ภาพเก่าเล่าตำนาน : เมื่อสายโลหิตไหลกลับมาเยือน…แม่กลอง (1) : พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

ตํานานชีวิตอันยิ่งใหญ่ของแฝดสยาม อิน-จัน ชายแฝดลำตัวติดกัน ชาวแม่กลอง มีชื่อเสียงระดับโลกในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ถูกปลุกขึ้นมาให้มีชีวิตผงาด ท่ามกลางแดดจ้าอีกครั้งกลางเมืองแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม ในงานฉลองวันเกิด 207 ปี เมื่อ 11 พฤษภาคม 2561

11 พฤษภาคม 2354 สมัยในหลวง ร.2 เด็กแฝดลำตัวติดกัน (Cojoined Twins) เกิดมาลืมตาดูโลก โดยฝีมือหมอตำแยแถวหมู่บ้าน เป็นบุตรคนที่ 5-6 ของนายตีอาย และนางนาก ชาวประมงที่ใช้ชีวิตบนแพ ที่ตำบลแหลมใหญ่ สมุทรสงคราม

เมื่อคลอดออกมา หมอตำแย พ่อแม่ร่วมกันเพ่งพิจารณาทุกส่วนของร่างกายของทารก พบว่าสมบูรณ์ดี มีอวัยวะครบ ทารกส่งเสียงร้องเป็น 2 เสียงแยกจากกัน แต่ที่แยกไม่ออกคือลำตัวที่มีผิวเยื่อบางๆ เชื่อมต่อบริเวณหน้าอก เป็นเด็กแฝดมีลำตัวติดกัน

เสียงร่ำลือ ติฉินนินทาของเพื่อนบ้าน ผูกโยงไปถึงร่างกายอันแสนประหลาดของแฝด ถูกตีความไปเป็นความลำบากยากแค้นของบ้านเมือง ไม่มีเสียงใดยกย่องชื่นชม แถมยังมีความคิดไกลไปถึงขนาด ไม่ควรมีเด็กประหลาด น่าเกลียดเช่นนี้อีกต่อไป

Advertisement

นายตีอาย นางนาก มีหัวอกความเป็นพ่อ-แม่ เลี้ยงดู อุ้มสม ป้อนข้าว ป้อนน้ำ ให้ทารกน้อยมีชีวิตรอด ความยุ่งยากลำบากในการจัดท่าทาง การกินนม การขับถ่าย แม้กระทั่งท่านอนที่จะต้องปรับแต่งร่างกายของลูกแฝด แบบไม่มีตำราที่ไหนสอนได้

เด็กน้อยทั้ง 2 กลายเป็นนักสู้ชีวิต เติบโตขึ้นมาท่ามกลาง ลม ฝน สายน้ำ แสงแดดของเมืองแม่กลอง ทั้งคู่เป็นเด็กฉลาด คล่องแคล่ว ปราดเปรียว ซุกซน สดใสร่าเริง การเป็นมนุษย์ที่มีลำตัวติดกัน มีปัญหาบ้าง แต่สติปัญญา ไหวพริบ ความมีน้ำใจต่อกัน เป็นสิ่งที่ทำให้เด็กทั้งสองเรียนรู้ที่จะประนีประนอมมากกว่าการต่อสู้แย่งชิง

Advertisement

พ.ศ.2369 เด็กแฝดอิน-จัน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เข้าเฝ้าในหลวง ร.3 ในพระบรมมหาราชวังที่กรุงเทพฯ ในหลวงทรงพอพระทัยยิ่งนัก เป็นการหักล้างข่าวลือเรื่องความเป็นกาลกิณีของแผ่นดิน พระราชทานแก้วแหวนเงินทองให้แฝด
หนุ่ม นำไปเป็นทุนทำกิจการเลี้ยงเป็ดที่บ้านเมืองแม่กลอง

หนุ่มน้อยอิน-จัน เป็นคนขยันแบบ 2 แรงแข็งขัน ช่วยพ่อแม่ลงเรือหา ปู ปลา กุ้ง หอย จนอายุได้ราว 9 ขวบ นายตีอายผู้เป็นพ่อ ก็จากไปอย่างไม่มีวันกลับ จากโรคระบาดในสยามที่เรียกว่า “ห่า” ที่มีอาการถ่ายเหลวไม่หยุด อาเจียน จนหมดแรง อิน-จัน สูญเสียพ่อและพี่น้องอีก 5 คน รวมเป็น 6 คนในคราวเดียวกัน “ห่า” ลงคราวนั้น กรุงเทพฯ เกือบเป็นเมืองร้าง ชาวสยามตายนับหมื่นคน

“อิน-จันคนคู่” กลายเป็นเสาหลักของครอบครัว โดยหันไปเป็นพ่อค้าเรือเร่ นำสินค้าใส่เรือแล้วช่วยกันพายเรือไปตามชุมชน ชาวบ้านร้านตลาดชอบใจ ที่คนประหลาดพายเรือขายของแบบน่ารักน่าชัง

พ.ศ.2367 นายโรเบิรต์ ฮันเตอร์ (Robert Hunter) พ่อค้าชาวสก๊อต นักธุรกิจผู้กว้างขวางในกรุงเทพฯ ตัดสินใจเดินทางลงเรือไปแม่กลองเพื่อขอดูคนประหลาด เพื่อจะนำตัวไปแสดงในอเมริกาและยุโรปเพื่อทำเงิน

นายฮันเตอร์พาหุ้นส่วนชื่อ เอเบล คอฟฟิน (Abel Coffin) กัปตันเรือชาวอเมริกัน และหลวงสุรสาคร (เป็นล่าม) มาขอเจรจากับนางนากด้วยไมตรีจิต การพูดคุยเจรจาเกิดขึ้นอีกหลายครั้งหลายครา เพื่อจะขอนำตัวแฝดคู่นี้ไปแสดงตัวหาเงินเลี้ยงชีพในอเมริกา มีการลงนามในหนังสือสัญญาว่าจะนำตัวไปนาน 5 ปี แต่เวลาเจรจากัน ตกลงกันว่า 3 ปี ข้อความเป็นภาษาอังกฤษ อิน-จัน ลงนามเป็นภาษาจีน

อ่านไม่ออก เขียนแทบไม่ได้ เขียนอย่าง พูดอีกอย่าง แต่ก็ลงนามกันที่กรุงเทพฯ เมื่อ 1 เมษายน พ.ศ.2372 แล้ว นางนากก็พาแฝดไปลงเรือชื่อ ซาเคม (Sachem) ด้วยแรงอธิษฐานว่า อีกเพียง 3 ปี ลูกแฝดอิน-จันก็จะกลับมาแม่กลอง

แฝดอิน-จัน ใช้เวลาราว 4 เดือนเศษ (138 วัน) ในเรือสินค้าอย่างมีความสุข ไม่เมาคลื่น ไม่ป่วย กินได้ นอนหลับ แถมฝึกฟัง พูด อ่าน เขียนภาษาอังกฤษและหัดเล่นหมากรุกฝรั่งบนเรือ ไปขึ้นบกที่เมืองท่า ที่บอสตัน แมสซาชูเซตส์ เมื่อ 16 สิงหาคม พ.ศ.2372

ชีวิตที่ถูกซื้อตัวมา ต้องเริ่มทำงานหนักภายใต้การกำกับของนายฮันเตอร์ งานหลักคือการโชว์ตัว งานรองคือการพูดคุยกับบรรดาแพทย์อเมริกันที่แห่กันมาขอตรวจวิเคราะห์ ด้วยคิดว่า “เป็นแฝดของเก๊” ที่พ่อค้านำตัวมาแหกตาหาเงินในอเมริกา

เปิดการแสดงตัว “คนประหลาด” ในนิวยอร์ก มหานครอันดับต้นของโลก นายฮันเตอร์ผู้กุมชะตาชีวิตแฝดจากแม่กลอง ทำแผนการตลาดได้ยอดเยี่ยม หนังสือพิมพ์แถวหน้าในอเมริกา ประโคมข่าวการมาถึงของ Siamese Double Boys บางฉบับต้องการความหวือหวา เรียกสินค้าเด็กแฝดว่า Monster (อสุรกาย)

คนคู่สู้ชีวิต เหน็ดเหนื่อยกับการแสดงตัววันละ 2 รอบเช้าเย็น เว้นวันอาทิตย์ ชีวิตต้องเผชิญกับคำถามแปลกๆ การเย้ยหยัน การท้าพิสูจน์จากผู้คนร้อยพ่อพันแม่ในมหานครนิวยอร์ก แพทย์คือกลุ่มบุคคลที่พยายามเข้าใกล้เพื่อจะหาข้อมูลเรื่องการผ่าตัดแยกร่าง สร้างความรำคาญให้แฝดอิน-จัน ยิ่งนัก การแสดงตัวเก็บเงินจะตระเวนไปตามเมืองต่างๆ พักที่โรงแรม มีรายได้พอสมควร แฝดอิน-จันยิ้มแย้มแจ่มใส มีอารมณ์ขัน หยอกล้อกับผู้ชมทุกแห่ง

ต่อมาเดินทางแสดงตัวเลยไปถึงฟิลาเดลเฟีย เพื่อลงเรือไปเปิดการแสดงในอังกฤษ

17ตุลาคม พ.ศ.2372 ท่ามกลางอากาศหนาวยะเยือก แฝดอิน-จัน ต้องลงเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปแสดงตัวที่เมืองเซาท์แธมป์ตัน ใช้เวลาในเรือ 27 วัน ลมแรง คลื่นแรง ผู้โดยสารเมาเรือ เมาคลื่น อาเจียน ล้มป่วยกันทั้งลำ แต่แฝดอิน-จัน ลูกเรือประมงจากแม่กลอง สบายดี มีความสุข

19 พฤศจิกายน 2372 เดินทางถึงลอนดอน เมืองที่ฝนพรำ ฟ้าฉ่ำมีแต่หมอก ไม่มีแสงแดด บรรดาแพทย์ระดับโลกในอังกฤษ แห่กันมาขอตรวจร่างกายของแฝดอีกครั้ง ในฐานะคนเข้าเมือง เปิดการแสดงตัวในโรงละครชั้นนำในมหานครลอนดอน บุคคลชั้นนำมาชมการแสดง

นายฮันเตอร์เกิดเป็นห่วงกิจการเดินเรือที่เป็นอาชีพหลัก เลยมอบให้กัปตันคอฟฟิน เพื่อนรักดูแลกิจการโชว์ตัว แต่ต่อมากัปตันคอฟฟินก็ต้องกลับไปเดินเรือทะเลเช่นกัน จึงขายกิจการของอินจันให้นางซูซาน คอฟฟิน ดูแล และเธอก็ส่งต่อไปให้ วิลเลียม เดวิส ดูแลแทนอีกทอดหนึ่ง

ใช้เวลาแสดงตัวเหนือจรดใต้บนเกาะอังกฤษนาน 15 เดือน แฝดจัน หวือหวาพบรักกับสาวลอนดอนชื่อโซเฟีย เป็นข่าวดังในอังกฤษ

คู่แฝดเดินทางกลับอเมริกา เพื่อไปเปิดการแสดงแบบ “จัดเต็ม” ต้องเดินทางไป 24 มลรัฐ ต้องเร่งทำเงิน ตรากตรำเพื่อให้คุ้มกับที่ลงทุน

แฝดอิน-จัน นักสู้จากแม่กลอง ได้รับการขนานนามอย่างเป็นทางการว่า แฝดสยาม (Siamese Twins) เพราะมีกลุ่มชาวจีนในอเมริกา พยายามพิสูจน์ว่าแฝดคู่นี้มีพ่อแม่เป็นคนจีนที่อพยพมาอยู่ในสยาม ควรให้เกียรติเชื้อสายเลือดจีน และควรเรียกว่า Chinese Twins ในที่สุดจบลงด้วยชื่อ Siamese Twins ที่เป็นศัพท์ระดับโลก บ่งบอกถึง “สรรพสิ่งที่เป็นคู่กัน-แยกกันไม่ออก”

ชีวิตที่เร่ร่อนแสดงตัวหาเงิน ทำเอาแฝดเหนื่อยล้าไม่น้อย ความคิดเรื่องลงเรือกลับสยามพร้อมเงินก้อนโตมีบ้างเป็นครั้งคราว ได้ข่าวจากนายฮันเตอร์ว่า แม่คือนางนาก และพี่น้องที่แม่กลองสบายดี

เรื่องของการเหยียดผิว เผ่าพันธุ์ในแผ่นดินอเมริกา เป็นเรื่องหนักหนาสาหัส อเมริกากำลังผงาดเป็นผู้นำของโลกด้านอุตสาหกรรม มีการนำชาวจีนมหาศาลจากจีนแผ่นดินใหญ่เข้าไปในอเมริกา คนขาวชาวอเมริกันทั้งหลายเริ่มระแวงชาวจีน เพราะชาวจีนขยันขันแข็ง สู้งานหนักทุกรูปแบบ แฝดอิน-จัน ชาวสยามที่มีเชื้อจีนใคร่ครวญแล้วว่า ต้องถอยห่างออกมาจากสังคมเมือง เริ่มมองหาหลักแหล่งที่ไกลหูไกลตาในรัฐชนบทของอเมริกาเพื่อจะใช้ชีวิตอย่างสงบสุข

วิลค์สโบโร (Wilkesboro) คือ เมืองในชนบทของรัฐ นอร์ธแคโรไลนาที่ยังมีป่าไม้ ลำธาร อากาศแสนบริสุทธิ์ ยิงนก ตกปลา ท้องฟ้าสีคราม จนทำให้แฝดอิน-จัน ปักใจเลือกเมืองนี้เป็นหลักเป็นแหล่ง แฝดสยามจึงตัดสินใจเช่าพื้นที่หน้าร้านของคนคุ้นเคย เปิดร้านขายของชำ แต่ก็ประสบปัญหาจนต้องเลิกกิจการ

แฝดอิน-จันเปลี่ยนความคิดที่จะไปทำการเกษตรที่ตัวเองเคยทำมาก่อนตอนอยู่แม่กลอง แฝดสยาม มาลำบากตรากตรำหาเงินในอเมริการาว 10 ปี มีเงินเก็บจากการแสดงไม่น้อย ซึ่งน่าจะเป็นหลักหมื่นดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งก็ถือว่าเป็นเศรษฐีหนุ่มเนื้อหอม พร้อมตั้งหลักแหล่ง

แฝดอิน-จัน มอบให้เพื่อนรักเจรจาซื้อที่ดินในเมืองแทรปฮิลล์ (Trap Hill) รัฐนอร์ธแคโรไลนา ราว 100 เอเคอร์ และซื้อขยายเพิ่มอีกด้วยน้ำพักน้ำแรง เป็นพื้นที่กว่า 200 เอเคอร์ แฝดหนุ่มจากแม่กลองปลูกบ้าน 2 ชั้น เพื่อขอใช้ชีวิตเกษตรกรเต็มตัว

ประวัติศาสตร์ไทย-อเมริกา ต้องบันทึกว่า ชายชาวสยามคู่นี้ เป็นชาวสยามคู่แรกที่ไปลงหลักปักฐาน ซื้อที่ดิน ปลูกบ้านในอเมริกา

12 ตุลาคม พ.ศ.2382 ตรงกับรัชสมัยในหลวง ร.3 แฝดสยามไปยื่นคำร้องขอโอนสัญชาติเป็นพลเมืองอเมริกัน ถ้าจะเป็นพลเมืองอเมริกันจะต้องมีนามสกุล อิน-จัน ตอนออกจากสยามในเวลานั้นยังไม่มีใครใช้นามสกุล อิน-จัน จึงขออนุญาตเพื่อนรักที่นิวยอร์กใช้นามสกุล “บังเกอร์” (Bunker) กระบวนการทุกอย่างราบรื่น แฝดอิน-จันใช้ นามสกุล บังเกอร์ แล้วสาบานตนเป็นพลเมืองอเมริกัน

Eng Bunker และ Chang Bunker คือ พลเมืองอเมริกันเชื้อสายสยามคู่แรก

ความรัก เป็นสิ่งที่ห้ามกันไม่ได้ แฝดหนุ่มมีเงิน มีบ้าน มีที่ดิน มีกิจการปลูกฝ้าย ยาสูบ ข้าวโพด ข้าวสาลี มีฐานะดีในสังคมอเมริกัน

แฝดสยาม โดยเฉพาะแฝดจัน เริ่มมองหาคู่ครองที่ใฝ่ฝันมาแสนนาน ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ “ยากลำบากแสนสาหัส” อันเนื่องมาจากร่างกายที่แปลกประหลาดผิดมนุษย์ สาวที่ไหน ใครจะมาใช้ชีวิตพิสดารร่วมกับ “คนคู่แสนประหลาด” แบบนี้

ตำนานรักของแฝดสยามกับ พี่น้องสองสาวตระกูล เยทส์ (Yates) ที่แสนหวานผสมขมขื่น กลายเป็นเรื่องดังกระหึ่มในสื่ออเมริกา เกิดกระแสการต่อต้าน เจือปนกับการเย้ยหยัน ถึงขนาดปรามาสว่าเมื่อแต่งงานกันแล้ว ลูกที่คลอดจะต้องออกมาเป็น “สัตว์ประหลาด”

ความรักของคนทั้ง 4 ไปจบลงที่การแต่งงานแบบอึดอัด เป็นความหวานอมขมกลืนสำหรับพ่อแม่ฝ่ายหญิงที่เป็นพลเมืองของรัฐนอร์ธแคโรไลนา ตัวละครทั้งหมดโดนประณามหยามหมิ่นสารพัด กระแสความเกลียดชังถาโถมดังพายุ

เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ ชีวิตสมรสของคนทั้ง 4 เป็นไปอย่างราบรื่น ขยันขันแข็ง ร่วมมือกันทำมาหากิน ตัวเป็นเกลียว

เรื่องราวการใช้ชีวิตคู่ เป็นเรื่องที่ผู้อ่านทุกคนตั้งใจคอยฟังมากกว่าเรื่องอื่นใด สภาพร่างกายของแฝดที่มีท่อนเอ็นเชื่อมต่อติดกันตรงหน้าอก ความยาวราว 8 นิ้วคงเป็น “สภาพบังคับ” สำหรับการมีเพศสัมพันธ์ของคนทั้ง 4

ระยะของความห่างเพียงแค่นี้ ผู้เขียนขอใช้ศัพท์ว่า “ระยะประชิด” หรือจะเรียกอีกอย่างว่า “ระยะเผาขน” อันเป็นเรื่องยากที่จะแยกเคลื่อนไหวเป็นอิสระเสรี การประสานสอดคล้อง คือ คำตอบ

ชนรุ่นหลังที่ได้อ่านเรื่องราวของแฝดสยาม ให้การเอาใจใส่ มีการวิเคราะห์ มีจินตนาการหลากหลายกับประเด็นการมีเพศสัมพันธ์เป็นพิเศษ ในที่สุดครอบครัวบังเกอร์ ไทย-อเมริกัน มีลูกฝ่ายละ 11 คน รวม 22 คน (เสียชีวิต 1 คน) เหลือ 21 คน

ผู้เขียนก็ใช้ความพยายามค้นหาข้อมูลการมีลูกของแฝดสยามทุกซอกทุกมุม แม้กระทั่งสื่อในอเมริกาในยุคต่อมาก็สนใจไม่น้อยกับ “วิธีการปฏิบัติ” ที่ทำให้เกิดลูกถึง 21 คน

วู บังเกอร์ (Woo Bunker) เหลนตระกูลบังเกอร์ เคยบอกว่า “Couldn’t be no other way” หมายถึง “คงไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่น”

จากชายหญิง 4 คนที่แต่งงานเมื่อ พ.ศ.2386 มาถึง พ.ศ.2560 ทายาทรุ่นเหลน โหลนของสกุลบังเกอร์ ตรวจสอบกันเองได้ว่ามีทายาทขยายตัว แตกหน่อออกไปราว 1,500 คน ปัจจุบันคือทายาทรุ่นที่ 5 ที่มาเยือนแม่กลอง สมุทรสงคราม

หลังจากแฝดสยามเสียชีวิตไปนาน Jessie Bunker Bryant ทายาทของแฝดอิน-จัน รุ่นโหลน เป็นบุคคลหลักที่เริ่มค้นหาทายาท และมีการพบปะรวมญาติกันมาเป็นประจำทุกปีที่ เมาท์แอรี รัฐนอร์ธแคโรไลนา

ท่านผู้อ่านที่เคารพครับ ผู้เขียนเคยค้นคว้า แปล เรียบเรียงบทความตีพิมพ์ใน มติชน 25 ตอน มีความผูกพันทางใจกับตำนานของแฝดสยามมานาน เพราะลูกหลานในอเมริกายังคงเก็บเอกสาร หลักฐาน ของใช้ ของแฝดอิน-จันเอาไว้อย่างดีในพิพิธภัณฑ์

ที่กลางเมืองแม่กลอง มีอนุสาวรีย์แฝดอิน-จัน โลหะทองเหลืองรมดำ ที่ยืนเหงากลางแดดมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 สร้างด้วยงบประมาณของจังหวัดสมุทรสงครามสมัย นายวิธาน สุวรรณทัต เป็น ผวจ. และนายเอก ล้อทอง เจ้าของโรงน้ำปลาจักรสุวรรณ ริเริ่มจัดสร้างเพื่อตำนานยิ่งใหญ่ของเมืองแม่กลอง โดยหล่อที่โรงหล่อจังหวัดนครปฐม

เป็นความพยายามของผู้เขียนมาแสนนานที่พยายามติดต่อ จะให้ทายาทเหล่านี้มาเยี่ยมบ้านเกิดของปู่ทวดอิน-จัน ที่เมืองแม่กลอง

ราวต้นปี 2561 ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม นายคันฉัตร ตันเสถียร ได้รับหนังสือจากกระทรวงการต่างประเทศว่า ทายาทแฝดสยาม 14 คน จะเดินทางมาเยือนแม่กลองและขอลงนามในบันทึก ขอเป็นไมตรีระหว่างเมืองเมาท์แอรี กับสมุทรสงคราม เพื่อเป็นประวัติศาสตร์ให้ลูกหลาน ท่านผู้ว่าฯมีจดหมายเชิญผู้เขียนเป็นที่ปรึกษา เพื่อจัดงานต้อนรับให้คุ้มค่า มีสาระสำหรับการเดินทางของทายาทรุ่นที่ 5 จากอเมริกา

ในฐานะที่ผู้เขียนเคยค้นคว้าเรียบเรียงเรื่องแฝดอิน-จัน ลงตีพิมพ์ในมติชน รายวัน 25 ตอนเมื่อปี พ.ศ.2558 อย่างละเอียดทุกแง่มุม

10 พฤษภาคม 2561 สายโลหิต 14 คน ทายาทแฝดอิน-จัน จากอเมริกาก็กลับมาเยือนเมืองแม่กลอง

เวลา 14.30 น. คณะทายาทของแฝดสยามอิน-จัน จำนวน 14 คน ชายหญิงเดินทางด้วยรถบัสมาถึงอัมพวารีสอร์ต ข้าราชการในพื้นที่ทั้งจากกระทรวงการต่างประเทศและจากจังหวัดสมุทรสงครามให้เกียรติผู้เขียนเป็นหัวหน้าคณะเพื่อต้อนรับ

วงกลองยาวที่แสดงโดยเด็กเมืองแม่กลอง ส่งเสียงครึกครื้นรอทายาทลงจากรถ สื่อมวลชนกรูกันแน่นเพื่อรอบันทึกภาพประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ผู้เขียนเอง มิได้เห่อเหิมฝรั่งทั้งหลาย แต่ปลื้มปีติ ที่เห็นกิจกรรมอันเพียบพร้อมไปด้วย ความกตัญญู ความสำนึกของทายาทของแฝดสยามที่ห่างไปครึ่งโลก ให้ความสำคัญกับบรรพบุรุษตนเองที่เดินทางออกจากสยามไปเมื่อ 190 ปีที่แล้ว ด้วยหัวใจของ “นักสู้ชีวิต”

ทายาทแฝดสยามทยอยลงมาจากรถบัสทีละคน รับพวงมาลัยคล้องคอด้วยความสุภาพ พนมมือไหว้อย่างนอบน้อม คนที่ 2 เป็นสุภาพสตรีที่ผู้เขียนเคยเห็นในหนังสือ ไม่คิดว่าเธอจะมากับคณะ เธอ คือ อาดีเลด อเล็กซ์ ซิงค์ (Adelaide Alex Sink) เหลนของแฝดจัน เธอเคยเป็นผู้บริหารระดับสูงของธนาคารในอเมริกาที่มีชื่อเสียง

ทยอยลงมาจากรถจนหมด ยังไม่รู้ใครเป็นใคร กลองยาวเล่นได้สนุกสนานเร้าใจ จนทายาทแฝดจากแม่กลอง ขยับแข้งขยับแขนทำท่าเหมือนจะรำวง สีหน้ายิ้มแย้ม

อากาศกลางแจ้งตอนที่คณะยืนชมกลองยาว ร้อนอบอ้าวแต่ไม่มีใครประสงค์จะหลบแดด ทายาทแฝดจากอเมริกาปาดเหงื่อผสมกับน้ำตาคลอเบ้าด้วยความเต็มตื้น ไม่นึกว่าจะต้อนรับแบบ “ถึงใจ-ใจถึง” เช่นนี้ ทั้งๆ ที่คนอเมริกันเหล่านี้ คือ ประชาชนคนธรรมดาในเมืองเล็กในอเมริกา แต่ที่นี่เมืองแม่กลอง ท่านคือ ญาติของแฝดสยามผู้ยิ่งใหญ่

ทั้งหมดทยอยเข้าห้องรับรองปรับอากาศ ผ้าเย็น มะพร้าวอ่อน ถูกลำเลียงใส่ถาดออกมาอย่างสวยงามอ่อนช้อยด้วยหนุ่มสาวพนักงานต้อนรับ นักข่าวเริ่มทำหน้าที่ เก็บภาพ ขอสัมภาษณ์แบบอัดอั้นตันใจมานานราว 200 ปี

Zack Worrell Blackmon Jr. ทำหน้าที่หัวหน้าคณะ รีบเช็ดเหงื่อ ถูผ้าเย็นเพื่อดับร้อนอย่างเร็ว นักข่าวป้อนคำถามไม่หยุด ทุกคำพูดถ่ายทอดความตื้นตันใจ ภูมิใจ ที่ได้มาเห็นแผ่นดินเกิด บ้านเกิด ของปู่ทวด จะได้เห็นคลองที่ปู่ทวดเคยว่ายน้ำ หาปลา

เมืองที่อยู่ในอเมริกากับแม่กลอง ห่างกันค่อนโลก แฝดอิน-จัน เกิดมาใช้ชีวิตบนแพในน้ำ วิ่งเล่น ว่ายน้ำ เลี้ยงเป็ด จับปู ปลา กุ้ง หอย พายเรือขายของ ป่าชายเลน ภาพที่รอคอยมาทั้งชีวิต กำลังจะปรากฏต่อสายตาของทายาท

ปรากฏการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ ของทายาทแฝดสยามที่ลงเรือจากไปเมื่อ 190 ปีที่แล้ว กลายเป็นสายโลหิตที่ไหลกลับมาสู่แม่กลอง

ทายาทแฝดทั้ง 14 คน จะไปร่วมพิธีการ ที่แปลกหูแปลกตาอีกมากหลาย หลากอารมณ์ที่จะต้องจดจำไปจนตาย ผู้เขียนพบรายชื่อลูกของแฝดอิน-จัน พร้อมภาพที่ทายาทนำมาฝากจากอเมริกา

โปรดติดตามตอนต่อไปครับ

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image