่างคนกับคน ผ่านเสียงดนตรี วิถีชีวิต รวมถึงอาหารการกิน ก็จะได้คำตอบว่า เราคือใคร มาจากไหน อยู่กันอย่างไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีพรมแดน แทนที่การแบ่งเขต แล้วแยกกันอยู่ ยึดครองพื้นที่แสดงความเป็นเจ้าของ จะทำให้ภูมิภาคนี้งดงามยิ่งนัก วิถีชีวิตความเป็นอยู่เป็นมรดกของคนในสังคม ไม่สามารถที่จะทำลายลงได้ ยกเว้นต้องฆ่าล้างผลาญเผ่าพันธุ์ซึ่งมีความพยายามมาก่อนแล้ว ครั้นคนที่พยายามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตายไป คนที่เหลืออยู่ก็หันกลับมาฟื้นฟู ซึ่งทำให้จิตวิญญาณแข็งแกร่งมากกว่าเดิมด้วยซ้ำไป

ขอคารวะดวงวิญญาณผู้สร้างผลงานและคณะศิลปะแขมร์อมตะ ไว้ ณ ที่นี้ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image