บัตรลงคะแนนที่จะกลายเป็นก้อนอิฐ : โดย กล้า สมุทวณิช

“การปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่แย่น้อยที่สุด หากเทียบกับรูปแบบการปกครองทั้งหลายที่มนุษย์เราได้ลองผิดลองถูกกันมา” – เซอร์ วินสตัน เชอร์ชิล อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรที่กล่าวไว้ในปี ค.ศ.1947

ข้ออัน “แย่น้อยที่สุด” ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอยู่ที่แม้ว่าการตัดสินใจโดยเสียงข้างมากอาจจะไม่ใช่หลักประกันว่าจะได้ผู้นำที่ดีที่สุด หรืออาจจะเป็นผู้นำที่เคยดีแต่ตอนหลังกลับกลายเป็นผู้นำที่แย่เพราะพ่ายแพ้ต่อความเย้ายวนของอำนาจ แต่อย่างน้อยระบอบนี้ก็มี “กลไกนิรภัย” ที่มีไว้ให้ประชาชนคนในรัฐประเทศนั้น สามารถตัดสินใจได้ว่าจะ “ไปต่อ” กับผู้นำของพวกเขาหรือไม่ ภายใต้รอบเวลาที่ชัดเจน

กลไกนิรภัยดังกล่าว เรียกว่า “การเลือกตั้ง”

ดังเช่นที่เราได้เห็นชาวมาเลเซียทั้งหลาย ใช้กลไกนิรภัยนั้นไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ส่งผลให้เปลี่ยนแปลงแบบพลิกแผ่นดินสิ้นเชิงในเวลาเพียงไม่กี่วันด้วยบัตรลงคะแนนและคูหาเลือกตั้ง

Advertisement

การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยจึงเป็นเหมือน “ก้อนอิฐ” หนึ่งก้อนที่อยู่ในมือของราษฎรแต่ละคน ที่อาจจะใช้เพื่อการขว้างปาให้ผู้ที่อยู่ในอำนาจโดยฝืนความยินยอมของมหาชนนั้นตกร่วงลงมาจากอำนาจ ในทางเดียวกันนั้น ก็เป็นก้อนอิฐที่ก่อแท่นสร้างบัลลังก์ สร้างความชอบธรรมให้แก่ผู้ที่ได้รับเลือกให้มาปกครองรัฐประเทศนั้นต่อไป

แต่ไม่ใช่ว่าเพียงจัดให้คนมากาบัตรลงคะแนนกันเท่านั้น หากการเลือกตั้งจะต้องประกอบด้วยหลักการพื้นฐานที่จะทำให้การเลือกตั้งนั้นเป็นกลไกการถามมติมหาชนโดยสมบูรณ์

ศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อธิบายหลักการพื้นฐานของการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยไว้ในหนังสือ “คำสอนว่าด้วยรัฐและหลักกฎหมายมหาชน” ไว้ว่ามีอยู่ห้าหลักการ ได้แก่

Advertisement

หลักการเลือกตั้งโดยทั่วไป คือ ราษฎรทุกคน ทุกกลุ่ม จะต้องมีสิทธิเลือกตั้ง การจำกัดสิทธิเลือกตั้งอาจจะมีได้บ้างด้วยเกณฑ์อายุขั้นต่ำ สถานะความเป็นพลเมือง หรือลักษณะต้องห้ามอันอธิบายได้ แต่ต้องไม่ใช่เหตุด้วยเหตุผลทางความเชื่อทางการเมือง ฐานะทางเศรษฐกิจ หรือสังคม

หลักการเลือกตั้งโดยเสมอภาค คือ การเลือกตั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ละคนจะต้องมีค่าคะแนนเสียงเท่ากันในการนับ รวมถึงมีสิทธิอย่างเสมอภาคในกระบวนการมีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง เช่น การอภิปรายให้ความเห็น สนับสนุนโน้มน้าว หาเสียงเลือกตั้ง
อย่างเท่าเทียมกัน

หลักการเลือกตั้งทางตรง คืออย่างน้อยในการเลือก “ผู้แทนราษฎร” จะต้องให้ประชาชนใช้สิทธิเลือกผู้แทนของตนได้โดยตรงโดยไม่มีตัวกลางมาคั่นในการแสดงเจตนา ส่วนการเลือกตั้งในตำแหน่งอื่นอาจจะกระทำทางอ้อม ผ่านทางผู้เลือกตั้งที่ได้รับเลือกมา หรือจากผู้แทนราษฎรของตน เช่นกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเลือกตัวนายกรัฐมนตรี

หลักการเลือกตั้งโดยลับ คือการที่ผู้ออกเสียงเลือกตั้งจะต้องลงคะแนนเสียงได้โดยสะดวกใจโดยไม่มีใครรู้ว่าเขาออกเสียงลงคะแนนให้ใครหรืออย่างไร เพื่อให้การออกเสียงนั้นสามารถกระทำได้ด้วยเจตจำนงที่ไม่ต้องเกรงกลัวต่อผลดีร้ายอย่างไรของการลงคะแนนนั้น

หลักการเลือกตั้งโดยเสรี คือผู้ออกเสียงเลือกตั้งนั้นจะต้องมีอิสระในการออกเสียงโดยไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลหรือการบังคับข่มขู่โดยบุคคลใด

นอกจากนี้ พื้นฐานที่สุดคือในการเลือกตั้ง ซึ่งรวมถึงการออกเสียงประชามตินั้น จะต้องมี “ทางเลือก” ที่แตกต่างกันสำหรับผู้ลงคะแนนเสียง ถ้าเป็นการเลือกตั้งผู้แทนหรือการเลือกรัฐบาลในทางตรงทางอ้อม จะต้องเปิดทางเลือกให้คนที่ “ไม่เลือก” รัฐบาลหรือผู้ทรงอำนาจคนเดิมได้ด้วย

เพราะบางครั้ง การแสดงออกของประชาชนผ่านการเลือกตั้ง อาจจะมีเจตนารมณ์แสดงถึงการ “ไม่เลือก” ยิ่งกว่าการ “เลือก” ก็ได้ ในกรณีที่เกิดข้อขัดแย้งระหว่างรัฐบาลก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้งนั้น ว่าสมควรจะมีอำนาจบริหารประเทศอยู่ต่อไปหรือไม่ รวมถึงเป็นการถามประชาชนว่าสิ่งที่รัฐบาลกระทำไป และเกิดความขัดแย้งกับรัฐสภานั้น ประชาชนเห็นด้วยกับฝ่ายไหน ดังเช่นประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ที่หากรัฐบาลเสนอกฎหมายสำคัญๆ หรือกฎหมายที่เกี่ยวกับงบประมาณหรือเกี่ยวกับการเงินไม่ผ่าน จะต้องยุบสภาเพื่อให้ประชาชนตัดสินใจกัน

หากการเลือกตั้งใดมีตัวเลือก คือ (ก) ท่านผู้นำ (ข) ผู้สนับสนุนท่านผู้นำ (ค) ผู้ไม่แน่ใจว่าจะสนับสนุนท่านผู้นำหรือไม่ อย่างนี้ต่อให้เป็นการเลือกตั้งที่เป็นไปตามหลักการการเลือกตั้งข้างต้นอย่างครบถ้วน ก็ควรกระดากที่จะเรียกว่า “การเลือกตั้ง” เพราะมันเป็นเพียงแบบพิธีจอมปลอมเพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมืองให้ท่านผู้นำเท่านั้น

สําหรับในประเทศไทยเรา การเลือกตั้งใหญ่ระดับประเทศที่เป็นการเลือกตั้งทางตรง ปัจจุบันเหลือเพียงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อันส่วนหนึ่งของสภานิติบัญญัติหรือรัฐสภาเท่านั้น

แต่การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ใช่เป็นเพียงการ “เลือกคนไปออกกฎหมาย” อย่างที่มีผู้พยายามลดทอนความสำคัญของกระบวนการนี้ เพราะในการปกครองรูปแบบรัฐสภานั้นไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเลือกผู้นำรัฐบาลคือนายกรัฐมนตรีได้โดยตรง แต่เป็นการเลือกทางอ้อมผ่านการออกเสียงให้ความเห็นชอบในสภา ดังนั้นการเลือกตั้ง ส.ส. จึงเท่ากับเป็นการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีไปในตัว

เช่นนี้ สิ่งหนึ่งที่อาจจะถือเป็น “ข้อดี” ของการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือ การเปิดให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง อาจแจ้งรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคนั้นจะเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีหากชนะการเลือกตั้ง เปิดเผยให้ประชาชนทราบล่วงหน้าก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง จากเดิมที่เคยเป็นเหมือนธรรมเนียมทางการเมืองว่า หัวหน้าพรรคการเมือง หรือคนที่พรรคการเมืองชูขึ้นมา จะเป็นว่าที่นายกฯ ที่พรรคการเมืองนั้นสนับสนุน

การมีรายชื่อว่าที่นายกฯ ของแต่ละพรรค (ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 88 กำหนดให้มีได้มากที่สุดสามชื่อ) เป็นการแบไต๋ให้ประชาชนรู้ไปเลยว่า เลือกพรรคนี้แล้วจะได้ใครมานั่งเก้าอี้นายกฯ กระนั้นรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้กำหนดเรื่องนี้ไว้เป็นบทบังคับ เช่นนี้บางพรรคอาจจะไม่เปิดเผยชื่อว่าที่นายกฯ ที่ตัวจะสนับสนุนก็ได้ แต่ประชาชนก็อาจจะรู้ได้โดยพฤติการณ์ และรับความเสี่ยงเอาเองหากพรรคนั้นไปเล่นบทเป็นตัวแปรชนะไหนเข้าด้วยในสภา

นอกจากนี้ ผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง ยังจะเป็นผู้ “พูดแทน” ประชาชนที่เลือกเขาในระดับพื้นที่ ด้วยกระบวนการตั้งกระทู้ถามในสภาเพื่อสอบถามหรือให้ความเห็นกับรัฐบาลว่าประชาชนที่เขาเป็นตัวแทนนั้นมีความคิด ความเห็น ความต้องการอะไร หน้าที่นี้มีมาตั้งแต่แรกสมัยมีผู้แทนในอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้นำเอาภาษีมาจ่ายให้ “หลวง” แต่ก่อนจ่าย ต้องได้ “พูด” ในสิ่งที่ประชาชนเจ้าของเงินที่รวบรวมกันมานั้นต้องการจากรัฐบาลด้วย

และแม้แต่หน้าที่ทางนิติบัญญัติของผู้แทนราษฎรนั้น แท้จริงแล้วสาระสำคัญไม่ได้อยู่ที่การ “เขียนกฎหมาย” ในเชิงตัวบทลายลักษณ์อักษรเป็นรายมาตรา เพราะนั่นเป็นเรื่องของมืออาชีพที่ร่ำเรียนมาในทางนี้ ได้แก่ข้าราชการที่เกี่ยวข้อง แต่ผู้แทนราษฎรมีสาระสำคัญที่การเป็นตัวแทนประชาชนคนธรรมดา ในการพิจารณาว่าจะ “เห็นชอบ” ในกฎหมายที่ให้อำนาจรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเช่นนั้นไหม การออกกฎหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเพื่อประโยชน์ส่วนรวมตามกฎหมายนั้นพอรับได้หรือไม่ หรือควรกำหนดเรื่องนั้นเรื่องนี้ให้เป็นความผิดทางอาญาหรือเปล่า ตลอดจนเสนอกฎหมายที่ประชาชนต้องการ ตามความเห็นที่ได้รับมา

ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่ต้องเพ่งเล็งว่าผู้แทนราษฎรจะต้องมีความรู้ทางกฎหมายระดับนิติศาสตรบัณฑิตหรือเนติบัณฑิต หากเพียงเขามีความคิด ความรู้สึกเสมอด้วยวิญญูชนพอที่จะแสดงเจตจำนงแทนประชาชนที่เลือกเขาเข้ามาเป็นผู้แทนเท่านั้นก็เพียงพอ

ที่กล่าวไปข้างต้น เป็นเหตุผลโดยสังเขปว่า ทำไมการเลือกตั้งจึงเป็น “อาวุธ” ที่ประชาชนกลุ่มหนึ่งหวงแหนและเรียกร้อง นั่นเพราะอย่างน้อยที่สุด บัตรเลือกตั้งในมือนั้นจะใช้ต่างก้อนอิฐก้อนหิน ที่เอาไว้ขว้างใส่ “ผู้ทรงอำนาจรัฐ” โดยไม่ชอบธรรมให้พ้นเก้าอี้ไป

ในขณะที่ฝ่ายผู้ทรงอำนาจอยู่ หรือประชาชนคนกลุ่มที่เห็นด้วยกับผู้นั้น ก็คงจะไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง หรือแม้แต่ขยาดหวาดกลัวเสียงเรียกร้องให้เลือกตั้ง เพราะเขาหรือพวกเขาก็รู้อยู่ทนโท่ว่า ตนหรือรัฐบาลที่ตนสนับสนุนนั้น อยู่ในตำแหน่งได้โดย “อำนาจอย่างอื่น” ที่ฝ่าฝืนต่อความประสงค์ของประชาชนคนส่วนมาก

ด้วยเหตุนี้เขาจึงกลัวหรือไม่กล้าสู้หน้าคูหาเลือกตั้ง หรือหากจะยอมให้มี ก็คือเมื่อเขามั่นใจแล้วว่า จะสามารถสร้างสภาวการณ์ที่ไม่ว่าจะเลือกทางใด กลการเลือกตั้งนั้นก็ไม่อาจปฏิเสธที่จะรับรองอำนาจของพวกเขาได้

การ “จำกัด” หรือ “กำจัด” ตัวเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง พรรคการเมือง หรือทางเลือกอื่นใดที่จะ “ปฏิเสธ” พวกเขาได้ผ่านการเลือกตั้ง จึงเป็น “ไม้ตาย” สุดท้ายที่เขาจะเลือก เมื่อจวนตัวและต้องยอมให้มีการเลือกตั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไปแล้ว

หากเราเห็นเรื่องผิดปกติอันใดต่อจากนี้ ก็คงเป็นไปเพื่อการนั้น.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image