จังหวัดชายแดนภาคใต้ : สงครามภายในที่ยาวที่สุด

เหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่สงบครับ เมื่อไม่กี่วันมานี้ผู้ก่อความไม่สงบก็เอาเครื่องยิงลูกระเบิดแบบ M79 ยิงเข้าไปยังฐานของเจ้าหน้าที่อาสาสมัครทหารพรานที่ปัตตานี เป็นเหตุให้อาสาสมัครได้รับบาดเจ็บสองนาย ในเวลาไล่เลี่ยกัน ผู้ก่อความไม่สงบก็เอาปืนยิงสถานีตำรวจภูธรกรงปีนัง จ.ยะลา แต่ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

ไม่มีใครทำนายได้ว่าเหตุการณ์จะยุติลงเมื่อใดหรือไม่ ทางด้านการบริหารเป็นที่เห็นได้ชัดว่า ตั้งแต่เริ่มต่อสู้กับผู้ก่อความไม่สงบมา รัฐบาลชุดต่างๆ ยังปลงไม่ตกว่าจะจัดรูปการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร ในปี 2545 รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ได้ยกเลิกศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ คณะกรรมการและสำนักงานคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกองบัญชาการผสม พลเรือน ตำรวจ ทหารที่ 43 และต่อมาก็ได้มีประกาศสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง
ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการลอบวางระเบิดและก่อความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

เหมือนกับว่าไม่เคยศึกษามาก่อนเลย ทั้งๆ ที่รบกันมาตั้งแต่ขบถดุซงญอ ประมาณปี 2491

นายทักษิณประกาศขึงขังว่า “ไม่มีการแบ่งแยกดินแดน ไม่มีผู้ก่อการร้ายอุดมณ์การ มีแต่โจรกระจอก” แต่สองปีต่อมานายทักษิณก็ต้องยอมรับว่าสถานการณ์กลายเป็นสงครามต่อต้านการก่อการร้ายในประเทศ มีการประกาศกฎอัยการศึกใน จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ในปี 2547 หลังจากที่ผู้ก่อความไม่สงบเข้าปล้นกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส และยึดได้ปืนของทหารไปกว่า 400 กระบอก รัฐบาลจึงได้จัดตั้งกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้น

Advertisement

ในเวลาไล่เลี่ยกันก็ได้มีความพยายามหลายครั้งหลายคราวที่จะเจรจากับฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบ แต่ก็ปรากฏว่าการเจรจาไม่คืบหน้า ส่วนการก่อความไม่สงบก็คงมีต่อมาเรื่อยๆ ในรูปของการลอบวางระเบิดรถยนต์ตำรวจและทหารขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่ และการลอบยิงเจ้าหน้าที่ ในบางกรณีผู้สุจริตโดยเฉพาะผู้หญิงและเด็กก็ต้องพลอยรับเคราะห์ไปด้วย

ตั้งแต่ปี 2547 จนถึง 2561 รัฐบาลได้จ่ายงบประมาณสำหรับแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปแล้วเกือบสามแสนล้านบาท เจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต 384 นาย ได้รับบาดเจ็บ 1,574 นาย ทหารเสียชีวิต 570 นาย ได้รับบาดเจ็บ 2,701 นาย ผู้นำท้องถิ่นเสียชีวิต 239 ราย ได้รับบาดเจ็บ 167 ราย ผู้นำศาสนาเสียชีวิต 21 ราย ได้รับบาดเจ็บ 24 ราย ประชาชนเสียชีวิต 2,557 ราย ได้รับบาดเจ็บ 5,856 ราย คนร้ายเสียชีวิต 64 ราย ได้รับบาดเจ็บ 7 ราย

ตัวเลขผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บนั้นหมายถึงภาระทางงบประมาณที่เพิ่มขึ้น รัฐต้องดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่และประชาชนคนธรรมดา บาดแผลทางกายนั้นพอรักษาได้ แต่บาดแผลทางใจซึ่งแลไม่เห็นนั้นยากที่จะกำหนดได้ว่าจะต้องใช้เวลานานเท่าใดสำหรับการเยียวยา

Advertisement

โฆษกของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ให้สัมภาษณ์ว่า
การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ประสบผลสำเร็จด้วยดี ภาพรวมคดีความมั่นคงลดและอัตราความสูญเสียลดลงกว่าร้อยละ 50 โดยขณะนี้อยู่ในระยะที่ 2 ของ “โรดแมปดับไฟใต้” ซึ่งมีทั้งหมด 3 ระยะ

ระยะแรก ตั้งแต่ปี 2547-2553 เป็นระยะควบคุมสถานการณ์ ใช้กำลังทหาร 22 กองพัน จากนั้นปี 2554 จนถึงปัจจุบัน เข้าสู่ระยะที่ 2 เน้นการปฏิบัติการเชิงรุกควบคู่กับการพัฒนา ขณะนี้ถือว่าอยู่ช่วงปลายของระยะที่ 2 มีการทยอยถอนกำลังทหารของกองทัพภาคต่างๆ ออกไป และส่งพื้นที่ให้กองกำลังภาคประชาชนช่วยดูแลแทน มีการสร้างชุดคุ้มครองตำบลขึ้นมา 164 ชุด เพื่อทดแทนกำลังทหารที่ถูกถอนออกไป

ภาพรวมของสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่อว่าดีขึ้น และหากเป็นไปตาม “โรดแมป ดับไฟใต้” สันติสุขก็คงจะคืนสู่จังหวัดชายแดน ภาคใต้ในไม่ช้านี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image