อุทยานน้ำพุร้อน‘หยางกุ้ยเฟย’ : โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

ดังที่เล่าให้ฟังตั้งแต่แรกๆ แล้วว่าการเดินทางไปเมืองเฉิงตู-กว่างหยวน และซีอานครั้งนี้ ผมมีโอกาสไปเยี่ยมชมแหล่งประวัติศาสตร์หลายสถานที่

แต่ละสถานที่ก็อย่างที่เล่าให้ฟังไปสองสามฉบับที่แล้ว

ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑสถานสุสานทหารดินเผาแห่งจักรพรรดิจิ๋นซี และวัดหวงเจ๋อซื่อ วัดประจำพระนางบูเช็กเทียน มาในฉบับนี้ จึงอยากเล่าให้ฟังถึงอุทยานน้ำพุร้อนของหยางกุ้ยเฟย

ภาษาจีนเรียก “หัวชิงฉือ” หรือ “บ่อน้ำพุร้อนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ”

Advertisement

ผมเชื่อว่าหลายคนคงได้ยิน และรู้จักชื่อของ “หยางกุ้ยเฟย” กันมาบ้าง เพราะในตำนานกล่าวกันว่า “หยางกุ้ยเฟย” เป็นหนึ่งในสี่สาวงามตามประวัติศาสตร์จีนที่งดงามที่สุดของแผ่นดิน

อันประกอบด้วย “ไซซี” มีชีวิตอยู่ช่วงศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล สมัยซุนชิว ฉายาของนางคือ “มัจฉาจมวารี” เพราะขนาดฝูงปลาเมื่อเห็นรูปโฉมของนางยังจมลงไปในน้ำโดยไม่รู้ตัว

“หวังเจาจวิน” มีชีวิตอยู่ในราชวงศ์ฮั่นตะวันตก มีฉายาว่า “ปักษีตกนภา” เพราะขณะที่นางนั่งอยู่บนหลังม้า เหล่านกที่บินบนอากาศ เมื่อเห็นรูปโฉมของนางถึงกับตะลึง จนทำให้ฝูงนกเหล่านั้นถึงกับร่วงลงพื้นดินโดยไม่รู้ตัว

Advertisement

“เตียวเสี้ยน” มีชีวิตอยู่ในยุคสามก๊ก มีฉายาว่า “จันทร์หลบโฉมสุดา” เพราะขณะที่นางไหว้พระจันทร์ในคืนหนึ่ง ดวงจันทร์พลันเห็นรูปโฉมของนางถึงกับตะลึง จนทำให้ดวงจันทร์ถึงกับซ่อนในม่านเมฆโดยไม่รู้ตัว

“หยางกุ้ยเฟย” มีชีวิตอยู่ในช่วงราชวงศ์ถัง มีฉายาว่า “มวลผกาละอายนาง” เพราะครั้งหนึ่งนางไปชมทุ่งดอกไม้ ปรากฏว่าร่างกายของนางมีกลิ่นหอมฟุ้ง เหล่ามวลดอกไม้ที่ปลูกรอบตัวนาง เมื่อเห็นรูปโฉมของนางถึงกับตะลึง จนทำให้กลีบดอกไม้หุบลงโดยไม่รู้ตัว

กล่าวกันว่าทั้งสี่สาวงามในประวัติศาสตร์จีนต่างทำให้อาณาจักรจีนล่มสลายในแต่ละช่วงของการปกครอง เนื่องจากผู้ปกครองแผ่นดินมัวแต่หลงใหลมัวเมาในความงามของอิสตรีจนไม่ออกว่าราชการแผ่นดิน

จักรพรรดิถังเสวียนจง แห่งราชวงศ์ถังก็เช่นกัน

เพราะหลังจากแต่งตั้ง “หยางกุ้ยเฟย” ขึ้นเป็นพระสนมเอก พระองค์ทรงใช้เงินจำนวนมหาศาลเนรมิตสถานที่แห่งหนึ่งบริเวณเชิงเขาหลีซาน อำเภอหลินถง ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองซีอานออกไปประมาณ 30 กิโลเมตร เพื่อสร้างอุทยานน้ำพุร้อนขนาดใหญ่

เพื่อพระองค์จะได้เสด็จมาพักผ่อนกับพระสนมเอกหยางกุ้ยเฟยในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี

ผมเองพอรับรู้เรื่องนี้มาบ้างจากการอ่านหนังสือ

หรือดูละครโทรทัศน์

แต่ไม่เคยเห็นสักครั้งว่าอุทยานน้ำพุร้อนของหยางกุ้ยเฟยเป็นอย่างไร ?

เพราะทราบข่าวว่าภายในอุทยานยังมีกลุ่มสถานที่สรงน้ำของจักรพรรดิถังเสวียนจง และพระสนมเอกหยางกุ้ยเฟยอยู่ในสภาพค่อนข้างดี แม้จะบูรณะขึ้นมาใหม่ก็ตาม แต่กระนั้น ก็อยากเห็นเป็นบุญตาสักครั้ง

รวมไปถึงสถานที่สรงน้ำของโซวอ๋อง พระราชโอรสของจักรพรรดิถังเสวียนจง ผู้ที่ถูกประวัติศาสตร์จีนบันทึกว่าพระองค์ทรงเป็นพระสวามีของ “หยางกุ้ยเฟย” มาก่อน

ก่อนที่จะมาเป็นพระสนมเอกของพระบิดาในเวลาต่อมา

นอกจากนั้น ในอุทยานยังมีสถานที่อาบน้ำของเหล่าบรรดาขุนนางระดับสูงที่ทรงโปรดปรานอีกด้วย

เพราะสถานที่แห่งนี้ค่อนข้างส่วนตัว

ดังนั้น บุคคลที่จะเข้ามายังสถานที่แห่งนี้จะต้องเป็นบุคคลใกล้ชิดกับจักรพรรดิถังเสวียนจง และพระสนมเอกหยางกุ้ยเฟยทั้งสิ้น

วันที่ผมไปถึงค่อนข้างบ่ายคล้อยแล้ว แต่ผู้คนกลับคลาคล่ำมากๆ และไม่เฉพาะแต่ชาวจีนเท่านั้นที่ชอบท่องเที่ยวแหล่งประวัติศาสตร์โบราณ หากชาวต่างชาติบางส่วนก็ชอบที่จะมาในสถานที่เหล่านี้เช่นกัน

ทั้งนั้นอาจเป็นเพราะชื่อเสียงของ “หยางกุ้ยเฟย” ต่างทำให้ใครๆ อยากมาสถานที่แห่งนี้ เพราะนางเองนอกจากจะสิริโฉมงดงาม หากยังเก่งเรื่องการฟ้อนรำและดนตรีอีกด้วย

สำคัญไปกว่านั้น ผมว่านักท่องที่ยวที่มาสถานที่แห่งนี้คงอยากเห็นร่องรอยทางประวัติศาสตร์ด้วยว่าสถานที่สรงน้ำของจักรพรรดิและพระสนมเอกจะโอ่โถงขนาดไหน

แม้ช่วงหนึ่งจะถูกปล่อยทิ้งให้รกร้าง อันเนื่องมาจากผลของสงคราม แต่เมื่อปี ค.ศ.1959 รัฐบาลสมัยนั้นกลับมีการบูรณะสถานที่แห่งนี้ขึ้นมาใหม่ แม้จะไม่สวยงามดังแต่ก่อน แต่กระนั้นคงพอทำให้เห็นประวัติศาสตร์ความทรงจำสมัยอดีตฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง

เพราะภายในอุทยานน้ำพุร้อนของหยางกุ้ยเฟย นอกจากจะมีตำหนักลี่หยวน สถานศึกษาทางด้านศิลปะการแสดง และดนตรีแห่งแรกในสมัยราชวงศ์ถัง ซึ่งบูรณะขึ้นมาใหม่ในปี ค.ศ.1998

หากยังมีทะเลสาบเก้ามังกร ซึ่งถูกขุดขึ้นใหม่อีกครั้งในปี ค.ศ.1959 มีอาณาบริเวณพื้นที่กว่า 5,300 ตารางเมตร รายล้อมไปด้วยศาลาและตำหนักอันงดงาม ดังเช่น พระตำหนักเฟยซวงเตี้ยน พระตำหนักที่บรรทมของจักรพรรดิถังเสวียนจงและพระสนมเอกหยางกุ้ยเฟย

นอกจากนั้นยังมีประติมากรรมรูปปั้นหยางกุ้ยเฟยสีขาวนวล ขนาดสูงใหญ่กว่ามนุษย์ทั่วไปตั้งตระหง่านอยู่หน้าพระตำหนัก ในอิริยาบถปกติของหยางกุ้ยเฟยขณะขึ้นจากการแช่น้ำร้อนในชุดเปล่าเปลือย

วันที่ผมไปชม คนรอถ่ายรูปกับประติมากรรมรูปปั้นนี้แถวยาวมาก

แต่ไม่มีใครบ่นเลย

เพราะใครๆ ต่างอยากได้ภาพคู่กับ…มวลผกาละอายนางกันทุกคน

ผมเองก็เช่นกัน(ฮา)

หลังจากทุกคนแชะภาพคู่กับ “หยางกุ้ยเฟย” กันอย่างอิ่มหนำสำราญใจแล้ว เราเดินวนจากซ้ายไปขวาเพื่อตรงไปยังสถานที่สรงน้ำของจักรพรรดิถังเสวียนจง ภาษาจีนเรียกว่า “เหลียนฮัวทัว” ถามว่าใหญ่ไหม ก็ใหญ่กว่าสถานที่สรงน้ำของทั้งหมด

ผมไม่ทราบความลึกและความกว้างว่ามีขนาดเท่าไหร่

แต่ที่แน่ๆ เปรียบได้กับสระน้ำขนาดเล็กๆ ทีเดียว

ส่วนที่สรงน้ำของพระสนมเอกหยางกุ้ยเฟยมีขนาดเล็ก ไม่ใหญ่โตมาก ผมไม่รู้ว่าสมัยเมื่อ 1,000 กว่าปีก่อนจะใหญ่กว่านี้ไหม แต่จากการประมาณด้วยสายตา สถานที่สรงน้ำของหยางกุ้ยเฟย หรือที่ภาษาจีนเรียกว่า “ไห่ถังทัง” ดูไม่โอ่โถงเท่าที่ควร

ขนาดธรรมดาๆ

นอกจากนั้น สถานที่สรงน้ำขององค์ชาย และสถานที่อาบน้ำของเหล่าบรรดาขุนนางก็อยู่ไม่ไกลจากกัน ขนาดก็แตกต่างกันไป แต่ในส่วนของขุนนางจะกว้างใหญ่มาก เพราะคงจะมีผู้คนจำนวนมากกว่า

สำคัญไปกว่านั้น ภายในอุทยานยังมีบ่อน้ำพุโบราณปรากฏอยู่ด้วย ยังมีน้ำไหลออกมาเหมือนกับเมื่อสมัย 1,000 กว่าปีก่อน

ที่ไม่เพียงจะทำให้เรานึกย้อนกลับไปถึงความสวยงามอลังการของที่นี่

หากยังทำให้เรานึกถึงจุดจบของพระสนมเอก “หยางกุ้ยเฟย” ที่ยังเป็นปริศนามาจนบัดนี้ว่านางจบชีวิตบั้นปลาย ณ ที่แห่งใดกันแน่

ผูกคอตายจริงๆ หรือเปล่า

หรือหนีรอดไปอยู่ญี่ปุ่น

ก็ยังเป็นปริศนาจนทุกวันนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image